28 มิ.ย. 2567 | 11:14 น.
นับได้ว่าเป็นก้าวถัดไปของวิทยาลัยดุสิตธานีที่ได้มีอธิการบดีท่านใหม่มาดูแลทิศทางการเรียนรู้และการเติบโตให้สอดคล้องกับกระแสยุคปัจจุบันมากขึ้น หลายคนอาจคุ้นเคยกับอธิการบดีท่านใหม่อยู่แล้ว เพราะท่านเคยดำรงตำแหน่งที่หลากหลายในวิทยาลัยดุสิตธานีมากว่า 20 ปี คลุกคลีกับวงการการศึกษาและการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้ อาจารย์ปอนด์ - ดร.อรรถเวทย์ พฤกษ์สถาพร อธิการบดีท่านปัจจุบันของวิทยาลัยดุสิตธานี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวเรือใหญ่นำพาวิทยาลัยดุสิตธานีไปสู่ทิศทางที่สดใส และฝ่าพายุคลื่นลมที่กำลังโหมกระหน่ำในวงการการศึกษาไทย
พายุคลื่นลมที่กำลังปะทะวงการการศึกษาไทยอยู่นั่นก็คือความเคลื่อนไหวช้าที่กว่าวงการอื่น ๆ เนื่องจากความเคลื่อนไหวในโลกการทำงานนั้นรวดเร็วมากจนสถาบันการศึกษาไม่สามารถพัฒนาตามได้ทัน จนทำให้คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ ‘ปริญญา’ ที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่ากับชีวิตลดน้อยลง ประกอบกับจำนวนของประชากรวัยเรียนที่ลดลงเรื่อย ๆ อาจทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ทางตันหากไม่มีการปรับตัว
ยิ่งเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการบริการแล้ว เพียงแค่การศึกษาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัตินั้นอาจไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้ว่าจ้างหรือการประกอบกิจการในอนาคตได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนสามารถเกิดและเติบโตในโลกของอุตสาหกรรมการบริการได้ถึงที่สุดคือ ‘ประสบการณ์’ และ ‘การต่อยอด’ นั่นจึงทำให้แนวคิด “ยกอุตสาหกรรมมาประกบการศึกษา” ที่อาจารย์ปอนด์ยึดถืออาจเป็นความหวังของแวดวงการศึกษาด้านการบริการไทย
“ใครหลายคนมักบอกว่าวงการการศึกษาไทยนั้นค่อนข้างที่จะนิ่งและปรับตัวช้า แต่นั่นต้องไม่ใช่สำหรับวิทยาลัยดุสิตธานี” อาจารย์ปอนด์กล่าวด้วยความมุ่งมั่น
“วิทยาลัยดุสิตธานีนับได้ว่าเป็นสถาบันที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการการศึกษาด้านการบริการของไทยเลยก็ว่าได้ เมื่อ 31 ปีก่อนก็เป็นจุดเริ่มต้นของที่นี่คือการผลิตคนที่มีสมรรถภาพ (Competency) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมโรงแรม การท่องเที่ยว และการบริการของไทยที่โตขึ้นเรื่อย ๆ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางแห่งแรก ภายใต้วิสัยทัศน์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งกลุ่มดุสิตธานี และมองเห็นความสำคัญของพัฒนาบุคลากรให้มีทั้งทักษะและมาตรฐานนั้นเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่งจึงได้ก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานีขึ้นมา เพื่อนำเอามาตรฐานโรงแรมห้าดาวของดุสิตธานีมาสร้างเป็นหลักสูตรที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งเปรียบเสมือนการนำเอาความรู้จากอุตสาหกรรมมาส่งต่อผ่านการศึกษาบนฐานสมรรถนะ (Competency-Based Education)
“แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น และคุณภาพของวิทยาลัยดุสิตธานีจะไม่เปลี่ยนไป แต่ปัจจัยโดยรอบนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ของการศึกษา กระแสการท่องเที่ยว พฤติกรรมผู้บริโภค หรือ พฤติกรรมการเรียน องค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน นั่นจึงทำให้สิ่งที่เราเคยทำได้ดีมากในอดีต อาจจะแค่ดีพอในปัจจุบัน และจะล้าสมัยในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน ด้วยโฟกัสที่ไม่เปลี่ยนแปลงของเราในการผลิตมืออาชีพเข้าสู่อุตสาหกรรม เราจึงต้องทำให้นักศึกษาของเราพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมบริการในอนาคต โดยการพาพวกเขาไปอยู่ในอุตสาหกรรมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ด้วยการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงในสถานที่จริง (Work-Integrated Learning) ในฐานะที่วิทยาลัยดุสิตธานีอยู่ภายใต้กลุ่มดุสิตธานี จึงเป็นความโชคดีของนักศึกษาที่จะได้เรียนรู้ภายใต้บรรยากาศจริงที่โรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานี”
และด้วยวิสัยทัศน์ที่แข็งแกร่งในการสร้างคนที่มีสมรรถภาพนี้เองจึงทำให้ทิศทางของวิทยาลัยดุสิตธานีในอีก 4 ปีข้างหน้านี้มีความเปิดกว้างมากขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น และผสมผสานมากขึ้น ทั้งในเชิงหลักสูตรและการเรียนการสอน เพื่อตอบทุกโจทย์ของทุกคน
“คนที่จะมาพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการไม่ได้มีเพียงแต่เด็กรุ่นใหม่เท่านั้น ยังมีบุคคลทั่วไปที่มีไฟในการทำอาหารและการบริการด้วย วิทยาลัยดุสิตธานีจึงต้องการเปิดกว้างโอกาสสำหรับทุกคนด้วยหลักสูตรที่หลากหลายและตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมมากขึ้น เชื่อมหลักสูตรระยะสั้นกับหลักสูตรปริญญาตรีให้บุคคลทั่วไปต่อยอดจากใบประกาศนียบัตรสู่ใบปริญญาได้ และถ้าได้ดูสถิติของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยจะเห็นได้ว่ายังมีอีกกลุ่มคนจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาต้องออกไปทำงานเพื่อหาเงินทุนมาเรียน เราจึงเพิ่มทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากขึ้นด้วยการปรับการเรียนการสอน แบ่งวิชาของเราเป็นท่อน ๆ และเพิ่มความเข้มข้นของแต่ละคลาสเรียนให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในระยะเวลาที่กระชับขึ้น นอกจากนั้น ในยุคนี้ที่ทุกคนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เราจึงวางแผนที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนและปรับคลาสเรียนให้เป็น hybrid เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำและความสำเร็จในอุตสาหกรรมการบริการ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างทางเลือกที่ครอบคลุมกับวิถีชีวิตของทุกคน”
ถึงแม้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง แต่องค์ความรู้ด้านการบริการสามารถเปิดทางให้มืออาชีพทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้เช่นกัน
“การบริการไม่ใช่แค่ศาสตร์ที่ใช้แค่ในโรงแรมเท่านั้น หลายอุตสาหกรรมก็ต้องการการบริการที่ดี เช่น โรงพยาบาล ธนาคารโรงงาน ยานยนต์ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การบริการคือสหวิทยาการที่สามารถประยุกต์และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจและสามารถนำไปจับกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย และเพื่อที่จะทำให้นักศึกษาของเราพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ที่มากขึ้น องค์ความรู้ที่พวกเขามีก็ต้องขยายไปด้วย เราจึงได้ผนวกเอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารและเทคโนโลยีอาหารมาเสริมให้นักศึกษาครัวมีทักษะในเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ในส่วนของสาขาด้านการบริการก็จะนำเอาความรู้เรื่อง Wellness มาเพิ่มเติมให้กับการบริการแบบไทย ผสานการบริการเข้ากับความรู้ด้านการแพทย์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับสมรรถภาพและข้อได้เปรียบให้กับนักศึกษาได้เติบโตและประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรม”
ด้วยความที่การบริการแบบไทยและอัตลักษณ์อาหารไทยนั้นเป็นที่ประจักษ์ในสายตาของคนทั่วโลก จึงมีคำถามที่ว่า
“การศึกษาด้านการบริการไทยสามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศได้ไหม เพราะว่าทั่วโลกสนใจความเป็นอุตสาหกรรมบริการไทยอยู่แล้ว ผ่านอาหาร ผ่านการบริการ ยิ่งเราเป็นดุสิตธานีที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักการบริการแบบไทย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องทำให้ประเทศไทยเป็น Hub ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริการ แต่การที่เราจะเป็น Hub ได้ก็ต้องมีปัจจัยสำคัญมาช่วยเอื้อให้เกิดขึ้นได้ ทั้งการทำให้วิทยาลัยผสมผสานความเป็นสากลและความเป็นไทย (Internationalization with Unique Thai Hospitality) และการรับรองมาตรฐาน (Accreditation) ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้คือสิ่งที่วิทยาลัยฯ พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวต่างชาติมาเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารและการบริการที่ไทย นิยามของความเป็นสากลไม่ได้มีเพียงแค่การสื่อสารภาษาอังกฤษเท่านั้นแต่รวมถึงแนวคิดที่สามารถปรับใช้ได้กับทุกวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความเปิดกว้าง ความหลากหลาย หรือแม้แต่การได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นี่คือสิ่งที่เราต้องรักษาและเพิ่มเติมให้กับวิทยาลัย”
ถึงแม้ว่าอุปสรรคจะถาโถมเข้ามาในแวดวงการศึกษาอย่างมากมายก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้วิทยาลัยดุสิตธานียังคงดำรงอยู่ได้นั่นก็คือ คุณภาพ การปรับตัว และความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อาจารย์ปอนด์ยึดถือและพยายามส่งต่อให้กับทุกคน เชื่อว่าภายใต้การนำทางของอธิการบดีท่านใหม่นี้จะนำพาการศึกษาและอุตสาหกรรมด้านการบริการไทยไปสู่ทิศทางที่สดใสและยั่งยืนในอนาคต