15 ก.พ. 2567 | 11:39 น.
ความรักไม่ได้จำกัดแค่ชายหญิง สยามเซ็นเตอร์จัดจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ และจัดจดแจ้งทะเบียนสมรสเท่าเทียม เตรียมพร้อมก่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านและเกิดขึ้นจริง
ความรักเป็นสิ่งสวยงามและเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนบนโลกใบนี้
การมีคนรัก มีคู่ชีวิตคอยอยู่เคียงข้างเป็นพลังใจในทุก ๆ วัน อาจเติมเต็มความสุขและทำให้เส้นทางที่แสนยากลำบากในชีวิตผ่านพ้นไปได้ มีคู่รักหลายคู่ที่ตัดสินใจแต่งงานสร้างครอบครัวเพื่อแบ่งปันความทุกข์และความสุขในชีวิตร่วมกัน
ดังนั้นในวันแห่งความรัก ทางสยามเซ็นเตอร์ เมืองแห่งไอเดียที่ล้ำเทรนด์ ร่วมกับ บางกอกไพรด์, กรุงเทพมหานคร และ สำนักงานเขตปทุมวัน จึงได้จัดงาน Siam Center of the Dragon: A Celebration of Luck, Love & Prosperity กับกิจกรรม ‘จดทะเบียนสมรส และจดแจ้งสมรสเท่าเทียม รักนี้ไม่มีพรมแดน @ปทุมวัน Love without borders’ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สยามเซ็นเตอร์ สะท้อนถึงคุณค่าของความรักทุกรูปแบบ
หากถามถึงความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม อยากให้ทุกคนลองจินตนาการตอนที่ คนรักของเราอยู่ระหว่างเส้นแบ่งของความเป็นและความตาย แต่เราทำได้เพียงแค่เฝ้าดู ไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ ได้ ทั้งที่เราตกลงปลงใจเป็นครอบครัวกันแล้ว (แต่กลับไม่ใช่ในทางกฎหมาย)
เนื่องจากในปัจจุบัน คู่รัก LGBTQ+ หลายคู่ตัดสินใจแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว แต่ยังขาดการดูแลจากกฎหมายในฐานะของคนรักที่ไม่ใช่ชายหญิง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางด้านการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล การกู้ยืม การมีทรัพย์สินร่วมกัน หรืออะไรก็ตามที่ครอบครัวชายหญิงทำได้
เพราะสิทธิในการสร้างครอบครัวควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนเหมือนที่ ‘เสถียร ทันพรม’ ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกเลือกปฏิบัติ (MovED) บอกว่า สมรสเท่าเทียมอยู่อีกไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะพลังของประชาชนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายมีสิทธิที่จะมีคู่ครอง และสร้างครอบครัวของตัวเองได้อย่างอิสระเสรี
ในงานมีการเปิดให้คู่รักชายหญิงเข้ามา ‘จดทะเบียนสมรส’ นอกสถานที่ รับรองโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตปทุมวัน และเปิดให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศมา ‘จดแจ้งสมรสเท่าเทียมแสดงความรัก’ ถือเป็นการซ้อมจดทะเบียนสมรสเตรียมพร้อมก่อนจดทะเบียนสมรสจริงเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านและเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
‘พงศ์ธร จันทร์เลื่อน’ กรรมาธิการร่างกฎหมายเท่าเทียมได้กล่าวถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมในงานไว้ว่า พี่น้องชาวไทยทุกคนคือผู้มีส่วนร่วมในการช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในสังคมไทย เรากำลังจะเข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น เรากำลังจะมีกฎหมายที่จะคุ้มครองและให้สิทธิแก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้จดทะเบียนและถูกรับรองจากรัฐเฉกเช่นหญิงชาย นั่นหมายความว่ากฎหมายนี้จะขยายสิทธิต่าง ๆ ไปยังผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมไทย และนี่แหละคือประชาธิปไตย นี่แหละคือหัวใจของความเท่าเทียม มันคือบทสะท้อนว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลง”
ภายในงานประกอบไปด้วยคู่รัก LGBTQ+ หลายคู่ ตั้งแต่วัยรุ่น อย่าง ดร. พอลลี่ ณฑญา เป้ามีพันธ์ เจ้าของตำแหน่ง Miss Trans Thailand 2023 ที่ควงคู่มากับแฟนหนุ่ม ‘เดน่า ฮารัม’ (Dana Haram) เพื่อจดแจ้งทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQ+ พอลลี่กล่าวว่า “ตอนนี้นิยามความรักมันไม่ได้จำกัดแค่เพศแล้ว มันมีได้ทุกรูปแบบเลย ดังนั้นเชิญชวนให้ทุกคนที่มีความรักซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นสเตรท เป็น LGBTQ+ แล้วก็อยากให้มันมีอะไรที่ officially ก็ขอให้ออกมาแสดงพลังกัน”
รวมถึงคู่รัก LGBTQ+ รุ่นเก๋าที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมากว่า 30 ปี อย่าง ปู่ ‘กัญจน์’ กัญจน์ เกิดมีมูล และ ย่า ‘ตุ๊ก’ ปกชกร วงส์สุภาร์ กล่าวถึงความรู้สึกและความคิดเห็นในการจดแจ้งสมรสเท่าเทียมในงานนี้ว่า ความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับทุกคน การสมรสควรเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการแบ่งแยกเพศ เพราะคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศก็ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมาได้อย่างยาวนานไม่ต่างกับคู่รักชายหญิง
คู่รักปู่ย่าคู่นี้ พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ความรักของ LGBTQ+ ไม่ใช่ความรักที่ฉาบฉวยอย่างที่สังคมเคยตีตราไว้ในอดีต พร้อมพูดถึงสิทธิที่จะได้รับจากสมรสเท่าเทียมว่า
“ส่วนตัวเราไม่เท่าไหร่ แต่คนที่อยู่ต่อไปจะต้องได้รับสิทธิ์ได้รับความเชื่อมั่น ได้รับความมั่นใจในการครองชีวิตคู่ ได้รับการยอมรับจากสังคมและกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”
บรรยากาศภายในงานอบอวลไปด้วยความรักของผู้เข้าร่วมกิจกรรมจดแจ้งสมรสเท่าเทียม ที่ต่างก็มีความหวังว่าพวกเขาจะกลายเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายในเร็ววัน
เราหวังว่าในอนาคตกิจกรรมวันแห่งความรัก จะเป็นการจดทะเบียนสมรสของคู่รักทุกรูปแบบ ไม่ใช่เพียงการจดแจ้งสมรสต่อไป