แฟรงก์ คาลเวิร์ต นักโบราณคดีตัวจริงที่ถูกแย่งเครดิตการขุดหาเมือง "ทรอย"

แฟรงก์ คาลเวิร์ต นักโบราณคดีตัวจริงที่ถูกแย่งเครดิตการขุดหาเมือง "ทรอย"
ไฮน์ริช ชลีมานน์ นักธุรกิจผู้ร่ำรวยเชื้อสายเยอรมัน มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการขุดค้นทางโบราณคดี และเป็นผู้ที่ค้นพบ "เมืองทรอย" ที่ถูกกล่าวถึงโดย โฮเมอร์ นักประพันธ์ในตำนานของกรีกโบราณ ในผลงานเรื่อง Iliad ที่กล่าวถึงสงครามโทรจัน ซึ่งมูลเหตุเกิดมาจาก ปารีส เจ้าชายแห่งกรุงทรอย ไปลักพาตัว เฮเลน มเหสีของเมเนลอสกษัตริย์แห่งสปาร์ตา จนทำให้นครรัฐกรีกรวมตัวกันมาตีกรุงทรอย  เรื่องเล่าสำนวนหลักถึงความสัมพันธ์ระหว่างชลีมานน์กับกรุงทรอยก็คือ ชลีมานน์ฝันถึงเมืองทรอยมาตั้งแต่เด็ก ๆ หลังได้อ่านมหากาพย์ของโฮเมอร์ และเฝ้าใฝ่ฝันถึงมันมาตลอดด้วยเชื่อว่า นครอันรุ่งเรืองแห่งนี้มีอยู่จริงบนชายฝั่งของเอเชียน้อย (ตุรกี) และหลังดิ้นรนถีบตัวเองจากศูนย์จนกลายเป็นเศรษฐีได้สำเร็จ เขาก็ได้ลงทุนค้นหาเมืองในตำนานโดยไม่สนว่าคนจะหาว่า "บ้า" จนได้พบเมืองที่ว่าเข้าจริง ๆ  อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์ยุคหลังเมื่อได้ตรวจสอบหลักฐานย้อนไปจึงได้พบว่า ความจริงแล้ว เรื่องเล่าดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชลีมานน์อยากให้คนเชื่อ หากแต่เรื่องจริงนั้น คนที่ค้นพบเมืองโบราณที่เรียกกันว่า "ทรอย" นั้น คือนักโบราณคดีที่เรียนรู้ด้วยตัวเองคลุกคลีอยู่กับพื้นที่นั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำการขุดค้นได้ จึงได้ "ร่วมมือ" กับชลีมานน์ทำการขุดค้น ก่อนถูกชลีมานน์ปล้นเครดิตไปกินอยู่คนเดียว  นักโบราณคดีรายนี้ยังเป็นคนที่ทักท้วงว่า เมืองที่ชลีมานน์เรียกว่า "ทรอย" น่าจะไม่ใช่ทรอยของโฮเมอร์ ตั้งแต่ตอนที่ชลีมานน์ออกมาประกาศใหม่ ๆ อีกด้วย เขาคนนี้มีชื่อว่า แฟรงก์ คาลเวิร์ต (Frank Calvert) ชาวอังกฤษผู้ใช้เงินส่วนตัวซื้อพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ถูกขุดสำรวจ และเรียกกันภายหลังว่า "กรุงทรอย" จากข้อมูลของ ซูซาน เฮก อัลเลน (Susan Heuck Allen ใน "Finding the Walls of Troy": Frank Calvert, Excavator) ผู้ศึกษาประวัติของนักโบราณคดีผู้ถูกลืม แฟรงก์ คาลเวิร์ต เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1828 ที่มอลตา เกาะเล็ก ๆ ตอนใต้ของอิตาลี เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 7 คน พ่อของเขาเป็นพ่อค้าธัญพืชและยังเป็นนักการทูตชั้นผู้น้อยด้วย ภายหลังครอบครัวคาลเวิร์ตได้ย้ายมาปักหลักอยู่บริเวณช่องแคบดาร์ดาเนลส์ (Dardanelles) บนชายฝั่งตะวันตกของตุรกี ตาม ซี. เอ. แลนเดอร์ (C. A. Lander) ลุงทางฝ่ายแม่ที่มาทำธุรกิจและกิจการด้านการทูต ด้วยการเป็นตัวแทนดูแลประโยชน์ของทั้งอังกฤษและปรัสเซียในแถบตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียน  ครอบครัวคาลเวิร์ตจึงได้รับสืบทอดสถานกงสุลซึ่งเก็บเอกสารล้ำค่าไว้มากมาย ซึ่ง เอิร์นส์ต เคอร์เทียส (Ernst Curtius) นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับคาลเวิร์ตและชลีมานน์ยกย่องว่าเป็น "สำนักงานใหญ่งานวิจัยโทรจัน" ทั้งยังเป็นเจ้าที่ดินบริเวณกว้างขวางในแถบช่องแคบดาร์ดาเนลส์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานจำนวนมาก  ที่ดินของครอบครัวคาลเวิร์ตยังถูกกล่าวถึงในบันทึกของนักเดินทาง นักธุรกิจ และนักการทูตมากมายที่เข้ามาเยี่ยมเยียน เนื่องจาก เฟรเดอริก พี่ชายของแฟรงก์ คาลเวิร์ต ซึ่งสืบทอดกิจการของครอบครัวและยังเป็นกงสุลอังกฤษ ส่วนคาลเวิร์ตผู้น้องเองมิได้สนใจเรื่องธุรกิจหรือการทูต แต่ชอบที่จะสำรวจและศึกษาโบราณสถานในพื้นที่ก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ท้องถิ่น และเป็นคนที่นำแขกของพี่ชายไปชมสถานที่เหล่านี้ ความรอบรู้ของคาลเวิร์ตกลายเป็นที่เลื่องลือ เมื่อเขามีโอกาสเขียนบทความเผยแพร่ข้อมูลการขุดค้นที่เขาได้ลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตนเองลงในสื่อทั้งในท้องถิ่นและในเมืองใหญ่อย่างคอนสแตนติโนเปิล รวมไปถึงหนังสือนำเที่ยวของอังกฤษซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง (Murray's Handbooks for Traveller) ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของบรรดาผู้ที่สนใจเรื่องราวในพื้นที่ และได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญมากมาย  (ในบันทึกของ ไฮน์ริช ชลีมานน์ ยังกล่าวถึงการพบคาลเวิร์ตเป็นครั้งแรกในบันทึกของตัวเองว่า "เมื่อวานนี้ผมได้ทำความรู้จักกับ แฟรงก์ คาลเวิร์ต นักโบราณคดีผู้มีชื่อเสียง") ชาร์ลส์ โทมัส นิวตัน (Charles Thomas Newton) ผู้เชี่ยวชาญด้านกรีกและโรมันแห่งบริติชมิวเซียมก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจงานของคาลเวิร์ต และเคยมาเป็นแขกบ้านคาลเวิร์ตครั้งแรกในปี 1853 แต่เมื่อได้เห็นการขุดสำรวจของคาลเวิร์ตแล้วก็ทำให้เขาเห็นว่า คาลเวิร์ตมีทักษะด้านโบราณคดีที่จำกัด  อีกราวสิบปีต่อมา (1862) เมื่อคาลเวิร์ตยื่นเรื่องถึงบริติชมิวเซียมผ่านนิวตัน เพื่อขอทุนในการขุดสำรวจเนินดินที่เรียกว่าฮิสซาร์ลิก (Hissarlik) ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของ “กรุงทรอย” หลังได้ลงทุนกว้านซื้อที่ดินในบริเวณนี้มาครอบครองและทำการขุดสำรวจแล้วบางส่วน โดยได้ยื่นข้อเสนอกับบริติชมิวเซียมว่า หากขุดพบเจอวัตถุโบราณใด ๆ ก็พร้อมยกให้กับมิวเซียมทั้งหมด ขอแต่ให้เขาเป็นคนดูแลการขุด หรือให้เครดิตกับเขาในการค้นพบที่จะเกิดขึ้น และเขาพร้อมทำงานให้โดยไม่ขอรับค่าแรงใด ๆ เว้นแต่ในภายหลังทางมิวเซียมเห็นควรที่จะชดเชยให้กับเขา แต่นิวตันไม่เชื่อมือของคาลเวิร์ตอยู่ก่อนแล้ว และไม่คิดว่าฮิสซาร์ลิกจะมีคุณค่าทางโบราณคดีมากพอที่จะทำการขุดสำรวจ จึงได้ปฏิเสธข้อเสนอของเขาไป  การขุดสำรวจที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจึงเกิดขึ้นไม่ได้ จนกระทั่งไฮน์ริช ชลีมานน์ นักธุรกิจที่ผันตัวมาเป็นนักโบราณคดีได้เดินทางมายังโทรดเป็นครั้งแรกในปี 1868 (Troad-ดินแดนแห่งเมืองทรอยเป็นชื่อเรียกที่มีมานาน เพียงแต่คนยังไม่รู้ที่ตั้งของเมืองหลวงในตำนานที่แน่ชัด) และชลีมานน์ก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างชื่อในด้านโบราณคดี คาลเวิร์ตจึงชี้ชวนให้ชลีมานน์มาช่วยขุดหาเมืองทรอยด้วยกัน โดยได้พรรณนาถึงสิ่งที่เขาค้นพบก่อนหน้า อันเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่า ฮิสซาร์ลิกน่าจะเป็นที่ตั้งของกรุงทรอย คำชี้ชวนของคาลเวิร์ตทำให้ชลีมานน์รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งสองได้ติดต่อกันเรื่อยมา เมื่อคาลเวิร์ตเห็นท่าทีที่กระตือรือร้นของชลีมานน์ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1869 เขาจึงได้ทำจดหมายว่าด้วยข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากการขุดสำรวจส่งไปถึงชลีมานน์ ความว่า "ผมใช้เวลาเป็นปี ๆ กว่าจะได้ครอบครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของเนินดินนี้ด้วยหวังว่าจะได้ขุดสำรวจมัน...บนความคิดที่จะค้นหากำแพงเมืองทรอย โดยหวังใช้โบราณวัตถุทั้งในรูปแบบของงานหินอ่อน หรือเหรียญต่าง ๆ มาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการขุดสำรวจ เนื่องจากลำพังคุณค่าในเชิงกสิกรรมหรือประโยชน์อื่นใดของที่ผืนนี้แทบไม่มี จะขอกล่าวตามจริง ตอนนี้ผมไม่เหลือเงินมากพอที่จะทำการขุดเนินดินได้อีก และด้วยคุณมิได้เคยกล่าวแย้งในทางอื่น ตามความเข้าใจโดยทั่วไป วัตถุที่พบเจอย่อมตกเป็นของเจ้าของที่ดิน "อย่างไรก็ดี หากคุณเห็นด้วย ผมพร้อมที่จะพบกับคุณครึ่งทาง นั่นก็คือ วัตถุที่พบครึ่งหนึ่งซึ่งคำนวณหลังทำวัตถุจำลองขึ้นแล้ว ในกรณีที่รัฐบาลตุรกีอาจอ้างสิทธิหรือไม่ก็ตาม วิธีการแบ่งทำโดยการจัดวัตถุโบราณเป็นสองส่วนเท่า ๆ กันโดยวัดจากมูลค่าเท่าที่เป็นไปได้ แล้วให้จับฉลาก ซึ่งในภายหลังเราอาจตกลงแลกเปลี่ยนกันเองได้" การขุดสำรวจเกิดขึ้นจริงในปี 1870 โดยมีคาลเวิร์ตคอยให้ความเห็นถึงกระบวนการที่ควรใช้ในการขุดสำรวจ ทั้งยังให้คำปรึกษาและแบ่งปันประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมานานหลายสิบปีให้กับชลีมานน์ที่ไม่มีความรู้เชิงทฤษฎีใด ๆ ที่นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า ทรอยในประวัติศาสตร์ควรตั้งอยู่ที่ฮิสซาร์ลิก คาลเวิร์ตแนะนำชลีมานน์ว่า การจะขุดไม่ใช่จะขุดทีเดียวเป็นหลุมใหญ่กว้างขวาง แต่ให้สุ่มขุดเป็นจุด ๆ ไป เพื่อมิให้ส่วนที่มิได้เกี่ยวข้องได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีอาชีพยังคงถือปฏิบัติอยู่ถึงปัจจุบัน  ชลีมานน์ยอมปฏิบัติตามในเบื้องต้น แต่ด้วยความใจร้อน เขาจึงเร่งขุด ทั้งยังขุดล้ำออกไปในพื้นที่นอกความครอบครองของคาลเวิร์ต โดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของที่หรือรัฐบาล จึงถูกบังคับให้ต้องหยุดขุดไปชั่วขณะ  แต่เมื่อเขาได้รับอนุญาตทำการขุดสำรวจแล้ว การขุดจึงเริ่มอีกครั้งในปี 1871 คราวนี้ ชลีมานน์ก็ไม่ต้องฟังคำแนะนำของคาลเวิร์ตที่อยากให้ขุดอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะสมอยู่หลายชั้น โดยได้ทำการเปิดหลุมสำรวจใหญ่ขนาดกว้างอย่างน้อย 30 เมตร และยาวอย่างน้อย 122 เมตร เพื่อเร่งการค้นพบให้เร็วที่สุด  (หลุมขุดของชลีมานน์ใหญ่ขนาดที่ จี.เอช. โบร์เกอร์ (G.H. Borker) นักการทูตสหรัฐฯ หนึ่งในผู้สนับสนุนการขุดของชลีมานน์ เมื่อได้เห็นภาพถ่ายขุดสำรวจถึงกับว่า "ภาพถ่ายที่คุณให้ผมมาทำให้ผมเห็นได้อย่างชัดเจนว่า งานของคุณมันมโหฬารแค่ไหน ดูเหมือนว่าคุณพยายามควักไส้โลกออกมา") หลังจากนั้นคาลเวิร์ตจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของการขุดสำรวจนั้นเขาใช้เงินซื้อมา แต่ตัวเองไม่อยู่ในฐานะที่จะควบคุมการขุดได้ เขาพยายามจะขายก็หาใครซื้อไม่ได้นอกจากชลีมานน์ ส่วนชลีมานน์ก็ไม่คิดจะซื้อ ต่อให้เขาเป็นมหาเศรษฐีแต่เขาก็เป็นนักลงทุน ในเมื่อไม่ต้องซื้อเขาก็มีสิทธิที่จะขุดได้ เขาย่อมเลือกที่จะไม่จ่าย  ระหว่างการสำรวจ ชลีมานน์มักจะรีบป่าวประกาศการค้นพบวัตถุใหญ่ ๆ ว่าเป็นของทรอยไปเสียทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อว่า เมืองที่อยู่ในชั้นล่างสุด ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในเนินดินควรจะเป็นที่ตั้งของกรุงทรอย  ในปี 1873 เมื่อเขาได้พบกับเมืองโบราณขนาดใหญ่ พร้อมกับทรัพย์สินมีค่ามากมาย เขาก็รีบสรุปว่ามันเป็นทรอยของโฮเมอร์ และทรัพย์สมบัติที่พบเขาก็รีบขนานนามให้ว่าเป็นของกษัตริย์ไพรแอม (Priam) กษัตริย์ในตำนานของทรอยเป็นแน่ (ซึ่งภายหลังเขาได้ลักลอบเคลื่อนย้ายออกจากตุรกีด้วย) แล้วก็รีบเอาข่าวการค้นพบไปประกาศในยุโรป แต่คาลเวิร์ตซึ่งคุ้นเคยกับศิลปะกรีกหลายยุคหลายสมัย รู้จักการเปรียบเทียบอายุของวัตถุโบราณผ่านการศึกษาด้วยตัวเองและประสบการณ์การขุดสำรวจมาหลายสิบปี และเป็นคนที่แนะนำเรื่องนี้ให้กับชลีมานน์เองว่า การจะหาว่าเมืองในชั้นดินนั้นเก่าแค่ไหนต้องมองหาวัตถุที่ "ใหม่ที่สุด" ในชั้นดินนั้น จึงได้คัดค้านความเห็นของชลีมานน์ในเชิงส่วนตัวไปก่อน แต่เมื่อไม่เป็นผล คาลเวิร์ตจึงออกมาให้ความเห็นค้านลงในสื่อท้องถิ่น (Levant Herald ฉบับ 25 มกราคม 1873) ถึงการค้นพบของชลีมานน์ ความว่า "มีหลักฐานอันไม่อาจโต้แย้งได้ถึงการมีอยู่ของการตั้งถิ่นฐานในยุคโบราณ เก่าแก่ยิ่งกว่ายุคสงครามโทรจันหลายร้อยปี เห็นได้จากวัตถุโบราณทำจากหินในชั้นดินระดับล่าง ๆ ของการขุดค้น...แต่หลักฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงกับยุค 1800 ถึง 700 ปี ก่อนคริสตกาลที่ขาดหายไป ทำให้เกิดช่องว่างนับพันปี รวมถึงยุคของสงครามโทรจันในระหว่าง 1193 ถึง 1184 ปี ก่อนคริสตกาล ก็ยังไม่มีวัตถุโบราณใด ๆ ในยุคสำคัญยุคนี้ถูกค้นพบ"  ฝ่ายชลีมานน์เมื่อได้เห็นงานของคาลเวิร์ต ก็รีบชี้แจงไปยังสปอนเซอร์ที่ให้การสนับสนุนเขาว่า คาลเวิร์ตหมิ่นประมาทเขา แต่มันก็ใช่ที่ที่เขาจะมาใส่ใจ เพราะนักสำรวจที่พบเจอสิ่งที่ยิ่งใหญ่เช่นเขาย่อมตกเป็นเป้าอิจฉาเป็นธรรมดา ก่อนที่จะเขียนบทความโจมตีคาลเวิร์ตลงใน The Guardian ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 1875 ว่า  "มันไม่ตลกเลยที่ในงานของคาลเวิร์ตมาอ้างว่า เขาคือคนแรกที่ชี้ให้ผมรู้ว่า ฮิสซาร์ลิกคือที่ตั้งของทรอย แล้วผมยังไปบอกกับเขาว่า ผมไม่เคยสนใจในพื้นที่นี้มาก่อน...ผมเจอคุณคาลเวิร์ตครั้งแรกตอนที่ผมจะเดินทางกลับจากที่ราบแห่งทรอย (เป็นพื้นที่กว้าง ๆ ที่คนเรียกเช่นนั้นมานาน ตั้งแต่ก่อนจะมีการขุดสำรวจ) ผมดีใจที่ได้รู้ว่าเขาก็เห็นเหมือนผมเรื่องที่ตั้งของเมืองเก่าชื่อเดิมแห่งอิเลียนในโฮเมอร์ (Ilion-เป็นชื่อแบบกรีกของทรอย อันเป็นที่มาของชื่อมหากาพย์อีเลียด)" ก่อนที่คาลเวิร์ตจะยกจดหมายฉบับหนึ่งที่ชลีมานน์เขียนมาถึงเขา เมื่อช่วงเดือนมกราคม 1869 ก่อนที่จะมีการขุดสำรวจ ออกมาตอบโต้ ความว่า "ก่อนหน้านี้ถ้ามีใครมาเสนอให้ผมไปขุดเนินเขาด้วยเงินของผม ผมคงไม่ฟังเขาหรอก" นอกจากนี้ ในจดหมายลงวันที่ 24 ธันวาคม 1868 ชลีมานน์ยังเขียนไปถึงคาลเวิร์ตหลังได้รับข้อมูลเรื่องที่คาลเวิร์ตคิดว่าฮิสซาร์ลิกน่าจะเป็นที่ตั้งของทรอย ว่า "ผมตัดสินใจแล้วว่าจะขุดฮิสซาร์ลิก เนินดินที่เกิดจากคนสร้างทั้งเนิน" ก่อนจะถามต่อว่า "อะไรทำให้คุณคิดว่าเนินนี้เป็นเนินคนสร้าง?" คาลเวิร์ตจึงควรได้รับเครดิตว่า เป็นคนแรกที่ใช้การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อพิจารณาข้อสันนิษฐานทางทฤษฎีว่า ฮิสซาร์ลิกเป็นที่ตั้งของทรอย ขณะเดียวกัน เขายังเป็นคนแรกที่ออกมาค้านว่า เมืองที่ชลีมานน์อ้างว่าเป็นที่ตั้งของทรอย และสมบัติมหาศาลที่เขาพบเป็นของกษัตริย์ไพรแอมนั้น เป็นข้ออ้างที่ผิด ด้วยวิธีการกำหนดอายุโบราณสถานโดยพิจารณาจากงานศิลปะที่ถูกค้นพบ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีในปัจจุบันเห็นพ้องต้องกัน จากข้อมูลของ Britannica พื้นที่ขุดสำรวจที่ถูกเรียกว่า "ทรอย" ในปัจจุบันซึ่งมีการขุดค้นเป็นระยะเรื่อยมาถึงศตวรรษที่ 21 แม้ชลีมานน์จะเสียชีวิตไปแล้ว มีการพบชั้นที่ตั้งของเมืองถึง 9 ชั้น ด้วยผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานในแต่ละยุคเลือกที่จะถมที่สร้างเมืองทับเมืองเก่าขึ้นไปเรื่อยแทนที่จะทุบเมืองเดิมทิ้ง แต่ละชั้นถูกกำหนดเรียกด้วยตัวเลขโรมัน I ถึง IX (I คือชั้นล่างสุด IX คือชั้นบนสุด) ชั้นที่ชลีมานน์เชื่อว่าเป็นเมืองทรอยในมหากาพย์ของโฮเมอร์อยู่ในชั้น Troy II เมืองนี้มีหลักฐานพอที่จะสันนิษฐานได้ว่ามันสูญสลายลงพร้อมกับการถูกไฟเผาไหม้ ทำให้เขาเชื่อว่ามันน่าจะถูกทำลายด้วยไฟสงครามตามมหากาพย์ของโฮเมอร์ อย่างไรก็ดีจากการกำหนดอายุพบว่าช้้น I ถึง V อยู่ในยุคสัมฤทธิ์ตอนต้น ราว 3000 ถึง 1900 ปี ก่อนคริสตกาล แต่เมืองทรอยของโฮเมอร์ควรมีอายุอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล เมืองที่ชลีมานน์อ้างว่าเป็น “ทรอย” จึงมีอายุเก่าแก่กว่า “ทรอยของโฮเมอร์” หลายร้อยปี อย่างที่คาลเวิร์ตได้ทักท้วงไว้แต่ต้น แต่ด้วยความที่คาลเวิร์ตมีชื่อเสียงในวงจำกัด สิ่งที่เขาทักท้วงไม่ได้รับการตอบรับจากสังคมวงกว้าง ชื่อของชลีมานน์จึงถูกโยงกับเมืองทรอยเรื่อยมา แม้ในยุคปัจจุบันที่มีการระบุอายุของชั้นดินอย่างเป็นระบบ ซึ่งยืนยันถึงความเชี่ยวชาญของ แฟรงก์ คาลเวิร์ต ผู้ริเริ่มการขุดค้นเนินฮิสซาร์ลิกมาแต่แรก แต่ความเชื่อเรื่องชลีมานน์ค้นพบเมืองทรอยก็ยังคงเป็นตำนานที่คนยังฟังอยู่เรื่อยมา เครดิตที่คาลเวิร์ตควรได้รับในฐานะ "ผู้บุกเบิก" การขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ก็ยังคงถูกละเลยมาจนถึงปัจจุบัน  ส่วนที่ตั้งของเมืองทรอยของโฮเมอร์ที่แท้จริงนั้น บนเนินฮิสซาร์ลิกพบเมืองที่มีอายุร่วมสมัยใกล้เคียงอยู่ในชั้น VI และ VII ซึ่งชั้น VI นั้นนักโบราณคดีสรุปว่ามันล่มสลายลงหลังปี 1300 ก่อนคริสตกาลไม่นาน แต่สาเหตุของการล่มสลายนั้นมาจากเหตุแผ่นดินไหวไม่ใช่สงคราม จึงไม่ตรงกับเรื่องเล่าของโฮเมอร์ และยังมีอายุที่เก่าแก่กว่าทรอยของโฮเมอร์พอสมควร   ชั้นที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดจึงอยู่ในชั้น VIIa ชั้นของเมืองที่มีอายุสั้นราวหนึ่งชั่วอายุคน น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงปี 1260 ถึง 1240 ปี ก่อนคริสตกาล พบหลักฐานการใช้ชีวิตอยู่ในตัวเมืองอย่างหนาแน่นพร้อมกับภาชนะจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการกักตุนสินค้าและอาหารเพื่อรับมือกับการรุกราน มีการพบซากกระดูกในที่พักและท้องถนน รวมถึงหลักฐานที่เมืองถูกทำลายด้วยเพลิงไหม้อย่างรุนแรง ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่ามันน่าจะถูกปล้นและเผาทำลาย ทีมขุดสำรวจจากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ นำโดย คาร์ล เบลเกน (Carl Blegen) ซึ่งทำการขุดค้นในปี 1932-1938 จึงได้สรุปว่า ชั้น VIIa น่าจะเป็นเมืองทรอยตามเรื่องเล่าของโฮเมอร์  แต่ถึงปัจจุบันก็ยังมีคนสงสัยว่ามันใช่มั้ย? เมืองที่สร้างขึ้นในชั่วอายุคนเดียว จะใช่เมืองที่รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรมและทรัพย์สิน ทั้งยังมีกำแพงเมืองที่ไม่อาจตีแตกได้ จริงหรือ? (ส่วนชั้น VIIb ซึ่งมีอายุใกล้เคียงกัน ถูกสร้างขึ้นหลังเมือง VIIa เพียงไม่นาน แต่หลักฐานที่พบนักโบราณคดีสรุปว่า มันถูกตั้งขึ้นใหม่โดยคนอีกกลุ่มซึ่งมีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมน้อยกว่าคนกลุ่มเดิม ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในปี 1100 ก่อนคริสตกาล จึงไม่น่าจะใช่ทรอยของโฮเมอร์) ส่วนเหตุใดที่คาลเวิร์ตไม่คิดจะต่อสู้เพื่อชิงเครดิตที่ตัวเองควรจะได้คืนนั้น จากข้อสังเกตของ อัลเลน คาลเวิร์ตเป็นคนที่ทุ่มเทให้กับงานโบราณคดีเป็นอย่างมาก มากกว่าเรื่องเครดิต เพราะชลีมานน์ขโมยความคิดของเขาเรื่องที่ตั้งของทรอยไปเผยแพร่ในงานของตัวเองตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มขุด และชลีมานน์ก็ยังไม่เคยลงพื้นที่สำรวจด้วยตัวเอง นั่นคืองานเรื่อง Ithaque, le Péloponnèse et troie ซึ่งก่อนเขียน ชลีมานน์ได้ขอข้อมูลจากคาลเวิร์ตไปมากมาย โดยอ้างว่าจะเขียนเรื่องของอิทากาเป็นหลัก ทรอยจะเป็นแค่ส่วนเสริม แต่หลังได้ข้อมูลจากคาลเวิร์ตได้ไม่นาน เขาก็เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ พร้อมข้อสันนิษฐานที่ว่า ฮิสซาร์ลิกคือที่ตั้งของทรอย แต่คาลเวิร์ตก็ไม่ได้ถือสา ด้วยอาจคิดว่า ชลีมานน์อยากให้คนภายนอกเห็นว่าตนมีความรู้ทัดเทียมหุ้นส่วนที่ร่วมงานกัน หรืออย่างน้อยก็อยากเห็นการขุดสำรวจเกิดขึ้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองจะห่างเหินกันไปเนื่องจากข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ก็กลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกันอีกครั้ง เมื่อชลีมานน์พยายามผสานรอยร้าวเพื่อขอกลับเข้าไปสำรวจในพื้นที่ของคาลเวิร์ตอีกครั้งในปี 1879 ในปี 1884 ชลีมานน์ยังเชิญคาลเวิร์ตไปเป็นแขกในงานของตัวเองที่เอเธนส์ และปีต่อมาเขาก็ยังส่งของขวัญวันแต่งงานมาให้หลานของคาลเวิร์ต และคาลเวิร์ตก็ยังคงให้คำแนะนำกับชลีมานน์เรื่อยมา ขณะเดียวกันก็มุ่งทำงานด้านโบราณคดีของตัวเองต่อไป และมีงานตีพิมพ์เป็นครั้งสุดท้ายในปี 1902 เมื่อเขาอายุได้ 74 ปี และเสียชีวิตลงในปี 1908 หลังชลีมานน์ถึง 18 ปี  ระหว่างนั้นเขามีโอกาสที่จะรื้อฟื้นเรื่องนี้ได้แต่เขาก็ไม่ทำ อัลเลนจึงเชื่อว่า เป็นไปได้ที่คาลเวิร์ตให้ความสำคัญกับงานโบราณคดีที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเพียงแค่นั้นก็ทำให้ฝันของเขาเป็นจริงแล้ว ด้วยแม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นผู้ริเริ่มแต่มันจะเกิดขึ้นมิได้เลยถ้าไม่มีชลีมานน์ และเขายังมีอายุยืนยาวพอที่จะได้เห็นการขุดค้นที่ดำเนินเรื่อยมา จนได้เห็นกำแพงเมืองในปลายยุคสัมฤทธิ์ในการสำรวจช่วงปี 1893-1894 ขณะที่ชลีมานน์ตายไปเสียก่อนพร้อมกับข้อสันนิษฐานที่ผิดไปหลายร้อยปี (แต่ก็ยังอุตส่าห์ได้เครดิตการพบเมืองทรอย)