จาก Product Manager สู่ Whistleblower ‘ฟรานเซส เฮาเกน’ อดีตพนักงานผู้กล้างัดข้อกับ Facebook เพื่อความถูกต้อง

จาก Product Manager สู่ Whistleblower ‘ฟรานเซส เฮาเกน’ อดีตพนักงานผู้กล้างัดข้อกับ Facebook เพื่อความถูกต้อง
‘Facebook’ หนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเคยถูกแฉว่าพวกเขานั้น ‘จงใจ’ ปรับอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มเนื้อหากระตุ้นต่อมโทสะของเหล่าผู้ใช้เพื่อที่พวกเขาจะได้เปลี่ยนยอด Engagement เหล่านั้นเป็นเม็ดเงิน สร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น  และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือพวกเขานั้นรู้ตัวดีอยู่ว่ากำลังทำอะไร รวมทั้งรู้ถึงผลกระทบในแง่ลบที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจ และสภาพสังคมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งหลาย เพียงแต่ว่า Facebook เลือกที่จะให้ความสำคัญกับเม็ดเงินที่พวกเขาจะได้ มากกว่าสิ่งอื่นใดเท่านั้นเอง แต่ว่าข้อมูลลับสุดยอดที่ Facebook ควรขุดดินฝังไว้ให้มิดเหล่านี้นั้นหลุดออกมาได้อย่างไร? ก็ต้องขอบคุณหญิงสาวคนหนึ่งที่มีชื่อว่า ฟรานเซส เฮาเกน (Frances Haugen) อดีตพนักงานของทาง Facebook เอง ที่ออกมาแฉเรื่องราวที่ฉาวโฉ่เหล่านี้   อุปนิสัยแห่งความยุติธรรมที่ฝังรากมาแต่วัยเยาว์ ฟรานเซส เฮาเกน เกิดและเติบโตในเมืองไอโอวาซิตี้ รัฐไอโอวา เธอเข้าเรียนที่ Horn Elementary และ Northwest Junior High School จบการศึกษาจาก Iowa City West High School ในปี 2002 โดยมีคุณพ่อเป็นหมอ และคุณแม่เป็นนักบวชเอพิสโกปาเลียนหลังจากทำงานด้านวิชาการ ตั้งแต่ยังเด็กนั้น เธอได้รับการปลูกฝังให้ใช้ความคิด และการถกเถียงเพื่อความถูกต้องอยู่เสมอ โดยในโปรไฟล์ Linkedin ของเธอได้ระบุไว้ว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของทีมโต้วาทีที่ Iowa City West High School รวมถึงเธอยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองไอโอวาร่วมกับพ่อแม่ของเธอตั้งแต่ยังเด็ก เพราะฉะนั้นแล้ว เธอจึงถูกปลูกฝังค่านิยมความรู้สึกภาคภูมิใจในระบอบประชาธิปไตย และความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นอย่างดี  หลังจากเฮาเกนเรียนจบไฮสคูลในปี 2002 เธอได้เข้าศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยโอลิน (Franklin W. Olin College of Engineering) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นทางด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะ ในเมืองนีดแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์ และหลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เธอก็เข้าเรียนปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจต่อที่ Harvard Business School) โดยสำเร็จการศึกษาในปี 2011  เธอเป็นผู้สนับสนุนการกำกับดูแลสื่อสังคมออนไลน์ของสาธารณะ ที่เชื่อว่าเราสามารถมีโซเชียลมีเดียที่เราเพลิดเพลินซึ่งนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดในมนุษยชาติได้ เพราะฉะนั้น ด้วยหลักการแนวคิดเช่นนี้ของเธอ ทำให้เธอได้ทำงานอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมากมาย    ประสบการณ์ชั้นนำ จากยอดบริษัทชั้นเซียน หลังจากเรียนจบ เธอประเดิมงานแรกของเธอที่ Google ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ (Associate Product Manager) โดยหน้าที่ความรับผิดชอบของเธอคือ Google Book และ Google AdWords ต่อมาเธอทำงานเป็นผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของ Google ตั้งแต่ปี 2008-2009 ซึ่งเธอเป็นคนออกแบบประสบการณ์/แอปพลิเคชันการอ่านหนังสือบนมือถือเครื่องแรกของ Google ค้นหาและพัฒนาอัลกอริทึมการค้นหาหนังสือและระบบสำหรับสร้างปกหนังสือสาธารณสมบัติ 300,000 เล่ม  หลังจากนั้นเธอก็ออกจาก Google ไปในช่วงสั้น ๆ ในปี 2011 และกลับมาอยู่ที่ Google อีกครั้งจนถึงปี 2014 จากนั้นเธอก็ได้งานที่ Yelp ตั้งแต่ปี 2015-2016 ก่อนที่จะย้ายไปทำงานที่ Pinterest และ Facebook ในปี 2019 ตามลำดับ    จาก Product Manager สู่ Whistle Blower อันที่จริงแล้ว การได้งานที่ Facebook สำหรับใครบางคนคงเป็นเหมือนหมุดหมายแห่งความภาคภูมิใจและความสำเร็จ แต่สำหรับเฮาเกนนั้น มันกลับไม่ใช่เส้นทางอันหอมหวานอย่างที่ควรจะเป็น เธอได้เขียนลงในเว็บไซต์ส่วนตัวว่า เธอถูกรับเข้าทำงานในตำแหน่ง Product Manager ซึ่งอยู่ในทีมที่เรียกว่า Civic Misinformation/Civil Integrity ซึ่งเป็นทีมที่ต้องจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการต่อต้านการจารกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขโมย การหลอกลวง รวมถึงคำพูดที่แสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) แต่การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของ Facebook นั้น กลับสวนทางกับปณิธานที่เธอเคยตั้งมั่นไว้ตั้งแต่ยังเด็ก และด้วยความกล้า หรือว่าพลังบางอย่างในตัวเธอเอง เธอเลือกเส้นทางที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เธอเลือกที่จะงัดข้อกับหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก เฮาเกนได้กลายมาเป็น Whistleblower (ผู้แจ้งเบาะแส) ด้วยการเผยแพร่แคชข้อมูล (cache) ของการวิจัยภายในบริษัทไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) รวมถึงสำนักข่าว Wall Street Journal โดยหวังว่าจะสามารถขับเคลื่อนกฎระเบียบของบริษัทได้ดีขึ้น เนื่องจาก Facebook เลือกจะสนใจในการทำกำไรมากกว่าผลประโยชน์ของผู้ใช้ “มันมีความขัดแย้งกันระหว่างสิ่งที่ดีต่อตัว Facebook และสิ่งที่ดีต่อสังคม ซึ่งครั้งแล้วครั้งเล่า Facebook ก็เลือกที่จะพัฒนาตัวเองไปเส้นทางที่ดีต่อตัวบริษัท เช่น การทำเงินให้มากขึ้น” เฮาเกนบอกกับ สก็อตต์ เพลลีย์ ในรายการ 60 Minutes เฮาเกนได้เปิดเผยถึงวิธีการทำให้อัลกอริทึมโชว์คอนเทนต์ที่จะกระตุ้นอารมณ์โกรธของผู้ใช้มากขึ้น เนื่องจากคอนเทนต์เหล่านั้นสามารถเพิ่มยอดรีชและยอดเอนเกจเมนต์ได้ดีที่สุด จากนั้นพวกเขาก็เปลี่ยนยอดเหล่านั้นเป็นเม็ดเงินในการโฆษณา โดยในงานวิจัยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก หรือแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สามารถทำให้ผู้คนโกรธได้ง่ายกว่าอารมณ์อื่น ๆ “Facebook ตระหนักดีว่าหากพวกเขาเปลี่ยนอัลกอริทึมให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้คนจะใช้เวลาบนแพลตฟอร์มน้อยลง พวกเขาจะคลิกโฆษณาน้อยลง พวกเขาจะสร้างรายได้น้อยลง” เฮาเกนกล่าวต่อ นอกจากนี้เธอยังเปิดโปงสิ่งอื่นอีกมากมายในการให้การกับรัฐสภาคองเกรส เช่น Facebook สามารถแยกแยะ Hate Speech ได้เพียงแค่ 3-5% เท่านั้น แต่กลับเคลมว่าตัวเองมีระบบการตรวจจับความรุนแรงและความเกลียดชังได้ดีที่สุดในโลก หรือแอปพลิเคชันอินสตาแกรมกำลังทำให้เด็กวัยรุ่นหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพจิตที่แย่ลง โดยทำให้เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตายมากขึ้น 13.5% และเกิดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ผิดปกติเพิ่มขึ้นด้วย หลังจากการออกมาแฉของเฮาเกนในครั้งนี้ ก็ยังไม่มีการตอบโต้ออกมาแบบเป็นชิ้นเป็นอันจากทางฝั่ง Facebook มีเพียง Instagram อีกหนึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ Facebook เป็นเจ้าของได้ออกมาประกาศว่าพวกเขากำลังทำงานเพื่อพัฒนา และจะเปิดตัวมาตรการใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นเสพเนื้อหาคอนเทนต์ที่เป็นอันตราย และกระตุ้นให้พวกเขาหยุดพักจากแพลตฟอร์มบ้างเป็นครั้งคราวด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ ‘Take a Break’ ลงไปในแอปพลิเคชัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการยอมรับข้อครหาของเฮาเกนอย่างอ้อม ๆ ก็ว่าได้   เรื่อง: ณัชพล เนตรมหากุล   ที่มา: https://www.theverge.com/2021/10/3/22707860/facebook-whistleblower-leaked-documents-files-regulation https://gizmodo.com/9-horrifying-facts-from-the-facebook-whistleblowers-new-1847791184 https://www.bbc.com/news/technology-58784615 https://www.youtube.com/watch?v=_Lx5VmAdZSI&ab_channel=60Minutes https://fitnessfreak360.com/who-is-frances-haugen-whistleblower-frances-haugen-biography-wiki-age-facebook-product-manager/ https://www.cbc.ca/news/business/facebook-whistleblower-frances-haugen-lawsuit-1.6206435 https://apnews.com/article/facebook-whistleblower-frances-haugen-legal-retaliation-0f74fc76973a4e83ec457c35c04f8767   ภาพ: Getty Images / Tom Williams