26 ม.ค. 2567 | 17:22 น.
สำหรับผู้ชื่นชอบดนตรีแจ๊ส หรือกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในวงการศึกษาดนตรีแจ๊ส พลาดไม่ได้กับ เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้ 2567 หรือ TIJC 2024 มีขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 มกราคม 2567 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ทีมงาน The People ได้ร่วมพูดคุยกับหัวแรงสำคัญอีกท่านหนึ่งสำหรับงานนี้ ได้แก่ อ.ดริน พันธุมโกมล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา วิชาการและวิจัย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ.ดริน หรืออ.โจ้ ผ่านประสบการณ์การจัดงานเทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติมาหลายครั้ง สำหรับครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่อ.โจ้ บอกว่ามีความน่าสนใจรออยู่เพียบ
“งานนี้เริ่มต้นจากเจตนารมณ์ที่เราอยากให้การศึกษากับความบันเทิงสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะเวลาผ่านไป 15 ปี เราพบว่าสังคมตรงนี้มันมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น สอง มีความหลากหลายของกิจกรรมมากขึ้น สาม มีส่วนร่วมของภาพเยาวชน นักดนตรีแจ๊สใหม่ ๆ ที่มีส่วนร่วมในรูปแบบที่มีความจริงจัง และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเลยอยากจะสื่อถึงคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยมา หรือคนที่ไม่เคยมางานนี้ อยากให้ลองมาสัมผัสบรรยากาศดู
“งานเราจะแบ่งเป็นสองช่วงหลัก ๆ คือ ช่วงกลางวัน และช่วงกลางคืน กลางวันจะเป็นช่วงที่ผ่อนคลายนิดหนึ่ง และมีการแสดงจากน้อง ๆ พี่ ๆ อาจจะมีวงที่เป็นมืออาชีพด้วย มาจากทั่วทุกมุมของประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคใกล้เคียงด้วย สิ่งนี้จะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในซีนของดนตรีแจ๊สมาโดยตลอด จะเป็นเวทีที่มีนักดนตรีจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย และน้อง ๆ ที่สนใจทำวง จะเป็นที่ให้พวกเขาปล่อยของที่มี
“บางครั้งการเข้ามาดูเพื่อได้เห็นว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ ณ ตอนนี้เขากำลังทำอะไรกันอยู่ เหมือนมาเช็กเอาท์นิดหนึ่งว่า ตอนนี้ในซีนนี้ดนตรีแจ๊สเขามีสิ่งนี้เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันจะเป็นสิ่งที่ หนึ่ง สามารถให้ความบันเทิงกับเราได้ สอง สร้างแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างได้ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ใช่นักดนตรีแจ๊สก็ตาม สมมุติว่าผมไปงานเทศกาลที่เกี่ยวกับงานศิลปะ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นคนวาดภาพไม่เป็น แต่ผมก็มองเห็นเยาวชนจำนวนมากมาร่วมกิจกรรม ซึ่งมันอาจจะช่วยให้เราเห็นภาพสิ่งที่มันเกิดขึ้นในระดับของเยาวชน” อ.โจ้ เล่าภาพรวมของงานที่จะเกิดขึ้นให้ฟัง
ต่อคำถามที่ว่า พอพูดถึงดนตรีแจ๊ส ในแง่หนึ่งยังไม่ค่อยแพร่หลายในสังคมไทย
ประเด็นนี้ อ.โจ้ ตอบว่า “ตรงนี้ ผมมีประเด็นที่เห็นด้วย และอาจจะมีประเด็นบางอย่างที่อยากจะเพิ่มเติม อันแรกคือ จริง ๆ ในประเทศไทย การเล่นดนตรีแจ๊สหรือการสร้างงานแจ๊สในลักษณะที่เหมือนเมืองนอก การที่คนจะสามารถรู้ว่ามีค่ายเพลงแจ๊ส ณ ตรงนี้เราอาจจะยังไปไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าซีนที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ผมคิดว่ามันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ณ ตอนนี้มันมีความเติบโตเกิดขึ้นมาแล้ว สังเกตได้ว่าจะมีคลับที่เป็นแจ๊สเกิดขึ้นใหม่เยอะ แล้วในอดีตอาจจะเป็นบาร์ เป็นผับ ที่มีดนตรีเข้ามาอยู่ในนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันเริ่มมีหลาย ๆ ที่เพื่อ feature ดนตรีโดยเฉพาะ และมีดนตรีที่เรียกว่าจริงจัง บางแห่งถึงขนาดถ้ามาเล่นกันแบบธรรมดา ๆ ก็ไม่ได้
“ลักษณะของซีนแบบนี้มันมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ผมคิดว่าสิ่งนี้แสดงถึงความเจริญเติบโตของวงการ รวมถึงตัว TIJC (Thailand International Jazz Conference) ถ้าลองมาสัมผัสการแสดงในช่วงกลางคืนจะพบว่าคนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นการเจริญเติบโตของวงการ เพียงแต่ผมคิดว่าอาจจะต้องหาทางปลดล็อกอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้วงการนี้นำไปสู่การสร้างงานที่เรียกว่าเป็นลักษณะเป็นงานบันทึกเสียงอะไรแบบนี้
“ปัจจุบันผมคิดว่าการที่นักดนตรีสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ง้อค่ายน้อยลง มันน่าจะทำให้ในอนาคต การสร้างงานดนตรีแจ๊ส สามารถเพิ่มขึ้นได้ ในอีกมุมหนึ่งต้องบอกว่าดนตรีแจ๊สหรือดนตรีที่ใกล้เคียง ดนตรีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทุกอย่าง เอาเป็นว่ามันเป็น element สำคัญในพัฒนาการของดนตรีป๊อบ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าป๊อบอาร์ตที่มันเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสิ่งที่มันเกี่ยวข้องกับ performance เช่น ดนตรี การละคร หนัง ซีรีส์ อะไรเหล่านี้ ดนตรีแจ๊สมันมีส่วนร่วมค่อนข้างมาก
“นอกจากนี้ ดนตรีที่เราฟังอยู่ทุกวันนี้ มันมี element ของดนตรีแจ๊สมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนประมาณสัก 15 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นของวงอย่าง ETC ก็เป็นคนกลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็นคนคลั่งแจ๊สในยุคนั้นก็ได้เช่นกัน ยุคนั้นก็จะมีอยู่ไม่กี่ที่ที่ทำงานในลักษณะนี้ พอเวลาผ่านไปก็จะเริ่มมีการศึกษาดนตรีแจ๊สในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ประกอบกับการที่ความรู้มันมีการเผยแพร่ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้พอเราไปนั่งฟังเพลงในสื่อต่าง ๆ เช่นเพลงของโบกี้ไลอ้อน หรืออะไรพวกนี้ element ที่อยู่ในนั้น มันก็เป็นองค์ประกอบที่เราสามารถหาได้จากดนตรีแจ๊ส เหมือนเวลาเรากินเนื้อแล้วมันมีไขมันแทรกตามเนื้อ เรียกว่าเป็นแม่น้ำก็ได้ (สิ่งที่ลื่นไหลไปในกระแสสังคม)
“ณ วันนี้เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าแม่น้ำใหญ่ อาจจะไม่ได้ถึงกับใหญ่โตมโหฬาร แต่ว่าคลองที่เกิดจากแม่น้ำเหล่านี้มันแทรกซึมไปทุก ๆ อณู เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ๆ มันชี้ให้เห็นถึงอนาคตที่ผมมองว่ามันค่อนข้าง positive”
สำหรับคำถามที่ว่า พัฒนาการ ทั้งในฝั่งของนักดนตรีแจ๊สเอง หรือผู้เสพดนตรีแจ๊สเป็นไปในทิศทางใด?
อ.โจ้ ตอบว่า “แน่นอนผมมองว่ามันมีทิศทางที่ดีขึ้น จากมุมมองที่เราจัดงานนี้ทุกปีแล้วเราเห็นความเติบโตของสิ่งต่าง ๆ ที่บางครั้งเราสามารถเอาไปรีเลทกันได้ ยกตัวอย่างเช่นการแสดงที่เกิดขึ้น การจัดในช่วง 1 - 5 ปีแรกทุกคนก็จะมาแข่งกันเล่นเหมือนแผ่น ฉะนั้นจะมีวงอะไรในโลก มี Yellowjackets มี Chick Corea มีอะไร เพราะฉะนั้นเขาก็จะขนเพลงที่เป็นเพลงยาก เพลงในตำนาน จนกระทั่งต่อมาจนมาถึงทุกวันนี้ ทุกคนมาแข่งกันสร้างงาน สมมุติว่าวงนี้อาจเป็นวงจากมหาวิทยาลัยหนึ่งที่มาจากท้องถิ่นถิ่นหนึ่งแล้วเขาก็จะนำเสนอดนตรีที่อยู่ในท้องถิ่นของเขาในรูปแบบแจ๊ส ในขณะที่มีวงน้องนักศึกษาอีกวงหนึ่งมาด้วยผลงานการประพันธ์ของตัวเองทั้งหมด ประมาณนี้”
สำหรับ การจัดงานครั้งนี้ ทางผู้จัดพยายามดึงอะไรที่ Outstanding จากทั่วโลกมาให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
อ.โจ้ บอกว่า “จริง ๆ แล้วความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งที่มันเกิดขึ้นในช่วง 3 - 4 ปี เทศกาล TIJC จะมีสัดส่วนของศิลปินต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าในแต่ก่อนเราจะมีลักษณะว่าเราจะเปิดด้วยวงดนตรีที่เป็น Big Band จากน้อง ๆ และอาจจะมีวงดนตรีที่เป็นนักดนตรีของไทย อาจจะเป็นวงที่ฟีเจอร์ อาจจะเป็นป๊อบนิดหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้ชม และอาจจะมีวงที่มาจากสถาบันการศึกษาวงหนึ่งและจะปิดท้ายด้วยวงไฮไลท์ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป
“ดูจากโปรแกรมที่เกิดขึ้นใน Main Stage ที่กำลังจะเกิดขึ้น พอนั่งดูโปรแกรม จะเห็นว่า เราเปิดรายการช่วงเย็นด้วยวง Big Band เช่นปีนี้เราก็จะมี Big Band จากทางรังสิต และจากทางมหิดล คนละวันกัน วันที่สามก็จะเป็น Big Band จาก Thomson Swing Band จากสิงคโปร์ หลังจากนั้นโปรแกรมวนที่เหลือที่อยู่ในค่ำคืนนั้นจะเป็นวงที่มาจากภูมิภาคต่าง ๆ ทางยุโรปก็ยกตัวอย่างเช่น วันศุกร์นี้หลังจากหมด Big Band วงแรกไปก็จะเป็นของ Moncef Genoud เป็นนักเปียโน ตาพิการ ชาวสวิส แล้วก็ตามด้วย Geraldine Laurent เป็นนักแซ็กโซโฟนชาวฝรั่งเศส แล้วก็ปิดท้ายด้วย Jochen Rueckert เป็นมือกลองชื่อดังในยุคนี้เลย”
สุดท้าย อ.โจ้ พูดถึง tag line learning jazz for learning society ว่า “ภาพของเราที่มีมาโดยตลอดคือภาพของการที่เรามีการเรียนรู้เกิดขึ้น แล้วก็จริง ๆ คือสิ่งที่เราตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่แรก เกี่ยวกับการตั้ง motto ขึ้นมา ซึ่ง ณ วันแรกที่เราทำ TIJC ขึ้นมา ลักษณะทางวิชาการ หรือว่าทางการปฏิบัติของดนตรีแจ๊สก็จะแตกต่างจากทุกวันนี้ เช่น เมื่อก่อนเล่นเหมือนแท็ป เล่นให้เหมือน เล่นให้ยาก ในขณะที่ทุกวันนี้เน้นในเรื่องของการสร้างงานและมันก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ในลักษณะของการสร้างงาน ที่มีความซับซ้อน จนในที่สุดมันก็จะพัฒนาไปสู่การสร้างงานที่มีคอนเซ็ปต์ และมีอัตลักษณ์
“ฉะนั้นตรงนี้มันคือสิ่งที่เราเรียกว่า มันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นเราเคยรู้อะไร เราเคยรู้วิธีการเล่นให้เทพแล้ว เราก็เรียนรู้ที่จะสร้างงาน สร้างอะไรของตัวเอง พอสร้างของตัวเองแล้วเราก็เรียนรู้ที่จะสร้างให้มันหรู สร้างให้มัน พูดง่าย ๆ ว่า โดยหนีไม่พ้น technical aspect มาก่อน และสิ่งที่มันมาทางจิตวิญญาณมันค่อย ๆ ตามมา เพราะฉะนั้นการเรียนรู้แจ๊สเพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งความสุข เพราะว่าในที่สุดแล้วดนตรีตอนจบ เราก็อยากเห็นภาพคนที่เสพมันอย่างมีความสุข เพราะว่าไม่อยากให้ภาพไปจบตรง การที่ทุกคนเครียดกับการสร้างงาน แล้วมานั่งแข่งขันกัน เพราะว่าในที่สุด คำว่าสังคมแห่งความสุขเป็นคำที่ใหญ่ ขนาดพูดอยู่ยังขนลุก เพราะว่าเวลาเราคุยเรื่อง TIJC เรามักจะเหมือนคุยกันติดตลกกันนิดหนึ่งว่า มันคืองานเช็งเม้งชาวแจ๊ส
“และเวลาที่เราเผยแพร่ข่าว TIJC ก็จะเริ่มมีคนบางคนบอกว่า ได้เวลากลับบ้านแล้ว ชาวแจ๊สได้เวลากลับมารวมตัวกัน ผมเห็นแล้ว ผมก็รู้สึกตื้นตันนะ เอาจริง ๆ พอเวลาเราทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง พัฒนาสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วทำให้คนเขารู้สึกว่ามันเป็นบ้าน เป็นที่ที่เขาพึ่งพาได้ ผมรู้สึกว่าแบบมันเป็นอะไรที่ถ้าเหนื่อยก็คุ้ม” อ.โจ้ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้ 2567 หรือ TIJC 2024 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 28 มกราคม 2567 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tijc.net http://xn--facebook-hxz4e5h.com/tijc.net
เรื่อง : เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน