แฟรงก์ อบาเนล : อดีตอัจฉริยะนักต้มตุ๋นวัย 16 ปีที่กวาดเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ สู่แรงบันดาลใจของภาพยนตร์ Catch Me If You Can

แฟรงก์ อบาเนล : อดีตอัจฉริยะนักต้มตุ๋นวัย 16 ปีที่กวาดเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ สู่แรงบันดาลใจของภาพยนตร์ Catch Me If You Can
นักต้มตุ๋นอัจฉริยะวัย 16 ปี ทำงานคนเดียวแต่กวาดเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐเข้ากระเป๋า เขาปลอมตัวเป็นทั้งนักบิน แพทย์ อาจารย์ และอัยการ ได้แนบเนียนจนคนเชื่อสนิทใจ เขาหลอกแม้กระทั่งเอฟบีไอจนสามารถหนีการจับกุมได้หลายต่อหลายครั้ง เรื่องราวทั้งหมดราวกับเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนตามตัวอาชญากร ทว่าทุกบรรทัดข้างต้น คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดย (อดีต) นักต้มตุ๋นอเมริกันนามว่า ‘แฟรงก์ อบาเนล’ (Frank Abagnale เรื่องราวของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสู่ภาพยนตร์ ‘Catch Me If You Can’  ซึ่งเข้าฉายในปี 2002 ด้วยฝีมือการกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และผู้ที่มารับบทเป็นแฟรงก์ อบาเนล คือ ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio)  หากภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบยกชีวิตของแฟรงก์มาคร่าว ๆ สลับสับบางฉากให้ต่างไปจากเรื่องจริง ทั้งยังเน้นความสัมพันธ์ของพ่อ ลูก และเอฟบีไอคู่ปรับของแฟรงก์เสียมากกว่า แต่เรื่องราวทั้งหมดก็ชวนใจเต้นลุ้นไปกับตัวละครไม่แพ้ชีวิตจริงของแฟรงก์เลยทีเดียว ปัจจุบันแฟรงก์ อบาเนลยังคงมีรายได้สูงลิ่วปีละหลายล้านเหรียญ แต่ไม่ต้องหลบหนี ไม่ต้องมีคดีติดตัวอีกต่อไป เพราะเขากลายเป็นสุจริตชนผู้ออกบรรยายทั่วสหรัฐฯ เป็นที่ปรึกษาของสถาบันหลายแห่ง ทั้งยังเคยถูกเชิญมาบรรยายให้พนักงานการบินไทยฟัง อะไรทำให้แฟรงก์กลายเป็นอาชญากรกลับใจ ทั้งยังสามารถเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาให้หลายองค์กรได้? เรื่องราวต่อไปนี้คือคำตอบ   ออกตามหาตัวตนที่หล่นหาย แฟรงก์เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ค่อนข้างสุขสบาย แม่เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-แอลจีเรีย พบรักกับพ่อที่เป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะมาเปิดร้านขายเครื่องเขียนหลังปลดประจำการ แต่แล้วเมื่อแฟรงก์อายุ 12 ปี พ่อกับแม่ของเขาหย่าร้างกัน แฟรงก์ขอออกมาอยู่กับพ่อด้วยความรู้สึกสนิทใจ เห็นใจ และไม่อยากให้พ่อโดดเดี่ยว  แฟรงก์เล่าว่า การเป็นสะพานเชื่อมความขัดแย้งของพ่อกับแม่ บวกกับความต้องการเรียกร้องความสนใจ เผื่อแม่จะยอมกลับมาอยู่กับพ่ออย่างเดิม ทำให้เขาเลือกคบกลุ่มเพื่อนแก๊งหัวโจกก่อคดีป่วนโรงเรียน จนครูต้องเรียกพบผู้ปกครองเป็นประจำ แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้แฟรงก์เริ่มเปิดประตูสู่เส้นทางอาชญากรอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพื่อนของเขา หากเป็นความสัมพันธ์ทางร่างกายกับหญิงสาวที่ทำให้เขาเข้าขั้น ‘เสพติด’ จนต้องเริ่มหาเงินเพื่อดึงดูดหญิงสาวมากหน้าหลายตาให้เข้ามาหาแฟรงก์ กลโกงแรก เริ่มต้นจากการนำบัตรเครดิตของพ่อไปตกลงกับร้านขายอะไหล่รถยนต์ จนในที่สุดพ่อต้องมาตามชดใช้จ่ายบิลกว่า 3,400 เหรียญในเวลาเพียง 2 เดือน แต่กลับให้อภัยแฟรงก์อย่างที่เคยเป็นเสมอมา วันเวลาผ่านไป แม่ยังคงใจแข็งไม่ยอมกลับมา ส่วนสถานะทางการเงินของพ่อเริ่มเดินทางมาถึงจุดต่ำสุด ต้องขายบ้าน ขายรถ เพื่อนฝูงหนีหาย หากพ่อเขากลับบอกว่า  “มนุษย์เราน่ะจะมีอะไรไม่สำคัญเท่ากับเป็นอะไร รถคันนั้นมันเหมาะกับพ่อในขณะนี้ สามารถพาพ่อไปได้ทุกหนทุกแห่ง พ่อรู้ว่าพ่อเป็นใครและเป็นอะไร นั่นคือความจริง...ความซื่อสัตย์ของพ่อมันสำคัญมากกว่ารถคันใหญ่ ๆ ...ตราบใดที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นใครและเป็นอะไร ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นสำหรับคนคนนั้น” เมื่อแฟรงก์ได้ยินประโยคนี้ เขาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้ง...นั่นน่ะสิ เขาเป็นใคร ? แฟรงก์เหมือนวัยรุ่นธรรมดาทั่วไปที่ต้องการค้นหาตัวตน และมีช่วงที่สับสนในชีวิต แต่วิธีการค้นหาตัวเองของเขากลับไม่ใช่การเรียนดนตรี เข้าชมรม เล่นกีฬา หรือออกเดินทาง ยิ่งเห็นภาพครอบครัวตรงหน้าที่แสนบาดใจ ยิ่งผลักให้เขาเลือกหนทางใหม่ นั่นคือ ‘การหนีออกจากบ้าน’ “แม้ไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน แต่จุดยืนของผมก็คือต้องประสบความสำเร็จในสิ่งที่อยากจะเป็น...ยอดคน...เป็นยอดของยอดคนในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง เหมือนยอดเขาเอเวอเรสต์ของเทือกเขาหิมาลัย..ต้องเป็นหนึ่งในยุทธจักร และเมื่อถึงจุดนั้นจะไม่มีใครมาเขี่ยผมกระเด็นตกจากยอดนั้นได้ จะไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างที่พ่อเคยโดนมาแล้วเป็นอันขาด” แฟรงก์เริ่มใช้ชีวิตในนิวยอร์กด้วยอาชีพสุจริต แต่ด้วยอายุและวุฒิการศึกษาทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องทำงานพิเศษเพื่อเลี้ยงชีพ บวกกับอาการเสพติดผู้หญิงที่ไม่อาจควบคุมได้ ทำให้เขายิ่งต้องการเงินเพิ่มขึ้นไปอีก แฟรงก์ตัดสินใจหวนสู่เส้นทางเดิม ที่ง่าย เร็ว และถนัดที่สุด นั่นคือการเป็น ‘นักต้มตุ๋น’   เจ้าพ่อเช็คเด้ง อัจฉริยะนักต้มตุ๋น แฟรงก์เริ่มหากินกับการนำเช็คไปขึ้นเงินตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนจะเดินทางเข้าสู่วิถีการปลอมตัวอันแนบเนียนเพื่อให้การนำเช็คไปขึ้นเงินสะดวกและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากอาชีพนักบิน “นักบินเป็นอาชีพที่มีความหมายในสายตาของมนุษย์ด้วยกัน ทุกคนไว้ใจและให้ความเชื่อถืออย่างสูง คงไม่มีใครนึกว่าจะมีนักบินกะล่อนอยู่ในโลกนี้ นักบินมักจะแปลกถิ่นกับเมืองต่าง ๆ เนื่องจากต้องเดินทางไปมาอยู่เสมอ ไอ้นี่แหละที่จะช่วยให้ผมต้มมนุษย์ได้สะดวก” เขาอยู่บนเครื่องบินในฐานะเดดเฮด (ลูกเรือโดยสารเครื่องบินในฐานะผู้โดยสารโดยไม่เสียค่าเดินทาง) ผูกมิตรกับลูกเรือคนอื่น ๆ ควงนางฟ้าบนเครื่องบินมากหน้าหลายตามานานหลายปี แต่กลับไม่มีใครเอะใจ “ถ้าคุณต้องการปลอมตัวได้แนบเนียน ต้องรู้มาก รู้พอ ๆ กับนักบินจริง ๆ เช่น ความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิง...เครื่องโบอิ้ง 707 กินน้ำมันชั่วโมงละ 2,000 แกลลอน...เครื่องที่บินไปทางทิศตะวันตกต้องบินในระดับความสูง 20,000 หรือ 24,000 ฟุต ส่วนเครื่องบินที่สวนทางคือ บินออกไปทิศตะวันออกต้องบินในระดับความสูง 19,000 หรือ 27,000 ฟุต เป็นต้น...” นี่คือสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากอาชญากรทั่วไป แฟรงก์จริงจังกับทุกอาชีพที่เขาปลอมตัว เขาเป็นทั้งนักอ่าน นักสัมภาษณ์ และนักเรียนรู้ แฟรงก์มักขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด มีสมุดจดศัพท์เฉพาะหรือศัพท์สแลงที่คนในสายอาชีพนั้นใช้เป็นประจำ บ้างก็ปลอมตัวเข้าไปเป็นนักศึกษาขอสัมภาษณ์เพื่อทำรายงาน บ้างก็ซึมซับรายละเอียดนอกตำราจากบทสนทนากับหญิงสาวที่เขาเข้าไปขายขนมจีบ มีครั้งหนึ่งที่เขาสอบเนติบัณฑิตด้วยใบปริญญาปลอม และสามารถสอบผ่านด้วยการอ่านหนังสือ ติวเข้มอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาหลายวัน อาจจะด้วยความฉลาด ความขยัน และความโชคดีที่คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นยังไม่ทันสมัยเท่าไรนัก บวกกับการหาช่องว่างและทุกความหละหลวมของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเช็คและข้อมูลพนักงาน ทำให้กว่าจะรู้ว่าเช็คของแฟรงก์ไม่สามารถขึ้นเงินได้ เขาก็เดินตัวปลิวอยู่ในเมืองอื่นไปเสียแล้ว   ชีวิตที่โดดเดี่ยวและโหยหาการยอมรับ ความน่าสนใจของอัจฉริยะนักต้มตุ๋นคนนี้ คือเขาทำงานคนเดียวมาโดยตลอด ส่วนผู้คนที่ช่วยเหลือเขาล้วนเป็นคนที่เชื่อสนิทใจว่า เขาคือหนุ่มเจ้าเสน่ห์มากความสามารถ  นอกจากนี้ แฟรงก์ยังไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ การพนัน จะดื่มก็เพียงแต่เข้าสังคมจอมปลอมของเขาเท่านั้น แต่บ่วงที่ยึดเขาให้อยู่ในเส้นทางนักต้มตุ๋นอย่างดิ้นไม่หลุด คือ ความหอมหวานจากการยอมรับ สายตาชื่นชมและความน่าเชื่อถือทุกครั้งที่สวมชุดนักบิน หรือชุดกาวน์ของแพทย์ รวมทั้งความหลงใหลในเรื่องผู้หญิงซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มและจุดจบอาชีพอาชญากรของเขาเอง แฟรงก์เคยสารภาพทุกอย่างครั้งแรกกับสาวที่เขาตกหลุมรักจนตั้งใจจะลงหลักปักฐานด้วย แต่แล้วด้วยความโกรธเจือความสับสน หญิงสาวผู้นั้นได้นำเรื่องราวของแฟรงก์ไปแจ้งตำรวจ หรือครั้งหนึ่งที่เขาเคยถูกจับเพราะผู้หญิงที่จำเขาได้ไปแจ้งเบาะแสนั้นกับตำรวจจนตามตัวเขาพบ กาลเวลาผ่านไป แม้แฟรงก์จะเป็นอัจฉริยะนักต้มตุ๋นที่หลบหนีอย่างหวุดหวิดได้หลายต่อหลายครั้ง แต่เขาไม่สามารถหลบหนีไปได้ทั้งชีวิต ในที่สุดตำนานของนักต้มตุ๋นคนนี้ก็จบลงเมื่อเขาถูกจับได้ที่ฝรั่งเศส   อาชญากรกลับใจ แฟรงก์เคยผ่านทั้งคุกแสนทรมานในฝรั่งเศส คุกที่เหมือนอยู่บ้านแบบสวีเดน ก่อนจะคืนสู่ถิ่นและรับโทษในคุกของสหรัฐอเมริกายาวนานกว่า 12 ปี  เมื่อกลับมาใช้ชีวิตปกติในโลกภายนอก ราคาที่เขาต้องจ่ายกลับมีมากกว่าวันเวลาที่ถูกจำกัดอิสรภาพภายในคุก หลายครั้งที่แฟรงก์สมัครงานจนได้เลื่อนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ถูกไล่ออกทันทีเมื่อเขาถูกตรวจสอบประวัติ “สังคมได้ลงโทษคนผ่านคุกทางอ้อม ไม่ยอมรับ ปฏิเสธการตั้งต้นชีวิตใหม่ การต้องโทษกลายเป็นประกาศนียบัตรเลวร้าย ทำให้สังคมส่วนใหญ่เบือนหน้าหนีพวกเขา ไม่ให้โอกาสในการหางานทำ” วันหนึ่งขณะที่เขาเริ่มงานใหม่ในโรงภาพยนตร์ โดยทำหน้าที่คุมเครื่องฉายให้ทำงานไปเรื่อย ๆ แฟรงก์ก็นึกขึ้นมาได้ว่า “งานแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คนอย่างผม ใคร ๆ ก็ทำได้ มันเสียเวลาไปโดยไร้ประโยชน์” และแล้วสมองอันปราดเปรื่องของเขาก็พบทางออกใหม่ แต่คราวนี้ไม่ใช่หนทางของนักต้มตุ๋นอีกต่อไป “ผมคิดว่าบรรดานักปลอมแปลงที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งรู้เรื่องดีที่สุด นับแต่ผมได้รับการปล่อยตัวจากคุกโดยมีทัณฑ์บน คิดตลอดเวลาว่า หากนำความรู้นี้ไปใช้ในทางที่ถูกที่ควร สามารถช่วยสังคมได้มากทีเดียว อย่างเช่น ทุกครั้งที่ผมเข้าไปในร้านแล้วเขียนเช็ค สังเกตเห็นความผิดพลาดสองสามอย่างของเสมียนหรือพนักงานเก็บเงิน พวกเขาชุ่ย ความชุ่ยนี้เองที่นักต้มตุ๋นนำไปเป็นประโยชน์ คนชุ่ยเพราะขาดการเรียนรู้ ผมสามารถสอนให้พวกเขารู้จักวิธีรับมือกับเช็คหรือตั๋วเงินอย่างอื่น เพื่อป้องกันมิให้พวกเขาโดนโกง” แฟรงก์เสนอไอเดียนี้ให้กับพนักงานคุมประพฤติ ประตูบานใหม่ในชีวิตเขาเปิดออก ในที่สุด...เขาก็ค้นพบ ‘ตัวตนที่หล่นหาย’ และยืนหยัดด้วยความภาคภูมิใจในฐานะ ‘แฟรงก์ อบาเนล’ สุจริตชนที่ไม่ต้องหลบหนี ไม่ต้องระแวง และได้ใช้ความรู้ของเขาถ่ายทอดให้กับคนในสังคม  “สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นความปรารถนาดั้งเดิมที่ทำให้ผมต้องกลายเป็นอาชญากร ผมได้มีโอกาสไปพูดต่อหน้าคนนับพัน ทุกคนอยากฟังว่าผมพูดอะไรบ้าง นั่นคืออีโก้ของผม...ความจริงสัญชาตญาณอาชญากรยังอยู่กับผม แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ในทางที่ผิดอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากสังคมและกฎหมายได้หยิบยื่นสิ่งที่ผมต้องการให้ผมแล้ว จึงเปลี่ยนจากอาชญากรมาเป็นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานให้แก่สังคม ผมเป็นศัตรูของอดีต เป็นศัตรูของนักต้มในปัจจุบัน” แฟรงก์ อบาเนล ในวัย 16 นั้น คงไม่ต่างจากวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่ออกตามหาตัวตนที่หล่นหาย แต่ต้องพบกับความแตกสลายในสถาบันครอบครัวจนหลงทิศ สับสน และพลั้งพลาดก้าวสู่เส้นทางของนักต้มตุ๋น  แต่ท้ายที่สุดแล้ว เขาก็พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า อาชญากรกลับใจก็สามารถสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับสังคมได้ และแฟรงก์ยังเป็นความหวังให้กับผู้คนว่า ตราบที่ยังหายใจ เราสามารถเริ่มต้นใหม่ในเส้นทางที่ดีกว่าได้เสมอ…   ที่มา:
  • หนังสือ แฟรงก์ อบาเนล ยอดนักตุ๋น แปลโดย โรจนา นาเจริญ จากเรื่อง Catch Me If You Can ของ Frank Abagnale
  • ภาพยนตร์เรื่อง Catch Me If You Can (https://www.netflix.com/th-en/title/60024942)