02 เม.ย. 2568 | 14:59 น.
วันที่ 1 เมษายน 2568 นฤมิตไพรด์ จับมือกรุงเทพมหานคร พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมเนรมิตถนนพระราม 1 เป็นถนนสีรุ้งแห่งการเฉลิมฉลองความเท่าเทียม จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2025” ภายใต้ธีม Born This Way โดยภาพธงอัตลักษณ์ที่ยาวที่สุดกว่า 200 เมตร จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย และในโลก พร้อมธงสีรุ้งที่ยิ่งใหญ่อีกเช่นเคยโบกสะบัดใจกลางกรุงเทพมหานครในปีนี้ ที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของการสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศจากทุกภาคส่วน และเป็นคำเชิญที่ส่งตรงไปยัง LGBTQIAN+ จากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยือนประเทศไทย ในฐานะหมุดหมายของ “ชาวสีรุ้ง” พร้อมตั้งเป้าความสำเร็จในปีนี้ ให้ “กรุงเทพฯ” เป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางเพศระดับโลก และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เยาวชน LGBTQIAN+ ตัวแทนประเทศไทย ไปนำเสนอความพร้อมและคุณสมบัติในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok World Pride ปี 2030 สำเร็จ
วาดดาว - อรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) และผู้จัดงาน “วันสมรสเท่าเทียม” (Marriage Equality Day) กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดงาน “Bangkok Pride Festival 2025” (บางกอก ไพรด์ เฟสติวัล 2025) ยังคงเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง ความหลากหลาย ความรักที่ไม่มีข้อจำกัด การรวมไว้ซึ่งความเท่าเทียมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับในสังคม โดยปีนี้รูปแบบของการจัดงานจะถูกถ่ายทอดเรื่องราวภายใต้ธีม Born This Way : การต่อสู้ที่เดินต่อไปจากสมรสเท่าเทียม สู่การรับรองอัตลักษณ์
“ปีนี้คาดหวังว่าจะมีคนแห่แหนเข้ามาร่วมขบวนพาเหรดกับเราทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมากกว่า 300,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่มีคนเข้าร่วมขบวนพาเหรด 100,000 คน และปี 2024 เพิ่มเป็นกว่า 250,000 คน พร้อมคาดหวังให้ Bangkok Pride Festival 2025 เป็นเทศกาลแห่งชาติ เป็น Pride Destination เป็นขบวนไพรด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียที่คนอยากมาร่วมขบวนไพรด์พาเหรดมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่คนไทย ไม่ใช่แค่ชาว LGBTQIAN+ แต่เป็นผู้คนและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เทศกาลนี้ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองของ LGBTQIAN+ แต่เป็นการประกาศว่า กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยพร้อมเป็นจุดหมายปลายทางแห่ง Pride ระดับโลก และเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030 อย่างสมศักดิ์ศรี”
นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่า ต่อไป “Bangkok Pride” (บางกอกไพรด์) จะเป็นองค์กรที่ทำเรื่องเทคฯหรือ “เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม” เพื่อชุมชนบางกอกไพรด์ และเป็น One Stop Service สำหรับชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลกด้วย ซึ่งหลังจบงาน Bangkok Pride Festival 2025 พร้อมเริ่มดำเนินการเฟสแรกทันที เพื่อเร่งผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความหลากหลายทางเพศระดับโลก เป็นศูนย์กลางของ Inclusive Tourism และ Wellness Destination ที่ตอบโจทย์ชาว LGBTQIAN+ ทั่วโลก
“การจัดงาน Bangkok Pride Festival 2025 มีแกนหลัก คือ Born This Way : การต่อสู้ที่เดินต่อไปจากสมรสเท่าเทียม สู่การรับรองอัตลักษณ์ และเราจะเปลี่ยนรูปแบบของการเรียกร้องทางสังคมใหม่ โดยใช้ความอ่อนน้อมต่อบุคคล แต่แข็งกร้าวต่อจุดยืน จากการถูกเหยียด ถูกด้อยค่า และความรุนแรง ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อความหมาย ความหวัง ความพยายาม สนับสนุนและผลักดันให้ความเท่าเทียมเกิดการยอมรับในสังคมไทย พร้อมตั้งเป้าเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Rainbow Cities Network พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนทุกเพศ”
เมื่อพูดถึงกลิ่นอายของ “Bangkok Pride Festival 2025” โมเมนต์ที่ทุกคนต่างรอคอยคือ “ขบวนพาเหรด” เสน่ห์และอัตลักษณ์เสมือนการเปิดม่านสู่โลกที่เท่าเทียม และการเฉลิมฉลองความหลากหลายของชุมชน LGBTQIAN+ ในปีนี้เส้นทางขบวนพาเหรดจะอยู่บนถนนพระราม 1 เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ ศุภชลาศัย ผ่านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม ยาวมาจนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร โดยจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน 2568 ตั้งแต่เวลา 14.00 - 22.00 น. เตรียมตัวเซอร์ไพรส์กับ ขบวนพาเหรด 5 ขบวน 5 สี 5 คอนเซปต์ ประกอบด้วย
1.สีแดง Born to be Loved ฉลองความรักและสิทธิสมรสเท่าเทียม
2.สีม่วง Born to be Me ที่ส่งเสริมการรักตัวเองและความภาคภูมิใจในตัวตน
3.สีเขียว Born to be Part of One สะท้อนความเชื่อมโยงของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม สังคม และโลก
4.สีเหลือง Born to Create & Inspire ที่ให้พื้นที่ศิลปะและวัฒนธรรมของชุมชน LGBTQIAN+
5.สีฟ้า Born to Heal Generations ที่เน้นการเยียวยาและการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม
รวมถึงธงอัตลักษณ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายและการยอมรับที่มีความยาวกว่า 200 เมตร เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทยและในโลก, การแสดง Drag Show และการแสดงอื่นๆ อีกเพียบ บนถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม ที่ปีนี้จัดใหญ่แบบทำถึง ทำจึ้ง ไม่มีกั๊ก!
อย่างไรก็ตาม Bangkok Pride Festival 2025 ปีนี้ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมายครอบคลุมทุกมิติตลอดระยะเวลา 3 วันเต็ม เพื่อสร้างสีสันความสนุก ความยิ่งใหญ่อลังการให้กับเดือนไพรด์ (Pride Month) โดยมี “Bangkok Pride Awards” ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 เพื่อเชิดชูบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียม พร้อมจัด “Bangkok Pride Forum” เปิดพื้นที่เสวนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับ สุขภาวะ LGBTQIAN+, เศรษฐกิจสีรุ้ง, เทคโนโลยี, สิ่งแวดล้อม, สิทธิมนุษยชน และการศึกษา ตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2568
นอกจากนี้ ยังมี “Bangkok Pride Party” ที่จะสร้างสรรค์ค่ำคืนแห่งสีสันและความอลังการ ทำให้กรุงเทพมหานครสั่นสะเทือนด้วยแสง สี เสียง และพลังแห่งความภาคภูมิใจที่ไร้ขีดจำกัด และอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คืองาน “DRAG BANGKOK Festival 2025” ที่จะยกระดับศิลปะแดร็กไทยสู่เวทีโลก ภายใต้ธีม “Thaituristic Drag Scene” ในวันที่ 30-31 พฤษภาคม และ 1 มิถุนายน 2568 ด้วย ซึ่งนำเสนออัตลักษณ์ไทย ผ่านการแสดงที่ทรงพลังและสร้างสรรค์ และยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับรองศิลปิน “แดร็ก” ให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ปีนี้ คือ อีกหนึ่งก้าวประวัติศาสตร์ที่สะเทือนทั้งเอเชีย เพราะประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นชาติแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่เพียงเป็นชัยชนะของความรักและสิทธิมนุษยชน แต่ยังกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งสำคัญ เชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจัดงาน Bangkok Pride Festival 2025 จึงไม่เพียงเป็นแค่การเฉลิมฉลองความหลากหลายและความเท่าเทียม แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือน และสัมผัสกับวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายของสังคมไทย
Bangkok Pride Festival 2025 ไม่เพียงแค่เป็นปรากฏการณ์การรวมตัวของชุมชน LGBTQIAN+ แต่ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการยืนยันสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้เฉลิมฉลองความหลากหลายของความรักและความเป็นมนุษย์ “นฤมิตไพรด์” ยังเปิดพื้นที่ให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจนี้ และช่วยกันสร้างโลกที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยเปิดรับสมัครขบวนทั้งในงานและออนไลน์ผ่าน www.bangkokpride.org