แฟรงก์ และลิเลียน กิลเบร็ธ นักวิเคราะห์การเคลื่อนไหว ผู้ริเริ่มใช้ผังเชื่อมโยง

แฟรงก์ และลิเลียน กิลเบร็ธ นักวิเคราะห์การเคลื่อนไหว ผู้ริเริ่มใช้ผังเชื่อมโยง
หลายคนคุ้นเคยกับแผนผังเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน (flowchart) เป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า มันมีที่มาอย่างไร? แผนผังเชื่อมโยงกระบวนการทำงานถูกออกแบบมาเพื่อแสดงขั้นตอน กระบวนการ และความเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อให้ผู้รับสารสามารถคิดภาพตามได้ง่าย ๆ และ "Process Chart" งานซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1921 ของสองสามีภรรยา แฟรง และ ลิเลียน กิลเบร็ธ (Frank, Lilian Gilbreth) ก็เป็นงานชิ้นแรกที่นำเสนอข้อมูลผ่านการใช้แผนผังลักษณะนี้ โดยทั้งคู่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ได้ใช้แผนผังดังกล่าวในการนำเสนอไอเดียของตน แฟรง กิลเบร็ธ เกิดเมื่อ 7 กรกฎาคม 1868 ที่แฟร์ฟิลด์ เมน จบการศึกษาชั้นมัธยมปลายก่อนออกมาเป็นช่างก่อสร้างและศึกษางานวิศวกรรมด้วยตัวเองในยามค่ำ (Britannica) ส่วน ลิเลียน กิลเบร็ธ (เดิม โมลเลอร์ - Moller) เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 1878 ที่โอกแลนด์ แคลิฟอร์เนีย จบด้านวรรณกรรมทั้งตรีและโทจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เบิร์กเลย์ และได้แต่งงานกับแฟรงก์ระหว่างที่เธอกำลังต่อปริญญาเอกในปี 1904 (Britannica) กิลเบร็ธ (ฝ่ายสามี) เป็นคนฉลาดและช่างสังเกต ตอนอายุได้ 17 ปี เขาสอบเอ็นทรานซ์เข้า MIT ได้แต่ไม่ได้เรียนต่อด้วยอยากทำงานหาเงินมากกว่า และเมื่อเริ่มฝึกเป็นช่างก่อสร้าง เขาก็สังเกตเห็นว่า ช่างก่อสร้างผู้มากประสบการณ์คนเดียวกันมีวิธีการเรียงอิฐหลายแบบ ทั้งแบบที่ทำให้ก่อสร้างได้เร็ว แบบที่ไม่เน้นความเร็ว และแบบง่าย ๆ ที่เอาไว้สอนช่างก่อสร้างมือใหม่ นั่นจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาให้ความสนใจศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวกับประสิทธิภาพในการทำงาน (Construction History Vol.9. 1993) เมื่อสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานเป็นเวลาราว 10 ปี กิลเบร็ธก็ออกมาเป็นผู้รับเหมาในบอสตัน มีชื่อเสียงในเรื่องของการก่อสร้างที่รวดเร็ว โดยเขาได้ถ่ายทอดความรู้ที่ได้สั่งสมมาให้กับผู้คุมและแรงงานไปปฏิบัติตามต่อ เขายังเป็นนักออกแบบสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเครื่องผสมคอนกรีตเคลื่อนที่ที่เขาได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเอาไว้ด้วย แม้จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับอาชีพรับเหมาก่อสร้าง แต่สิ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงที่สุดมาจากการที่เขาเป็นนักทฤษฎีผู้เสนอแนวทางการปฏิบัติงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการศึกษาการเคลื่อนไหวในการทำงานต่าง ๆ เมื่อปี 1907 เขามีโอกาสได้รู้จักกับ เฟรเดริก เทย์เลอร์ (Frederick Taylay) ผู้ริเริ่มใช้กระบวนการที่เรียกกันว่า "การจัดการเชิงวิทยาศาสตร์" ซึ่งทั้งคู่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน (ก่อนมาแตกคอกันภายหลัง) และต่างมีส่วนสร้างกระบวนการที่ช่วยให้ระบบอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเทย์เลอร์เน้นที่เรื่อง "เวลา" (time) ส่วนกิลเบร็ธให้ความสำคัญกับ "การเคลื่อนไหว" (motion) งานชิ้นแรกของกิลเบร็ธที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ Bricklaying System เผยแพร่เมื่อปี 1909 ซึ่งเขาได้ทำให้เห็นว่า อาชีพที่แสนจะเก่าแก่อย่างงานก่อสร้างก็ยังมีพื้นที่ให้เกิด "นวัตกรรมใหม่" ได้เสมอ เขาทำศึกษาการเคลื่อนที่และการเคลื่อนไหวของช่างก่อสร้างอย่างละเอียด และพบว่าเขาสามารถลดการเคลื่อนไหวของช่างจาก 18 การเคลื่อนไหว ให้เหลือเพียง 4 การเคลื่อนไหว ในการวางอิฐหนึ่งชิ้น ซึ่งช่วยทำให้ช่างหนึ่งคนสามารถวางอิฐได้เพิ่มขึ้นจาก 120 ชิ้น เป็น 350 ชิ้น ในระยะเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของกิลเบร็ธเกิดขึ้นในปี 1911 ณ ขณะนั้น แฟรงก์ และลิเลียน กิลเบร็ธ แต่งงานกันมานาน 7 ปีแล้ว จู่ ๆ แฟรงก์ก็ตัดสินใจขายกิจการก่อสร้างซึ่งยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แล้วหันไปจับงานที่ปรึกษาด้านการจัดการโรงงานและวิศวกรรม ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แน่ชัดถึงการตัดสินใจดังกล่าว แต่ปัจจัยรอบข้างที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมีทั้งการที่เขาต้องปะทะกับสหภาพแรงงานที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการนำเสนอวิธีการทำงานใหม่ ๆ ทำให้เขาที่เคยเป็นช่างก่อสร้างและเป็นสมาชิกสหภาพรู้สึกผิดหวังไม่น้อย นอกจากนี้เขายังต้องมาเสียลูกสาวไปในระยะเวลาใกล้ ๆ กันด้วย จากนั้นลิเลียนเริ่มเข้ามามีส่วนช่วยเสริมการทำงานของสามีนำความรู้ด้านสังคมวิทยามาปรับใชักับกระบวนการจัดการทางอุตสาหกรรม เธอเปลี่ยนความสนใจจากงานด้านวรรณกรรมมาสู่ด้านจิตวิทยา เรียนจบดอกเตอร์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบราวน์ในปี 1915 และได้นำความเชี่ยวชาญด้านนี้มาปรับใช้กับงานของสามี เช่น ข้อเสนอเรื่องของ แสง สี และเสียง ของสถานที่ทำงานว่ามีผลกระทบต่อการทำงานอย่างไร หรือเสียงเพลงมีส่วนต่อการสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานอย่างไร ในช่วงสงคราม แฟรงก์ กิลเบร็ธ ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถในการรับใช้ชาติ โดยเขาได้ส่งโทรเลขไปถึงประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันเพื่อแนะนำตัวและเสนอตัวเข้าช่วยเหลือ เขาจึงได้รับตำแหน่งพันตรีในกองทหารช่าง โดยได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคนิคการผลิตอาวุธ ตอนนั้นเขาถือเป็นคนแรก ๆ ที่นำเอาภาพยนตร์มาใช้ในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของแรงงาน และภาพยนตร์ที่ถ่ายเพื่องานวิจัยของเขาก็กลายมาเป็นหนึ่งในงานโฆษณาชวนเชื่อให้กับกองทัพ ผ่านไปนานนับร้อยปี สิ่งที่กิลเบร็ธได้ริเริ่มไว้หลายอย่างเริ่มกลายเป็นสิ่งที่ตกยุค เช่น การกระตุ้นแรงผลักดันในการทำงานด้วยการแบ่งแรงงานเป็นกลุ่มตามเชื้อชาติ ประเทศเกิด หรือศาสนา เพื่อให้แต่ละกลุ่มแข่งขันกัน แม้มันจะยังได้ผลแต่คงไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป แต่งานอย่างแผนผังเชื่อมโยงยังคงเป็นที่ยอมรับและนำมาปรับใช้ในหลายด้านไม่เพียงแต่ด้านการจัดการกระบวนการต่าง ๆ (แม้การเมืองก็ยังมีการนำมาใช้) เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวที่เขาได้แสดงให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวเท่าที่จำเป็นส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานเพียงใด นอกจากนี้มันยังถูกนำไปใช้ในการพัฒนาผู้พิการทางกาย (ซึ่งเขามองเห็นล่วงหน้าแล้วว่าจำนวนผู้พิการทางกายจะเพิ่มขึ้นมากมายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1) และช่วยให้ผู้พิการมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น เพราะการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของเขาช่วยให้บอกได้ว่า งานแต่ละชนิดต้องการการเคลื่อนไหวแบบใด และผู้พิการทางกายลักษณะใดจะเหมาะกับการทำงานนั้น ๆ