23 พ.ย. 2566 | 10:46 น.
สมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืน ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand) จัดประชุมผู้นำภาคเอกชนประจำปี ‘GCNT Forum 2023 : Partnership for Human Capital 5.0 – Towards Sustainable Intelligence ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ รวมพลังพันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ประกาศเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 133 องค์กรสมาชิกสมาคมฯ ภายในปี ค.ศ. 2030 เตรียมตั้ง Sustainable Intelligence Youth Club เพิ่มศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในปี ค.ศ. 2024 ผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากภาคธุรกิจและพันธมิตรสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร
ในงานนี้ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำด้านการพัฒนาคนสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน” โดยระบุว่า คนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน (human-centered approach) ตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่เรียกว่า “New Growth Path” เพื่อตอบโจทย์ Fifth Industrial Revolution ซึ่งประกอบด้วย 3 มิติคือ (1) Green growth การคำนึงถึงผลกระทบของการทำธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย (2) Innovation-driven growth การใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆรวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินนโยบายภาครัฐ และการทำธุรกิจของภาคเอกชน และ (3) Community-based growth การยกระดับแรงงานและการพัฒนากระบวนการผลิตที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการสร้างงาน โดยมีนโยบายด้านแรงงานที่นำไปสู่การจ้างงานเต็มที่ และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยได้ระบุว่าภาคเอกชนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตและธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในหลากหลายมิติเช่น การวัด carbon footprint ขององค์กร การสนับสนุนให้ supply chain ในธุรกิจเป็นธุรกิจสีเขียว การให้โอกาสธุรกิจเล็ก ๆ หรือ entrepreneurs สร้างสรรค์ business model ใหม่ๆ
“ในระยะต่อไป เราต้องเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น (SDG localization) ซึ่งหมายถึงการพัฒนาทักษะทั้ง upskill reskill และ new skills เพื่อพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพในทุกช่วงวัย ให้มีความคิดสร้างสรรค์และริเริ่ม เพื่อตอบโจทย์ creative economy และเสริมสร้างผลิตภาพของประเทศในภาพรวม” ดร.ปานปรีย์ กล่าว
ด้านศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ UNGCNT และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวรายงานในหัวข้อ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของ “คน” หรือทรัพยากรมนุษย์ นอกจากจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงแล้ว ยังจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค 5.0 หรือยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกัน พร้อมทั้งเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ สู่ “สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” สำหรับนักเรียน นักศึกษา ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยี เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง (Action-Based Learning) และเพิ่มความสามารถในการปรับตัวด้วย Growth Mindset บ่มเพาะ “จิตสำนึกแห่งความยั่งยืน” ครูผู้สอน ต้องปรับบทบาทจากผู้สอน (Instructor) เป็น โค้ช ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) เพื่อบ่มเพาะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีตัวชี้วัดที่ส่งเสริมความโปร่งใส โดยภาคเอกชน สามารถทำบทบาทนี้ได้ ด้วยการจัดกิจกรรมเป็นฐานหรือศูนย์การเรียนรู้ สอดคล้องกับ SDGs ข้อที่เกี่ยวกับธุรกิจของตน แรงงาน องค์กรควรปรับมุมมองในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรให้เสริมงานที่ทำ นายจ้างรวมถึง ภาครัฐ ควรเตรียมทักษะแรงงานและทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้แรงงานปัจจุบันและอนาคต สามารถทำงานกับ AI ได้ โดยได้ยืนยันบทบาทของ UNGCNT ที่จะระดมกำลังสนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา เพิ่มขีดความสามารถของครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา พัฒนาแรงงาน ให้มีทักษะเหมาะสม ต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5.0 เน้นการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม สร้างคน SI - Sustainable Intelligence ที่มี “ภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” สร้างพื้นที่แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ผมเชื่อว่า “คน” ที่มีภูมิปัญญาที่ยั่งยืน หรือคนยุค SI Over AI จะช่วยให้สังคมไทยและสังคมโลกเกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม และร่วมมือกันจัดการกับข้อท้าทายต่างๆ บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ได้จริงตามกำหนด” ศุภชัย กล่าว
ในขณะที่ กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจําประเทศไทย ชี้ว่าการพัฒนาทุนมนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก การยกระดับทักษะความสามารถของแรงงานเป็นวาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และการพัฒนาบนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ทีมสหประชาชาติในประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการค้นหาทักษะที่จำเป็นในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว โดยจะต้องอาศัยวิธีการแบบบูรณาการรวมกัน ด้วยมุมมองล่างขึ้นบน (bottom up) และบนลงล่าง (top down) พร้อมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นรากฐานของทุนมนุษย์ที่ยั่งยืน
“เสาหลักของการพัฒนาประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวคือการพัฒนา “ทุนมนุษย์” ซี่งจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่สูงขึ้น และเพิ่มศักยภาพประเทศให้มีบทบาทนำในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยต่อ SDGs จะเป็นแรงผลักดันที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเร่งยกระดับขีดความสามารถของภาคเอกชนในการร่วมบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ นำโดย UNGCNT” นางกีต้า กล่าว
หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานนี้ คือการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของสมาชิก UNGCNT ที่จะเร่งผลักดันนโยบายการพัฒนาบุคลากร ยกระดับความรู้ และทักษะเชิงเทคโนโลยี สร้างจิตสำนึกด้านความยั่งยืน ของบุคลากร อย่างน้อย 1 ล้านคน ใน 133 องค์กรสมาชิก ภายในปี ค.ศ. 2030 และจะพัฒนาศักยภาพบุคลากรของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังร่วมมือกันพันธมิตร ตั้ง Sustainable Intelligence Youth Club ในปี ค.ศ. 2024 เพื่อสนับสนุนเยาวชนให้มีทัศนคติและทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้โดยตรงจากภาคธุรกิจและพันธมิตรสู่การสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนา 6 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ การเสวนาของผู้นำธุรกิจ สมาชิก UNGCNT และพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนศักยภาพทุนมนุษย์ยุค 5.0 ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในบริบทประเทศไทย โดยเฉพาะในมิติของคน (2) ปั้นคนให้ก้าวไปข้างหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (3) เปลี่ยนผ่านคนอย่างเป็นธรรมสู่องค์กรสีเขียว (4) ปลุกศักยภาพคนรับการเปลี่ยนแปลงตลอดห่วงโซ่อุปทาน (5) ยกระดับคน สร้างพลังสังคม และสุดท้าย จะร่วมกัน (6) มองความยั่งยืนผ่านคนรุ่นอนาคต
ทั้งนี้ GCNT Forum 2023 “พันธมิตรเพื่อพัฒนาคนยุค 5.0 สู่สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. โดยมีสมาชิก UNGCNT และพันธมิตรเข้าร่วมงานกว่า 60 องค์กร 7 สถาบันการศึกษา 15 องค์กรเยาวชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบัน บัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) วิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัย มหิดล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยานเรศวร ผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำ อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิต ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอสเอชบีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)