แฟรงก์ ซินาตรา: ชายผู้พาเพลง Fly Me To The Moon ไปถึงดวงจันทร์ก่อน นีล เอ อาร์มสตรอง (?)

แฟรงก์ ซินาตรา: ชายผู้พาเพลง Fly Me To The Moon ไปถึงดวงจันทร์ก่อน นีล เอ อาร์มสตรอง (?)
ปี 1969 เป็นปีที่เสียงเพลง Fly Me To The Moon เวอร์ชันของแฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra) คงจะดังอยู่สักแห่งห้วงหนใดในอวกาศ  

“Fly me to the moon

Let me play among the stars…”

  วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 นักบินอวกาศอเมริกัน 3 คน (นีล เอ อาร์มสตรอง, เอ็ดวิน บัซ อัลดริน, ไมเคิล คอลลินส์) กำลังตรวจเช็กความเรียบร้อยครั้งสุดท้ายเพื่อปฏิบัติภารกิจที่คน 650 ล้านคนบนโลกกำลังจับตามองพวกเขาอยู่ พวกเขาทั้งสามกำลังจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติไปตลอดกาล ถูกต้องแล้ว, พวกเขากำลังจะนำยานอะพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์  หลังจากที่อะพอลโล 11 ได้แตะถึงพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว เสียงเปียโนและกลองจังหวะสวิงก็บรรเลงขึ้น พร้อมกับเสียงนุ่มลึกของ แฟรงก์ ซินาตรา   

“And let me see what spring is like

On a-Jupiter and Mars

In other words, hold my hand

In other words, baby, kiss me…”

  ตั้งแต่ภารกิจ อะพอลโล 7 เป็นต้นมา นาซาได้ให้เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต Sony TC 50 ไว้กับนักบินอวกาศเพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนยานอวกาศเป็นคำพูด ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ของเครื่องเล่นคาสเซ็ตนี้คือ การทำหน้าที่เสมือนหนึ่งว่าเป็นสมุดบันทึกความทรงจำให้กับนักบินอวกาศ แต่ทว่านักบินส่วนใหญ่ก็จะอัดเพลงที่ตัวเองชอบใส่ลงไปเพื่อฟังแก้เหงาบนอวกาศด้วย และ Fly Me To The Moon เวอร์ชันของแฟรงก์ ซินาตรา คือเพลงแรกที่ถูกเล่นบนพื้นผิวดวงจันทร์ผ่านเทปคาสเซ็ตนี้ (จากสำนักข่าว Independent ของอังกฤษ) ความฝันที่มีต่อการเดินทางอันยาวไกลที่แสนทะเยอทะยานของมนุษย์ (อเมริกัน) ที่อยากจะไปเหยียบดวงจันทร์ อยู่ในสุนทรพจน์ของ จอห์น เอฟ เคนเนดี (John F. Kennedy) ในปี 1962 ที่ฮุสตัน จากสุนทรพจน์นี้ อเมริกาทุ่มทุกสรรพกำลังกับโครงการอวกาศซึ่งต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าที่มนุษย์คนแรกของโลกจะไปเดินบนดวงจันทร์ได้จริง ๆ ก็คงจะไม่ต่างกันกับระยะเวลาที่เพลง Fly Me To The Moon ที่ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะกลายเป็นเพลงดังติดหู และเสียงเพลงนั้นได้เดินทางไปให้คนทั่วโลกได้รู้จัก   10 ปีแห่งการเดินทางของ Fly Me To The Moon Fly Me To The Moon ถูกเขียนขึ้นเมื่อปี 1954 โดย บาร์ต ฮาวเวิร์ด (Bart Howard) ในตอนแรกเพลงไม่ได้ชื่อว่า Fly Me To The Moon ด้วยซ้ำ แต่ชื่อว่า In Other Words และถ้าจะเหมาเอาว่าเพลงนี้เป็นเพลงของแฟรงก์ ซินาตรา ก็ไม่น่าจะถูกอีก เพราะมีหลายต่อหลายศิลปินได้ร้องเพลงนี้ไว้ก่อนที่จะมาเป็นเวอร์ชันที่แฟรงก์ร้องเสียอีก ทั้ง Felicia Sanders, Kaye Ballard จนมาเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น Fly Me To The Moon ตอนที่ Johnny Mathis ร้อง และในปี 1964 แฟรงก์ก็ได้หยิบเพลงนี้ขึ้นมาอัดเสียงกับ Count Basie (นักแต่งเพลงและนักเปียโนแจ๊สชื่อดังชาวอเมริกัน) ภายใต้การโปรดิวซ์ของ ควินซี โจนส์ (Quincy Jones) (โปรดิวเซอร์คู่บุญของไมเคิล แจ็กสัน)  ความยิ่งใหญ่ของ Fly Me To The Moon เวอร์ชันที่แฟรงก์ ซินาตราขับร้องนั้น บาร์ต ฮาวเวิร์ดคนที่เขียนเพลงนี้ขึ้น เคยพูดเอาไว้เองเลยว่า เพราะแฟรงก์ ซินาตรา เลยทำให้เพลงนี้ถูกเอาไปคัฟเวอร์และร้องใหม่อีกเป็นร้อยเวอร์ชัน แต่ถึงจะถูกนำไปเรียบเรียงใหม่อีกกี่ที หรือร้องโดยนักร้องคนไหนก็ตาม เวอร์ชันที่คลาสสิกเหนือกาลเวลาและยังคงถูกเปิดอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็คือเวอร์ชันที่แฟรงก์ร้องเอาไว้ และแน่นอน ความยิ่งใหญ่อีกอย่างของเพลงนี้คือ มันเป็นเพลงแรกที่ถูกเปิดบนพื้นผิวดวงจันทร์!  

“Fill my heart with song

Let me sing for ever more

You are all I long for

All I worship and adore…”

  ควินซี โจนส์ โปรดิวเซอร์ของเพลงนี้เคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ไว้ว่า เขาเคยเจอกับชายแปลกหน้าคนหนึ่งในบาร์ ชายคนนี้เดินมาทักเขาว่า “เราเคยทำงานด้วยกันมาก่อนนะ แต่เราแค่ไม่เคยเจอหน้ากัน” ชายคนนั้นคือ เอ็ดวิน บัซ อัลดริน (มนุษย์คนที่สองที่เหยียบดวงจันทร์ต่อจากนีล เอ อาร์มสตรอง) ควินซีเล่าว่า วันนั้นเขาได้คุยกับเอ็ดวิน เอ็ดวินเล่าว่าเขานี่แหละเป็นคนเปิดเพลง Fly Me To The Moon หลังจากที่ยานอะพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ ตัดภาพกลับมาที่แฟรงก์ ซินาตรา เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่เขาร้องบ่อยที่สุดเพลงหนึ่งทุกครั้งที่เขามีโอกาสได้ขึ้นเวทีร้องเพลง ไม่บ่อยครั้งนักที่แฟรงก์ ซินาตราจะพูดเปิดเพื่อเข้าเพลง Fly Me To The Moon แต่มีครั้งหนึ่งที่เขาพูดอะไรบางอย่างก่อนเข้าเพลงนี้ แฟรงก์พูดไว้ว่า  “ผมเพิ่งมีประสบการณ์สุดขนลุกที่สุดในชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ ผมนั่งดูชายสามคนแล่นยานลงจอดบนดวงจันทร์ แต่คุณรู้อะไรไหมครับ พวกเขาต้องเซอร์ไพรส์แน่ ถ้ารู้ว่าผมนี่แหละไปถึงดวงจันทร์ก่อนพวกเขาเสียอีก...”  ใช่แล้ว, แฟรงก์ ซินาตราไปถึงดวงจันทร์ก่อนที่นีล เอ อาร์มสตรองจะไปถึง เพราะนักบินอวกาศที่ไปกับยานอะพอลโล 10 (เดือนพฤษภาคม 1969) ก็ได้เลือกอัดเพลง Fly Me To The Moon ไปกับพวกเขาในเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ต Sony TC 50  เหมือนกัน และพวกเขาก็ได้ไปอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์แล้ว ต่างกันแค่ว่าพวกเขาไม่ได้ลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์เหมือนกับยานอะพอลโล 11 เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดเพียงว่าแฟรงก์ ซินาตราได้ไปถึงดวงจันทร์ก่อนนีล เอ อาร์มสตรองก็น่าจะไม่ผิดนัก นอกจากเพลง Fly Me To The Moon จะถูกเล่นบนดวงจันทร์แล้ว ดูเหมือนกับว่านาซาจะผูกพันกับเพลงนี้เอามาก ๆ เพราะเพลง Fly Me To The Moon ได้ถูกเลือกให้ไปเล่นอีกหลายครั้งในวาระสำคัญ ๆ ของนาซาที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ เช่น ในงานฉลองเพื่อระลึกถึงภารกิจ อะพอลโล 11 ที่จัดขึ้นที่ Smithsonian Air and Space Museum ในปี 2009 โดยมีนักบินอวกาศทั้งสามที่ไปถึงดวงจันทร์ก่อนใครบนโลก (นีล เอ อาร์มสตรอง, เอ็ดวิน บัซ อัลดริน, ไมเคิล คอลลินส์) มาร่วมงานด้วย และเพลง Fly Me To The Moon ก็ถูกร้องขึ้นในงานนี้โดย ไดอานา ครอลล์ (Diana Krall) หรือจะเป็นงานศพของนีล เอ อาร์มสตรอง ในปี 2012 ที่จัดขึ้นที่ Washington National Cathedral เพลงนี้ก็ถูกร้องขึ้นโดยไดอานาอีกเช่นกัน  

“In other words, please be true

In other words, in other words

I love you…”

  มาถึงตรงนี้ ถ้าเป็นพล็อตหนังก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นฉากจบแบบชวนให้คนดูไปคิดต่อกันเอาเองว่าความจริงมันเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะในปี 2012 ที่โรงแรม Empire Hotel ในนิวยอร์ก เอ็ดวิน บัซ อัลดริน (คนที่ไปบอกควินซีว่า เขาเป็นคนเปิดเพลง Fly Me To The Moon บนดวงจันทร์หลังจากที่เอายานลงจอดแล้ว) ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากที่มีคนถามเขาว่า “จริงไหมที่คุณเปิดเพลง Fly Me To The Moon หลังจากที่ยานลงจอดบนดวงจันทร์ ?”  เอ็ดวินตอบกลับไปในทันทีว่า    “เอ…ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผมเปิดเพลงนี้หรือเปล่านะ”   อ้าว!   ที่มา: https://www.biography.com/musician/frank-sinatra https://www.songfacts.com/facts/frank-sinatra/fly-me-to-the-moon https://www.thefranksinatra.com/songs/fly-me-to-the-moon https://www.nasa.gov/mission_pages/apollo/missions/apollo11.html https://www.nasa.gov/mission_pages/apollo/missions/apollo10.html https://www.thefranksinatra.com/songs/fly-me-to-the-moon https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/music/features/buzz-aldrin-astronaut-frank-sinatra-fly-me-moon-landing-myth-a8997026.html   เรื่อง: มณีเนตร วรชนะนันท์