#ม็อบชาวนา ทวงถามคำสัญญาที่ค้างคามายาวนานกว่า 23 ปี

#ม็อบชาวนา ทวงถามคำสัญญาที่ค้างคามายาวนานกว่า 23 ปี
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 กลุ่มชาวนาบางส่วนจากเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ที่ปักหลักอยู่หน้ากระทรวงการคลังมายาวนานกว่า 2 สัปดาห์ ได้เริ่มเคลื่อนขบวนเดินเท้าระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรไปยังสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จุดประสงค์เพื่อต้องการให้มีการดำเนินการเรื่องการบรรเทาหนี้สิน ซึ่งเป็นการทวงถามถึงคำมั่นสัญญาจากทางกองทุนที่เคยให้ไว้กับกลุ่มชาวนาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุน และดูจะมีความคืบหน้าในปี 2562 แต่จน ณ ตอนนี้ล่วงเลยมาจนเข้าสู่ปี 2565 ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ที่สัมฤทธิผล   โดยสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เมื่อปี 2542 จุดประสงค์หลักเพื่อต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร และจัดทำโครงการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น   The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนชาวนาจากจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อสอบถามถึงความต้องการในการเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้ คุณลุงกล่าวว่าเจตนาหลักคือเรื่องหนี้สินของกลุ่มชาวนาที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ กับราคาน้ำมันและปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางกับราคาข้าวที่ตกต่ำลง   “ก็จะเข้ามาสอบถามเรื่องหนี้สินครับว่าที่เราเดินเรื่องไว้ทำไมถึงไม่ทำต่อเนื่องให้เราสักที เริ่มแรกมาตั้งแต่ปี 2542 แล้วครับ   “เรื่องทางการเกษตรอยากให้ช่วยผลักดันให้หน่อย ราคามันตกต่ำ อย่างปุ๋ยตอนนี้ราคา 1,400 บาทแล้วครับ ไม่ไหวครับ ข้าวก็ขายได้เกวียนละ 6,000 กว่าบาท อย่างสวยก็ 6,800 บาท น้ำมันก็แพงไม่ไหวเลยครับ”   คุณลุงตัวแทนชาวนาจากจังหวัดกำแพงเพชรกล่าวเสริมว่าเป็นช่วงที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยเจอ เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่จำกัดพื้นที่และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ได้ดีนักย่ำแย่ลงไปอีก    ฤดูการเก็บเกี่ยวข้าวใน 1 ปีจะแบ่งออกเป็น 3 รอบ โดยแต่ละรอบมีระยะห่างกัน 3-4 เดือน รอบแรกจะเริ่มหลังเดือนเมษายน ซึ่งจะได้ผลผลิตจำนวนมากที่สุด ในรอบที่สองจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มักประสบปัญหาอุทกภัย และรอบที่ 3 เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ข้าวมักเกิดโรค ‘หลอดหอม’ ซึ่งเป็นโรคที่มักจะเกิดขึ้นในข้าว    สาเหตุของโรค ‘หลอดหอม’ มาจากการที่ ‘แมลงบั่ว’ ที่เข้าไปวางไข่บนใบข้าว เข้าไปทำลายกัดกินส่วนเนื้อเยื่อจนทำให้ข้าวไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้     ดังนั้นกล่าวได้ไม่ผิดว่าช่วงที่ชาวนาจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริง ๆ ก็มีเพียง 1 ครั้งต่อปีเพียงเท่านั้น    “ก็อยากให้ดีขึ้นกว่านี้หน่อย คนมีเงินเดือน ฝนตกน้ำท่วมก็ยังได้อยู่เหมือนเดิม อย่างชาวนาฝนตกน้ำท่วมไม่มีเงินเดือน มีแต่ทิ้งกับทิ้ง ไม่มีรายได้ บางทีหมุนเงินทันบ้างไม่ทันบ้าง เพราะต้องส่งลูกหลานเรียน บางครั้งก็ต้องไปยืมคนอื่น เงินมันไม่คงที่ ก็อยากให้ราคาข้าวมันเพิ่มขึ้นอีก ราคาปุ๋ยลดลง” เขากล่าว   เมื่อ The People ถามถึงอนาคตที่อยากจะให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย คุณลุงได้ทิ้งท้ายให้เราว่า อยากจะให้ชาวนาเป็นอาชีพที่ทัดเทียมกับอาชีพอื่น ๆ และได้รับความมั่นคงทางชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไป พร้อมแสดงจุดยืนอย่างมีความหวังว่าจะรอจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการอนุมัติและได้กลับไปหาครอบครัวของตนดังเดิม    “ตอนนี้ไม่มีรายได้อะไรเลยครับ (หัวเราะ) มาอยู่นี่ก็ไม่มีรายได้ ที่มาเพื่อจะมาช่วยผลักดัน คนที่มาไม่ได้ มีภาระหลายอย่างก็มี มาตรงนี้ก็ลำบากครับ อยากให้รัฐบาลช่วยให้เร็วที่สุด เขาจะได้กลับบ้าน จะได้ไปทำงานของเขา”   เรื่อง: ดวงนฤมล วงศ์ใหญ่ (The People Junior) ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน