เสียงจาก #ม็อบชาวนา เกษตรพิจิตรประท้วงรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

เสียงจาก #ม็อบชาวนา เกษตรพิจิตรประท้วงรัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
“คุณบอกให้เราปลูกผักเลี้ยงปลา แต่เรายังไม่มีที่จะทำกิน จะให้เราเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู แต่เงินเราก็ยังไม่มีจะซื้ออาหารเลย” นี่คือความในใจจากกลุ่มเกษตรกรจังหวัดพิจิตร   นับเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์แล้ว (ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565) ที่เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเกษตรกรกับชาวนาจาก 36 จังหวัด ได้นัดรวมตัวชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง ที่บริเวณถนนพระราม 6 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ไขปัญหาหนี้สินและราคาต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับราคาข้าวที่ไม่ขยับเลย   และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พวกเขาได้เดินขบวนจากกระทรวงการคลังเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตรไปยัง ‘สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร’ (กฟก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับซื้อหนี้ต่อจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และเคยประกาศมาตรการบรรเทาหนี้สินของเกษตรกรมาหลายครั้ง โดยโครงการบรรเทาหนี้สินครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2562 แต่ผ่านมาหลายปี หนี้สินของชาวนาจำนวนมากก็ยังเหมือนเดิม และไม่มีความคืบหน้าจาก กฟก. แต่อย่างใด และนี่เป็นเหตุให้ชาวนาต้องเดินขบวนมายื่นข้อเรียกร้องถึงสำนักงาน กฟก. ด้วยตนเอง    The People จึงใช้โอกาสนี้ไปพูดคุยกับหนึ่งในกลุ่มชาวนาที่มาชุมนุมหน้า กฟก. เพื่อติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรชาวนาตั้งแต่ราคาต้นทุนต่าง ๆ ไปจนถึงราคาข้าว และการเข้าถึงสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างมาก และยังไม่มีหนทางแก้ไขจนถึงทุกวันนี้   เมื่อเข้าไปพูดคุย เราจึงได้รู้ว่าเกษตรกรกลุ่มนี้มาจากจังหวัดพิจิตร และมีหลายคนที่สนใจอยากพูดคุยกับเราถึงปัญหาที่เกิดขึ้น   “กลุ่มพี่มาจากจังหวัดพิจิตร มีกันประมาณ 40 คน”   เมื่อถามถึงความคืบหน้าของโครงการช่วยบรรเทาหนี้เกษตรกรตั้งแต่ปี 2562 ก็ได้คำตอบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง   “โครงการทั้งหมดมีมากว่า 20 ปี แต่ช่วง 10 ปีให้หลังก็ยังมีโครงการใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่เลย โครงการล่าสุดก็มาตั้งแต่ปี 2562 เขาก็รับปากเราไว้” เกษตรกรคนแรกเปิดประเด็น   “เขาเพิกเฉย รับปากไว้เปล่า ๆ แต่ไม่ทำอะไรเลย รับเรื่องไว้แต่ไม่มีอะไรขยับเขยื้อนเลย    “ถามว่าเคยช่วยอะไร ข่าวออกบ่อยจะตาย ชาวนาผูกคอตายเนี่ย ไม่รู้กี่รายแล้ว ไม่เห็นเขาจะเดือดร้อนกับเราเลย คนตายไม่ใช่ญาติเขานี่”   ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นคือราคาของต้นทุนทุกอย่างที่พุ่งขึ้นสูงจนกระทบแทบทุกสายอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเกษตรกร ซึ่งต้องลงทุนไปก่อน และต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิตกลับมา   “ตอนนี้ผลผลิตตกต่ำ ราคาก็ตก ต้นทุนอย่างปุ๋ย น้ำมันก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ ขึ้นราคาทุกวันเลย เราก็ต้องใช้น้ำมันติดเครื่อง ผันน้ำใส่นา” เกษตรกรอีกคนเสริม   “ราคาที่เราลงทุนต่อไร่มันสูงขึ้น น้ำมันถัง 200 ลิตรตอนนี้ก็ตก 6,000 บาท ปุ๋ยก็ตกลูกละ 1,400 - 1,500 บาท แต่ราคาข้าวอยู่แค่เกวียนละ 5,800 - 6,000 บาท   “อย่างที่ข่าวเคยออกเลย ข้าวเปลือกกิโลฯ หนึ่งถูกกว่ามาม่าห่อหนึ่งอีก”    เกษตรกรอีกรายหนึ่งยังเสริมเรื่องปัญหาหนี้สินที่ค้างคามานาน “ดอกเบี้ยรายปี เวลาเราไม่มีจ่าย เขาอาศัยความที่เราไม่รู้เรื่อง แทนที่จะให้เราผ่อนชำระดอก เขาก็ปรับจากดอกขึ้นมาทบต้นไปเลย แล้วเขากินดอกเบี้ยตามดอกกับต้นที่เก็บไปอีก”    ต้นทุนสูงขึ้นทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องหันหน้าไปหาหน่วยงานรัฐท้องถิ่นที่ดูแลเรื่องเกษตรกร แต่แนวทางก็ไม่ได้ตอบโจทย์ที่กำลังเผชิญอย่างใด “พอไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ เขาก็ให้ไก่มา เงินจะซื้อข้าวกินยังไม่มี แล้วจะให้เราหาเงินไปซื้ออาหารไก่ยังไง   “เรามีเงินก้อน ถ้าไปดองไว้มันก็หมด ถ้าเราหมุนเงินไปเรื่อย ๆ เป็นหนี้บ้าง เงินมันก็ยังหมุนกลับมาให้เราได้ใช้ แต่ถ้ามันมีแต่ค่าใช้จ่าย มันก็หมดสิ   “ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำนาเลย มันก็ไม่ได้อะไรกลับมา   “บางคนพูดว่าทำไมไม่ขายที่ไปใช้หนี้ล่ะ ถามหน่อยว่าถ้าขายที่แล้วเราจะเอาอะไรกิน”    หลายคนยังต้องสละเวลาและรายได้บางส่วนมาเพื่อชุมนุม แต่พวกเขากล่าวว่า หากไม่ทำแบบนี้ พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วในการแสดงออกให้รับรู้ถึงปัญหา “เรามาที่นี่ เราก็ต้องเสียงาน เสียทุกอย่าง เสียค่ารถ แล้วที่เรายอมมาลำบากตรงนี้เพื่ออะไร เพื่อให้เขาทำตามเงื่อนไขที่เขาเคยบอกเราไว้ เขาเคยตกลงกันไว้แล้ว เราอยากให้เขาดำเนินงานตามที่ตกลงกันไว้ แต่เขาเพิกเฉย ไม่ขยับเขยื้อนอะไรเลย เราก็เลยต้องมาเรียกร้องกับเขาแบบนี้แหละ”   อีกปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรไทยต้องเผชิญคือการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง “เขาเป็นคนตั้งราคา เขาเป็นฝ่ายต่อรองราคาเรา ไม่ใช่เราไปต่อรองราคาเขา เรากำหนดราคาเองไม่ได้ เขาตีราคาให้เท่าไหนเราก็ต้องขายเท่านั้น”   ประเด็นเรื่องที่ดินเป็นปัญหามานาน เกษตรกรหลายรายยังเล่าว่าราคาต้นทุนทุกอย่างที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาข้าว บวกกับราคาค่าเช่า ทำให้หลายคนต้องเลิกเช่าที่เพื่อปลูกข้าวเพิ่ม ทำให้ผลผลิตและรายได้ยิ่งน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน หากฝืนเช่าที่ต่อไปก็เพิ่มรายจ่ายจนขาดทุนอยู่ดี    เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรหลายรายต้องเผชิญ เพราะไม่ว่าจะเลือกทางไหน พวกเขาก็มีแต่จะเสีย ส่วนรายที่ไม่มีที่ดินของตนเองยิ่งมีปัญหาหนี้สินหนักขึ้น บางรายถึงขั้นขายที่ดินใช้หนี้แล้วเช่าทำนาบนที่ที่เคยเป็นของตนเองต่อไป   เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ราคาขึ้น พวกเขาเล่าว่าการไม่ควบคุมราคาของรัฐบาลส่งผลอย่างหนักต่อเกษตรกรเช่นกัน “เขาควบคุมราคาให้เราไม่ได้เลย แม้แต่น้ำมันพืชตอนนี้ขวดหนึ่งก็เกิน 50 บาทไปแล้ว เขาอาศัยตอนที่น้ำมันแพงขึ้นเอา ๆ ด้วยแหละ ไม่งั้นพวกเราไม่มาประท้วงกันตรงนี้หรอก   “ถ้ารัฐบาลช่วยคุมราคาน้ำมันให้มันคงที่คงวาเหมือนเมื่อก่อน ดูแลราคาข้าวให้ประชาชนหน่อย ถ้าน้ำมันลดลง ราคาอย่างอื่นก็พอขยับลงตามกันได้ แต่ตอนนี้น้ำมันขยับขึ้นวันละเกือบ 1 บาท   “ถ้ารัฐบาลลดค่าใช้จ่ายลงไปหลาย ๆ อย่าง ชาวนาอย่างเราก็พอประคับประคองชีวิตอยู่ได้ บางคนก็ผูกคอตาย กินยาตาย เพราะทนแบกรับหนี้สินต่อไปไม่ได้   “บอกเลยว่าโรคเพลี้ยกระโดดก็ยังไม่หนักเท่าที่รัฐบาลทำให้ค่าครองชีพกระโดดขึ้นมาทุกอย่าง   “ทุกอย่างจะให้ชาวนาอย่างเราแบกรับหมดก็ไม่ไหว ลองให้เราหยุดทำข้าวกันทั่วประเทศ คุณก็ต้องซื้อจากนอกประเทศมากินแทน   “ชาวนาเขาก็ถนัดทำนา จะให้ไปก่อสร้างก็ไม่ได้ เราจะทิ้งบ้านไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้”   แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือคำแนะนำในเชิงให้ชาวนาลงทุนปลูกพืชหรือเลี้ยงปศุสัตว์หาเลี้ยงชีพไปด้วย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่ผู้คนมักพูดกัน  “คนบ้านนอกอย่างเราทำนาก็ 2 - 3 เดือนถึงจะได้เกี่ยว เราต้องลงทุนไปก่อน ส้มโอที่สวนก็ 8 เดือนถึงจะออกผล เลี้ยงไก่ตั้งกี่เดือนกว่าจะออกไข่ ปลูกผักก็ 2 เดือนกว่าจะได้ขาย ทุุกอย่างต้องรอไปหมด” เธอเล่าถึงปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญ “ถ้ามานั่งสวดมนต์แล้วพืชผักมันงอกออกผลก็ดีสิ เราจะได้สวดกันทั้งวันทั้งคืน   “คุณบอกให้เราปลูกผักเลี้ยงปลา แต่เรายังไม่มีที่จะทำกิน จะให้เราเลี้ยงไก่เลี้ยงหมู แต่เงินเราก็ยังไม่มีจะซื้ออาหารเลย” เกษตรกรอีกรายเสริม   พวกเธอยังเล่าถึงการดำเนินงานของหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถตอบสนองหรือเข้าไม่ถึงความต้องการของชาวบ้านจริง ๆ อย่างเช่นเงินเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท หรือโครงการคนละครึ่ง รวมไปถึงเงินเยียวยาเกษตรกรช่วงโควิด-19 ระหว่าง 2 ปีที่ผ่านมา    ซึ่งทั้งสองโครงการหลังต้องใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนในการเข้าถึง ในขณะที่ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดจำนวนมากยังใช้โทรศัพท์มือถือแบบปุ่มกดอยู่ ซึ่งพวกเธอยังตั้งข้อสงสัยว่า ในเมื่อทางราชการสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลประชาชนได้ ทำไมถึงไม่แจกจ่ายเงินเยียวยาโครงการรัฐตามทะเบียนของแต่ละคนไปเลย . “คุณเปิดทะเบียนมา คุณยังรู้เลยว่าใครมีสิทธิ์ไปเลือกตั้งได้ กรณีนี้คุณก็โอนเงินเข้าไปตามบัญชีของเขาเลย คนแก่ที่เขาจน ไม่มีกินจริง ๆ ก็จะได้กันถ้วนหน้าด้วย แต่อันนี้คือได้แต่คนมีสมาร์ทโฟน ชาวบ้านที่เขาลำบากจริง ๆ กลับไม่ได้เลย    “หลายคนแก่มากแล้วยังต้องนั่งรถออกมาไกลเพื่อไปลงทะเบียน คนป่วยติดเตียงก็ต้องหามขึ้นรถไปลงทะเบียน   “ถามหน่อยว่าคนแก่อายุ 60 - 70 ได้เงินเบี้ยยังชีพคนละ 600 บาทต่อเดือน รายได้ก็ไม่มี มันจะพอไหม เขายังต้องเลี้ยงดูหลานกันอีก” เกษตรกรอีกรายพูดถึงเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ   “ลองให้รัฐบาลหรือคนทำงาน กฟก. ไปใช้ชีวิตแบบพวกเรา 3 เดือน ให้ตระหนักกันเลยว่าชีวิตชาวนาเขาอยู่กันยังไง ตังค์ก็ให้ใช้ทีละนิดเหมือนที่เรามี จะได้รู้ว่าความลำบากของประชาชนเป็นยังไง    “จะเอาให้เหลือกลุ่มคนแค่ 2 ชนชั้นเหรอ แค่คนรวยมหาศาลกับคนรวย ประเทศจะเอาแบบนี้ใช่มั้ย” หนึ่งในเกษตรกรกล่าวระบายความในใจ    “ขนาดรถขึ้นทางด่วนกับทางธรรมดายังเอามาเปรียบเทียบกันเลย   “ถ้าถึงเวลาแล้วคุณยังไม่ทำ เราจะมาให้หนักมากกว่านี้อีกนะ ทำให้โลกรู้ไปเลยว่า คุณไม่มีประสิทธิภาพนะ คุณทำงานไม่ได้เหรอ ปากบอกว่าห่วงประชาชน กลัวประชาชนกินอยู่ลำบาก แต่สิ่งที่คุณทำอยู่คือตรงกันข้าม   “คุณน่ะอยู่สบาย แต่พวกเราลำบากแทบตาย”