04 มิ.ย. 2567 | 18:00 น.
เป็นอีกปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับ Bangkok Pride 2024 โดยงานในปีนี้จัดขึ้น 5 วันเต็ม ๆ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 4 มิถุนายน 2567 ในธีมของ Celebration of love เพื่อร่วมฉลองสมรสเท่าเทียม ซึ่งในปีนี้มาในรูปแบบของเฟสติวัลที่ไม่ได้มีแค่การเดิน Parade เท่านั้น แต่ยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ทั้ง Forum เวทีเสวนาพูดคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศในมิติต่าง ๆ DRAG BANGKOK มหกรรมการแสดงศิลปะ และวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมและต่อยอดกลุ่มอาชีพนักแสดง ศิลปิน และ บุคลากรในชุมชน แดร็กประเทศไทย เพื่อตอกย้ำพลังของความหลากหลาย และความเท่าเทียมในสังคม อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการจัดงานไพรด์สู่มาตรฐานการจัด WorldPride และเตรียมความพร้อมกรุงเทพมหานครสู่การเป็นเจ้าภาพ Bangkok WorldPride 2030
Wisesight Research จึงได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการพูดถึงเรื่องราวของเดือนแห่งความหลากหลาย รวมถึง Bangkok Pride 2024 ที่ถูกจัดขึ้นในเดือนนี้เช่นกันโดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 – 3 มิถุนายน 2567 ผ่านเครื่องมือ Social Listening อย่าง Zocial Eye พบว่า
X (Twitter) ครองตำแหน่งแพลตฟอร์มที่มี engagement เกี่ยวกับ Pride Month ในกรุงเทพฯ สูงที่สุด โดยมี engagement รวม 3,811,119 ตัวเลขมหาศาลนี้เกิดจากข้อความ 15,544 ข้อความ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของแพลตฟอร์มในการแบ่งปันข้อมูล ความคิดเห็น และการอัพเดทกิจกรรมต่างๆ แบบเรียลไทม์
Instagram ตามมาติดๆ โดยสร้าง engagement ได้ถึง 3,748,604 จากข้อความ 3,862 ข้อความ โดยเน้นไปที่รูปภาพทำให้ส่งผลต่อ engagement ที่สูง เนื่องจากผู้ใช้แชร์ภาพถ่ายและวิดีโอจากการเฉลิมฉลอง Pride Month
TikTok เป็นที่รู้จักจากวิดีโอสั้นๆ อยู่ในลำดับที่สาม โดยมี engagement อยู่ที่ 1,037,760 จากข้อความ 579 ข้อความ ซึ่ง engagement เฉลี่ยต่อข้อความที่สูงนี้แสดงให้เห็นว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับการแบ่งปันเนื้อหาเกี่ยวกับ Pride Month ที่สนุกสนานและน่าสนใจ เช่น ท่าเต้นและเพลงที่ติดหู
หมายเหตุ: กราฟแสดงจำนวนข้อความในแต่ละแพลตฟอร์ม
จากข้อมูลเผยให้เห็นผู้มีอิทธิพลและองค์กรสำคัญหลายรายที่ขับเคลื่อนบทสนทนาเกี่ยวกับ Pride Month Account “cooheart” หรือ เอิร์ธ กัษมนณัฏฐ์ นามวิโรจน์ กลายเป็นบุคคลที่มี engagement มากที่สุด โดยมี engagement รวม 429,574
บุคคลสำคัญอื่นๆ ได้แก่ “Engfa Waraha” และ “Tong Thanayut” ซึ่งทั้งคู่สร้าง engagement ได้ 199,139 และ 178,697 ตามลำดับ จากเนื้อหาเกี่ยวกับ Pride Month
และประเด็นที่คนบนโซเชียลมีเดียพูดถึง สรุปออกมาได้เป็นปนระเด็นหลัก ๆ ดังนี้
เสียงชื่นชมจากผู้คนบนโซเชียลที่พูดถึงการแสดงออกทางความหลากหลาย และสะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของคนในสังคม โดยเฉพาะที่มาจากการเดินขบวนพาเหรด ที่ร่วมกันเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม ทั้งเสียงชื่นชมจากเหล่าแฟนคลับศิลปิน ดารา อินฟลูเอ็นซอร์ต่าง ๆ ที่ออกมาร่วมเดินขบวน จนได้รับคำชมว่า “ทำถึง” “ดีอะมันดีมากกกกชอบมากก” ที่ได้เห็นเหล่าศิลปิน ดารา ของพวกเขา ต่างร่วมใส่ชุด หรือแสดงออกทางความรักให้เหล่าแฟนคลับของเขาได้เห็น อีกทั้งยังมีการชื่นชมและขอบคุณในความเปิดกว้างสำหรับคนที่เข้ามาร่วมกันเดินขบวนที่ไม่ใช่การแสดงออกแค่ทางเพศเท่านั้น แต่เป็นการ “ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมส่งเสียงเรียกร้องเสรีภาพด้วยกันในวันนี้ เพื่อ ปาเลสไตน์ พม่า และผู้ถูกกดขี่อื่น ๆ ทั่วโลก” รวมถึงเสียงชื่นชมจากผู้คนบนโซเชียลว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีเทศกาลที่หลากหลายเช่นนี้
การตั้งคำถามต่อการสนับสนุนความเท่าเทียมที่แท้จริง
เมื่อมีการเดินขบวนเพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียม จึงมีผู้คนจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายองค์กร หลากหลาย Community ที่มาร่วมเดินในครั้งนี้ แต่ในบาง Community กลับถูกตั้งคำถามจากผู้คนที่มาร่วมเดินและผู้คนบนโซเซียลว่ามีการสนับสนุนต่อความหลากหลายและความเท่าเทียมนี้หรือไม่ หรือแค่มาทำการตลาดหากินกับความหลากหลายนี้ รวมไปถึงการตั้งคำถามต่องาน Bangkok Pride 2024 ว่า ถ้ามันจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องมีการใช้เงินมาสนับสนุน ก็ขอให้ทางงานใช้โอกาสนี้ทำให้องค์กร หรือ Community ต่าง ๆ จริงใจจริงจังกับการมีและปฏิบัติตามนโยบายความหลากหลายทางเพศจริง ๆ และตอบคำถามกับผู้คนที่พร้อมสนับสนุนและเข้าใจความหลากหลายให้ได้ว่าจะแก้ไขปัญหา Rainbow Washing ที่แท้จริงได้อย่างไร
ทั้งนี้จากข้อมูลโซเชียลมีเดียข้างต้นแสดงให้เห็นภาพของ Pride Month จากปริมาณข้อความจำนวนมหาศาลไปจนถึง sentiment เชิงบวกที่แสดงออกมา เผยให้เห็นพลังของโซเชียลมีเดียของกลุ่ม LGBTQ+ ในการขับเคลื่อนและการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อไป