16 พ.ค. 2566 | 16:36 น.
วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม 2566 MCT - บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาพันธ์แห่งสมาคมผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ (the International Confederation of Societies of Authors and Composers: CISAC) และ พันธมิตรผู้สร้างสรรค์ดนตรีแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ APMA (Asia-Pacific Music Creators Alliance) ในหัวข้อ ‘ทางเลือกของผู้สร้างสรรค์และมูลค่าของงานดนตรีในยุคดิจิทัล’ หรือ ‘Creators’ Choice and the Value of Music in Digital Era
โดยรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาซื้อขาดลิขสิทธิ์ หลักปฏิบัติอันดีในการจัดสรรรายได้ที่เป็นธรรม เพื่อกระตุ้นให้นักสร้างสรรค์งานดนตรีคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่ตนพึงได้รับ ซึ่งเป็นประโยชน์แก่นักแต่งเพลง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรี รวมทั้งผู้ที่สนใจได้อย่างครบถ้วน
ภายในงานสัมมนา รองศาสตราจารย์อรพรรณ พนัสพัฒนา จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ ซึ่งในทางปฏิบัติค่ายเพลงมักให้นักแต่งเพลงหรือครูเพลงโอนลิขสิทธิ์เพลงให้ค่ายเพลงตลอดอายุ
เช่นในมาตรา 18 ของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (กฎหมายลิขสิทธิ์) ที่กำหนดว่า “ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์
“แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้สร้างสรรค์ก็มักโอนลิขสิทธิ์เหล่านี้ให้กับค่ายเพลงทั้งหมดเลย เช่นเดียวกับนักร้องหรือนักแสดง ที่มักโอนแทบทุกอย่างให้ค่ายเพลงแบบไม่กำหนดเวลาด้วย” รองศาสตราจารย์อรพรรณ กล่าว
ขณะที่ นายธารณ ลิปตพัลลภ หรือ แทน ลิปตา เตือนให้นักแต่งเพลงและนักร้องคิดให้รอบคอบมากขึ้นก่อนจะขายลิขสิทธิ์เพลง โดยเฉพาะเพลงที่นำไปใช้ในวงการโฆษณา
“เราไม่รู้หรอกว่าเพลงจะดังหรือไม่ดัง แต่การที่เรารับรายได้รอบเดียว เราจะไม่มีสิทธิในเพลงเลย ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี โดยเฉพาะตอนนี้ที่มียูทูบหรือติ๊กต่อก หลังเพลงปล่อยมา 2 - 3 ปีถึงจะดัง การที่เรามีสิทธิในเพลงจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก”
“ในวงการโฆษณาผมเจอเรื่องการซื้อขาดลิขสิทธิ์ (Copyright Buyout) บ่อยมาก เขาอ้างว่าต้องนำเพลงไปลงตรงนั้นตรงนี้ ถ้าซื้อขาดไปเลยจะได้ไม่ต้องขอ แต่ผม treat เพลงเหมือนเป็นลูก ผมทำเพลงให้งานโฆษณา แต่ขอเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเพลงจะ hit แต่ท้ายที่สุดมันก็กลายเป็นเพลง 100 ล้านวิว”
แทน ลิปตา สรุปในตอนท้ายว่า “สิ่งที่เราทำได้คือ เอาแบบที่เราพอใจและไม่ให้เขาเอาเปรียบจนเกินไป”
นายบุญหลาย กว้างมะนีวัน (ตูมตาม) ผู้สร้างสรรค์ดนตรี - สปป.ลาว เล่าถึงสถานการณ์เรื่องลิขสิทธิ์เพลงในลาวว่า ช่วงปี 2010 นักร้องและนักแต่งเพลงในลาวยังได้เงินค่าลิขสิทธิ์น้อยมาก สำหรับตัวเขานั้นบางครั้งได้รับค่าจ้างหลักพันบาท ทั้งที่มีต้นทุนเรื่องเสื้อผ้าด้วย
“ก็เป็นแบบนี้มานาน เพราะลิขสิทธิ์ถูกซื้อขาดจากต่างประเทศ แต่สิ่งดี ๆ ที่เห็นในลาวขณะนี้คือเมื่อเพลงถูกนำไป cover นักแต่งเพลงก็ฟ้องร้องได้ เพราะค่ายเพลงมีสิทธิ์ซื้อ แต่นำไปดัดแปลงไม่ได้
“ปี 2018 ผมได้เรียนรู้เรื่องลิขสิทธิ์และได้นำข้อมูลไปแบ่งปันกับบรรดาครูเพลง ผมบอกเขาไปว่าสิ่งที่พวกเขาขายไปคือการขายเชิง physical แต่ครูเพลงยังเป็นเจ้าของในเชิง digital พวกเขาดีใจมาก เพราะรายได้ตอนนี้มาจาก digital เป็นหลัก”
ด้าน นายเมเยอร์ พูริ ผู้สร้างสรรค์ดนตรี - ประเทศอินเดีย เล่าต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นในอินเดียว่า บางครั้งศิลปินก็ต้องการเงิน เพราะพวกเขามาจากครอบครัวที่ยากจน จึงทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทใหญ่ ๆ ซึ่งกอบโกยรายได้จากเพลงจนร่ำรวย
“นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 - 4 generation อินเดียจึงมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในหลายรูปแบบ เพราะนักแต่งเพลงไม่รู้ว่างานของตัวเองสามารถเอามาแปลงได้มากมาย”
แต่ระยะหลังเริ่มมีกฎหมายดูแลลิขสิทธิ์เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของอุตสาหกรรมเพลงอินเดีย ซึ่งนายเมเยอร์มองว่า “ทั้งค่ายเพลงและนักแต่งเพลงต้องมาตกลงกันเพื่อความยุติธรรม เพราะศิลปินไม่ค่อยเข้าใจเรื่องกฎหมาย กฎหมายจึงต้องชี้แจงให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นกฎหมายก็จะตกเป็นเครื่องมือของคนที่มีทนายดีกว่า”
นายแอนเดรีย โมเลอมาร์ รองประธานคณะกรรมการผู้สร้างสรรค์ดนตรีระหว่างประเทศ the International Council of Music Creators (CIAM) - ประเทศเนเธอร์แลนด์ สะท้อนปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในยุโรป โดยยืนยันว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้รายได้อุตสาหกรรมเพลงลดลง ทั้งที่การบริโภคดนตรีนั้นเพิ่มขึ้น
ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องพิจารณาคือการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น และต้องช่วยทำให้เกิดดีลที่ดีที่สุดสำหรับศิลปิน รวมถึงการพูดคุยกับค่ายเพลงเพื่อให้เกิดการแบ่งปันที่ยุติธรรม ไม่เช่นนั้นในโลกดนตรีก็จะมีแต่เพลง remake
“ทุกครั้งที่เพลงผมถูกเล่น ผมต้องได้เงิน ไม่ว่าใครจะมาลงทุนในธุรกิจสตรีมมิ่ง ควรมีข้อบังคับเรื่องส่วนแบ่งด้วย และต้องส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจ”
สำหรับสถานการณ์ด้านลิขสิทธิ์เพลงในเกาหลีใต้ นายยู จีซอบ จาก KOMCA ประเทศเกาหลีใต้ เล่าว่า เมื่อก่อนรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงในเกาหลีนั้นต่ำมาก มีงานวิจัยหนึ่งระบุว่า เพลงกังนัมสไตล์ที่ดังไปทั่วโลกทำเงินค่าลิขสิทธิ์ได้เพียง 27,000 ดอลลาร์สหรัฐ จึงนำมาสู่การแก้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงในเกาหลี โดยมีการเชิญภาคีในอุตสาหกรรมเพลงมาหารือกัน ซึ่งในระหว่างการหารือก็มีข้อกังวลว่าค่าลิขสิทธิ์จะถูกผลักภาระไปให้ผู้บริโภคหรือไม่
“แต่ความจริงแล้ว ถ้าค่าลิขสิทธิ์ต่ำเกินไปก็ไม่เป็นประโยชน์กับนักสร้างสรรค์เพลงเหมือนกัน จึงนำมาสู่การปรับแก้กฎหมายในที่สุด”
ตัวแทนจากเกาหลีกล่าวสรุปอีกว่า รายได้จากลิขสิทธิ์ในเกาหลียังถือว่าต่ำหากเทียบในประเทศเอเชียแปซิฟิก จึงต้องมีการร่วมมือกันเพื่อทำให้อุตสาหกรรมเพลงมีความเข้าใจร่วมกันและยอมรับผลประโยชน์ของนักสร้างสรรค์เพลง
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย นายณฐพล ศรีจอมขวัญ ประธานกรรมการ MCT ฉายภาพว่า จากรายงานของ Global Music Report 2023 ระบุว่า ตลาดเพลงที่มีการบันทึกเสียงทั่วโลกเติบโตขึ้น 7.4% ในปี 2023 มีรายได้ 780,000 ล้านบาท โดยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัทสตรีมมิ่งคิดเป็น 62.1% ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโดยรวมแล้ว
“สำหรับเมืองไทยกฎหมายลิขสิทธิ์เรามีมา 30 ปีแล้ว แต่นักแต่งเพลงส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจน้อยมาก ยิ่งคนทั่วไปยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ จึงต้องทำให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะนักแต่งเพลงเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงอย่างไร”
“ปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากของประเทศเราคือ ประเทศเรามีองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดเกือบ 40 องค์กร ขณะที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์หรือประเทศที่สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาลมีแค่ 1 องค์กร หรืออย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก ก็มีแค่ 3 องค์กร จะเห็นได้ว่าการมีองค์กรจัดเก็บแค่ 1 องค์กร มันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจรู้ว่ามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับใคร หรือต้องเดินไปหาข้อมูลจากใคร”
“สมมติคุณอยากจะเปิดร้านอาหารสักร้าน และอยากจะเปิดเพลงในร้านอาหารให้ลูกค้าฟัง เปิดร้านไป 3 วัน ปรากฏมีคนจากองค์กร 40 คน มาเรียงแถวขอจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณจะรู้สึกอย่างไร คุณก็คงจะไม่อยากจ่าย หรือปิดเพลงไปเลย พอเกิดสิ่งนี้ขึ้น มันก็เสียรายได้ นักแต่งเพลงก็ไม่มีรายได้ วงการเพลงโดยรวมก็เสียรายได้ เสียประโยชน์ เสียโอกาส และไม่มีประโยชน์ใด ๆ เกิดขึ้นเลย”
“โดยปกติแล้ว ทาง MCT จะร่วมมือกับภาครัฐ ผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่สิ่งสำคัญคือ ผมคิดว่านักแต่งเพลงหรือผู้ประกอบการธุรกิจ หรือผู้ที่มีความสนใจเรื่องงานเพลงทุกท่าน จะต้องทราบว่าประเทศเรามีปัญหาจริง ๆ”
“ทุกครั้งที่ผมไปพูดเรื่องนี้แล้วบอกต่างประเทศว่าบ้านเรามี 40 องค์กร ผมอยากเอาปี๊บคลุมหัว ต่างชาติอ้าปากค้างทุกประเทศ โอ้โห มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา เกิดอะไรขึ้นกับกฎหมายประเทศเรา ตรงนี้เราต้องจัดการให้ได้ ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ไม่งั้นปัญหานี้จะไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง เราต้องช่วยกันบอกรัฐบาลถัดไปว่าเราต้องร่วมมือกันมากกว่านี้ ถ้าแก้ปัญหาได้ ผลประโยชน์ไม่ได้เกิดเฉพาะนักแต่งเพลงเท่านั้น แต่ได้ทั้งประเทศไทยโดยรวม”
“การที่เราจะสามารถรวม CMO ให้เหลือแค่ 1 องค์กร หรือมากสุด 3 - 4 องค์กร ประเทศจะได้รับประโยชน์มหาศาล สุดท้ายนักแต่งเพลงจะได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม นำไปสู่การต่อรองทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ”
“ขอฝากถึงนักแต่งเพลงทุกท่านว่า สิ่งสำคัญคือพวกท่านต้องรู้ว่าการเลือกทำงานกับองค์กร หรือการเซ็นให้องค์กรต่าง ๆ ไปจัดเก็บลิขสิทธิ์แทนท่าน ต้องเลือกองค์กรที่เป็นมาตรฐาน มีความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง จัดสรรเรื่องค่าลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรมโปร่งใส และมีการปรับปรุงอัตราค่าลิขสิทธิ์ต่อเนื่อง”
ปิดท้ายที่ นายอิลแฟร์ อูเลีย ผู้สร้างสรรค์ดนตรี - ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มด้วยการตั้งคำถามถึงคุณค่าของดนตรี ที่ไม่ใช่ ‘การฟัง’ เหมือนในอดีต แต่เป็น ‘การเข้าถึง’ หรือ Subscription
“ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เขาไม่ได้ซื้อสินค้า พอเราเข้าใจตรงนี้แล้วจะรู้ว่าเราจะไปเก็บเงินได้ตรงไหน และผู้สร้างสรรค์ควรจะไปอยู่ตรงไหน ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่วิธีปกป้องศิลปิน”
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก MCT: Music Copyright (Thailand) Ltd.