26 มี.ค. 2568 | 17:41 น.
“ต้องขอบคุณ The People Awards ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ 2 แล้ว แล้วปีนี้ก็เป็นปีที่ได้รางวัลจริง ๆ เรื่องของผมไม่ค่อยเกี่ยวกับฝุ่นหรอก จนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว คนที่ลากผมไปทำวันนี้ก็มางาน แล้วก็ผมเป็นนักธุรกิจ เป็นวิศวกร ไม่ควรจะเกี่ยวอะไรกับฝุ่นเลย แต่เผอิญโชคร้ายและโชคดี
“ที่โชคร้ายก็คือไม่มีโอกาสถวายงานแด่รัชกาลที่ 9 เหมือนคุณหญิงกัลยา แต่โชคดีคือเหมือนท่านผู้ว่าฯ ผมเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ได้รับพระราชทานในเรียนทุนสูงสุดของชีวิตเท่าที่เรียนไหว เรากับผู้ว่าฯ ก็ได้เรียน เราได้เจอกันที่เมืองนอกด้วยซ้ำ
“ทีนี้กลับมาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ประธานชมรมคนนั้นก็มาถามผมว่า ฝุ่นมันเป็นปัญหาใหญ่แล้วเนอะ เราควรจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งด้วยกัน ก็ถามว่า เธอก็รู้เรื่องหลายเรื่อง เรื่องลมฟ้าอากาศ มาทำเรื่องฝุ่นไหม ผมก็งง ๆ แต่สุดท้ายผมก็รับมาทำ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรหรอก
“แต่ตอนนี้เราก็พอรู้แล้วว่า ฝุ่นมีผลต่อสุขภาพเรามากเลย ทำแบบคนไม่รู้ คนไม่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ดีมาก คือ พลังของการเฝ้าสังเกต ผมกลายเป็นคนนั่งสังเกตฝุ่นมา 6 ปี สิ่งหนึ่งที่แชร์ อันนี้บอกได้เลยว่า ต้องขอเล่า เพราะถ้าพูดสั้น ๆ น้อง ๆ เขาเดินตามไม่ทันแล้วเดี๋ยวไม่เข้าใจ แต่ผมคิดว่าอันนี้เป็นโอกาสที่แล้ว
“อันแรกเลย มีผู้ใหญ่ถามว่า เธอไปทำแล้วสังคมจะได้อะไร อันนี้เป็นคำถามที่ดี แล้วผู้ใหญ่ก็หันกลับมานิดหนึ่งบอกว่า เอ๊ะ เราก็มีสิ่งที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียนะ บางทีอาจจะเปลี่ยนสังคมได้ ตอน 6 ปีที่แล้ว มันไม่มี แล้วสิ่งนี้มันก็ค่อย ๆ เกิดขึ้น หน้าที่ผมที่ทำมา 6 ปี คือ เล่าเรื่องฝุ่นให้มันง่าย
“ทีนี้ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ผมมีชื่อเล่นว่าเป็นมิสเตอร์ฝุ่น แต่ผมว่ามิสเตอร์อาจจะเป็นผู้ชายเกินไป เลยเรียกว่าเป็นฝ่าฝุ่นจังหวัดแล้วกัน หน้าที่ผมเป็นแบบนั้น ทุกเช้า ผมก็จะมาเล่าเรื่องฝุ่นให้ทุกคนฟัง สรุปเป็นเรื่องง่าย ๆ เป็นภาษาชาวบ้าน ผมเป็นนักดูดาวเทียมตอนตี 5 มีไลน์หลุดว่า ผมเหมือนลุงคนหนึ่งที่มาเล่าเรื่องฝุ่นทุกวันเลย แต่สิ่งที่ผมทำ คือ ผมหาข้อมูลที่ชัดเจนให้กับสังคมว่า ฝุ่นเรามาจากไหน
“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราทะเลาะกันนัวเนียเลย มีคนบอกว่าฝุ่นเกิดจากเรื่องนี้ อีกคนบอกไม่ใช่ ผมรายงานให้ แล้วก็ให้นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็เป็นตำนานขึ้นมา ฝุ่นเรา 90% ในภาคเหนืออยู่ในไฟป่า แล้วถ้านับประเทศโดยรวม 65% อยู่ในป่า เพราะฉะนั้นเราเจอปลาใหญ่แล้ว ปลายปีที่ผ่านมา ผมก็ช่วย ๆ กระตุ้นให้ราชการและภาคประชาสังคมรู้จักแล้วว่า ต้องลดฝุ่นยังไง
“ที่อยากจะบอกข้อมูลเป็นสิ่งที่มีพลังมาก สำหรับคนตัวเล็ก ๆ แล้วการที่เราหยิบยื่นข้อมูลไปให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง สังคมก็เลิกทะเลาะกัน สังคมเราชัดเจนแล้ว เหมือนพี่สมบัติพูด เราต้องไปดับไฟ อันนี้ข้อแรก
“ข้อที่สอง บางทีการดับไฟเฉย ๆ ก็เป็น quick fix นึกอะไรไม่ออก เห็นแต่ไฟ เห็นแต่ไฟ เห็นแต่ฝุ่นก็คือไปดับไฟ จริง ๆ แล้วเราต้องทำอะไรที่ไปอีกขั้น ในสิ่งนี้เรียกว่า system thinking เราต้องทำสิ่งที่สองที่ยากขึ้น แล้วเข้าไปแก้ปัญหาจริง ๆ เลย อันนี้หลังจาก 6 ปี เราต้องไปหาคนที่จุดไฟ เพราะต่อให้เราไล่ดับไฟ เราได้ทำตลอดชีวิต
“เพราะฉะนั้นเราไปหาคนจุดไฟ เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา สิ่งหนึ่งที่เขาฝากบอกผมมา คือ เขาอยากมีความภาคภูมิใจในชีวิตเหมือนเรา อยากให้ชีวิตเขามีคุณค่า ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ตัดขาดเขา บอกว่า ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณไปคุกเถอะ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าอาจไม่เป็นธรรมเท่าไหร่สำหรับเขา ผมอยากกระตุ้นให้สังคมเข้าใจพวกเขามากขึ้น ขณะเดียวกันก็หยิบยื่นโอกาสให้กับชีวิตเขาต่อไป
“ผมยืนยันว่าการไม่จุดไฟเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด งานจะน้อยที่สุด ทุกคนจะไม่ต้องวิ่งวุ่นวายอะไรมากมาย ถ้าไฟหายไปได้ครึ่งหนึ่ง ผมว่าเราเก่งมากแล้ว
“สุดท้ายใน 6 ปีที่ผ่านมาจะบอกตรง ๆ ว่า ผมไม่มีโอกาสถวายงานในหลวงท่านเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมค่อย ๆ ทบทวนตัวเองใน 6 ปีนี้ก็คือว่า คำสอนต่าง ๆ ของพ่อ ค่อย ๆ ทบทวนว่าท่านสอนอะไรเรา สิ่งแรก ก็คือ เรื่องของคำว่าเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจอาจจะไม่ยากสำหรับนักวิทยาศาสตร์แบบเรา แต่เข้าถึง คือ เราต้องเข้าถึงชายชุดดำ อันนี้ยากมาก เข้าถึงคือต้องไปนั่งอยู่ในใจเขาแล้วคิดว่า ทำยังไงให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราทำและยอมในสิ่งที่เราขอ อันนี้ใช้เวลาหลายปีมากเลย แต่ถ้าผ่านขั้นนี้ไม่ได้ พัฒนาไม่ได้
“อันที่สอง ถ้าอยากทำอะไร ถึงจุดหนึ่งต้องอดทนและพากเพียรอย่างยิ่งยวด เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนความคิดคน การเปลี่ยนความคิดอะไรต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่ง่านต้องอดทน อันนี้ผมพอเข้าใจว่าทำไมถึงพระราชนิพนธ์พระมหาชนกให้เราอ่าน มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะเห็นภาพว่าทำไมกษัตริย์คนหนึ่งต้องมาขอให้เราอดทนแบบว่ายน้ำเจ็ดวันเจ็ดคืนเลย
“แล้วก็สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่าผมเริ่มค่อยเห็นภาพแล้วว่าเราทำทั้งหมดไปเพื่ออะไร อันนี้อาจจะบอกพี่สมบัตินิดหนึ่งนะครับ ผมคิดว่าผมเคยไปถามผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านคงมีญาณอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะบอกว่าต่อไป คนไทยจะต้องฝ่ามหาวิบัติอันหนึ่ง ซึ่งวันนี้ผมคิดว่ามันเรียกว่าภาวะโลกร้อน
“เราจะประสบกับภาวะฝนเหวี่ยง เดี๋ยวฝนมาก เดี๋ยวฝนน้อย สิ่งที่มีค่าที่สุดที่ช่วยเราได้ก็คือป่าเพราะฉะนั้นตอนนี้เราต้องทำป่าให้อุดมสมบูรณ์ที่สุด พร้อมจะเก็บน้ำให้เรา ในขณะเดียวกันเมื่อเราแล้งให้ป่าค่อย ๆ ปล่อยน้ำมาให้เรา ให้เรามีน้ำที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่าเราก็นั่งทับอยู่บนทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในโลกแล้ว ก็ดูแลป่าให้สมบูรณ์ เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันจะก้าวข้ามเรื่องโลกร้อนต่อไป
“รางวัลนี้เป็นรางวัลเล็ก ๆ ของลุงคนหนึ่ง ลุงที่อ่านฝุ่น อ่านดาวเทียม แต่ผมบอกว่ามันเป็นรางวัลที่มีค่าสำหรับภาคประชาสังคมต่อไป ก็ขอให้ประชาสังคมมีแรง อย่าคิดว่าเป็นเราเป็นคนตัวเล็ก ๆ นะ ทำอะไรก็ไม่มีใครสนใจ แต่ที่สุดแล้วข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะครับ ก็ขอให้สิ่งนี้เป็นรางวัลของภาคประชาสังคมต่อไป”