ฟรานเซส แมคดอร์แมนด์: นักแสดงหญิงที่เรียกร้องความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมบันเทิง

ฟรานเซส แมคดอร์แมนด์: นักแสดงหญิงที่เรียกร้องความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมบันเทิง
หลังจากประกาศรางวัลออสการ์ ในปี 2021 ‘ฟรานเซส แมคดอร์แมนด์’ (Frances McDormand) กลายเป็นผู้ที่คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมถึง 3 ครั้ง และเธอเป็นรองเพียง แคทารีน เฮปเบิร์น (Katharine Hepburn) ที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวถึง 4 ครั้ง ฟรานเซส แมคดอร์แมนด์ คว้าออสการ์ครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Fargo’ (1996) ในบทบาทตำรวจหญิงที่กำลังตั้งครรภ์แต่ต้องสอบสวนคดีฆาตกรรม ส่วนออสการ์ครั้งที่สอง จากเรื่อง ‘Three Billboards Outside Ebbing, Missouri’ (2017) ในบทบาทแม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกฆาตกรรม ล่าสุดในปี 2021 นี้ เธอได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมอีกครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Nomadland’ ซึ่งเธอเป็นทั้งนักแสดงนำหญิงและโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ โดยจับมือกับโคลอี้ เจา ผู้กำกับหญิงชาวจีนที่ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในปีนี้เช่นเดียวกัน แมคดอร์แมนด์ รับบทเป็น ‘เฟิร์น’ ตัวละครที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงาน ทั้งยังสูญเสียสามีจนต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน อาศัยอยู่ในรถบ้าน โดยบทภาพยนตร์นี้ถูกดัดแปลงมาจากหนังสือ Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century (2017) มากกว่าบทบาทที่ท้าทาย และความสามารถด้านการแสดงที่น่าจับตามองแล้ว คาแรกเตอร์นอกจอของเธอก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะความแหวกขนบอาชีพหน้ากล้องที่เธอมักจะไม่แต่งหน้าทำผมเมื่ออยู่นอกฉาก และปฏิเสธการเข้าร่วมงานแถลงข่าวหลายต่อหลายครั้ง  นอกจากนี้เธอยังใช้เวทีประกาศรางวัลเพื่อส่งพลัง สร้างแรงบันดาลใจและเรียกร้องความเท่าเทียมในวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งแมคดอร์แมนด์มีจุดยืนชัดเจนในเรื่อง ‘สตรีนิยม’ (Feminism) โดยเฉพาะตอนที่ขึ้นไปรับรางวัลออสการ์ครั้งที่สอง เธอกล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ บนเวทีพร้อมกับสองคำสำคัญว่า Inclusion Rider เพื่อเน้นย้ำให้ผู้คนในวงการภาพยนตร์ตระหนักถึงความหลากหลายและความเท่าเทียมทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  คำว่า Rider ในที่นี้หมายถึงเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเพิ่มเติม ‘Inclusion Rider’ จึงหมายถึงนโยบายเกี่ยวกับการเรียกร้องความเท่าเทียม ซึ่งนักแสดงสามารถขอหรือเรียกร้องให้โปรเจกต์นั้น ๆ มีความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ และด้านอื่น ๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทั้งคนที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง หากเจ้าของโปรเจกต์ดังกล่าวไม่ทำตาม พวกเขามีสิทธิ์ที่จะไม่รับงานนั้น ๆ ได้ เธอจึงเชื่อว่านักแสดงตรงหน้าภายในงานนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน  หลังจากที่กล่าวคำว่า ‘Inclusion Rider’ บนเวทีออสการ์แล้ว ในงานประกาศผลรางวัล Women In Film’s Crystal + Lucy ณ ลอสแอนเจลิสปีเดียวกันนั้น เธอก้าวขึ้นเวทีโดยมีเพลง Bette Davis Eyes ของ Kim Carnes ประกอบ แมคดอร์แมนด์สวมชุดสูทสีเขียวดูทะมัดทะแมง ในมือเธอมีป้ายสีส้ม ตัวอักษรสีดำเขียนว่า ‘Inclusion Rider’ เธอหันหลังเอาป้ายนั้นแปะไว้ที่ก้น ก่อนจะเดินไปกล่าวสุนทรพจน์ที่แสดงจุดยืนเรื่องนี้เช่นเดิม พร้อมเล่าถึงที่มาของการเป็นนักสตรีนิยมของเธอ ฟรานเซส แมคดอร์แมนด์: นักแสดงหญิงที่เรียกร้องความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมบันเทิง “ในปี 1972 ตอนฉันอายุ 15 มีคนบอกฉันว่านิยามของสตรีนิยม (feminism) คือ ‘งานเท่ากัน ค่าตอบแทนก็ต้องเท่ากัน’ (equal pay for equal work) มันดูเป็นไอเดียที่ดีสำหรับฉัน แล้วมันก็เกิดขึ้น ฉันสามารถทำได้ แต่หลายคนยังไม่สามารถทำแบบนั้น ...ซึ่งหมายความว่ายังคงมีคนที่ได้รับงานเท่ากัน แต่ค่าตอบแทนไม่เท่ากันอยู่ และนั่นไม่โอเคสำหรับฉัน” เธอกล่าวก่อนจะเริ่มเอ่ยถึงบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในอุตสาหกรรมบันเทิง การใช้พื้นที่บนสปอตไลท์เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ เป็นเพราะแมคดอร์แมนด์ไม่ได้มองว่าอาชีพนักแสดงของเธอมีไว้เพื่อเลี้ยงชีพและชื่อเสียงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  “จุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องส่วนตัว แต่การเมืองแบบสตรีนิยมหลายเรื่องก็เข้ามาในชีวิตการทำงานของฉัน เพราะฉันสวมบทบาทตัวละครหญิง ดังนั้นฉันมีโอกาสที่จะเปลี่ยนวิธีที่ผู้คนมองพวกเธอ แม้ว่าฉันไม่ได้ทำอย่างนั้นด้วยความตั้งใจ แต่มันก็เกิดขึ้นอยู่ดี” เธอกล่าว แมคดอร์แมนด์เป็นลูกคนเล็กของพ่อแม่บุญธรรมชาวแคนาดา เธอเริ่มหลงใหลการแสดงหลังจากรับบท Lady Macbeth ในช่วงมัธยมฯ ก่อนจะศึกษาต่อในด้านการแสดงที่ Yale Drama School อันเลื่องชื่อ ก้าวแรกบนเส้นทางอาชีพในแวดวงบันเทิงของเธอเริ่มจากละครเวที ก่อนจะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Blood Simple (1984) กำกับโดยสองพี่น้อง The Coen Brothers และค่อย ๆ พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องทำให้มีผลงานหลากหลาย จนกลายเป็นนักแสดงแนวหน้าที่คว้าออสการ์ถึง 3 ครั้ง แต่ยิ่งกว่ารางวัลอันทรงเกียรติ คือการเป็นตัวอย่างของนักแสดงที่ใช้อาชีพของเธอเพื่อเป็น ‘กระบอกเสียง’ ขับเคลื่อนให้เกิดความเท่าเทียมในอุตสาหกรรมบันเทิง    ที่มา https://www.theguardian.com/film/2021/feb/14/frances-mcdormand-the-uneasy-star-who-cant-avoid-her-charisma https://www.instyle.com/news/frances-mcdormand-gender-equality-inclusion-rider-speech https://www.indiewire.com/2021/04/frances-mcdormand-wins-oscar-best-actress-nomadland-1234632159/ https://www.biography.com/actor/frances-mcdormand   ที่มาภาพ : Todd Wawrychuk/A.M.P.A.S. via Getty Images