เจาะ T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม ผ่านพลังของ ‘การศึกษา’ ดันคนไทยสู่พลเมืองชั้นหนึ่งของโลก

เจาะ T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม ผ่านพลังของ ‘การศึกษา’ ดันคนไทยสู่พลเมืองชั้นหนึ่งของโลก

การศึกษาไทยพูดถึงเรื่องปฏิรูปกันมาหลายสิบปี วันนี้ ศ. ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มองว่า หมดเวลาปฏิรูป ถึงเวลาปฏิบัติ ผลักดันคนไทยสู่พลเมืองชั้นหนึ่งของโลก สร้างค่านิยม T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม ด้วยระบบการศึกษา

  • ศ. ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ชูแนวทางสร้าง T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม ด้วยการศึกษา สนับสนุนคนไทยที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยหนุนคนเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีให้มากที่สุด
  • การศึกษาระดับปริญญาตรีจะเปลี่ยนแปลงสถานะแรงงานทักษะไม่สูง เป็นแรงงานทักษะสูง ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มเชิงคุณภาพในแง่หลักวิชาด้วย

ความสามารถและศักยภาพของคนไทยเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกมานานแล้ว หลักฐานต่าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงพลังของคนไทยมีให้เห็นมากมายหลากหลายด้าน แน่นอนว่าสังคมอยากเห็นคนมีความสามารถเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ และปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกยอมรับกันว่าเป็นองค์ประกอบที่จะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ก้าวไปไกลกว่าที่เคย นั่นคือการศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

การศึกษาในไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาคุ้นเคยกับคำว่า ‘ปฏิรูป’ เป็นอย่างดี แต่จนถึงวันนี้ ระบบการศึกษาไทยยังพบข้อติดขัดและปัญหามากมาย ในมุมมองของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานการศึกษาทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ อีกหนึ่งนักการศึกษาที่ผ่านประสบการณ์บริหารมหาวิทยาลัยมาแล้วและมีพลังที่จะขับเคลื่อนการศึกษาของไทยเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาในฐานะเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคน สังคม และชาติ อีกทั้งยังมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางพัฒนาการศึกษาด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการศึกษารูปแบบใดจะเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับโลกยุคนี้ที่ผู้คนเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบทุกมิติ

ด้วยโจทย์ของการพัฒนาข้างต้นจึงนำมาสู่การจัดงานเสวนา T-WAVE จาก ปฏิรูป สู่ ปฏิบัติ “การศึกษาไทยสู่ระดับโลก” งานนี้รวบรวมวิทยากรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาไทยมาช่วยกันระดมความคิดเห็น และวางแนวทางรูปแบบการศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด ‘ปฏิรูปสู่ปฏิบัติ’ เตรียมความพร้อมและหาแนวทางผลักดันทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้ก้าวไกลในระดับโลกได้มากขึ้น โดยงานนี้จัดที่ Auditorium - True Digital Park เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 

ศ.ดร. สุชัชวีร์ เสนอมุมมองว่าการพัฒนาระบบการศึกษาโดยมีเป้าหมายยกระดับให้คนไทยไปสู่การเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของโลก ผู้คนต้องเชื่อมั่นในศักยภาพคนไทย และช่วยกันผลักดันกระแส ‘T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม’ ซึ่งมีองค์ประกอบคือ THAI หมายถึง ศักยภาพของคนไทยที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก, TECH หรือ เทคโนโลยี หมายถึง การใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนความรู้ และ TEEN หมายถึง พัฒนาเด็กไทยและคนรุ่นใหม่ให้เต็มประสิทธิภาพ

ช่วงแรกของงาน T-WAVE จาก ปฏิรูป สู่ ปฏิบัติ “การศึกษาไทยสู่ระดับโลก” มีศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นหนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นกล่าวบนเวทีในช่วง Solo Talk เริ่มจากการเอ่ยถึงภาพกว้างให้เห็นการเปลี่ยนแปลงบนโลกในปัจจุบัน ตั้งแต่โซนประเทศอาหรับที่เริ่มผลักดันสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างการเปิดกว้างด้านการศึกษา จนถึงอาชีพวิศวกรชาวอาหรับที่ร่วมมือกับ SpeceX ของ อีลอน มัสก์ เมื่อไม่นานมานี้

ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ที่สามารถยกระดับมูลค่าให้กับสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่เป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนเบอร์ต้นของโลก ไปจนถึงสินค้าเทคโนโลยีชนิดอื่นอีกมากมายล้วนมาจากเกาหลีใต้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นเชิงสัญลักษณ์ของ A-WAVE (Arab) และ K-WAVE (Korean) พร้อมตั้งคำถามเกี่ยวกับ T-WAVE ว่า เหตุใดถึงยังไม่มี ‘คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม?’

ในมิตินี้ ศ.ดร. สุชัชวีร์ จุดประกายให้เห็นภาพถึงโครงสร้างประชากรของไทยที่ตอนนี้พังไม่เป็นท่า เปรียบเสมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ อัตราการเกิดของเด็กที่ต่ำ, เด็กไทยจบระดับปริญญาตรีน้อยลง กลายเป็นวิกฤตพีระมิดกลับหัวสร้างความน่ากังวลอย่างยิ่งต่อสังคมไทย

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ควรรีบปฏิบัติด้วยการสนับสนุนคนไทยให้เข้าถึงการศึกษาเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ โดยสิ่งที่อยากจะเห็นต่อจากนี้เพื่อสนับสนุนให้เกิด T-WAVE สำหรับ ศ.ดร. สุชัชวีร์ มองว่าแนวทางในระยะสั้นคือการผลักดันให้เด็กไทยเข้าสู่ระบบการศึกษาทักษะสูงให้ได้ 100% และเด็กไทยต้องได้เรียนระดับปริญญาตรีฟรีเพื่อให้เกิดคลื่นที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของประเทศ

ศ.ดร. สุชัชวีร์ ย้ำว่า T-WAVE คือทางรอดของไทย การเปลี่ยนแปลงจะทำให้ไทยเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และตั้งเป้าให้คนไทยก้าวสู่พลเมืองชั้นหนึ่งให้ได้ ขณะเดียวกัน คนไทยก็ต้องเชื่อมั่นและสนับสนุนไทยนิยมด้วยกันประเทศไทยถึงจะอยู่รอด

“ลมหายใจสุดท้ายในชีวิต ขอหมดลมหายใจไปในฐานะพลเมืองชั้นหนึ่งของโลก”

นี่คือวาทะของศ.ดร. สุชัชวีร์ ที่กล่าวถึงความฝันของตัวเองในช่วง Panel Discussion อันเป็นช่วงเสวนาบนเวทีซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และเกี่ยวข้องกับกระบวนการศึกษามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางพัฒนาการศึกษา

ศ.ดร.สุชัชวีร์ เล่าถึงประสบการณ์ไปศึกษาในต่างประเทศซึ่งทำให้พบเห็นว่า คนไทยเก่งไม่แพ้ใครในโลก ทุกคนในต่างประเทศก็รักเด็กไทย ขณะที่คนเก่งของไทยถูกซื้อตัวให้ทำงานในประเทศนั้น ๆ นำมาสู่คำถามว่า ทำไมคนในไทยอีกจำนวนมากไปได้ไม่ไกลแบบนั้น แสดงว่า หากปรับอีกเพียงเล็กน้อย โดยทุกคนมากระตุกฝาที่ครอบคนเอาไว้ คนเก่งจะมีโอกาสเฉิดฉายได้ เมื่อคนเก่งที่เข้ามาในกระบวนการได้รับการสนับสนุนให้ไปถึงสุดปลายทาง เชื่อว่า โลกเปลี่ยนได้จริง ๆ และเมื่อเชื่อแล้วลงมือทำด้วยความอดทน ย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง 

ดังที่เกริ่นข้างต้นแล้ว ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังเน้นย้ำเรื่องการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มีความสำคัญในการยกระดับการศึกษาระยะสั้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง วิทยากรที่มาร่วมในงานตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาในระดับปริญญาตรียังมีหลายวิชาไม่จำเป็น และควรถูกปฏิเสธไปได้แล้ว ซึ่งศ.ดร. สุชัชวีร์ แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกับแนวคิดนี้ว่าด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง และพิจารณา ‘ปฏิเสธ’ สิ่งที่ไม่จำเป็นในระบบการศึกษา  

ในแง่บริบทแวดล้อม เมื่อมองไปในตลาด ไทยยังขาดแรงงานมีทักษะ ประธานการศึกษาทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์มองว่า ทักษะสามารถสร้างได้ด้วยมหาวิทยาลัยอันเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยบ่มเพาะสร้างทักษะให้บุคลากรได้ 

ตลาดทุกวันนี้ยังประเมินแรงงานจาก ‘ระดับการศึกษา’ ทำให้คนที่มีศักยภาพและเรียนเก่งมากในระดับมัธยมยังคงถูกประเมินเป็น ‘แรงงานไม่มีทักษะ’ อยู่ดี หากสนับสนุนคนที่เรียนเก่งในระดับมัธยมที่ยังมองหาโอกาสยกระดับการศึกษาของตัวเองให้เข้าไปเรียนเพิ่มในมหาวิทยาลัยอีก 4 ปีได้มากขึ้น สังคมจะได้คนที่เรียนเก่งที่เปลี่ยนจาก ‘แรงงานไม่มีทักษะ’ ตามการประเมินในตลาด กลายมาเป็นได้วิศวกร นักบัญชี แพทย์ ภายในเวลา 4-5 ปี ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด 

เพราะฉะนั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงมองว่าแนวทางพัฒนาการศึกษาใน ‘ระยะสั้น’ คือผลักดันคนให้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีให้มากที่สุด เพราะปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยอยู่ 

“วันนี้ขาดทั้งปริมาณและคุณภาพ... 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย...

ในวันนี้การเรียนมหาวิทยาลัย เด็กยังน้อย โอกาสนี้โอกาสทอง (รัฐ)มีเงินพอ ค่าเล่าเรียนทั้งประเทศไทยปีละไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท สร้างถนน-ทาง ปีละ 1.2 แสนล้าน จะมาสร้างคน ถ้าทำไม่ได้ก็แปลก”

“ท่านเห็นตัวเลขแล้ว เดต้า(ข้อมูล)ไม่ใช่ดราม่า เพราะอย่างนั้น หนทางรอดของไทย ระยะสั้น ๆ ย้ำว่าระยะสั้นคือ ดึงลูกหลานซึ่งน้อยเหลือเกินในตอนนี้เข้าสู่ปริญญาตรี เพื่อเปลี่ยนจากแรงงานไม่มีทักษะสูง เป็นแรงงานทักษะสูงให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน (แง่การเพิ่ม)คุณภาพหรือวิชา(ที่จะมี)ปฏิเสธ เราทำควบคู่กันไป นี่คือทางรอด เราทำได้”

ในช่วงท้ายของงาน ศ.ดร. สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ฝากแนวคิดไว้ว่า ถ้าทุกคนเริ่มกระตุก กระแส T-WAVE จะเกิดเป็นค่านิยมขึ้นมา เมื่อเกิดระบบที่สนับสนุนคนไทยที่มีความสามารถ ผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ถึงฝัน เชื่อว่าวันที่คนไทยก้าวขึ้นเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของโลกจะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน

จากแนวคิดและการพูดคุยในงานเสวนา T-WAVE จาก ปฏิรูป สู่ ปฏิบัติ “การศึกษาไทยสู่ระดับโลก” นำมาสู่แนวคิดและการสร้างความตระหนักให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนและยกระดับระบบการศึกษาไทยซึ่งหากจะทำให้เกิดขึ้นจริง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน กระตุกให้เกิดเป็นกระแสขึ้นมา จากนั้นลงมือปฏิบัติจริง ก้าวข้ามจากปฏิรูปมาสู่การปฏิบัติ ให้การศึกษาไทยยกระดับกระแส T-WAVE ซึ่งจะทำให้คนไทยยืนหยัดอย่างเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในระดับสากล