27 ก.พ. 2566 | 12:18 น.
เอ็มจี ประเมินตลาดรถยนต์ปี 2566 แตะ 9 แสนคัน เตรียมเสริมตลาดรถยนต์รุ่นใหม่ ทั้ง ICE และ EV อีก 2 รุ่น เชื่อสถานการณ์ขาดแคลน เซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย ยอดผลิตเพิ่ม ส่งมอบได้ 1,000 คัน/เดือน ขยายสถานีชาร์จทุก 120 กิโลเมตร เพิ่มศูนย์ซ่อมสี - ตัวถัง พร้อมคุย คปภ. แก้ปัญหาลูกค้ารอนาน
การที่ เอ็มจี (MG) ประเมินตลาดรถยนต์ปี 66 แตะ 9 แสนคัน มาจากปัจจัยบวกเช่น ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะ เซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย ส่งผลซัพพลายเพิ่ม การลงทุนภาครัฐ เอกชน ท่องเที่ยวขยายตัวช่วยดันเศรษฐกิจ จับตาปัจจัยเสี่ยงสงครามรัสเซีย ยูเครน ความเข้มงวดการเงิน ภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน พร้อมจับสถานการณ์การเมืองไทย
ตลาดรถยนต์ไทยปี 2565 ที่ผ่านมา เผชิญปัจจัยลบหลายอย่าง เช่น การขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบ โดยเฉพาะ เซมิคอนดักเตอร์ สถานการณ์โควิด-19 หนี้ครัวเรือน ฯลฯ แต่ก็สามารถประคองตัว สร้างการเติบโตได้ 11.9% จากยอดขาย 849,388 คัน
พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แม้ปี 2565 ตลาดจะมีปัจจัยลบหลายอย่าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก แต่การที่การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาพรัฐค่อนข้างดี รวมถึงภาคท่องเที่ยวที่กลับมาดีในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 3.2% และมีผลดีต่อตลาดรถยนต์เช่นกัน
ปัญหาชิ้นส่วนคลี่คลาย จับตาสงครามยูเครน
ส่วนปี 2566 ประเมินว่าตลาดรถยนต์จะขยายตัวต่อเนื่อง มียอดขายประมาณ 8.8 - 9 แสนคัน ขณะที่การส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคัน ทำให้การผลิตรวมอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน
โดยมองว่าปัจจัยบวกยังคงเป็นการลงทุนของภาครัฐ และเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลงทุนจากต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่ภาคบริการ และท่องเที่ยว ก็จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจน และน่าจะมียอดนักท่องเที่ยวได้ตามเป้าหมายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งไว้คือ 22 ล้านคน
และมีความเป็นไปได้ที่จะขยับขึ้นไปถึง 30 ล้านคน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อภาพรวมของประเทศ เพราะภาคท่องเที่ยวคิดเป็น 18% ของจีดีพี และหากรวมภาคบริการจะสูงกว่า 30%
นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ การขาดแคลนชิ้นส่วน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ก็เริ่มคลี่คลาย ปัจจุบันกลับมาได้ประมาณ 80% ของภาวะปกติ และคาดว่ากลับสู่ภาวะปกติได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในปีนี้หลายเรื่อง เช่น สถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน ที่ขยายตัว และเพิ่มความรุนแรง ส่งผลต่อปัญหาด้านพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป และกระทบต่อการค้าโลก เงินเฟ้อ และตลาดการเงิน
ภาวะการเงินที่เข้มงวดเกิดคาดการณ์ การปรับฐานอย่างรวดเร็วในตลาดที่อยู่อาศัย สถานการณ์โควิด และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน อาจมีผลฉุดรั้งเศรษฐกิจของจีน และส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยเนื่องจากจีนเป็นตลาดหลักสงครามเทคโนโลยีท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงทางการเมืองในไทย
“การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในไทย จะเป็นผลดีที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค แต่หลังเลือกตั้งก็อาจมีปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะหากมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งจะส่งผลให้มีผลต่อการพิจารณางบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้าได้”
พร้อมฟื้นเครื่องยนต์สันดาปภายใน-ส่งอีวีรุ่นใหม่
การที่สถานการณ์หลายอย่างคลี่คลาย โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ที่เริ่มมีการผลิตมากขึ้น จะทำให้ปัญหาการผลิตลดลง มีผลทำให้เอ็มจี พร้อมที่จะทำตลาดเชิงรุกครั้ง โดยเฉพาะรถในกลุ่มที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ยังคงเป็นตลาดหลักของเอ็มจี และตลาดรถยนต์ไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี แต่ปัญหาคือมีรถไม่พอส่งมอบ เช่น วีเอส ซึ่งอยู่ในกลุ่ม บี-เอสยูวี ที่เป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดในกลุ่มรถยนต์นั่ง คือ 26% หรือ เอ็มจี 5 ที่มีส่วนแบ่งตลาด 12% อยู่ในอันดับ 3 ของรถกลุ่มบี-เซ็กเมนต์รวมกับ อีโค คาร์
ในส่วนของตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ปี 2565 ที่ผ่านมา เอ็มจี ส่งมอบรถไม่มากนัก 4,000 คัน เป็นผลมาจากการไม่มีรถส่งมอบ มอบ เช่น แซดเอส อีวี ที่ได้รับการตอบรับสูง แต่สามารถส่งมอบได้ในช่วง 4 เดือนท้ายของปี รวมถึง เอ็มจี 4 ที่ได้รับการตอบรับดีเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถส่งมอบได้ตามความต้องการลูกค้า
แต่เมื่อปัญหาชิ้นส่วนคลี่คลาย ทำให้ปีนี้การทำตลาดอีวีมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบได้เดือนละ 1,000 คัน หรือมากกว่า 1 หมื่นคันในปี 2566 นี้
ปัจจุบัน เอ็มจี ทำตลาด อีวี 3 รุ่น คือ แซดเอส อีวี, เอ็มจี อีพี และ เอ็มจี 4 โดยปีนี้บริษัทมีแผนจะเปิดตัวอีก 2 รุ่น โดยเป็นรุ่นใหม่ 1 รุ่น และการปรับโฉมอีก 1 รุ่น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอีพี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการหยุดรับจอง อาจพิจารณาปรับรูปแบบการทำตลาดใหม่ เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาได้ เนื่องจากภาครัฐยังไม่อนุมัติ อาจหันไปทำตลาดฟลีท ตลาดองค์กรแทน
ขยายสถานีชาร์จ 200 แห่ง แนะใช้อีวีเชิงพาณิชย์
ควบคู่ไปกับการทำตลาด อีวี เอ็มจี จะเพิ่มเครือข่ายสถานีชาร์จเร็ว (DC Charge) หรือ MG Supercharge เพื่อรองรับตลาดที่ขยายตัว และเพิ่มความสะดวก ความพึงพอใจให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันมี 158 แห่ง แบ่งเป็น ติดตั้งในโชว์รูม และศูนย์บริการเอ็มจี ทั่วประเทศ 103 แห่ง อยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากที่เป็นพันธมิตรอีก 47 แห่ง และสถานที่อื่น ๆ อีก 8 แห่ง
“เรายังคงนโยบายหลักในส่วนของสถานีชาร์จ ดีซี คือ เปิดบริการทุก ๆ 150 กม. ในเส้นทางหลัก โดยปี 2566 นี้อย่างน้อยจะต้องเปิดเพิ่มให้ได้รวม 200 แห่ง และในอนาคต ทุก ๆ ตัวแทนจำหน่ายจะต้องมีสถานีชาร์จบริการ ซึ่งยังขาดอยู่อีกประมาณ 50 แห่ง การลงทุนเรื่องนี้ไม่มีกำไร แต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเอ็มจี”
ส่วนภาคการผลิตอีวี ขณะนี้เอ็มจีอยู่ในช่วงการเตรียมความพร้อม ทั้งการเตรียมสายการผลิตในโรงงาน การเตรียมพร้อมประกอบแบตเตอรี การทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วน คาดว่าทุกอย่างจะพร้อมภายในช่วงปลายปีนี้ แต่การผลิตจริงจะเกิดขึ้นเมื่อไร ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย
“การที่เอ็มจีเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีระยะเร่งด่วน และจะต้องผลิตรถในประเทศคืน เราเริ่มเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ส่วนการเริ่มต้นผลิตยังมีเวลา เพราะรัฐกำหนดไว้ในปี 2567-2568 แต่การเตรียมพร้อมไว้ก่อนเป็นเรื่องที่ดี”
พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า สำหรับภาพรวมอีวี แม้จะขยายตัวโดดเด่น โดยปีที่ผ่านมามียอดประมาณ 1 หมื่นคัน ซึ่งเติบโตสูง และปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 หมื่นคัน แต่ยังไม่ใช่ตลาดหลักของไทย
ทั้งนี้เห็นว่า การที่จะทำให้ อีวี ขยายตัวรวดเร็ว น่าจะต้องส่งเสริมการใช้งานเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น แท็กซี่ รถบัส รถโดยสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานระยะทางไกลในแต่ละวัน ทำให้มีความคุ้มค่า และคุ้มทุนเร็ว
เพิ่มเครือข่าย-ศูนย์ซ่อมสี ตัวถัง
ด้านเครือข่ายจำหน่ายและศูนย์บริการ ปัจจุบัน เอ็มจี มีทั้งสิ้น 161 แห่ง โดยปีนี้มีแผนเพิ่มเติมอีกบางส่วนให้ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้เปิดบริการ เช่น จังหวัดระนอง
และอีกสิ่งที่เป็นนโยบายสำคัญ คือ การขยายศูนย์บริการซ่อมสีและตัวถัง ที่ปัจจุบันมี 67 แห่ง จะเพิ่มเป็น 80 แห่ง โดยหลัก ๆ จะดำเนินการโดยตัวแทนจำหน่าย ยกเว้นบางกรณีที่จะหาพันธมิตรอู่ซ่อมที่ผ่านการรับรองโดยเอ็มจี และตัวแทนจำหน่าย
การหันมาเพิ่มศูนย์บริการซ่อมสี และตัวถังนอกจากจะเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า ยังแก้ปัญหากรณีที่ลูกค้าซ่อมรถในอู่ข้างนอกแล้วล่าช้า เนื่องจากไม่มีอะไหล่ และหลายแห่งให้ลูกค้าลงนามยอมรับสภาพล่าช้าก่อนซ่อม
"จริง ๆ แล้วเรามีศูนย์กระจายอะไหล่ 2 แห่ง ส่งมอบในกรุงเทพฯ และปริมณฑลใน 1 วัน ต่างจังหวัด 2 วัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บางอู่ท่ีทำงานกับบริษัทประกันภัยไม่ยอมสั่งอะไหล่ และให้ลูกค้ารอ ซึ่งเรื่องนี้เราเตรียมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ขณะเดียวกันก็เตรียมความพร้อมอื่น ๆ ด้วยการขยายศูนย์ซ่อมสีและตัวถังดังกล่าว"