เกษตรกรรม : รากฐานเศรษฐกิจไทย แต่หลายคนเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเท่านั้นที่สำคัญ

เกษตรกรรม : รากฐานเศรษฐกิจไทย แต่หลายคนเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเท่านั้นที่สำคัญ

รากฐานเศรษฐกิจไทย มีหลายองค์ประกอบ ซึ่งการท่องเที่ยวและเกษตรกรรมมีความสัมพันธ์พอ ๆ กัน แต่ทำไม? หลายคนเข้าใจว่า การท่องเที่ยวคือปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งที่เกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลัง 'อาหารไทย' ที่ได้รับความนิยมทุกวันนี้

‘ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว’ ประโยคนี้คงไม่เกินจริงหากให้หลายคนนึกเร็ว ๆ ว่าอุตสาหกรรมใดที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่เราก็มั่นใจว่ามีอีกประโยคหนึ่งที่หลายคนต้องเคยได้ยินกันมาบ้างคือ ‘ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม’ หากมองแค่คำว่าเกษตรกรรมก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนยังติดภาพ การมีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย ถดถอย และไม่เติบโต

แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น การมาท่องเที่ยวคือการมาสัมผัสศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นต้องมีอาหารอย่างแน่นอน แล้วจุดเริ่มต้นของอาหารเหล่านั้นจะมาจากที่ใดได้ หากไม่ใช่ภาคการเกษตร

ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการเกษตร มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จึงร่วมมือกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2566 ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ ผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ โดยจัดไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน

จากจุดเริ่มต้นในปี 2542 ที่ ‘บุญชัย เบญจรงคกุล’ ริเริ่มมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด โดยตั้งใจผลักดันคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ทัดเทียบอย่างเกษตรกรญี่ปุ่น และเกษตรกรสหรัฐอเมริกา เพราะ ‘การสร้างคน’ จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ และก่อให้เกิดจิตสำนึกที่จะพัฒนาบ้านเกิด ชุมชน และสังคมที่พวกเขาอยู่ให้เจริญงอกงาม

เกษตรกรรม : รากฐานเศรษฐกิจไทย แต่หลายคนเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเท่านั้นที่สำคัญ

“การสูญเสียแชมป์ข้าวไม่จำเป็นต้องเสียดายเลย เพราะทุกปีที่เราได้แชมป์ข้าว ชาวนาก็ยังจนอยู่ สิ่งที่จำเป็นคือเราควรปลูกอะไรที่มันได้เงิน เราจึงตั้งใจผลักดัน และค้นหาผู้ประกอบการด้านการเกษตรที่นำเอานวัตกรรมใหม่ ๆ มาผสมผสานกับสิ่งที่เขาทำเป็น”

ประเทศไทยเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ข้าวมานานหลายปี แต่ตำแหน่งนี้ไม่เคยทำให้ชาวนาร่ำรวยขึ้นแต่อย่างใด ส่งผลให้คนรุ่นใหม่หลีกหนีอาชีพที่เรียกว่า ‘เกษตรกร’ เพราะมองว่ารายได้กับสิ่งที่ต้องทุ่มเทนั้นสวนทางกัน

ทำให้ ‘บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์’ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกษตรกรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองและร่วมด้วยช่วยกันสร้างสังคมในบ้านเกิดตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อสักวันหนึ่งอาชีพเกษตรกร จะไม่ใช่อาชีพสุดท้ายที่คนไทยจะเลือก

‘ชารัด เมห์โรทรา’ รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงมีความมุ่งมั่นทุ่มเทที่จะให้การสนับสนุนเกษตรกร เพื่อยกระดับมาตรฐานของเกษตรกรไทย และนำเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิต

ด้าน ‘กฤษ อุตตมะเวทิน’ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พูดถึงจำนวน GDP (Gross domestic product) ไว้ว่า

“การคำนวณ GDP ของการเกษตรนั้นมักจะถูกนับจากการประมาณการ เพราะไม่ค่อยเก็บใบเสร็จกัน แต่กลับกันหากเป็นด้านการค้าเราจะเก็บใบเสร็จกันจึงทำให้มีตัวเลขที่ชัดเจน”

GDP ของภาคการเกษตรอาจจะดูมีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย นั่นเพราะตัวเลขที่หายไปถูกซุกซ่อนอยู่ในอาหารการกิน ลองนึกภาพดูว่าการที่เราชวนใครสักคนมาท่องเที่ยว ก็เหมือนเป็นการเชิญชวนเขามากินอาหารของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่าอาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ จากชาวต่างชาติ

นอกจากนี้อาหารยังถูกส่งไปผลิตในระดับอุตสาหกรรม และส่งออกต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งรากฐานทั้งหมดของอาหารก็มาจาก ‘การเกษตร’

ดังนั้นลองคิดดูว่าถ้าภาคการเกษตรของประเทศเราหายไป ขนาดของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศเราก็จะหายไปด้วย

งานเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดจึงเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังของรากฐานเศรษฐกิจประเทศเรา ซึ่งแต่ละคนล้วนมีผลงานและแนวคิดที่โดดเด่นในการพัฒนาและส่งเสริมชุมชน สังคม และเกษตรกรรมไทย โดยในปี 2566 ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่

เกษตรกรรม : รากฐานเศรษฐกิจไทย แต่หลายคนเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเท่านั้นที่สำคัญ

‘กล้วย - วิชัย กำเนิดมงคล’ เกษตรกรเจ้าของกาแฟ เดอ ม้ง (Coffee De Hmong) จังหวัดน่าน

“ถ้าทุกคนเห็นพี่น้องชาวชนเผ่า ก็คงจะคิดถึงการทำลายพื้นที่ป่าบนดอยอย่างแน่นอน”

แต่ความจริงแล้ว กาแฟ เดอ ม้ง เกิดขึ้นมาเพราะว่าปัญหาพื้นที่ภูเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน กล้วยคิดว่าเขาต้องแก้ปัญหานี้ด้วยตนเอง จากนั้นค่อยให้หน่วยงานเข้ามาเติมเต็ม

กล้วยจึงไปคิดทบทวนว่ามีอะไรบ้างที่ตอบโจทย์กับพื้นที่การเกษตร พี่น้องในชุมชน และสามารถที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่าได้ด้วย สุดท้ายเขาตกผลึกได้เรื่อง ‘กาแฟ’ ซึ่งในตลาดมีการแข่งขันที่สูงมาก กล้วยจึงต้องหาความแตกต่างและพบว่า พื้นที่ของเขาเหมาะกับการปลูกกาแฟสายพันธ์พิเศษ

โดยทำเป็นกาแฟสเปเชียลตี้ เกรดบน เพราะมีผู้เล่นในตลาดน้อย และจะได้กลายเป็นจุดแข็งในตลาด เขาจึงเริ่มออกเดินทางหาความรู้และระหว่างนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากผู้หลักผู้ใหญ่และหน่วยงานเกษตรกรที่ช่วยให้ความรู้และการช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี

กล้วยยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เราไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องหันมาทำกาแฟหรือวัตถุดิบเดียวกันทั้งหมด แต่มันคือการที่ใครทำอะไรเก่งทำอะไรเป็นก็ทำสิ่งนั้นให้ออกมาดีที่สุด โดยใช้นวัตกรรมใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับตนเอง”

และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ‘อุมารินทร์ เกตพูลทอง’ เกษตรกรจากวิสาหกิจชุมชนปลาสลิดเกษตรพัฒนา จังหวัดสมุทรสาคร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ‘ณัฏฐเอก อรุณโชติ’ เกษตรกรจากสวนธรรมวัฒน์ ผู้แปรรูปมังคุด จังหวัดชุมพร

นอกจากนี้ยังมีรางวัลเกษตรกรดีเด่นสำหรับเกษตรกรที่เหลืออีก 7 ท่าน ซึ่งก็อย่างที่ กล้วยได้บอกไปว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องหันมาทำกาแฟหรือวัตถุดิบเดียวกันทั้งหมดเพียงแต่ทำในสิ่งที่ตนทำได้ดี ซึ่งเกษตรกรแต่ละคนต่างก็มีความมุ่งมั่นทุ่มเทกับผลผลิตของตนไม่ต่างกัน แต่เราขอยกตัวอย่างบางส่วน คือ

‘แพทตี้ - ปิตุพร ภูโชคสิริ' เจ้าของฮัก เห็ด ฟาร์ม (Hug Hed Farm) จังหวัดขอนแก่น

แพทตี้ร่ำเรียนอยู่ประเทศออสเตรเลีย และกำลังจะย้ายไปที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นเธอมีเวลาว่างช่วงวันหยุดจึงริเริ่มเพาะเห็ด โดยนำความรู้จากสาขาวิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาใช้ พร้อมทั้งอยากจะแก้ปัญหา (Pain Point) ที่ว่าเกษตรกรไทยทำยังไงก็ไม่รวย

ประกอบกับช่วงนั้นโควิด-19 เข้ามาพอดี แพทตี้จึงพักงานที่สิงคโปร์ไว้ก่อน ซึ่งขณะที่ธุรกิจอื่นกำลังดาวน์ ธุรกิจฟาร์มผักของเธอกลับกลายเป็นดาวรุ่ง แพทตี้จึงใช้โอกาสนี้ชูเรื่องความเป็นเกษตรอินทรีย์

และต่อยอดโดยใช้องค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น Ugly Veggie แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาเพื่อขายผักที่ไม่สวยแต่มีคุณภาพ เพื่อลดขยะจากอาหารและช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร

นอกจากนี้ยังลงเรียนเสริมเพิ่มเติมและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ผสมผสาน เช่น IoT (การเกษตรอัจฉริยะ เช่น การตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้าแบบเรียลไทม์)

เกษตรกรรม : รากฐานเศรษฐกิจไทย แต่หลายคนเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเท่านั้นที่สำคัญ

บรรยากาศภายในงานและเกษตรกรผู้เข้าร่วม สะท้อนให้เราเห็นว่าในอดีตโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรคือกลุ่มคนอายุ 60 ปี แต่ในปัจจุบันเกษตรกรมีอายุ 20-40 ปี เพิ่มมากขึ้น

และอาชีพ ‘เกษตรกร’ เริ่มไม่ใช่อาชีพที่คนรุ่นใหม่กำลังหลีกหนี แต่ทุกคนต่างกำลังพยายามผลิตวัตถุดิบสำคัญออกมาด้วยความรัก ความทุ่มเท เพื่อให้วัตถุดิบเหล่านี้เดินทางไปเป็นรากฐานให้กับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจอื่น ๆ ให้กับประเทศไทย

 

ภาพ: มูลนิธิ รักบ้านเกิด