08 พ.ค. 2567 | 08:53 น.
“จุดเริ่มต้นของวงการเพลง คือ เพลง คนที่สร้างเพลง คือ นักแต่งเพลง”
ประโยคสำคัญของ ‘ก้อ’ ณฐพล ศรีจอมขวัญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด และ Music Producer บนเวที Songwriter Thailand Showcase 2024 จัดขึ้นโดย บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) ร่วมกับพาร์ตเนอร์สื่อออนไลน์ The People
เพราะเห็นความสำคัญของนักแต่งเพลงอาชีพที่เป็นสารตั้งต้นให้กับวงการเพลงไทย จึงต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สาธารณะ จึงมีการจัดกิจกรรมประกวดแต่ง ‘เนื้อร้อง ทำนอง’ ตามโจทย์ เรื่องราว...แห่งความทรงจำขึ้น เพื่อเป็นการมอบความทรงจำผ่านบทเพลง
The People คุยกับผู้ชนะทั้ง 3 คนจากการแข่งขันครั้งนี้ ถึงเบื้องหลัง แรงบันดาลใจ ความหลงใหล เสียงถึงนักแต่งเพลง และภาพวงการเพลงไทยที่อยากให้เป็น
และนี่คือ 3 เพลง จากความทรงจำ 3 เรื่องราวที่ชนะเลิศการประกวดครั้งนี้ที่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็เป็นภาพสะท้อนว่า ผลงานเพลงที่พวกเขาตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นเป็นผลลัพธ์ของความชอบ ความรัก และแพสชันในเสียงเพลง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ‘ณัฐฐ์ธิวงษ์ เพิ่มสุข’ บุคคลที่อยู่เบื้องหลังเพลง ‘รูปคู่รูปแรก’ ผู้ชนะการประกวดแต่ง ‘เนื้อร้อง ทำนอง’ หัวข้อ ‘เรื่องราว...แห่งความทรงจำ’ เลือกกลับมาแต่งเพลงอีกครั้งเพื่อฟื้นหัวใจที่กำลังบอบช้ำจากรักครั้งก่อน
แทนที่จะแต่งเพลงอกหัก ณัฐฐ์ธิวงษ์เลือกแต่งเพลงรักผ่านการหาคำตอบจากคู่รักหลายคู่ที่รัก สมหวัง จนได้แต่งงานกัน
อย่างน้อย เขาก็ไม่ต้องเศร้า มีเรื่องให้โฟกัส และลงมือทำ
“ผมก็หายเศร้าจริง ๆ พออยู่กับเรื่องที่มัน positive เหมือนพาตัวเองไปเจอสิ่งที่มันสดใส พาตัวเองไปสัมผัสกับความรักดี ๆ ความสัมพันธ์ดี ๆ ที่มัน healthy ที่แบบเขาแต่งงานกันเลยนะ”
ส่วนเรื่องราวของคู่รักชายหญิงที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเพลงนี้ คือ ‘โอ๊ต’ และ ‘มิ้น’
เป็นการเล่าผ่านมุมมองของโอ๊ตที่เจอแฟนสาวครั้งแรกที่โบสถ์ และเขายังจำภาพและบรรยากาศเรื่องราววันนั้นได้ดี
“ผมนำเรื่องของเจ้าบ่าวมาเล่า เขาก็จำได้ด้วยนะว่าเขาใส่เสื้อแดง ผู้หญิงใส่เสื้อน้ำเงิน เขาก็แนบรูปจริง ๆ มาให้ด้วยนะ ผมก็รู้สึกว่า พอเอารูปตอนนั้นมาเทียบกับตอนที่เขาแต่งงานกันแล้ว โคตรดีเลยอะ เป็นสิบ ๆ ปี เขาคบกันมาได้
“สิ่งที่ผมมีความสุขมากเลยคือเวลาที่ทุกคนเล่าเรื่องให้ผมฟัง เพราะเขารู้ว่าผมจะเอาไปแต่งเพลง เขายินดีที่จะแชร์ แล้วเหมือนเราก็ได้พลังงานดี ๆ มาด้วยครับ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีความสุขที่อยากทำไปเรื่อย ๆ”
ผู้แต่งเองก็ไม่ได้หวังให้เป็นเพลงแมส แต่อยากให้เพลงนี้เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของคนสองคนและชื่นชมมันแม้เวลาจะผ่านไป
“เพลงนี้ผมไม่ได้แต่งให้ใครชอบเลย ผมแต่งให้คนสองคนที่เขาจะ appreciate ว่าเพลงนี้เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของเขา ออกแบบทุกอย่างจากความสัมพันธ์ ประสบการณ์ของเขา ฟังเพลงอะไร ใช้คำพูดแบบไหน ให้เป็นเพลงที่เขารู้สึกดีและเก็บไว้เป็นความทรงจำ”
เมื่อได้ลงมือเขียนเพลง ทำเพลง น้ำตาในหัวใจของณัฐฐ์ธิวงษ์ก็ค่อยสลายไป ความสุขก็เข้ามาแทนที่
“มันทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เวลาคนเราเศร้าหรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดี สิ่งที่มันจะทำให้เราดีขึ้นก็คือเราต้องเติมสิ่งที่ดี เหมือนไวน์ ถ้าไวน์มันไม่อร่อยสำหรับบางคน เราก็เติมอย่างอื่นเข้าไปจนกว่าไวน์มันจะอร่อย”
ขณะเดียวกัน การได้รางวัลชนะเลิศก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เขากล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัย มาท้าทายตัวเอง และเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง
และเขาเองก็หวังว่า ในอนาคตจะมีพื้นที่ปล่อยของให้กับนักแต่งเพลง ซึ่งจะมอบความหวัง เป้าหมาย และทำให้นักแต่งเพลงมองเห็นเส้นทางอาชีพของตัวเองมากขึ้น
“ผมอยากให้มีงานแบบนี้เกิดขึ้น มันจะช่วย shape และส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเรา เพราะว่าหลาย ๆ อย่างที่ได้มาเจอมันก็เป็นคำถามที่เราอยากรู้ ส่งเสริมด้านต่าง ๆ ของบุคลากรทางด้านนี้ ให้คนในสังคมเห็น เข้าถึงได้ แล้วถ้าอยากทำบ้าง ต้องทำอย่างไร มี career path ที่หลากหลายขึ้น”
เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากส่งต่อให้คนทำเพลงเหมือน ๆ กัน เขาบอกว่า อยากให้ทุกคนมั่นใจในตัวเอง คุยกับตัวเอง และขอให้มุ่งมั่นกับสิ่งที่คุณรักและอยากทำต่อไป
“ผมว่ามนุษย์ทุกคนมี potential ที่ซ่อนอยู่ อยากให้ทุกคนหาความสุขของตัวเองให้เจอ คุยกับตัวเองเยอะ ๆ ทำในสิ่งที่มีความสุข ถ้าเราเจอสิ่งที่เรารู้สึกคลิกกับมัน รู้สึก spark joy กับมันแล้ว ยังไงเราก็ทำมันได้ดี ผมรู้สึกว่าทุกคน unlock มันได้ องค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในชีวิตอาจขวางสิ่งนั้นไว้อยู่ เพราะฉะนั้นก็แค่เลือกในสิ่งที่ใจเราไป”
“ความทรงจำเป็นเรื่องราวที่ย้อนกลับไป อาจเป็นความสุข กลับมาคิดถึงอีกครั้งก็มีความสุข หรืออาจจะเจอแง่คิดบางอย่างที่กลับมาสอนเราในวันนี้”
นิยามความทรงจำในมุมมองของ ‘วินัย กิจเจริญจิรานนท์’ ผู้รับรางวัลรองชนะเลิศการแต่งเพลงและทำนองในงานประกวด ‘เนื้อร้อง ทำนอง’ หัวข้อ “เรื่องราว...แห่งความทรงจำ” จากงาน ‘Songwriter Thailand Showcase 2024’ ที่เขาเลือกส่งเพลง ‘รูปลอก’ ส่งประกวด
เบื้องหลังของเพลงนี้มาจากเรื่องการสะสม ‘รูปลอก’ สติกเกอร์ที่มักจะแถมมาพร้อมกับขนม สะสมเพื่อนำไปแลกของเล่น
แต่เมื่อโตขึ้น วินัยบอกว่า เราไม่ได้สะสมรูปลอกเพื่อแลกของเล่น แต่เป็นการสะสมเรื่องราวอื่น ๆ เพื่อแลกกับอะไรบางอบ่าง
“รูปลอก แต่จริง ๆ มันมีสติกเกอร์สะสมที่เอาไว้แปะเป็นเล่ม ๆ ถ้าเราสะสมครบก็สามารถเอาไปแลกของเล่นที่เด็ก ๆ ชอบเล่น พวก video game, rollerblade ได้ แต่จุดสังเกตคือว่า ผมไม่รู้เพราะว่าดวงเราไม่ดีหรืออะไร เราไม่เคยสะสมครบเล่มเลย แล้วเราก็ไม่เคยได้แลกเลย
“แต่สุดท้ายมันเหมือนกัน มันไม่มีอะไรที่มันสมบูรณ์หรอก ผมก็เลยเอาสองจุดนี้มาแต่งเพลงเปรียบเทียบกัน เหมือนเป็นแง่คิดจากวัยเด็ก แต่มันมาใช้ได้ในตอนโตด้วย จริง ๆ ทุกเรื่องมันไม่มีภาพที่มันสมบูรณ์แบบ ประมาณนี้”
ถึงจะดูเป็นนักแต่งเพลงหน้าใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว วินัยทำงานแต่งเพลงมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตอนเด็กเขาชอบเล่นดนตรี เคยทำวงดนตรีกับเพื่อน ๆ อยู่บ้าง เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน การแต่งเพลงก็ยังเป็นงานอดิเรกที่เขาชอบและมีแพสชัน
นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้วินัยไม่เคยท้อกับการแต่งเพลง และยังคงทำสิ่งนี้มาตลอด
“คงเทียบไม่ได้กับนักแต่งเพลงมืออาชีพ เขาต้องทำ ต้องการรายได้เพื่อความอยู่รอด แต่ที่เราไม่ท้อ เพราะว่าอยู่ในหมวดงานอดิเรก แต่ถามว่า มันก็อาจจะมีบางช่วงที่เราหายไป แต่พอเป็นเรื่องความชอบ มันก็ยัง keep track มาเรื่อย ๆ”
สำหรับคนที่ท้อหรือมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการเป็นนักแต่งเพลง วินัยบอกว่า ให้ทำสิ่งที่ตัวเองรักต่อไป แล้ววันหนึ่งผลลัพธ์ของความพยายามจะงอกงามได้สักวันหนึ่ง
“จริง ๆ ผมว่ามีความสุขก็แต่งไป พอสนุก มันจะมี inner หรือ energy อะไรบางอย่างที่ไม่ได้ block เรา แล้วเดี๋ยว ณ จุดหนึ่ง ผมว่ามันจะมีคนที่ appreciate งานเราอาจจะไม่ใช่ mass มันอาจจะมีสัก 1 คน 5 คน หรือกลุ่มกรรมการได้เห็นงานเราแล้วชอบ อย่าท้อ
“อย่างที่พี่ ๆ วิทยากรพูดบนเวที มันต้องการเวลาของความอดทน บางคนอาจจะ 5 ปี 10 ปี ผมก็เชื่อเหมือนกัน”
ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกส่งผลงานนี้ หนึ่งเขาเป็นสมาชิกของ MCT (Music Copyright Thailand Ltd.) ที่อยากจะลองมาเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกันสักครั้ง และสองคือมองเห็นโอกาสที่จะได้มาฟังตัวจริงในวงการมาถ่ายทอดประสบการณ์ด้วย
“ก็น่าจะเหมือนกัน คือเราก็เห็นโอกาส เห็นกรรมการที่เราคิดว่า พี่ ๆ เขามีประสบการณ์ก็จะคอยชี้แนะเราได้ด้วย แล้วอีกอย่างหนึ่งผมก็เป็นสมาชิก MCT ด้วย ก็อยากจะรู้ว่า ถ้ามาเจอคน เจอหน้าเจอตาคนที่เขียนเพลงที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจะเป็นยังไง ก็อยากจะมาสัมผัสตรงนี้ด้วย”
อีกทั้งการได้ฟังเพลงตัวเองถูกบรรเลงโดยมืออาชีพ สำหรับวินัย มองว่านี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญในเส้นทางการทำเพลงของเขา
“ตอนที่เห็นเพลงเราถูกเล่นโดยมืออาชีพจริง ๆ มันว้าวมาก น่าจะเป็นความรู้สึกเดียวกับเวลาที่นักเขียนเพลงถูกร้องโดยนักร้องมืออาชีพ แต่ว่าวันนี้มันอาจจะเป็น day 1 ที่มันพ้นจากปากเรา แล้วไปอยู่ในคนที่เล่นได้ดีกว่า”
แล้วก็คงดีกว่านี้ ถ้ามีพื้นที่ปล่อยของสำหรับนักแต่งเพลงมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้ศิลปินเบอร์ใหม่มาแสดงความสามารถของตัวเองได้เต็มที่
“จริง ๆ ผมอยากเห็นโอกาสที่เยอะขึ้น อันนี้เป็นข้อสังเกตจากตัวเอง ผมว่านักแต่งเพลงยังกระจุกตัวอยู่ แต่ถ้ามันมีพื้นที่ที่คนใหม่ ๆ สามารถไหลเข้าไปในอุตสาหกรรมได้ อย่างงานนี้ (งาน Songwriter Thailand Showcase 2024) เป็นเวทีที่เห็นหน้าใหม่ ๆ มา ผมว่ามันอาจจะดีขึ้น แทนที่จะเห็นนักแต่งเพลงไทยที่เห็นชื่อเดิม ๆ มันจะมีเบอร์ใหม่ ๆ ที่จริง ๆ เขาก็มีฝีมือนะ ได้ไปสู่อุตสาหกรรมจริง ๆ ผมอยากเห็นตรงนั้นมากกว่า”
“บ้านหลังเก่า มีเพียงเราตลอดไป”
คือประโยคตั้งต้นของเพลง ‘บ้านหลังเก่า’ เพลงที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 Songwriter Thailand Showcase 2024 โดย ‘เนติ เจดีย์ ที่ใช้ ‘บ้านหลังเก่า’ มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงครั้งนี้
บ้านหลังเก่าที่นิติเคยอยู่ตั้งแต่เด็ก ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เคยเป็นร้านขายยา และตอนนี้ก็เป็น ‘บ้านเช่า’
เพลงบ้านหลังเก่าจึงเกิดขึ้นจากความทรงจำของเด็กต่อบ้านหลังเก่าที่ทิ้งรอยความสุขในบ้านหลังนั้น
“มันคือบ้านที่ผมอยู่ตั้งแต่เด็ก ครอบครัวผมก็อยู่มาหลายชั่วอายุคนครับ เป็นร้านขายยา ผมก็อยู่จนประมาณ 20 ปี ช่วงโควิด-19 ผมสูญเสียทั้งคุณพ่อคุณแม่ไป หลังจากจัดงานศพเสร็จ บ้านก็ถูกขายไป ทุกวันนี้ก็ให้คนอื่นเช่า แต่ทุกวันนั้นผมก็ยังเดินผ่าน ขับรถผ่าน ก็เลยอยากเอาบรรยากาศทุกครั้งที่ผมเดินผ่านบ้านมาใส่ในเพลงนี้”
แล้วการแต่งเพลงนี้ได้สำเร็จก็ทำให้เขากลับไปทบทวนและนึกถึงความทรงจำระหว่างเขาและครอบครัว บางครั้งการอยู่ด้วยกัน เบื่อกันบ้าง ใกล้ชิดกันบ้างก็ดีเหมือนกัน
เพราะสำหรับนิติแล้ว ความทรงจำของเขา คือ ครอบครัว
“ความทรงจำมันมีทั้งเรื่องความรัก ความคิดถึง แล้วแต่คนจะเขียนเนอะ แต่ว่าที่มาในที่นี้ ผมก็นึกถึงครอบครัว เพราะว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ผมน่าจะเข้าใจมากที่สุด”
เขายังบอกอีกว่า การเขียนเพลงเป็นการระบายความรู้สึก พูดในสิ่งที่อยากพูด และไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ
“ผมได้ระบายความรู้สึก ได้พูดถึงสิ่งที่อยากพูดออกมาอย่างเต็มที่ ด้วยโจทย์บอกว่า ไม่ต้องเอาเพลงที่สมบูรณ์แบบก็ได้ จริง ๆ เพลงนี้น่าจะยังทำได้อีกครับ ถ้ามีเวลามากกว่านี้
ทั้งนี้ก็หวังว่า จะเห็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์บทเพลงมากขึ้น เพลงที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่เป็นศิลปะที่ทุกคนเข้าถึง และกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ ๆ ได้
“นอกจากเพลงที่ทำเพื่อธุรกิจหรือทำเพื่อ content ต่าง ๆ อยากให้มีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์บทเพลง ให้เพลงเป็นศิลปะจริง ๆ ไม่อย่างนั้นคนรุ่นใหม่ก็จะคิดว่าเราต้องทำให้ได้อย่างนี้ ต้องทำเพลงให้เป็น content นะ เราต้องทำให้มันได้นะ
“อยากเห็นคนทำอะไรเจ๋ง ๆ ซึ่งบ้านเรามีวงแบบนั้น แต่มันยังไม่มากพอ ไม่งั้นเราก็จะได้เห็นอะไรแปลก ๆ และสนุกมากขึ้น มันทำให้คนกล้าออกมาประกวดมากขึ้น”