18 พ.ย. 2567 | 17:44 น.
ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด หัวหน้าชุด โครงการวิจัยการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัยนี้มุ่งใช้พลังความรู้จากงานวิจัย เชื่อมโยงกับพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งบ้าน-วัด-โรงเรียน-องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระตุ้นให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้เอาชนะความยากจนด้วยตัวเอง ตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าด้วยการระเบิดจากข้างใน โดยมีกลุ่มครัวเรือนคนจนเป้าหมายในตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์เป็นกลุ่มตัวอย่างในโครงการวิจัย
“กระบวนการคัดเลือกครัวเรือนคนจนเข้าร่วม โครงการวิจัยจะสังเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนคนจนจากฐานข้อมูล 3 แหล่งคือ TPMAP, PPPCONNEXT และ SURIN POVERTY DATA BASE แล้วคัดกรองเพิ่มเติมร่วมกับคณาจารย์โรงเรียนบ้านยะวึกและคณะสงฆ์ตำบลยะวึก รวมทั้งอาสาสมัครองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อเฟ้นกลุ่มครัวเรือนคนจนที่ต้องพึ่งพาเงินกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการให้บุตรหลานได้มีโอกาสรับการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นครัวเรือนยากจนของจริง”
ผศ.ดร.นิศานาถ ชี้แจงว่า กลุ่มครัวเรือนคนจนที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการผักอินทรีย์แก้จน บนพื้นที่ของโรงเรียนบ้านยะวึก เพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำแปลงปลูกผักแบบเกษตรปราณีต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดิน ทำปุ๋ยคอก ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำสารชีวภัณฑ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการจัดการแปลง
ผศ.ดร.นิศานาถ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าครัวเรือนยากจนในโครงการนี้ มีความทรหดอดทน และไม่ท้อแท้ท้อถอย แม้ต้องเผชิญทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม แต่ก็อดทนต่อสู้ฟันฝ่ามาได้ ด้วยกำลังใจจากคณะสงฆ์นำโดยพระพรหมโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และพระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลยะวึก
“ทุกวันนี้ครัวเรือนยากจนกลุ่มเป้าหมาย 50 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 36,000 บาท มีค่าใช้จ่ายลดลงปีละ 18,000 บาท ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ครัวเรือนยากจนร่วมกันแบ่งปันเงินที่ได้รับมอบจากพระพรหมโมลี มาจัดตั้งขึ้นก็ขยายขนาดเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 24,000 บาท ด้วยเงินสมทบบำรุงแปลงผัก ตามสัญญาประชาคม ที่ครัวเรือนยากจนพร้อมใจกันจ่ายในอัตราแปลงละ 10 บาทต่อเดือน”
นางสาวรามาวดี อินอุไร ประธานชุมชนปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก ซึ่งมีสถานะเป็นครัวเรือนยากจนในโครงการร่วมด้วย กล่าวว่า โครงการนี้ มีส่วนอย่างมากในการชุบชีวิตคนจน ทำให้คนจนมีความหวัง มีรายได้มั่นคงในการยังชีพ จากการปลูกผักอินทรีย์ขาย ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ได้รับเมตตาจากพระพรหมวชิรโมลี มอบเงินขวัญถุงให้ ก็มีส่วนในการช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ครัวเรือนยากจนได้มาก โดยครัวเรือนยากจนที่ขัดสน หรือต้องการทำอาชีพเสริม สามารถหยิบยืมไปทำทุนได้คราวละไม่เกิน 500 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องจ่ายคืนภายในเวลา 1 เดือน
ผศ.ดร.นิศานาถ กล่าวอีกว่านอกเหนือจากแปลงปลูกผักอินทรีย์บ้านยะวึกแล้ว ตอนนี้มีการขยายผลไปทำแปลงปลูกผักสลัด และแปลงปลูกพริก ที่ตำบลบึงบัว และตำบลกระเบื้องแล้ว
นายวสันต์ ชิงชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่าโมเดลปลูกผักอินทรีย์แก้จน ในโครงการวิจัยฯของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ด้านเกษตรอินทรีย์วิถีรุ่งเรือง ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันในรูปแบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ซึ่งจะได้พิจารณาบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า โครงการปลูกผักอินทรีย์แก้จนบ้านยะวึก ภายใต้โครงการวิจัยฯของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สะท้อนรูปธรรมของการสานพลังความรู้จากงานวิจัย เข้ากับพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ สามารถสร้างผลลัพธ์ ผลกระทบ สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกภายใต้บริบทภูมิสังคมในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะถูกใช้เป็นแบบอย่างแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่อื่นๆ