Fatherhood: เมื่อความเป็นแม่ไม่ได้จำกัดแค่เพศหญิง

Fatherhood: เมื่อความเป็นแม่ไม่ได้จำกัดแค่เพศหญิง
หากพูดถึงเรื่องราวในการเลี้ยงดูลูก สิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของใครหลายคนคือ ความเป็นแม่ (Motherhood) แต่ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของ Netflix ได้นำเสนอเรื่องราวของผู้ชายในบทบาทและหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกโดยใช้ชื่อว่า ‘Fatherhood: คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว’ Fatherhood: คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว เป็นภาพยนตร์ของ Netflix ที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริงในไดอารี Two Kisses for Maddy: A Memoir Loss and Love ของ แมทธิว โลเกลิน (Matthew Logelin) บอกเล่าเรื่องราวของคุณพ่อมือใหม่ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเลี้ยงดูลูกสาวของเขาหลังจากที่ภรรยาอันเป็นที่รักเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หลังจากคลอดลูกสาวได้เพียงไม่กี่วัน **บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Fatherhood ** “รู้ไหม? แมดดี้ ถ้าลูกมีได้แค่พ่อหรือไม่ก็แม่ พ่อก็อยากให้ลูกมีแค่แม่ เพราะแม่คงเลี้ยงลูกได้ดีกว่า”  แมตต์บอกกับแมดดี้ (Maddy) ลูกสาววัยทารกของเขาในงานศพของลิซ (Liz) ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันหลังจากผ่าคลอดแมดดี้ สำหรับแมตต์ การเลี้ยงดูแมดดี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองสามเดือนแรกของการดูแล เขาต้องคอยดูแลแมดดี้คนเดียว ท่ามกลางคนรอบข้างที่ไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถเลี้ยงดูแมดดี้ได้   กลุ่มพ่อแม่มือใหม่ การเข้าไปปรึกษาปัญหาการเลี้ยงดูลูกของแมตต์ในกลุ่มพ่อแม่มือใหม่ หลังจากที่แมดดี้ร้องไห้ไม่หยุดจากอาการโคลิก (Baby Colic) ซึ่งเมื่อเข้าไปในห้องดังกล่าวกลับพบว่ามีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เข้ามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนปัญหากันภายในห้องนี้ “หัวนมฉันแตกเป็นริ้ว ๆ จนฉันไม่กล้ามองเลย” “สามีของฉันอยากมีเซ็กส์ ฉันแค่อยากให้เขาตาย แบบนี้ผิดไหม” บทสนทนาเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาจากสภาพร่างกายของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่เป็นคุณแม่มือใหม่ ทำให้ต้องมีพื้นที่สำหรับพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะประหลาดใจเมื่อมีผู้ชายเดินเข้ามาในห้องพ่อแม่มือใหม่นี้ แต่ที่สุดแล้ว แมตต์พยายามทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดเพื่อลูกสาวของเขา จนเมื่อแมดดี้อายุประมาณ 5 ขวบ เธอได้เข้าโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่แมตต์และลิซตั้งใจอยากให้ลูกของเขาเรียน   แม่ไปไหน แมดดี้ไม่ชอบใส่กระโปรงจึงถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อที่เธอใส่กางเกงมาเรียน โรงเรียนจึงเชิญแมตต์มาพูดคุยและกล่าวว่า ‘การที่แมดดี้ถูกแกล้งก็เพราะเธอใส่กางเกงมาโรงเรียน ถ้าวันหนึ่งผู้ชายใส่กระโปรงมาโรงเรียนจะทำอย่างไร’ แมตต์จึงตอบกลับไปว่า “ก็เรื่องของเด็กครับ นี่ศตวรรษที่ 21 แล้ว” โรงเรียนกล่าวว่า ‘พฤติกรรมของแมดดี้เกิดจากการที่เธอไม่มีแม่เป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต’ โรงเรียนจึงได้พยายามเปลี่ยนกางเกงของแมดดี้เป็นกระโปรง ทำให้แมดดี้ถูกล้อหนักขึ้นกว่าเดิม ครั้งนี้แมดดี้จึงกระโดดลงมาจากเครื่องเล่นในโรงเรียนจนได้รับบาดเจ็บ ปัญหาของแมดดี้สะท้อนถึงปัญหาเครื่องแบบนักเรียนที่กลายเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งเพศ ซึ่งในบางครั้งเครื่องแต่งกายอาจไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สวมใส่ อีกทั้งโรงเรียนควรสร้างความเป็นกลางทางเพศ (Gender-neutral) ที่ไม่แบ่งแยกหญิง-ชายจากเครื่องแต่งกายของพวกเขา เพราะไม่มีสิ่งใดมากำหนดตายตัวว่าสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์แทนเพศใดเพศหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แมตต์แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่เข้มแข็งและแข็งแกร่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้แมดดี้เติบโตมาอย่างดีท่ามกลางความรักของแมตต์ และการสอนให้แมดดี้มีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้แมดดี้กลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตนเองและเป็นเด็กที่เข้มแข็ง อย่างฉากที่แมดดี้ได้รับบาดเจ็บที่โรงเรียน แมตต์ได้พูดกับลูกว่า “ลูกแข็งแกร่งมาก เป็นเด็กผู้หญิงที่เข้มแข็งจริง ๆ เข้าใจไหม พ่อภูมิใจในตัวลูก” การเติบโตโดยไม่มีแม่ ไม่เคยเป็นปัญหาในชีวิตของแมดดี้ เพราะถึงแม้ว่าแม่จะจากเธอไปตั้งแต่แบเบาะ แต่ความรักของแม่ยังคงส่งถึงแมดดี้ผ่านตัวแมตต์ แมตต์บอกแมดดี้เสมอว่าเธอคือความภาคภูมิใจของพ่อและแม่ รวมทั้งการแสดงความรักผ่าน ‘1 จุ๊บจากพ่อ 1 จุ๊บจากแม่’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้แมดดี้เองเติบโตมาอย่างเข้มแข็งและไม่ได้รู้สึกว่าขาดสิ่งใดไปในชีวิต   บทพิสูจน์ หลังจากนั้น แมตต์ได้รับการเลื่อนตำแหน่งซึ่งหมายความว่าเขาต้องเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น แมตต์จึงตัดสินใจพาแมดดี้ไปฝากไว้กับยายที่มินนิโซตา ซึ่งเป็นที่ที่แมตต์พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด เพราะไม่อยากเสียงานและจากเพื่อนที่เขารัก  ทั้งที่แม่ของแมตต์และแม่ของลิซพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ลิซตาย ก่อนจากกัน แมตต์กล่อมแมดดี้นอนและกล่าวว่า “พ่อย้ายมาที่นี่ไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าลูกจะอยู่ไม่ได้ ตาและยายเลี้ยงดูแม่มาอย่างดี และลูกก็วิเศษเหมือนแม่ ลูกและแม่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตของพ่อ พ่อขอบคุณที่คอยดูแลพ่อ พ่ออยากให้รู้ว่าพ่อพยายามแล้ว” แมตต์เสียใจที่ต้องจากลูก เขานึกย้อนกลับไปในอดีตที่เขากำลังมองดูก้าวแรกของแมดดี้ การไปส่งแมดดี้เข้าโรงเรียนวันแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสนพิเศษสำหรับคนเป็นพ่อ แมตต์จึงตัดสินใจไม่ไปทำงานที่ต่างประเทศ และกลับไปหาแมดดี้ที่มินนิโซตา ทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้ง และได้สัญญากันว่า ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนก็จะไปอยู่ด้วยกัน Fatherhood : คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว จึงเป็นภาพยนตร์ที่ตอบโต้มายาคติของสังคมที่กล่าวว่า บทบาทของการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของแม่ ส่วนพ่อนั้นมีหน้าที่ในการหาเลี้ยงครอบครัวและการทำงานนอกบ้านได้เป็นอย่างดี การต้องเผชิญความสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแมตต์ ความพยายามที่จะเป็นพ่อที่ดีของแมดดี้ การเผชิญปัญหาและการใช้ชีวิตอยู่กับลูกเพียงคนเดียวของแมตต์ ไม่สามารถนำมาสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วผู้หญิงมีความพร้อมในการเป็น ‘แม่เลี้ยงเดี่ยว’ มากกว่าผู้ชายที่จะเป็น ‘พ่อเลี้ยงเดี่ยว’ หรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของบทบาทและหน้าที่ของความเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ผ่านเรื่องราวการพิสูจน์ตัวเอง และการปกป้องเลี้ยงดูลูกได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งผู้ชมจะได้สัมผัสถึงความรัก ความห่วงใย และการให้กำลังใจกันและกันของสองพ่อลูก ตัวละครทำให้เราต้องนึกย้อนไปยังอดีตที่แม้ว่าจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ความทรงจำของพ่อยังคงชัดเจนในหัวใจเสมอ   เรื่อง: สรายุทธ ปลิวปลอด (The People Junior)