23 ต.ค. 2567 | 15:30 น.
บางคนอาจมีคำตอบว่าก็เหล่าคนสร้างคอนเทนต์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือกระแสบางอย่างในสังคม และคนเหล่านั้นนี่แหละจะเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนประเทศว่าจะก้าวต่อไปในทิศทางใด
แต่ถึงอย่างไรคำจำกัดความหรือนิยามของสองคำนี้ยังคงไม่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของความพยายามในการผลักดันให้เกิดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ชัดเจน เพื่อให้อุตสาหกรรมเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
“นิยามของคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ยังคงไม่ชัดเจน หากสามารถกำหนดนิยามจะช่วยคุ้มครองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมนี้”
‘สุวิตา จรัญวงศ์’ CEO & Co-Founder, Tellscore และผู้จัดงาน Thailand Influencer Award กล่าวในช่วงเสวนาหัวข้อ Futures of Content Creators 2025 ซึ่งได้เจาะลึกไปถึงอนาคตของวงการครีเอเตอร์ไทยจากผู้เชี่ยวชาญ และหนึ่งในคำถามสำคัญคือ อนาคตของผู้ผลิตคอนเทนต์จะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปี ข้างหน้า เพราะในขณะนี้ยังไม่มี ‘นิยาม’ ของคำว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ในสังคมไทยคุ้นชินกับคำนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว
ก่อนจะไปทำความเข้าใจเรื่อง ‘อนาคต’ ต้องขอเล่าย้อนถึงที่มาของงานประกาศรางวัลสุดยิ่งใหญ่แห่งปีอย่าง Thailand Influencer Awards 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 โดย Tellscore (เทลสกอร์) ผู้นำด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์มครบวงจรชั้นนำของไทย ร่วมกับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด พร้อมพันธมิตร จัดงาน The Mall Lifestore Presents Thailand Influencer Awards by Tellscore ภายใต้แนวคิด The Future is Yours!
สำหรับเวทีประกาศรางวัลของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 และทุกครั้งได้รับความสนใจจากเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทั่วฟ้าเมืองไทยอย่างล้นหลาม เป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า Tellscore คือผู้นำด้านการเชื่อมระหว่างไมโครอินฟลูเอนเซอร์กับแบรนด์ รวมถึงสังคมให้เข้ากันได้อย่างแนบสนิท
เพราะตั้งแต่วันแรกที่สุวิตาเริ่มก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา ปณิธานของเธอยังคงไม่สั่นคลอน เธอหวังจะเห็นการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างอินฟลูเอนเซอร์กับแบรนด์ หวังจะเห็นเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนไปอย่างไม่หยุดยั้ง และสิ่งที่เธอวาดฝันจากวันแรกเมื่อปี 2016 ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
สุวิตามองเห็นศักยภาพของการสร้างคอนเทนต์มาตั้งแต่ยุคที่ใครต่อใครยังมองว่า อาชีพนี้ไม่มั่นคง แต่เธอไม่คิดเช่นนั้น จึงเป็นที่มาของเปิดบริษัทในรูปแบบสตาร์ทอัพขึ้นมา และนั่นแหละที่ทำให้เห็นว่าซีอีโอหญิงคนนี้เธอมีความคิดกว้างไกลราวกับหลุดมาจากโลกอนาคตก็ว่าได้
“ปัจจุบันโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในระดับประเทศ โดยมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยถึง 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งร้อยละ 55 ของผู้บริโภคชี้ว่า โปรโมชันและส่วนลดจากอินฟลูเอนเซอร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาติดตามครีเอเตอร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับคนไทย
“มีผู้ทำงานด้านนี้เกือบ 9 ล้านคน แบ่งเป็นครีเอเตอร์แบบ Full-time กว่า 2 ล้านคน และ Part-time เช่น Micro-influencers ที่มีผู้ติดตามในช่วง 1,000-20,000 คน ทั้งหมดนี้มีส่วนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทยมากกว่า 45,000 ล้านบาทในปี 2024”
ใช่ว่าการเป็นครีเอเตอร์จะมีลักษณะการออกแบบคอนเทนต์เหมือนกันทั่วโลก แต่ละประเทศมีลักษณะการสร้างสรรค์แตกต่างกันไป ส่วนของไทยนั้นจะเน้นสาระและความบันเทิง (Edutainment) สุวิตายังบอกอีกว่าไทยถือเป็นต้นแบบกรณีศึกษาระดับโลก อย่างที่รู้กันดีว่าอินเทอร์เน็ตของไทยเร็วแรงแค่ไหน แถมประชาชนก็สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้แทบทุกหนแห่ง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมครีเอเตอร์ไทยจึงสามารถสร้างได้รายเข้าประเทศได้ถึงหลักหมื่นล้านบาทต่อปี
“เมื่อมองในระดับโลก ขณะนี้มี Content Creators รวมทั้งสิ้น 200 ล้านคนจากจำนวนประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน ขนาดตลาดคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลกในปี 2024 ถูกประมาณการไว้ที่ 5.5 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 16 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 โดยที่ยังไม่รวมตลาดของประเทศจีน”
เพื่อไม่ให้เป็นการจำกัดขอบเขตของอุตสาหกรรม สุวิตาจึงชักชวนพันธมิตรอย่าง ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales Lab by MQDC) และ สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ร่วมกันศึกษาแนวโน้มแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสื่อคอนเทนต์ ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ในอนาคต หรือ foresight study on futures of content creators in 2035,Thailand
“ในส่วนของการศึกษาความเป็นไปได้ในอนาคตภายใต้โครงการ ‘Foresight Study on Futures of Content Creators in 2035, Thailand’ เทลสกอร์ได้วิเคราะห์ทิศทางอนาคตใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ สังคม (Society), เทคโนโลยี (Technology), เศรษฐกิจ (Economy), สิ่งแวดล้อม (Environment), การเมือง (Politics) และค่านิยม (Values) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2025 เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในอนาคต”
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ จริยธรรมของเหล่าครีเอเตอร์ พวกเขาจะผลิตคอนเทนต์อย่างไรไม่ให้กระทบค่านิยมคุณงามความดีของสังคม จึงเป็นที่มาของคำถามว่าในอนาคตไทยเราต้องมีกฎหมาย หรือจะผลักดันไปสู่ พ.ร.บ. ซึ่งจะออกมาเป็นกรอบคลอบอินฟลูเอนเซอร์ไม่ให้สร้างเนื้อหากระทบกับสังคมโดยรวมหรือไม่
“เศรษฐกิจและจริยธรรมเป็นปัจจัยสำคัญต่อครีเอเตอร์ หากเอเจนซีหรือแบรนด์ยังสนับสนุนครีเอเตอร์ จะช่วยให้พวกเขาสามารถก้าวต่อไปได้ เรื่องของกฎหมายก็ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องเช่นกัน”
สุวิตาเน้นย้ำว่า “Ecosystem ของครีเอเตอร์คือมากกว่าครีเอเตอร์ มันคือชีวิตและคอมมูนิตี้ อยากให้ทุกคนร่วมสร้างสิ่งนี้ให้แข็งแกร่งไปพร้อมกัน เราทุกคนมีบทบาทในการขับเคลื่อนครีเอเตอร์”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า เธออยากให้ทุกคนเห็นว่าไม่อยากให้ครีเอเตอร์ถูกจำกัดอยู่ในมิติใดมิติหนึ่ง เพราะโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ควรหมั่นสำรวจตัวเองว่าอยู่ในจุดใดของ Ecosystem ของครีเอเตอร์ เพื่อทราบบทบาทหน้าที่ของตนเองอยู่เสมอ
“การทำคอนเทนต์ไม่สามารถมองเพียงแค่มิติของปัจจุบัน แต่เราต้องมองให้ไกลถึงอนาคต เพื่อก้าวไปสู่วงการครีเอเตอร์ที่แข็งแกร่งในอนาคต”