10 ม.ค. 2567 | 14:17 น.
จากประเด็นร้อนแรงเรื่องดอกเบี้ยธนาคาร ที่ผ่านมา ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบ เศรษฐกิจไม่เติบโต ประชาชนยากจน แต่แบงก์พาณิชย์ร่ำรวย ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชาติ อธิบายไว้ดังนี้
1.แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว หนสุดท้ายขึ้นดอกเบี้ย แม้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อติดลบแล้ว ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรมากเกินปกติกว่า 2.2 แสนล้านบาท แต่ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเพียง 2.4% ในปี 2566 ประชาชนยากจนลง, คนไม่มีงานทำ, ขายของไม่ได้ แบงก์ชาติจึงควรหันมาดูแลประชาชนให้มากขึ้น
2.ดูเหมือนแบงก์ชาติจะต้องการกดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบกว่า -0.5% คิดเฉลี่ย 3 เดือนติดต่อกัน ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting) 1-3% ที่ตกลงไว้กับรัฐบาล ความจริง ทั้งผู้ว่าการและคณะกรรมการนโยบายการเงิน ต้องแสดงความรับผิดชอบแล้ว
3.ระบบสถาบันการเงินของไทยเอง ก็ค่อนข้างผูกขาด พอแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แบงก์พาณิชย์ ก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากๆ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นน้อยๆ ขยายส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread) ในโอกาสต่อไปข้างหน้า คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คงต้องติดตาม, ดูแลให้เหมาะสม และรายงานเรื่อง Spread ต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ
4.วิธีการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลานี้ ก็คือ แบงก์ชาติต้องลดดอกเบี้ย และเพิ่มปริมาณเงิน (QE) ในระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเพิ่มการแข่งขันในระบบแบงก์พาณิชย์ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมกับพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน ให้มีหลากหลายทางเลือกยิ่งขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับแบงก์พาณิชย์ มากเกินไปเฉกเช่นทุกวันนี้
5.การลดดอกเบี้ยลง จะทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น และยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มีผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตของชาติ (GDP growth) เพิ่มรายได้ประชาชน ทำให้มีเงินมาบริโภคและออมเพิ่มขึ้น ลดหนี้ครัวเรือน รัฐบาลก็จะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ลดหนี้ภาครัฐบาล กระผมจึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เร่งรีบพิจารณาลดดอกเบี้ยลง