ฟีโวเชียส: ศิลปินข้ามเพศวัย 18 ปี ผู้ก้าวผ่านปัญหาชีวิตและความตายด้วยผลงานศิลปะ NFTs

ฟีโวเชียส: ศิลปินข้ามเพศวัย 18 ปี ผู้ก้าวผ่านปัญหาชีวิตและความตายด้วยผลงานศิลปะ NFTs
“หากผมตายไป ป้ายหลุมศพจะสลักชื่อของผมว่า วิคตอเรีย และจะไม่มีใครรู้เลยว่าผมชื่อ วิคเตอร์ ซึ่งนั่นคือตัวตนที่แท้จริง” ศิลปินหนุ่มข้ามเพศ วัย 18 ปี เปิดเผยความในใจหลังเคยคิดฆ่าตัวตาย เพราะรับไม่ได้กับการถูกครอบครัวและสังคมกดดันให้มีชีวิตในแบบที่เขาไม่ต้องการ  เขารอดชีวิตจากความคิดแย่ ๆ นี้มาได้ด้วยการระบายออกผ่านงานศิลปะ และสามารถทำเงินได้มากกว่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐภายในเวลาไม่ถึงปี จากการเข้าสู่วงการศิลปะยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม NFT (non-fungible token) คล้ายเงินสกุลดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ฟีโวเชียส (FEWOCiOUS) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ‘ฟีโว’ คือหนึ่งในศิลปินดาวรุ่งพุ่งแรงคนหนึ่งบนโลกดิจิทัล ผลงานของหนุ่มน้อยคนนี้กำลังได้รับความสนใจในโลกนักสะสมจนบริษัทรับจัดการประมูลชื่อดังอย่างคริสตีส์ ต้องเปิดพื้นที่ให้ผลงานของเขาได้ร่วมออกโชว์เพื่อฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ   ฟีโวเชียสคือใคร? ฟีโวเชียส เป็นเด็กยุคมิลเลเนียล เขาเกิดในปี ค.ศ. 2003 มีชื่อจริงตอนเกิดมาว่า วิคตอเรีย แลงโลส์ (Victoria Langlois) เติบโตมาในนครลาสเวกัส ของสหรัฐอเมริกา โดยครอบครัวมีเชื้อสายฮิสแปนิก ด้วยความเข้าใจและรับรู้เพศสภาพที่แท้จริงของตนเองมาตั้งแต่เยาว์วัย ฟีโวต้องแบกรับแรงกดดันจากการมีตัวตนไม่เป็นไปตามแบบที่ครอบครัวคาดหวังหรือต้องการจนสุดท้ายต้องหนีออกจากบ้านและไปอาศัยอยู่กับตายายตั้งแต่อายุ 12 ปี ช่วงเวลานี้เองเขาเริ่มใช้งานศิลปะเป็นที่หลบภัยเพื่อไม่ต้องสบสายตากับใครในโรงเรียน ฟีโวเริ่มจากการวาดเขียนบนเศษกระดาษ ก่อนที่คุณตาจะซื้อแท็บเลตให้ใช้ จึงหันไปทำงานใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิก และค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นงานศิลปะในหลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ตาม แม้หนูน้อยฟีโวจะเริ่มฉายแววศิลปินออกมา แต่ตายายซึ่งเป็นคนหัวโบราณก็ยังคงไม่เข้าใจโลกของงานศิลปะ และไม่สนับสนุนให้หลานเอาดีด้านนี้ “มีอยู่วันหนึ่ง ยายพยายามเข้ามาทำลายงานศิลปะของผม ดังนั้นพอผมอายุ 17 ปี ผมมีบันทึกเล็ก ๆ ชิ้นนี้ที่ชื่อ ‘แผนการยึดครองโลกของฟีโว’ มันคือ ‘ผมจะทำงานให้หนัก หนักมาก ๆ และจะขายงานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ฟีโวกล่าวถึงเป้าหมายในการหาเงินซื้ออิสรภาพให้กับตนเอง   ปัญหาชีวิตเป็นแรงบันดาลใจ ด้วยความอึดอัดใจที่ต้องปิดบังเพศสภาพที่แท้จริง และมีความต้องการในชีวิตซึ่งสวนทางกับครอบครัว เขาใช้ปัญหาเหล่านี้เป็นแรงผลักดันในการสร้างงานศิลปะ และเริ่มเปิดบัญชีทวิตเตอร์ @fewocious ขึ้นมาเพื่อติดตามศิลปินที่ชื่นชอบ และโพสต์อวดงานของตนเอง ฟีโวเริ่มสร้างเว็บไซต์เพื่อขายงานศิลปะของตนเองครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี โดยงานส่วนใหญ่ใช้วิธีวาดบนแท็บเลต และนำไปแต่งด้วยโฟโต้ชอปบนพีซี ผลงานชิ้นแรกที่ขายได้มาจากการรับจ้างออกแบบได้เงินเพียง 5 เหรียญสหรัฐ ช่วงแรกของการเข้าสู่ตลาดงานศิลปะ ฟีโวใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขายงานที่พิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ และรับออกแบบอาร์ตเวิร์กให้สินค้าและศิลปินนักร้องที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก นอกจากนี้เขายังออกแบบสกรีนเสื้อผ้า และเขียนลายบนรองเท้ากีฬาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนจุดเริ่มต้นความสนใจในการขายผลงานผ่านตลาด NFTs เพิ่งเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2020 เมื่อนักสะสมจากนิวยอร์กคนหนึ่งซื้อภาพวาดของเขาไปในราคา 90 เหรียญสหรัฐ “เมื่อภาพนั้นขายได้ นิสัยผมก็เปลี่ยนไปแบบ ‘โอ้ คุณสามารถเป็นตัวเองได้ด้วย’ ผมมีความบ้ามากขึ้นเล็กน้อย พยายามวาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่ได้ทำผ่านกระบวนการตามอารมณ์จริง ๆ มันเป็นแบบ ‘ผมจะหาเงินเพื่อย้ายออกจากบ้านไปได้อย่างไร”   เข้าสู่ตลาดดิจิทัล ฟีโวเริ่มนำผลงานวางขายในรูป NFTs ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 โดยเริ่มบนแพลตฟอร์มที่ชื่อ SuperRare เขายอมรับว่า ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่รองรับงาน NFTs แต่ผลงานของเขาสามารถขายเป็นเงินดิจิทัลได้เฉลี่ยชิ้นละ 5 อีเทอร์ (7,320 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งราคาสูงกว่างานศิลปะรูปแบบอื่นที่เขาเคยทำมา หนุ่มน้อยผู้นี้ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น ‘ศิลปินแนวป๊อปเหนือจริง’ (a pop surrealist) ซึ่งทำงานศิลปะดิจิทัลเพื่อ ‘ถ่ายทอดความรู้สึกในวันนั้นของตนเองออกมา’ โดยมี จอร์จ คอนโด (George Condo) ศิลปินแนวทัศนศิลป์ร่วมสมัยชาวอเมริกันเป็นแรงบันดาลใจ หากให้บรรยายผลงานของฟีโว แนวทางงานศิลปะของเขาเน้นใช้สีสันฉูดฉาด และลายเส้นที่มีลักษณะผสมผสาน คล้ายงานของศิลปินในตำนานอย่างปาโบล ปิกัสโซ่ กับฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) รวมอยู่ในชิ้นเดียวกัน ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเรื่องราวน่าสนใจทำให้ฟีโวมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว และมีศิลปินดังทั้งในสาขาเดียวกันและต่างสาขาติดต่อเข้ามาขอผลิตผลงานร่วมกันแบบ collaboration มากมาย นับจากวันแรกที่เข้าสู่ตลาด NFTs ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2021 ภายในเวลาแค่ 1 ปี หนุ่มน้อยวัย 18 ปี ขายผลงานในโลกคริปโตได้มากกว่า 3,000 ชิ้น และมีมูลค่ารวมกันเกิน 17 ล้านเหรียญสหรัฐ   เปิดประมูลเดือน LGBTQ ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ฟีโวได้ย้ายออกจากบ้านของตายายในลาสเวกัส และไปใช้ชีวิตอย่างมีอิสระที่เมืองซีแอตเทิลสมความตั้งใจ เขามีบ้านและสตูดิโอทำงานเป็นของตัวเอง ขณะเดียวกัน คริสตีส์ บริษัทจัดงานประมูลอายุเก่าแก่กว่า 250 ปี ยังติดต่อขอนำผลงาน NFTs ของเขาไปเปิดประมูลครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 - 30 มิถุนายน 2021 เพื่อเฉลิมฉลองเดือน LGBTQ ฟีโวบรรยายผลงานที่นำออกประมูลกับคริสตีส์ ซึ่งสะท้อนพัฒนาการชีวิตของเขาได้ดีว่า “คอลเลกชันทั้งหมดคือชีวิตในแต่ละปีของผม มันมี 5 ชิ้น เริ่มตั้งแต่อายุ 14 - 18 ปี ช่วงอายุ 14 ปีมีชื่อว่า ‘มันเจ็บปวดที่ต้องหลบซ่อน’ (It Hurts To Hide) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมต้องปิดบังตัวตนกับคนในครอบครัว “ส่วนอายุ 15 ปี ผมต้องสวมกระโปรงตามวัฒนธรรมของครอบครัวในเทศกาลควินเซนเญรา (Quinceañera) เพื่อฉลองการเข้าสู่วัยสาว ซึ่งผมไม่อยากฉลองเพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง... “จากนั้นอายุ 16 ปี มีชื่อว่า ‘เมื่อเด็กคนหนึ่งรู้สึกสิ้นหวัง’ (When A Child Feels Lost) ผมคิดถึงการฆ่าตัวตายตอนอายุ 16 เพราะไม่อยากทำตัวเสแสร้งไปทั้งชีวิต หากต้องได้รับการยอมรับบนโลกนี้ด้วยการเป็นคนที่ไม่ใช่ตัวเรา ผมก็ไม่อยากอยู่อีกต่อไป ผมคิดถึงการฆ่าตัวตายตลอดเวลา “เหตุผลเดียวที่ผมยังไม่ตายก็เพราะผมได้ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาเป็นภาพวาด มันช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความคิดอื่น... “อายุ 17 ปี คือภาพ ‘ผมชื่อวิคเตอร์’ (My Name Is Victor) มันเกี่ยวกับการยอมรับว่าตัวเองเป็นใคร ด้านบนของรูปผมเขียนจดหมายถึงเด็กข้ามเพศทุกคนว่า ‘ถึงน้องชายตัวน้อย เจ้าจำความรู้สึกเดียวดายครั้งแรกได้หรือไม่’ จากนั้นช่วงท้ายเขียนว่า ‘ผมรักคุณ และรู้สึกดีใจที่คุณยังมีชีวิตอยู่ “และภาพสุดท้ายตอนอายุ 18 ปี มีชื่อว่า ‘ผมสอนตัวเองกางปีกบิน’ (I Taught Myself How To Fly) เพราะผมมีงานอีกชิ้นหนึ่งชื่อว่า ‘วันที่ผมตัดสินใจกางปีกบิน’ (The Day I Decided To Fly) แต่ผมได้แค่ตัดสินใจ ยังไม่รู้วิธีว่าจะทำอย่างไร”   ข้อดีของงานศิลป์ดิจิทัล ฟีโวกล่าวถึงแง่ดีของการทำงานศิลปะแบบ NFTs ว่า มันเป็นเทคโนโลยีที่เปิดโลกใหม่ให้ศิลปินได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด “ผมสามารถทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ อย่างผมได้ไปคุยกับบริษัทผลิตหุ่นยนต์ที่ผมอยากสร้างหุ่นขึ้นมา หรือถ้าเราทำภาพวาดให้มันมีชีวิต นักสะสมจะสามารถควบคุมมันได้ มันมีการทำงานประสานกัน แต่มีชีวิตจริง คุณจะได้เห็นภาพวาดที่ขยับได้...  “แม้ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่สื่อ NFT มันวิเศษมาก เพราะสมองของผมมันพิลึก และผมก็มักอยากทำเรื่องพิลึกตลอดเวลา... ผมอยากใช้งานมันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ศิลปินหนุ่มข้ามเพศกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดังด้วยความตื่นเต้น แม้ปัจจุบันโลกบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รองรับคริปโตเคอร์เรนซี และ NFTs จะยังมีหลายคนตั้งข้อกังขาว่า มันคือนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนอนาคตของโลกการเงินและการซื้อขายงานศิลปะได้จริงหรือไม่ แต่สำหรับหนุ่มน้อยฟีโว แม้จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี แต่เขาไม่เคยลังเลหรือมัวคิดตั้งคำถามกับโลกศิลปะดิจิทัลแนวใหม่นี้ ด้วยความเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ และกล้าเรียนรู้และลองทำในสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างสร้างสรรค์ ผลลัพธ์ที่ได้มานอกจากจะทำให้เด็กหนุ่มข้ามเพศที่เคยสิ้นหวังและเคยคิดฆ่าตัวตาย กลายเป็นศิลปินชื่อดังและมีความมั่งคั่งในเวลาอันรวดเร็ว รางวัลอีกชิ้นซึ่งอาจประเมินค่าไม่ได้ นั่นคือ อิสรภาพและการมีชีวิตใหม่ในแบบที่ตนเองต้องการ ภายใต้ชื่อ วิคเตอร์ แลงโลส์ (ไม่ใช่วิคตอเรีย) ของศิลปินที่ใช้นามแฝงว่า ฟีโวเชียส ผู้นี้   ข้อมูลอ้างอิง: https://fewocious.com/about/ https://cryptoart.io/artist/fewocious www.youtube.com/watch?v=SRgmcscCg40 https://gothammag.com/fewocious-nft-artist-interview www.youtube.com/watch?v=q-eVnopwxss https://www.reuters.com/technology/christies-sell-teenagers-nft-art-about-gender-transition-2021-06-14/   ที่มาภาพ https://www.instagram.com/fewocious/?hl=en