23 มี.ค. 2566 | 12:09 น.
หลายคนคิดว่าความมั่นคงของชาติ น่าจะหมายถึงแค่เรื่องความมั่นคงของระบอบการปกครอง อำนาจอธิปไตย เอกภาพ บูรณภาพแห่งดินแดน และสวัสดิภาพของประชาชนเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วความมั่นคงของชาติยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ครอบคลุมมากกว่านั้น หนึ่งในปัจจัยที่ว่าคือ เรื่องความมั่นคงด้านน้ำ
เพราะอย่างที่รู้กันว่าร่างกายคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นไม้ ใบหญ้า และสิงสาราสัตว์ ก็มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักไม่ต่างจากมนุษย์ น้ำจึงถือว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ในช่วงที่เกิดโลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งสำคัญ ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลให้เกิดภัยแล้งยาวนาน และมีความถี่ครั้งขึ้น ทำให้การให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางด้านน้ำของประเทศเป็นความจำเป็นที่มองข้ามไม่ได้
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการวางระบบชลประทานต่าง ๆ ที่คอยช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความท้าทายในอนาคตทำให้ต้องมีการคิดวิธีการใหม่ ๆ เพื่อมาสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับประเทศ เป็นที่มาของแนวคิดในการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมให้กับเขื่อนภูมิพล
โดยเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นแม่น้ำปิงในจังหวัดตาก อันเป็นต้นธารหลักของแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนหลายสิบล้านชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน ซึ่งเขื่อนภูมิพลมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีความจุใช้งาน 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กลับมีปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเพียงเฉลี่ยปีละ 5,626 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
จากสถิติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2558 รวม 25 ปี อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีระดับน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำเพียง 3 ปี คือในปี พ.ศ. 2545, พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลกลับมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อย ๆ อีกทั้งการเติบโตของเขตเมืองในพื้นที่ต้นน้ำของอ่าง ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำด้านเหนือน้ำของอ่างมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าอ่างลดลง ในขณะเดียวกันด้านท้ายน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลในลุ่มน้ำปิงตอนล่าง และลุ่มน้ำเจ้าพระยากลับมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่นี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในระยะยาว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการหาน้ำมาเสริมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในอนาคตของลุ่มน้ำปิงตอนล่าง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
แนวคิดในการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมให้กับเขื่อนภูมิพลนี้ มาจากการข้อมูลที่ว่าแม่น้ำยวมมีปริมาณน้ำในฤดูฝนค่อนข้างมาก แต่กลับถูกปล่อยทิ้งให้ไหลลงสู่แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน โดยไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยเหตุนี้โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือ โครงการผันแม่น้ำยวม จึงเกิดขึ้นเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยวมเพื่อมาเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล สร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับประเทศไทย
โครงการผันน้ำยวม หรือ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม - อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ เขื่อน และอ่างเก็บน้ำยวมบนแม่น้ำยวม สถานีสูบน้ำ พร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง และระบบอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 61.52 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิง และลุ่มเจ้าพระยา สามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ในปัจจุบันและอนาคต สนับสนุนการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
ความมั่นคงทางด้านน้ำ และประโยชน์ของการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลทั้งทางตรง และทางอ้อมมีทั้ง
ทั้งนี้ก่อนดำเนินโครงการทางกรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ได้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่โดยได้ดำเนินการการศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 แล้วจัดทำเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอให้กับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณา ซึ่งมีการแก้ไขรายงาน EIA ตามข้อพิจารณาและชี้แจงเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 4 ครั้ง ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้พิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564 มีรายละเอียดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ ได้กำหนดให้มีมาตรการป้องกันลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยป้องกัน และบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชน รวมถึงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ และอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ ไปจนถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งมีการวางแนวทางรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ
ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติเปิดโครงการ ซึ่งมีระยะเวลาการก่อสร้าง 6 ปี สำหรับในการส่วนของการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จะดำเนินการทันทีเมื่อเริ่มเปิดโครงการ สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่กังวลใจน่าจะเป็นเรื่องปัญหาการชดเชยเรื่องที่ดินทำกิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่สิ่งที่ประชาชน และประเทศไทยจะได้รับร่วมกันคือ ความมั่นคงทางด้านน้ำที่จะช่วยขับเคลื่อน และสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ ให้พร้อมรับมือความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคต