02 มี.ค. 2567 | 17:30 น.
‘บุญเติม’ ศรีราชา ร็อคเกอร์
จิตวิญญาณเร็กเกของร็อคเกอร์ไทยที่ดีที่สุด
ศรีราชา ร็อคเกอร์ (Srirajah Rockers) เป็นคณะดนตรีที่ก่อร่างสร้างตัวมาในปี 2003 ซึ่งดนตรีเร็กเก (Reggae) และสกา (Ska) ในแบบฉบับภาษาไทยเฟื่องฟูและเบ่งบานอย่างยิ่ง เขียวแดงเหลือง ได้เปล่งสีผ่านจังหวะสะกดจิต เคาะหนึ่งและสาม ทั้งกลองและเพอร์คัสชัน ผนวกกับการเล่นกีตาร์แบบจังหวะยก คีย์บอร์ดที่ถมปูพื้นสร้างบรรยากาศในตัวเพลงและเคาะเมโลดี้ที่พริ้งพราย กระตุกให้คนฟังย้วยเนิบไปกับบทเพลง คณะดนตรีมากมายในห้วงเวลานั้นได้ออกมาสร้างแฟชั่นความบันเทิงและกลายเป็นเทรนด์ของคนฟังเพลงเจเนอเรชันนั้นอย่างสะพรั่งหลั่งไหล โดยก่อนหน้านั้นคณะดนตรีหัวหอกที่สร้างสรรค์ทำงานออกมาจากยุคก่อนหน้านั้นสักทศวรรษอย่าง ที-โบน ได้ขึ้นไปอยู่บนหิ้งในฐานะผู้บุกเบิกจนเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีกระแสหลัก ศรีราชา ร็อคเกอร์ ก็เป็นผลพวงของดนตรีที่ต่อยอดจากรากฐานตรงนั้นและดำดิ่งลงไปลึกสู่รากเหง้าจากดนตรีต้นแบบที่มาจากความดั้งเดิมมากขึ้น พัฒนาจนเข้ากับบุคลิกความเป็นไทยและความเป็น ศรีราชา ภูมิลำเนาของคณะและชื่อดนตรี ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลในเวิ้งอ่าวไทย ภาคตะวันออกที่มีลักษณะเฉพาะทางสายลม แสงแดด คลื่นซัดหาดทราย ที่มากับการพัฒนาในฐานะเมืองนิคมอุตสาหกรรมชายทะเลที่ใหญ่ที่สุด เบ้าหลอมตัวตนของคณะดนตรีศรีราชา ร็อคเกอร์ จึงค่อนข้างผนึกแน่นในหลายปัจจัยที่สรรสร้างบนทางเดินของหมอกควันจากกัญชาชนและกัญชาธิปไตยรวมขึ้นมาจนอยู่ยั้งยืนยาวมาถึง 2 ทศวรรษ ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเรื่องราวของเร็กเกในอีกฉากทัศน์ที่โลกเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ออนไลน์
เสน่ห์ของดนตรีเร็กเก (Reggae) ของชาวจาเมกาได้แผ่ขยายขอบข่ายไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ต้นยุคทศวรรษ 1960 หากกลับไปสู่รากเหง้าของคนแอฟริกัน-จาเมกันและคนพื้นเมือง ทำให้เห็นภาพผ่านแว่นขยายที่ทำให้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา กอปรวมเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นและเข้าใจในวิถีชีวิตและการวิวัฒน์ทางดนตรีของพวกเขาได้ถ่องแท้และเข้าใจผู้คนในหมู่เกาะจาเมกา โดยเฉพาะย่านเทรนช์ทาวน์ ในกรุงคิงสตัน เมืองหลวงของประเทศจาเมกา ซึ่งเป็นผู้ก่อกำเนิดรังสรรค์ดนตรีเร็กเกขึ้นมา ซึ่งเป็นแนวดนตรีแอฟริกัน-แคริบเบียน ที่พัฒนาขึ้น และมีความชิดใกล้เชื่อมต่อกับลัทธิรัสตาฟาเรียน (Rastafarianism) รากดั้งเดิมของเร็กเกสามารถค้นหาได้จากดนตรีเทรดิชันหรือประเพณีนิยมของแอฟริกัน-แคริบเบียน ที่มีพอ ๆ กับดนตรีริทึมแอนด์บลูส์ของอเมริกัน เป็นดนตรีที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่เดียวในโลกของประเทศจาเมกา ซึ่งอิทธิพลทางดนตรีมาจากนิวออร์ลีน ริทึมแอนด์บลูส์ มาจากการฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ที่รับคลื่นสั้นจากสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อย้อนกลับไปที่มูลฐานและรากลึกดั้งเดิมที่เป็นเหง้าทางดนตรีจาเมกัน เร็กเกนั้นเป็นแค่ผลพวงของดนตรีในโลกทันสมัยเพียงเท่านั้นเบ้าหลอมของดนตรีแอฟริกันโพ้นทะเลที่เชื่อมเอาดนตรีแอฟริกันมาสู่เกาะจาเมกาในทะเลแคริบเบียน มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวแบบพื้นถิ่นก็คือ ‘คูมินา’ (Kumina) ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบแอโฟร-จาเมกัน ซึ่งถืออยู่ในยุคหลังเลิกทาส ถือเป็นพิธีการที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อความศรัทธาและจารีตนิยม พิธีกรรมทางศาสนา มีการเต้นระบำและดนตรีที่เล่นก็พัฒนาจากศรัทธาซึ่งนำมาจากเกาะบาคองโกจากเหล่าคนที่ถูกจับมาเป็นทาสทำงานเป็นคนงานและกรรมกรในไร่อ้อย ซึ่งถูกจับผูกโซ่ที่คอตีตรวนที่มือและขาจากแถบคองโกในตอนกลางของแอฟริกาตะวันตก ระหว่างยุคที่ปลดปล่อยและเลิกทาส จากความร่วมมือของโบสถ์ท้องถิ่นแห่งเซนต์โทมัส ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติพิธีกรรมคูมินาก็แพร่กระจายแผ่ครอบคลุมไปทั้งโบสถ์แห่งปอร์ตแลนด์ เซนต์แมรี และเซนต์แคเทอรีนส์ และเข้าสู่เมืองหลวงของจาเมกาคือ กรุงคิงสตัน
ว่าไปแล้วการต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองจากความเป็นทาสของผู้ครอบครองหรือเจ้าอาณานิคมจากสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ และเป็นเบ้าหลอมของความแข็งแกร่งทั้งหัวใจและจิตวิญญาณของชาวจาเมกา ชนเผ่ามารูนส์ (Maroons) ได้เริ่มก่อการขบถต่อต้านผู้ปกครองที่เป็นคนผิวขาว แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ทันทีด้วยเทคโนโลยีทางอาวุธและยุทธวิธีการรบที่เป็นรองในทุกด้านชาวมารูนส์ ได้ก่อตั้งลัทธิใหม่ของพวกเขาขึ้นมา มีชื่อว่า ‘มยาล’ (Myal) ซึ่งบูชาเหล่าวิญญาณบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่บรรพกาล และยังบูชาภูตผีปีศาจ รวมไปถึงการทรงเจ้า ที่สำคัญในนั้นก็คือ ดนตรี เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมของพวกเขาลัทธิมยาลได้สืบสานและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน และแตกแขนงออกมาเป็นศาสนาพื้นถิ่นจาเมกา ผสมผสานระหว่างคริสเตียนและลัทธิจากแอฟริกา รวมเป็นศาสนาในแนวแอโฟร-คริสเตียน เรียกขานชื่อใหม่ในหมู่ผู้นับถืออย่างศรัทธาเลื่อมใสว่า ‘พุคคูมินา’ (Pukkumina)และพัฒนาสู่ ‘ไซออน รีไววัล’ (Zion Revival) รากฐานของดนตรีที่เรียกว่า คูมินา ที่เชื่อมเอาความเชื่อทางศาสนาแบบดั้งเดิมของแอฟริกามาผสมผสานหลอมรวมกับความเชื่อทางศาสนาแบบคริสต์ มาจากสไตล์หรือรูปแบบของจังหวะกลอง พัฒนาดนตรีไปกับการคลอเสียงในพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่มีความเชื่อศรัทธาเรื่องเหนือธรรมชาติ และค่อย ๆ วิวัฒน์ซึมซาบสู่ผู้คนอย่างค่อยเป็นค่อยไปในแถบเมืองใหญ่อย่างกรุงคิงสตัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงสไตล์การตีกลองแบบคูมินาได้รับอิทธิพลที่สำคัญมาจากดนตรีรัสตาฟารี โดยเฉพาะการตีกลองแบบเอ็นยาบิงฮี (Nyabinghi)
จนนำมาสู่วัฒนธรรมสมัยนิยมจาเมกา เคานต์ออสซี ซึ่งเป็นนามบนเวทีของ ออสวัลด์ วิลเลียมส์ เป็นผู้บุกเบิกที่โดดเด่นอย่างน่าจดจำในฐานะที่นำรูปแบบการตีกลองแบบนี้เข้าสู่วัฒนธรรมทันสมัย และเขาขับเคลื่อนอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรัสตาฟารีอีกด้วย การตีกลองแนวนี้ถูกใช้อย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยความหมายสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อประเภทดนตรีจาเมกันร่วมสมัยที่พัฒนาต่อมาคือ ‘เร็กเก’ และ ‘แดนซ์ฮอลล์’
เร็กเกถือกำเนิดในช่วงปลายยุคทศวรรษ 1960 พัฒนาจากดนตรีแนวสกาของจาเมกาและดนตรีแนวร็อคสเตดี และได้อิทธิพลจากดนตรีแจ๊สและริทึมแอนด์บลูส์ของอเมริกัน เพลงแนวเร็กเกเพลงแรกที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ ‘Do the Reggay’ ของคณะดนตรี ทุตส์ แอนด์ เดอะ เมย์ทัลส์ (Toots and the Maytals) และศิลปินเร็กเกผู้โด่งดังที่สุดของโลกคือ บ็อบ มาร์เลย์ (Bob Marley) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2018 หรือเมื่อเกือบ 6 ปีที่แล้ว องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนให้ดนตรีเร็กเกของประเทศจาเมกา ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนในสาขาธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, ศิลปะการแสดง, แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล, ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) แนวดนตรีเร็กเก ซึ่งถือกำเนิดในจาเมกา ได้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ที่มีคุณค่าคู่ควรสำหรับการอนุรักษ์และส่งเสริม ตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของยูเนสโกระบุว่า ดนตรีเร็กเก้มีรากเหง้ามาจากประเทศจาเมกา เป็นดนตรีเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคม ทั้งด้านความอยุติธรรม ความรัก สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ
เมื่อโลกเริ่มรู้จักดนตรีเร็กเก้ที่เริ่มขยายไปทั่วแอฟริกา-แคริบเบียน ในช่วงยุคทศวรรษ 1960 และค่อย ๆ แพร่ลามไปยังยุโรปและอเมริกา พร้อมยกย่องให้ บ็อบ มาร์เลย์ ศิลปินเพลงเร็กเกชาวจาเมกา เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ดนตรีเร็กเกให้เป็นที่นิยมไปทั่วโลกด้วย โอลิเวียน แกรนจ์ รัฐมนตรีวัฒนธรรมของจาเมกาในช่วงเวลานั้นให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหน เมื่อบอกผู้อื่นว่ามาจากจาเมกา ก็มักจะได้ยินคำพูดถัดมาว่า บ็อบ มาร์เลย์ การที่ดนตรีเร็กเกได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก เป็นการเน้นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและดนตรีของจาเมกา ซึ่งเป็นดนตรีที่แสดงออกถึงความรัก การอยู่ร่วมกันและสันติภาพ
“การที่เราจะเข้าไปอยู่ในระบบมันไม่เหมาะกับเรา เราออกมาทำเองขายเองดีกว่า น้อย ๆ แต่ว่านาน ๆ มันแฮปปี้กว่า ดีกว่าที่ดังเปรี้ยงปร้างแล้วมันฉาบฉวย มันไม่สนุก”
วิน ชูจิตารมย์ นักร้องนำและสมาชิกเพียงคนเดียวที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นแรกก่อตั้งคณะ ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านวันคืนยาวนานร่วม 2 ทศวรรษ เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ในครั้งหนึ่งจากจุดเริ่มต้นของคณะดนตรีแรก มาซุเม (mazume) ในวัยเรียน แล้วพัฒนามาสู่ ศรีราชา ร็อคเกอร์ ซึ่งแสดงออกถึงความเป็นลูกน้ำเค็มชลบุรี ยุคแสวงหาภายใต้การสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาจาก GA-PI แก๊ป ที-โบน หรือ เจษฎา ธีระภินันท์ พวกเขาอยู่ในยุคแสวงหาตัวตนและรังสรรค์ดนตรีในสไตล์เร็กเก ซึ่งมีกลิ่นของดั๊บอยู่ย้วยย่างในที เป็นการเปิดตัวที่น่าจับตามอง เพราะมีระดับตำนานเร็กเกเมืองไทยคอยสอดส่องเอาใจใส่อยู่ด้วย
ในปี 2007 เปลี่ยนผ่านสู่อีกยุคหนึ่ง ซึ่งยังไม่นิ่ง ยังมีความเป็นคอลเลจ ซาวนด์ ที่พยายามคุมทิศทางที่ดีอยู่แล้วให้เสถียรและอยู่ตัว โดยเฉพาะทีมเวิร์กทางดนตรี ปัจจุบันสมาชิกของคณะเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ซึ่งมีรวมทั้งหมดขับเคลื่อนพลังทางดนตรีด้วยกัน วิน ชูจิตารมย์ / บูรณ์ - บริบูรณ์ สุขเลิศนันทกิจ (เบส) / สโตน - โชติพัฒน์ โพธิ์เผือก (กลอง) / ทอมมี - Thomas C. Hanson (DUB MIXER) / แตงโม - รัตนากร อ่อนแก้ว (คอรัส) / แมม - อิสรีย์ กฤษฎี (คอรัส) / บอล - ชนัฏ อิศรางกูร ณ อยุธยา (คีย์บอร์ด) / ตั้ม - อาสา อากรผล (Thaiyabinki) / มิ้น - จิรวุฒิ คุณะดิลก (กีตาร์) / RUDI - วรุตม์ สมานทรัพย์ (ทรัมเป็ต) / อุ้ย - พัทธดนย์ เจษฎารมย์ (ทรอมโบน) และ กอล์ฟ - ธนพงศ์ ท้าวเมือง (เพอร์คัสชัน) นับถึงปัจจุบัน ศรีราชา ร็อคเกอร์ มีสตูดิโออัลบั้มทั้งหมด 4 อัลบั้ม ได้แก่ ‘Srirajah Rockers’ / ‘Youth Explosion’ / ‘Organix’ และ ‘WS’ พัฒนาการที่เห็นได้ชัดของบทเพลงในนาม ศรีราชา ร็อคเกอร์ ซึ่งในยุคหลัง กร่อนคำในการเรียกชื่อคณะตัวเองสั้น ๆ ในภาษาปากว่า ‘ศรีชา’ เป็นมุมมองที่เติบโตขึ้นตามวัยวุฒิและคุณวุฒิทางดนตรีจากความรู้สึกที่แท้จริงต่อสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในฐานะที่เป็นวัตถุนิยมและอำนาจอธิปไตยของโลก นับเป็นบทเพลงเร็กเกที่สะท้อนถึงปรัชญาจากภายในของตัวเอง วิถีชีวิต และการสะท้อนสังคมในฐานะมนุษย์ออกมา
ในห้วงปีที่ร้อนแรงในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การปะทะความคิดระหว่างรุ่น ช่องว่างระหว่างวัยและเทคโนโลยี แต่ดนตรีเร็กเกของศรีชา ก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อสัตย์ทั้งข้างในและข้างนอก โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนที่สืบทอดอุดมการณ์จาก บ็อบ มาร์เลย์ ด้วยการพลวัตขับเคลื่อนคำว่า ‘Destroy Babylon’ ในสังคมไทย และถูกตั้งเป็นชื่อบทเพลงของพวกเขาในการประกาศอุดมการณ์ที่มีต่อสังคมไทยด้วย นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการขัดจังหวะขั้นตอนและระบบเหล่านี้ ซึ่ง บ็อบ มาร์เลย์ เรียกว่า ‘Babylon System’ และเป็นชื่อบทเพลงบรรจุอยู่ในอัลบัม ‘Survival’ ของ บ็อบ มาร์เลย์ แอนด์ เดอะ เวเลอร์ส (Bob Marley & The Wailers)
วิน เคยอธิบายถึงระบบบาบิลอนไว้ว่า บาบิลอน มันเป็นคำของชาวเร็กเก คล้ายกับโค้ดลับที่เป็นคำแทนของพวกรัฐบาลที่กำลังครอบงำประชาชนอยู่ ระบบทุนนิยมสามานย์ต่าง ๆ ที่ทำให้ประเทศมาอยู่ในจุดนี้ คอยรันธุรกิจของพวกเขา มันคือวงจรนี้แหละ ระบบอุปถัมภ์ การคอร์รัปชันต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการรวมทั้งระบบราชการ หรือเอกชนก็แล้วแต่ การที่พยายามบิดเบือนระบบการหมุนเวียนต่าง ๆ เอาไปทำเงินให้ตัวเอง มันก็คือ Babylon System คือระบบที่ทำลายโลก ทำลายปลาเล็กชนิดต่าง ๆ มันคือความเชี้ยแหละ ความเชี้ยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับสังคม ก็เลยใช้คำว่า Babylon แทนการด่าพวกเขาตรง ๆ
วิน บัญญัติศัพท์ถึงทุกอย่างที่เกิดขึ้นผ่านระบบบาบิลอนว่า ‘ด๊อง’ ทำให้เกิดปัญหาด๊อง ๆ เขาอรรถาธิบายว่ามันคือความไม่เมคเซนส์ คือสิ่งที่สัมผัสได้ โดยไม่จำเป็นเลยว่าใครจะชอบฝ่ายไหน ทุกประสาทสัมผัสรู้สึกได้เลย การเป็นนักดนตรีก็สัมผัสได้ว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี วิธีการบริหารจัดการ วิธีการพูด วิธีคิด การกระทำหลายอย่างมันดูไร้สาระ ไม่เมคเซนส์ บ้านเมืองเดือดร้อน แต่นักการเมืองยืนยิ้มตัดริบบิ้น ถ่ายภาพ แม้เขาไม่ใช่คนที่เชื่อสื่อง่ายนะ แต่รู้สึกว่ามันคือวงจรอุบาทว์ ที่เมื่อมีใครมีอำนาจก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ทุกครั้ง ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ธรรมเนียมระบบเก่า ๆ ก็ยังอยู่ เขาคิดว่ามันน่าเบื่อ มันเชย สงสารเด็กรุ่นหลังที่จะต้องอยู่ไปกับสิ่งนี้
ดนตรีและวิถีชีวิตเร็กเกไม่เพียงแต่เป็นเพลงหรือแฟชั่น แต่เป็นส่วนหนึ่งของหลักคำสอนรัสตาฟาเรียนที่มีแนวคิดมุมมองและการใช้ชีวิตอย่างมีความหมายด้วยสันติสุขและความรัก (Peace & Love) ว่าไปแล้วสไตล์ร็อคเกอร์คือวิถีชีวิตของชาวเร็กเก ซึ่งถูกชาวจาเมกาเรียกว่า ร็อคเกอร์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อภาพยนตร์ชื่อ ‘Rockers’ ในปี 1978 โดย ธีโอดอร์ บาฟาลูคอส ซึ่งทั้งเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ มีนักร้องยอดนิยมสายเร็กเกในยุคนั้นมาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้มากมาย นำโดย เลรอย ‘ฮอร์สเมาธ์’ แวลเลซ (Leroy ‘Horsemouth’Wallace), เบิร์นนิง สเปียร์ (Burning Spear), เกรกอรี อิสแซคส์ (Gregory Isaacs), บิ๊ก ยูธ ดิลลิงเจอร์ (Big Youth Dillinger), ร็อบบี เชคสเปียร์ (Robbie Shakespeare และ จาค็อบ มิลเลอร์ (Jacob Miller)
เพราะฉะนั้น ศรีชา จึงเป็นคณะดนตรีที่ตั้งชื่อกลับไปหาต้นธารของวิถีชีวิตของร็อคเกอร์หรือบรรดานักร้องนักดนตรีจาเมกันในยุคดั้งเดิม จากการที่ศรีชาเน้นซาวนด์ดนตรีฟังง่าย ผ่อนคลาย และมุ่งมั่นเคร่งเครียดกับเนื้อร้องและเนื้อหาที่สื่อความหมายออกมาอย่างไม่ซับซ้อน ทำให้เห็นถึงแรงบันดาลใจและอิทธิพลดนตรีแนวรูทส์ เร็กเก (Roots Reggae) ที่ศรีชารับมาแผลงแปลงประยุกต์ให้มีรสชาติของไทย
รูทส์ เร็กเก ถือเป็นดนตรีที่มีการผสมผสานระหว่างเพลงร็อคอเมริกันและสกา โดดเด่นด้วยเสียงร้องที่หนักแน่นและเนื้อเพลงที่สื่อความหมายปรัชญารัสตาที่เคร่งครัด บางทีอาจเป็นรูปแบบของดนตรีเร็กเกที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก รูทส์ เร็กเกเกิดขึ้นในช่วงต้นยุคทศวรรษ 1970 ตามติดอย่างรวดเร็วหลังจากการพัฒนาแตกยอดแขนงดนตรีเป็นร็อคสเตดี (Rocksteady) ว่าไปแล้ว หากย้อนกลับไปดูให้ลึกเข้าไปอีกถึงเทรดิชัน เร็กเก (Tradition Raggae) กับรูทส์ เร็กเก ซึ่งเป็นประเภทย่อยที่พัฒนามาจากเร็กเกแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีมรดกร่วมกันของชาวจาเมกา แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างซึ่งทำให้พวกเขาแตกต่าง เร็กเกแบบดั้งเดิมครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ที่หลากหลายในการสื่อความหมายผ่านเนื้อเพลง รวมถึงความรัก ชีวิตประจำวัน และวัฒนธรรมแดนซ์ฮอลล์ ในขณะที่รูทส์ เร็กเก มีแนวโน้มที่จะเน้นเนื้อเพลงไปที่จิตสำนึกทางสังคม
จังหวะเร็กเก้แบบดั้งเดิมหรือเทรดิชันแตกต่างกันไปอย่างมาก โดยมีทั้งทำนองจังหวะสนุกสนานและจังหวะช้ากว่า ในทางตรงกันข้าม ส่วนรูทส์ เร็กเก จะถูกทำจังหวะเดียวโดยเจตนาและเป็นจังหวะที่ช้าลง เนื้อเพลงมีรากฐานมาจากจิตสำนึกทางสังคมและการเมืองที่ลึกซึ้ง มักพูดถึงประเด็นความยากจน การกดขี่ และจิตวิญญาณ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขบวนการรัสตาฟาเรียนในทางดนตรี
นอกจากนี้ รูทส์ เร็กเก ยังคงรักษาเอกลักษณ์ด้านเสียงโดยเฉพาะ โดยโดดเด่นด้วยเส้นเสียงเบสที่นุ่มลึก รูปแบบกีตาร์ที่สั้นลง และการรวมแตรหรือเครื่องเป่าทองเหลืองเข้าด้วยกัน แม้ว่าความแตกต่างเหล่านี้จะมีอยู่ เส้นแบ่งระหว่างเร็กเกดั้งเดิมและรูทส์ เร็กเก ก็สามารถยืดหยุ่นได้ และทั้งสองแนวก็มีความทับซ้อนกันอย่างมีนัยสำคัญภายในภูมิทัศน์ดนตรีเร็กเกที่กว้างขึ้น เพราะเร็กเกไม่ใช่แค่ดนตรี แต่มันคือศิลปะและวิถีชีวิต
เมื่อฟังงานจากอัลบั้มทั้ง 4 ชุด ของศรีชา ก็สามารถรับรู้กำซาบถึงจิตวิญญาณของรูทส์ เร็กเก และเทรดิชัน เร็กเก ได้อย่างออกอรรถรส โดยมีเนื้อหาเฉพาะมุมมองแบบไทยจากธาตุของรัสตาที่รับมาได้อย่างลงตัว กลมกลืนและกลมกล่อม บรรสานเข้ากับวิถีชีวิตแบบไทยที่มีพื้นฐานทางสังคมของประเทศในโลกกำลังพัฒนาที่อิงแอบกันและกันแม้อยู่คนละซีกโลกอย่างหนึ่งซึ่งต้องยอมรับกัน เร็กเกเป็นดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจาเมกา แต่มีรากฐานมาจากเพลงอาร์แอนด์บีของนิวออร์ลีนส์ บรรพบุรุษโดยตรงของเร็กเก้คือสกา ซึ่งเป็นจังหวะที่แปรผันตามจังหวะที่อิงจากนักดนตรีจาเมกาอาร์แอนด์บีที่ได้ยินการออกอากาศจากสหรัฐอเมริกาทางวิทยุทรานซิสเตอร์
สกาเป็นเพลงแนวอาร์แอนด์บีที่ใช้กีตาร์จังหวะยกที่ประสานกัน และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงต้นยุคทศวรรษ 1960 อย่างไรก็ตาม ในฤดูร้อนที่ร้อนจัดช่วงหนึ่ง มันร้อนเกินกว่าจะเล่นหรือเต้นสกาได้ จังหวะดนตรีจึงถูกทอนให้ช้าลง และเร็กเกก็ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เร็กเกได้พิสูจน์แล้วว่ามีความหลากหลายพอ ๆ กับเพลงบลูส์ โดยสามารถตีความได้หลายอย่าง ตั้งแต่เพลงเมโลดิกร็อคของ อัลตัน เอลลิส การแต่งเพลงที่ได้รับอิทธิพลจากเพลงร็อคและโฟล์คของ บ็อบ มาร์เลย์ ไปจนถึงเพลงทริปปีที่เกือบจะหลอนประสาท รวมถึงข้ามเข้าสู่กระแสหลักผ่านเทศกาล ‘reggae sunsplash’ ที่สดใสและมีชีวิตชีวาและคณะดนตรีแนวเร็กเกป็อป เช่น ยูบีโฟร์ตี (UB40) การมีส่วนร่วมของพวกเขาสะท้อนอยู่ในเพลงยอดนิยม
อีกมุมหนึ่งของศรีชา ดนตรีของพวกเขายังอาบกลิ่นอายของเร็กเกที่แนวที่แตกแขนงออกมา นั่นคือ เลิฟเวอร์ส ร็อค (Lovers Rock) ซึ่งเป็นเพลงเร็กเกแนวโรแมนติกที่ได้รับอิทธิพลจากอาร์แอนด์บี โดยส่วนมากเป็นผลงานของวงการเร็กเกในสหราชอาณาจักรหรือบนเกาะอังกฤษ และได้รับความนิยมในช่วงปลายยุคทศวรรษ 1970 เนื่องจากเร็กเก้ที่เป็นกระแสหลักได้อุทิศตนให้กับการประท้วงทางสังคมและจิตวิญญาณของรัสตาฟาเรียนมากขึ้น จากเพลงสกาไปจนถึงเร็กเก ดนตรีจาเมกันได้รับอิทธิพลจากโซลอเมริกันมายาวนาน แต่ดนตรีแนวเลิฟเวอร์ส ร็อคก็เบลอแนวเพลงมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา โดยจับคู่เสียงที่นุ่มนวลของชิคาโกและโซล ฟิลลี เข้ากับไลน์เบสแนวเร็กเกมากน้อยก็แล้วแต่จะสร้างสรรค์ออกมา เลิฟเวอร์ส ร็อค ได้ขยายขอบเขตการแสดงดนตรีและดึงดูดผู้ชมในวงกว้าง
เพราะฉะนั้นดนตรีของศรีชา จึงเป็นเร็กเกที่มาในแนวทาง รูทส์ เร็กเก มีกลิ่นอายของดั๊บและเลิฟเวอร์ส ร็อค อยู่ในที ซึ่งทั้งหมดก็เป็นธาตุและจิตวิญญาณของดนตรีจาเมกันที่รับอิทธิพลส่งตรงมาสู่ความคิด วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ดังที่ วิน ศรีชา เคยพูดว่า
“ถ้าไม่มีศิลปะ มนุษย์จะไม่มีคุณค่าอะไรเลยในการใช้ชีวิต ถ้ามนุษย์ไม่รู้ศิลปะของการใช้ชีวิต มนุษย์ก็จะตกไปเป็นทาสของบาบิลอน ศิลปะจะช่วยให้เขารับรู้ปัญหาและเจอทางออกได้ง่ายขึ้น ศิลปะจะทำให้ทั้งเปลือกนอกและเนื้อในของเราสวยงาม”
ดนตรีและบทเพลงของศรีราชา ร็อคเกอร์ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการพัฒนาดนตรีเร็กเกในประเทศไทย และสร้างสรรค์พัฒนาวิวัฒน์แนวดนตรีเร็กเกของไทยที่รับมาจากจาเมกาให้มีที่ทางและจิตวิญญาณของตัวเองหากบทเพลง ‘ไปทะเล’ ของ ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล ถือเป็นบทเพลงที่มีแนวทางดนตรีเร็กเกเพลงแรก ๆ ของไทยที่สามารถก้าวสู่โสตของคนฟังเพลงกระแสหลักในวงกว้างของดนตรีสมัยนิยมของไทย ที-โบน เป็นผู้ปักหมุกเร็กเก - สกา ไทยบนแผนที่ทางดนตรีโลก ศรีราชา ร็อคเกอร์ ก็กำลังใช้ 2 ทศวรรษของพวกเขาบนเส้นทางดนตรี ใช้ศิลปะในการแสดงออกถึงดนตรีเร็กเกแบบพวกเขาออกมาได้เต็มที่
ดังคำที่พวกเขาพยายามย้ำว่า ดนตรีเป็นเหมือนอาวุธของนักดนตรี เพราะมันคือ อกาลิโก มิวสิค ฟังได้โดยไม่จำกัดกาลเวลาตอนนี้ก็อยากฟังงานสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 5 หรืออัลบั้มชุดใหม่ล่าสุดของศรีชาที่ยังไม่เผยแพร่หรือแสดงที่ไหนอย่างเป็นทางการมาก่อน แต่ต้องไปฟังในคอนเสิร์ต THE PEOPLE CONCERT SERIES : MAKE MUSIC TO INSPIRE ‘เล็ก Is More’ Presents ‘Srirajah Rockers’
เสาร์ที่ 16 มีนาคม 2024 นี้ ที่ GLOWFISH SATHORN บัตรราคา 599 บาท
ซื้อบัตรได้ที่(โดย)สแกน QR Code ในรูป หรือที่ Link https://www.thaiticketmajor.com/concert/the-people-concert-series-make-music-to-inspire-lek-is-more.html?utm_source=ttm-index&utm_medium=searchbox&utm_campaign=the-people-concert-series-:--make-music-to-inspire-%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81-is-more
เรื่อง: พรเทพ แซ่เฮง (พอล เฮง)
ภาพ: The People