Fair Finance Thailand ประกาศคะแนนความเป็นธรรมของแบงค์พาณิชย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมจัดสัมมนา “พลังของธนาคาร เพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน”

Fair Finance Thailand ประกาศคะแนนความเป็นธรรมของแบงค์พาณิชย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมจัดสัมมนา “พลังของธนาคาร เพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน”
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2561 ด้วยความตั้งใจที่จะร่วมกันผลักดันภาคธนาคารไทยให้ก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ “การธนาคารที่ยั่งยืน” (sustainable banking) อย่างแท้จริง ประกอบด้วยสมาชิกแนวร่วมคือ บริษัท ป่าสาละ จำกัด, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ถึงตอนนี้ Fair Finance ได้ดำเนินงานอยู่ใน 12 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย 20 มกราคม 2564 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) จัดแถลงข่าวการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” การประเมินผลความเป็นธรรมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ตามแนวทาง Fair Finance Guide International อีกทั้งยังจัดสัมมนาออนไลน์ “พลังของธนาคารเพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน” โดยตัวแทนจาก 2 ธนาคารพาณิชย์ คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิบูรณะนิเวศ สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัย แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวถึงการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” ในครั้งนี้ว่า “Fair Finance เป็น Movement ระดับโลกที่ใช้ “ดัชนี” เป็น “เครื่องมือ” สำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมมาประเมินธนาคารว่าทำได้ดีแค่ไหน และต่อรองว่าธนาคารควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเราจัดทำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในการประเมินธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนให้ความสนใจกับการประเมินธนาคาร เนื่องจากธนาคารเป็นผู้รวบรวบเงินฝากของเราและคนจำนวนมหาศาล แต่ทุกวันนี้เราแทบไม่รู้เลยว่าธนาคารนำเงินฝากของเราไปทำอะไร หรือลงทุน สนับสนุนในโครงการหรือธุรกิจอะไรบ้าง หากธนาคารเลือกปฏิบัติกับลูกค้า ลงทุนกับโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการบริหารธุรกิจ ส่งผลเสียไปถึงผลกำไรและชื่อเสียง ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อคนจำนวนมาก รวมทั้งเราและเงินฝากของเรา ในฐานะที่เราฝากเงินกับธนาคาร การให้ความสนใจจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อคอยช่วยกันระแวดระวัง ผลักดันให้ธนาคารทำงานด้วยความจริงใจ รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนระยะยาว สำหรับคะแนนในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีทั้งธนาคารที่ได้คะแนนสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ธนาคารที่ได้คะแนนไม่ต่างจากเดิม และธนาคารที่ได้คะแนนน้อยลง แต่พบการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นระหว่างธนาคาร 6 อันดับแรก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี” ในการประเมินผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” Fair Finance Thailand ได้นำเกณฑ์ประเมิน Fair Finance Guide Methodology ฉบับปรับปรุง ค.ศ. 2020 มาใช้ในการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เปิดเผยสู่สาธารณะ 8 แห่ง และยังเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการประเมินธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน,​ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยโดยมีหัวข้อประเมิน ดังนี้ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2.การทุจริตคอร์รัปชัน 3.ความเท่าเทียมทางเพศ 4.สิทธิมนุษยชน 5.สิทธิแรงงาน 6.ธรรมชาติ 7.ภาษี 8.อาวุธ 9.การคุ้มครองผู้บริโภค 10.การขยายบริการทางการเงิน 11.การตอบแทน 12.ความโปร่งใสและความรับผิด และในปีนี้ได้เพิ่มหมวดใหม่ คือ “สุขภาพ” รวมเป็นทั้งหมด 13 หัวข้อ ซึ่งการประเมินนโยบายที่เปิดเผยต่อสาธารณะของธนาคาร คณะวิจัยฯ ได้ใช้เวลาศึกษาตั้งแต่สิงหาคม - ตุลาคม พ.ศ. 2563 โดยคะแนนรวมคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ Fair Finance Thailand ประกาศคะแนนความเป็นธรรมของแบงค์พาณิชย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมจัดสัมมนา “พลังของธนาคาร เพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน” สำหรับผลการประเมินธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” มีดังนี้
  1. ธนาคารทหารไทย 38.9% 
  2. ธนาคารกรุงไทย 22.4% 
  3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 22.1%
  4. ธนาคารกรุงเทพ 21.8% 
  5. ธนาคารไทยพาณิชย์ 21.1%
  6. ธนาคารกสิกรไทย 20.6% 
  7. ธนาคากรุงศรีอยุธยา 16.9% 
  8. ธนาคารเกียรตินาคิน 16.1% 
  9. ธนาคารทิสโก้ 15.9% 
  10. ธนาคารออมสิน 15.4%
  11. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 11.1%
  12. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 8.3%
โดยมีค่าเฉลี่ยในการประเมิน คิดเป็น 19.4% ซึ่งมีธนาคาร 6 แห่งที่ได้คะแนนสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย คือ ธนาคารอันดับที่ 1 ถึง 6 ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามหลักการธนาคารที่ยั่งยืนและการเงินที่เป็นธรรมที่สูงกว่าแค่ปฏิบัติตามกฎหมาย สฤณีกล่าวว่า “ธนาคารทหารไทยได้คะแนนค่อนข้างมากจากการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านการประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) โดยจัดทำประกาศนโยบายสินเชื่อ รวมถึงรายการสินเชื่อต้องห้ามที่มีความชัดเจนและตรงต่อประเด็นกังวลของภาคประชาสังคมโลก เช่น การมีรายการสินเชื่อต้องห้าม รวมการค้าไม้จากป่าดิบชื้นปฐมภูมิ (primary tropical moist forest), โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองถ่านหิน, จำกัดสินเชื่ออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่เกิน 10% ของสินเชื่อธุรกิจ เป็นต้น แม้ธนาคารอื่นๆ โดยรวมยังไม่มีประกาศนโยบายสินเชื่อ (credit policy) และรายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ที่ชัดเจน ซึ่ง Fair Finance Thailand เองเชื่อมั่นว่าธนาคารทุกแห่งจะสามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้ เพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่เป็นธรรมและยั่งยืนโดยแท้จริง” “ผลการประเมินประจำปี พ.ศ. 2563 แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ต่างแข่งขันกันจัดทำและเปิดเผยนโยบายต่อสาธารณะ และเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งเริ่มมีนโยบายด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารแต่ละแห่งต่างพัฒนาการด้านการขยายบริการทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง” สฤณีกล่าวเสริม Fair Finance Thailand ประกาศคะแนนความเป็นธรรมของแบงค์พาณิชย์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 พร้อมจัดสัมมนา “พลังของธนาคาร เพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ความยั่งยืน” นอกจากการการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” ทาง Fair Finance Thailand ยังได้จัดงานสัมมนาออนไลน์เพื่อระดมความคิดร่วมกันพูดคุยในประเด็น นโยบายความยั่งยืนของแต่ละธนาคาร จะพาสังคมไทยออกจากวิกฤติไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไรโดยตัวแทนจาก 2 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้กล่าวถึงจุดเน้นสำคัญในยุทธศาสตร์เพื่อความยั่งยืนของธนาคาร จากวันนี้สู่อีก 3 ปีข้างหน้า ว่า “หน้าที่ของธนาคาร คือ การสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า ธนาคารมีความสำคัญไม่ใช่แค่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า แต่เป็นการทำให้สุขภาพทางการเงินของประชาชนดีขึ้น เป้าหมายของธนาคารคือ ตอบชีวิตทางการเงินที่ดีของลูกค้า ซึ่งในตอนนี้ประชาชนเองก็ได้มีปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือน และผลกระทบจาก Covid-19 ทางธนาคารจึงต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้บริโภค ซึ่งธนาคารเองได้มีการปรับตัวให้เหมาะสมไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าแต่ต้องไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังนำเอานโยบาย Environmental and Social Responsibility มาช่วยขับเคลื่อนในเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่ดี (Responsible Lending)” ด้าน กฤษณ์ ฉมาภิสิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า “ธนาคารกรุงไทยนั้นได้เน้นเรื่องการนำเสนอบริการทางการเงินให้กับทั้งลูกค้าของธนาคาร และที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคาร ที่ผ่านเน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยด้านการเงิน เพื่อความมั่นใจให้ประชาชน และให้ความรู้ในการใช้งาน สำหรับช่วง Covid-19 ที่ผ่านมาธนาคารเองได้มีบทบาทในการขยายบริการ เชื่อมความช่วยเหลือระหว่างรัฐและประชาชน อีกทั้งยังได้นำเทคโนโลยีทางการเงินเรื่องของการระดมทุนมาใช้นำความความช่วยเหลือเข้าไปในชุมชน และยังได้พัฒนาการทำ Digital Lending เพื่อเป็นอีกทางในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น” อีกทั้งยังร่วมพูดคุยกับ นฤมล เมฆบริสุทธิ์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้พูดถึงวิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 และความท้ายทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าจากวิกฤตที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคในปัญหาเรื่องหนี้จำนวนมาก ทางมูลนิธิได้รวบรวมปัญหาและต้องการทำข้อเสนอ ถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้ ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงธันวาคม 2564  ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL” และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้นำเสนอเกี่ยวกับบทบาทที่ซ่อนอยู่ของธนาคารต่อปัญหา PM 2.5 และปัญหาขยะล้นประเทศ โดยเสนอว่าธนาคารพาณิชย์ “ให้มีการพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษ/เงื่อนไขประกอบการให้สินเชื่อแก่กิจการอุตสาหกรรมที่มีนโยบายลดการปล่อยมลพิษอากาศ เช่น ผู้ประกอบการที่ติดตั้งอุปกรณ์การควบคุมและระบบการลดการปล่อยมลพิษอากาศ เช่น ฝุ่นขนาดเล็ก สารมลพิษ/สารก่อมะเร็ง  ผู้ลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัด บำบัด และรีไชเคิลของเสีย และมาตรการควบคุมมลพิษ/การจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดการใช้พลังาน และลงทุนก่อสร้างอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนกิจการที่ส่งเสริมความปลอดภัยของคนงานในสถานประกอบการฯ และมีนโยบายติดตามผลการดำเนินงานจากการให้สินเชื่อเกี่ยวกับการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”   ติดตามผลการประเมิน “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” และบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ Facebook: Fair Finance Thailand หรือ https://fairfinancethailand.org/news/2021/thai-banks-score-2020