07 พ.ค. 2567 | 20:35 น.
“หนึ่งใน Mission ของ MCT ก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชน ไม่ใช่เฉพาะแค่นักแต่งเพลงเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่ต้องการใช้ลิขสิทธิ์ด้วย เราอยากเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมดนตรี”
ครั้งแรกของงาน Songwriter Thailand Showcase 2024 ที่จัดขึ้นโดย บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) ร่วมกับพาร์ตเนอร์สื่อออนไลน์ The People ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของนักแต่งเพลงอาชีพที่เป็นสารตั้งต้นให้กับวงการเพลงไทย จึงต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณะ จึงเป็นโอกาสอันดีในการจัดงานครั้งนี้ขึ้นร่วมกัน
สำหรับ Session แรกของงานเป็นช่วงของการ Introduction เพื่อเริ่มต้นวงสนทนาด้วยการชวนกันมองถึงภาพรวมอุตสาหกรรมดนตรี และทำความรู้จัก MCT บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่ต้องการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดนตรีของไทยน่าอยู่ เพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในวงการจะได้รับประโยชน์นี้ร่วมกัน วงสนทนาร่วมพูดคุยท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเอง โดยผู้ร่วมงานมีทั้งแขกผู้มีเกียรติที่มีความเชี่ยวชาญที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ และยังมีนักแต่งเพลงมืออาชีพและนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในการเตรียมคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นเพื่อก้าวสู่อาชีพนี้อย่างเต็มตัว มารวมตัวกันแน่นขนัดเต็มความจุของห้อง
ผู้ร่วมสนทนาบนเวทีประกอบด้วย คุณก้อ - ณฐพล ศรีจอมขวัญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด และ Music Producer / นักแต่งเพลง, คุณแทน - ธารณ ลิปตพัลลภ รองประธานฯ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด และ ผู้บริหารค่ายเพลง / ศิลปิน / นักแต่งเพลงวงลิปตา ร่วมด้วยคุณบอม - ดนุพล กมล รองประธานฯ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด และ ผู้บริหารค่ายเพลง จาก Muzik Move โดยมี ดีเจปอ - นันทชัย เตชะศรีวิเชียร เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
ภาพรวมวงการเพลงไทยในปัจจุบัน
ยุคนี้คือยุคทองของวงการเพลงไทย จากที่อยู่ในวงการมาเกือบ 30 ปี สัมผัสได้ว่าปัจจุบันมีศิลปินที่มีคุณภาพเกิดขึ้นใหม่เยอะมาก มีเพลงดี ๆ เกิดขึ้นใหม่เยอะมาก รวมทั้งมีตัวเลือกในการฟังเพลงก็มีหลากหลายแนวเช่นกัน ตอนนี้วงการเพลงพัฒนาขึ้นอย่างมาก รวมถึงตัวบุคลากรเองเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องช่วยกันพัฒนาทุกองค์ประกอบไปร่วมกัน เพราะการพัฒนาแค่อย่างใดอย่างหนึ่งและละเลยอย่างอื่น ก็ไม่สามารถพัฒนาให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตไปพร้อมกันได้
การผลักดันเรื่องลิขสิทธิ์ นักแต่งเพลง จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันพัฒนาไปด้วยกัน ถึงแม้ในแต่ละวันจะมีเพลงใหม่นับหมื่น ๆ เพลงปล่อยออกมาให้คนเลือกฟัง ก็นับว่าเป็นความท้าทายที่จะเป็นองค์ประกอบให้กับนักแต่งเพลงทุกคนไม่ยอมแพ้ นั่นจะทำให้อยากเก่งขึ้น ความท้าทายจะทำให้เพลงของนักแต่งเพลงที่แม้วันนี้ผลงานยังไม่ดัง เพลงต่อ ๆ ไปจะดีขึ้น ๆ ไปอีก ความท้าทายจึงเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะผลักดันให้กับนักแต่งเพลงได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองและบทเพลงให้ดียิ่งขึ้นไป
คำว่าแมสหรืออินดี้ในวันนี้ไม่มีแล้ว เพลงทุกแนวสามารถขึ้นไปครองอันดับหนึ่งในชาร์ตสตรีมมิงต่าง ๆ หรือติดในเทรนดิงของยูทูบได้ไม่ต่างกัน โลกปัจจุบันเปิดกว้างมาก ทุกคนมีถนนของตัวเองที่ชัดขึ้น แฟนเพลงก็ชัดขึ้น เพราะฉะนั้นตอนนี้คือช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ของวงการเพลงไทย สังเกตได้ว่าชาร์ตเพลงในปัจจุบันมีแนวเพลงที่หลากหลายมาก ขอเพียงให้คุณตั้งใจทำแนวเพลงที่ทำอยู่ให้เจ๋งจริง ๆ ก็สามารถขึ้นอันดับหนึ่งติดชาร์ตได้เช่นกัน
ในสายตาของภาคธุรกิจ นับจากโควิด-19 ที่ผ่านมา พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก มีการเปิดรับกันมากขึ้น เกิดแนวเพลงที่ใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีให้กับนักแต่งเพลงที่มีลายเซ็นของตัวเอง ไม่ว่าจะอินดี้หรือแมสคว้าโอกาสให้เป็นของตัวเอง
อาชีพนักแต่งเพลงกับการสร้างรายได้
เมื่อโอกาสเปิดขึ้น ทำให้นักแต่งเพลงเป็นอาชีพที่นิ่งได้ในแง่ของการหารายได้ การเกิดขึ้นของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ เริ่มทำรายได้ให้กับภาคธุรกิจ รวมทั้งสมาชิกของ MCT ก็สามารถรับรู้ถึงรายได้ที่มาจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ส่งถึงมือผู้ประพันธ์เพลงกันมากขึ้น จึงทำให้สามารถใช้ชีวิตนิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ประพันธ์แบบไหนก็สามารถมีชีวิตที่มั่นคงได้
ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง Physical กับ Digital ซึ่งปัจจุบันนี้พวกเราอยู่ในยุคสตรีมมิงที่สามารถเข้าถึงตัวเลขหลังบ้านได้อย่างชัดเจน ในแต่ละแอปฯ จะเก็บดาต้าจำนวนคนฟังและยอดฟังเพลงต่าง ๆ ของเราไว้ ในช่วง 15 ปีที่แล้วจะมี ‘ยุคหลุมดำ’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รายได้จากการทำเพลงเข้ากระเป๋าศิลปินน้อยมาก
แต่ 10 ปีหลังจากนั้น เมื่อ MCT เข้ามามีบทบาทในการช่วยจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักแต่งเพลงมากขึ้น ประกอบกับค่ายเพลงและทุกคนได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของลิขสิทธิ์เพลง ทำให้อาชีพนักแต่งเพลงในวันนี้ไม่ใช่อาชีพที่ไม่ Make Money อีกต่อไป แต่เราต้องรู้ Know-how เพื่อให้เราสามารถดึงรายได้จากส่วนต่าง ๆ กลับเข้ามาหาเรา
จากคำพูดของพี่นิค - วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติด้านดนตรี ในช่วงกล่าวเปิดงานที่บอกว่า ‘เพลงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมดนตรี’ ถ้าไม่มีเพลงก็ไม่มีศิลปิน ไม่มีเพลงร้อง วงการเพลงก็ไม่เกิด ฉะนั้นจุดเริ่มต้นของวงการเพลงก็คือ ‘บทเพลง’ คนที่สร้างเพลงก็คือ ‘นักแต่งเพลง’ นักแต่งเพลงเป็นหัวขบวนของอุตสาหกรรมทุกอย่างในวงการเพลง สิ่งที่พวกเราต้องการให้เกิดขึ้นในวันนี้คือการแบ่งปันคุณสมบัติที่จะทำให้เป็นนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ
งานในครั้งนี้ได้มีนักแต่งเพลงที่ประสบความสำเร็จแล้วมาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์ในการทำงาน เบื้องหลังเพลงโด่งดังที่เราได้ยินกันอยู่นี้นั้นสร้างขึ้นมาอย่างไร วันนี้จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับวงการดนตรีของไทย เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้วงการเพลงของเราเป็นที่ที่น่าอยู่ สร้างรายได้ให้ยั่งยืนกับทุกองค์ประกอบในอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแค่นักแต่งเพลง ผมหวังว่าการพูดคุยในวันนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับอนาคตของพวกเรา เราจะได้เห็นบรรยากาศดี ๆ แบบนี้กันอีกบ่อย ๆ สร้างบุคลากรที่ดีต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต ทำให้วงการเพลงไทยเป็นวงการที่ดี มีอนาคตที่สดใส
การผลักดันเรื่องการจัดเก็บลิขสิทธิ์ในประเทศไทย
อยากชวนให้ทุกคนมาช่วยกันสร้าง ecosystem ที่แข็งแรงร่วมกัน ประกอบด้วย ผู้ประพันธ์ ผู้จัดจำหน่าย องค์กรจัดเก็บ (MCT) รวมถึงพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ที่จะมาร่วมกัน
เมื่อใดที่ ecosystem เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแรง การหารายได้ที่จะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประพันธ์สามารถมีรายได้ที่มั่นคงได้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราเล็งเห็นด้วยเช่นกัน
พวกเราคนที่ทำงานอยู่ใน MCT เองก็ยังมีคำถามและเรื่องใหม่ ๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ที่ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องของข้อมูลจำนวนมาก หลาย ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ยังต้องโทรฯ สอบถามขอความรู้กับ MCT อย่างเช่น การคุยเรื่องการทำเพลงกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้หรือจีน เพราะเรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับพวกเรา MCT พยายามช่วยทุกคน พวกเราเองก็พยายามที่จะเรียนรู้ให้เยอะที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
การจัดเก็บลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ท้าทาย ส่วนหนึ่งก็เพราะมีน้อยคนมากที่จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องลิขสิทธิ์เพลงอย่างสมบูรณ์ แม้แต่พวกเราทั้งสามคนที่อยู่ในบอร์ดบริหารก็ยังต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดทุกวัน สำหรับองค์กร MCT ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเพลงไทย ไม่ได้เป็นเพียงองค์กรในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เท่านั้น หนึ่งใน Mission ของเราก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อที่จะส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับคนที่เป็นนักแต่งเพลง เพราะเรื่องของลิขสิทธิ์และนักแต่งเพลงเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ร่วมกัน แยกจากกันไม่ได้
ฉะนั้นนักแต่งเพลงแต่ละท่านจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน MCT อยากให้ทุกคนมาหาประโยชน์จากองค์กรนี้ ในขณะเดียวกันองค์กรนี้ก็อยากให้ทุกคนมาร่วมเรียนรู้เรื่องลิขสิทธิ์เพลงไปร่วมกันได้ ทำให้เรื่องลิขสิทธิ์ที่ดูจะเป็นเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น
หนึ่งใน Mission ของ MCT ก็คือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชน ไม่ใช่เฉพาะแค่นักแต่งเพลงเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่ต้องการใช้ลิขสิทธิ์ด้วย เราอยากเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรรมดนตรี
ประเทศไทยโชคดีที่มีองค์กร MCT เกิดขึ้น ภายในองค์กรก็มีบุคลากรที่เก่งระดับต้น ๆ ของประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านลิขสิทธิ์ให้กับสมาชิก สำหรับนักแต่งเพลงอยากให้คิดว่าองค์กรนี้เป็นของเราทุกคน พวกเราทั้งสามคนเป็นเพียงคนมาดูแลแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ต่อไปในอนาคตนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ก็มีหน้าที่ที่จะมาดูแลองค์กรนี้ต่อไป
MCT ก่อตั้งขึ้นมาสู่ปีที่ 30 โดยครูเพลงหลาย ๆ ท่านที่พวกเราเคารพนับถือ แล้วส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นเพื่อช่วยกันดูแลและหาทางให้องค์กรนี้สร้างประโยชน์ต่อไปให้กับอุตสาหกรรมดนตรีของไทยในอนาคต
บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด MCT หรือ Music Copyright (Thailand) Ltd. ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2537 ปัจจุบันมีอายุครบ 30 ปี เป็นองค์กรที่ทำงานตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่แสวงหาผลกำไร สอดคล้องกับหลักการขององค์กรบริหารจัดการสิทธิโดยรวมของนักแต่งเพลง (Collective Management หรือ Authors’ Society) ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรแรกและองค์กรเดียวของประเทศไทยที่ได้เข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกของ สมาพันธ์แห่งสมาคมผู้สร้างสรรค์และนักแต่งเพลงระหว่างประเทศ (The International Confederation of Societies of Authors and Composers: CISAC)
ทั้งนี้ MCT ดำเนินการจัดการดูแลเฉพาะงานลิขสิทธิ์ประเภทงานดนตรีกรรม ได้แก่ งานคำร้อง งานทำนอง ซึ่งอาจมีหรือไม่มีคำร้อง เท่านั้น โดยจำนวนสมาชิกในประเทศไทยมีมากกว่า 1,000 ราย รวมสมาชิกในต่างประเทศของ CISAC แล้วมีมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก ทำให้การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศมียอดรวมที่มากขึ้นทุกปี