20 ก.ย. 2567 | 18:00 น.
ในวันที่ 18 กันยายน 2567 กรุงเทพมหานคร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดงาน Top Executives Meeting : Innovation Thailand Alliance x Global ขึ้นที่ ห้อง The Lawn ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท เกษร ทาวเวอร์ เพื่อสร้างเครือข่ายนวัตกรรมของประเทศไทย ในระดับผู้บริหารระดับสูง เพื่อสร้างโอกาสให้เกิด “ความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างองค์กร” ขึ้นในประเทศไทย
งานครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานชั้นนำจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา และสมาคมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เข้าร่วมงานถึง 27 หน่วยงาน ทั้งจากหน่วยงานชั้นนำของประเทศไทยและบริษัทชั้นนำระดับโลก
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า งานนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชั้นนำจากทุกภาคส่วนในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation) และร่วมกันยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ผ่านการสร้างความรู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนวัตกรรมระหว่างกันของ “ผู้บริหารระดับสูง (Top Executives)” จากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV-Innovation Ecosystem) ของประเทศไทย
ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อว. for EV: EV-HRD, EV-Transformation, EV-Innovation” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีกระทรวง อว. ถือเป็นกระทรวงสำคัญที่จะมาร่วมขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญอันดับหนึ่งของภูมิภาคตามนโยบาย 30@30 โดยมีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030
อว. เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญ จึงได้ประกาศนโยบาย “อว. for EV” เพื่อเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เพื่อนำไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย 3 แผนงาน คือ EV-HRD : การพัฒนาทักษะกำลังคนด้านยานยนต์ไฟฟ้า รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV-Transformation : การเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์ระบบสันดาปมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวง รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ EV-Innovation : การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรม EV ในประเทศ และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม EV
“อว. มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาโครงการนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบวงกว้างในอุตสาหกรรม EV เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้าน EV ของภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม EV วันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่เราจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างเครือข่าย และกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรม EV ของประเทศไทยร่วมกัน”
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 3 ท่าน
คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้บริหารบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย (BMW) กล่าวถึงข้อมูลแนวโน้มของอุตสาหกรรม EV ในระดับโลกว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 14 ล้านคันในปี 2566 นั้น 95% อยู่ในจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 66 โตกว่าปี 65 ราว 35% และกว่า 60% ของรถไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่อยู่ที่จีน ประมาณ 25% ในยุโรป และอีกประมาณ 10% อยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งที่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย การเติบโต และตื่นตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถือว่าเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีจำนวนการจดทะเบียนก็เติบโตขึ้นกว่า 600% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่าง อินเดีย เวียตนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
นอกจากนั้นแล้ว เทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีของยานยนต์ในทุกวันนี้ ก็มุ่งเน้นไปที่เรื่องของ System Integration หรือระบบต่าง ๆ ของรถยนต์ที่บูรณาการกันได้อย่างลงตัวที่จะครอบคลุมไปถึงการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ การเชื่อมต่อกันของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ Smart Data ในระบบการทำงาน
ความยั่งยืนเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากที่เทคโนโลยีที่มีความยั่งยืนในตัวจะตอบโจทย์ในแง่ของการเป็นมิตรของสิ่งแวดล้อมแล้ว การขยับไปสู่ Technology Neutral ก็อาจเป็นทางเลือกที่อาจลดทอนอิทธิพลและการขึ้นตรงในทางทรัพยากรในบางประเทศอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้วการลดการปล่อยคาร์บอนเองก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ BMW รวมถึงบริษัทยานยนต์ค่ายอื่น ๆ ก็น่าจะให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่เพียงแค่การลดจากตัวรถยนต์เองเท่านั้น แต่ยังต้องถอยไปสู่ขั้นตอนการผลิตด้วย โดย BMW ก็ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 80% ภายในปี 2030 ในแง่ของการใช้งานก็ต้องลดไป 50% ในแง่ของห่วงโซ่อุปทานก็จะมีการไปต่อรองกับสายการผลิตให้มีการลดไปอย่างน้อย 20% รวมไปถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เพิ่มอัตราการรีไซเคิลวัสดุให้เพิ่มขึ้นไปถึง 50%
คุณสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมแชร์มุมมองความท้าทายและโอกาสในแนวทางการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในอัตราที่สูง โดยการเติบโตของการจดทะเบียนรถไฟฟ้าในเดือนสิงหาคม 2567 มีสูงถึง 14% และมีผู้เล่นในตลาด 28 แบรนด์ มีรถยนต์ให้เลือกกว่า 71 รุ่น ขยับจากเดิมที่มีเพียง 30 รุ่นจากปลายปี 2565 ซึ่งถือเป็นการเติบโตถึง 125%
นอกจากนั้นแล้วก็ยังกล่าวถึงสถานีชาร์จที่เพิ่มขึ้นมาถึง 10,831 สถานี ในเดือนสิงหาคมปี 2567 ซึ่งพอนำมาคำนวนเป็นสัดส่วนต่อจำนวนรถ EV ที่ลงทะเบียนในประเทศนั้น ก็จะได้เป็ยสัดส่วน 26:1 คัน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดี ทว่าแม้จำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่สถานีชาร์จส่วนใหญ่ก็ยังกระจุกอยู่ในตัวเมือง ทำให้การเดินทางไปสถานที่ในต่างจังหวัดยังไม่สะดวกเท่าที่ควร
ในแง่ห่วงโซ่อุปทานด้านการผลิตมีความร่วมมือระหว่างไทยกับบริษัทข้ามชาติเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นสนับสนุนการเป็นฐานการผลิต ขณะเดียวกันในด้านการพัฒนาทรัพยกรบุคคล ก็มีการพัฒนาทักษะอีวี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม ทั้งหมด ก็เพื่อทำให้ Made in Thailand เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก แม้ว่าปริมาณการผลิตในไทยจะมีตัวเลขที่ 2,000,000 คันต่อปี แต่ถ้าขยายไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ประเทศไทยจะสามารถผลิตได้ถึง 2,500,000 คันต่อปี
นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการนำเสนอในเรื่องของโอกาสแง่ตลาด ๆ ในของประเทศไทยในตลาด EV ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน การศึกษาและพัฒนาบุคลากร โครงสร้างพื้นฐานของสถานีชาร์จ รวมไปถึงการจัดการกับแบตเตอรี ที่จะทำให้เราเห็นความเป็นไปในภาพรวมอุตสาหกรรมและทางข้างหน้าได้ชัดเจนขึ้น
คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยที่น่าสนใจว่า เพื่อตอบสนองนโยบาย 30@30 ที่ประกอบไปด้วยมาตรการสนับสนุนทั้งในแง่การส่งเสริมการผลิตและบริการ ที่จะมีตั้งแต่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตส่งออก ยกเว้นอากรในการทำ R&D เพื่อเป็นการจูงใจให้การการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไปข้างหน้า
สำหรับมาตรการการสร้างตลาดในประเทศ ก็จะมีตั้งแต่มาตรการ EV3 และ EV3.5 สำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่จะมีการลดอัตราอากรขาเข้า CBU ไม่เกิน 40% การลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% รวมไปถึงเงินอุดหนุนในแง่ต่าง ๆ นอกจากนั้นก็ยังมีการส่งเสริมการใช้รถโดยสารและรถบรรทุกและมาตรการการส่งเสริมการใช้รถ EV ในภาครัฐ
รวมทั้งมาตรการการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ เช่นการพัฒนากาการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของชิ้นส่วนยานยนต์ และสถานีชาร์จไฟ เพื่อสนับสนุนให้เกิดนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร โดยทั้งหมดก็ล้วนเป็นนโยบายจากภาครัฐที่หวังจะกระตุ้นให้อุตสาหกรรม EV ขับเคลื่อนไปได้ไกลมากขึ้นกว่าเดิม
หลังจากนั้น ยังมีการแนะนำบรรดาผู้บริหารระดับสูงที่มาร่วมงาน ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในแต่ละองค์กร ผ่านการทำความรู้จักพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนวัตกรรมระหว่างกัน
เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย (Innovation Thailand Alliance) เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการนวัตกรรมประเทศไทย ประจำปี 2567 หรือ Innovation Thailand 2024 โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
กิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นภารกิจในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจด้านนวัตกรรมเพื่อให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในทุกภาคส่วนของประเทศ รวมถึงเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในนวัตกรรมของประเทศไทยทั้งระดับในประเทศและระดับสากล และความร่วมมือกับหน่วยงานจากทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านนวัตกรรม