แฟรงกี แมนนิง สัญลักษณ์แห่งความสุขของนักเต้น Lindy Hop

แฟรงกี แมนนิง สัญลักษณ์แห่งความสุขของนักเต้น Lindy Hop
ชีพจรของ แฟรงกี แมนนิง (Frankie Manning) ลงเท้าตั้งแต่วัยเด็ก หลังพ่อแม่หย่าร้างกันเขาก็อยู่ในความดูแลของคุณแม่ที่เป็นนักเต้น ทำให้แฟรงกีมีโอกาสได้เห็นแม่เขาออกท่วงท่าลีลาตามงานปาร์ตี้ของเพื่อนบ้านในย่านฮาร์เล็ม ก่อนสะสมสายเลือดนักเต้นมากขึ้นไปอีกเมื่อเขาถูกส่งไปอยู่กับคุณย่าที่ฟาร์มแถบเซาธ์ แคโรไลนา ซึ่งทุกซัมเมอร์คุณย่าของเขาก็มักส่งเสริมให้แฟรงกีเข้าไปร่วมวงเต้นร่ายรำกับเหล่าเกษตรกรในฟาร์ม ท่ามกลางท่วงทำนองสนุกจากเครื่องดนตรีอเมริกันท้องถิ่นอย่างฮาร์โมนิกา (harmonicas) และเบสประดิษฐ์จากถังน้ำ (washtub bass) ณ เวลานั้นเอง แฟรงกีค้นพบว่าตัวเขาไม่อยากให้ช่วงเวลาเริงระบำหยุดลงสักนิด กระทั่งปี 1927 แฟรงกีในวัย 13 ปีได้รับคำชวนจากคุณแม่ของเขาให้ช่วยตกแต่งห้องบอลรูมเพื่องานเต้นรำในคืนวันฮาโลวีน คืนวันนั้นเป็นค่ำคืนที่แฟรงกีต้องตกตะลึงไปกับการเต้นของแม่ น่าเสียดายที่ระหว่างเขาเต้นรำกับแม่ แม่ของแฟรงกีได้เอ่ยปากว่าเขาคงไม่มีทางได้เป็นนักเต้นแน่ ๆ เลย เพราะเขาเต้นได้แข็งทื่อซะเหลือเกิน คำพูดนั้นของแม่ทำให้แฟรงกีบอกตัวเองว่า เขาจะต้องเป็นนักเต้นที่ดีเพื่อให้แม่ชื่นใจในตัวเขาให้ได้ “ครั้งหนึ่งแม่เคยพาผมไปชั้นเต้นรำตอนผมยังหนุ่ม ๆ และพยายามโชว์ว่าการเต้นเป็นอย่างไร พอออกมาคุณแม่ก็บอกว่าผมไม่มีทางเป็นนักเต้นหรอก (หัวเราะ) แต่พ่อแม่ก็พาผมไปปาร์ตี้อยู่ดี ผมจึงดูคนอื่นเต้น และกลับบ้านมาเลียนแบบพวกเขา” แฟรงกีเริ่มหัดเต้นรำกับไม้กวาดหรือเก้าอี้ในห้องนอนทุกค่ำคืน เคล้าคลอด้วยเสียงเพลงจากเครื่องเล่นไวนิลโปรดในห้อง ก่อนขยับมาพัฒนาออกลวดลายที่คลับนักเต้นชื่อดังในย่านฮาร์เล็มของกรุงนิว ยอร์ก พรสวรรค์ของแฟรงกีค่อย ๆ เจิดจรัสขึ้นทุกวินาทีที่ได้เต้นแบบ Lindy Hop ทั้งนี้ Lindy Hop เป็นหนึ่งในสไตล์การเต้น Swing ที่ผสมผสานความเป็นยุโรปและแอฟริกันเข้าด้วยกัน มีเสน่ห์ที่เน้นความอ่อนหวาน นุ่มนวลในการเคลื่อนไหวแบบแอฟริกัน มีท่วงท่าเยื้องย่างเท้าง่าย ๆ ทำให้ผู้เต้นสามารถประยุกต์ท่าเต้นในสไตล์ของตัวเองให้ออกมาได้ตามใจต้องการ ครั้งหนึ่ง แฟรงกีได้คิดค้นท่าเต้นใหม่ให้กับการเต้น Lindy Hop เรียกว่า air-step ที่ขาข้างหนึ่งจะลอยขึ้นเหมือนอยู่ในสรวงสวรรค์ในการแข่งขันเต้นที่คลับ ทำให้คนดูกว่า 2,000 คนต่างตกตะลึงกับท่วงท่าที่เขาคิดค้นขึ้น [caption id="attachment_11609" align="alignnone" width="985"] แฟรงกี แมนนิง สัญลักษณ์แห่งความสุขของนักเต้น Lindy Hop Frankie Manning[/caption]   แฟรงกีกลายเป็นนักเต้นที่น่าจับตามากขึ้นไปอีกในช่วงกลาง 1930s เมื่อ เฮอร์เบิร์ต วิตนีย์” ไวท์ (Herbert “Whitey” White) ปลุกปั้นกลุ่มนักเต้น Lindy Hop ดาวเด่นในคลับให้กลายเป็นคณะนักแสดงโชว์มืออาชีพ ในนาม Whitey’s Lindy Hopper แน่นอน แฟรงกี แมนนิง คือดาวที่เปล่งประกายแสงแรงสุดในกลุ่ม เขาคือคนที่ออกแบบท่าเต้นให้คนในทีม และออกเดินทางไปแสดงโชว์ร่วมกับนักดนตรีแจ๊สระดับตำนานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อีเธล วอเตอร์ส (Ethel Waters), เคาท์ เบซี (Count Basie), ดุค เอลลิงตัน (Duke Ellington), เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ (Ella Fitzgerald) และ แคบ คัลโลเวย์ (Cab Calloway) ตลอดจนได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง เมื่อมีช่วงเปล่งประกาย ดวงดาวก็มีช่วงดับแสง เพียงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น เขาและเพื่อนนักเต้นถูกส่งเข้าร่วมกองทัพสหรัฐอเมริกา คณะเต้น Whitey’s Lindy Hopper จึงกลายเป็นเพียงตำนานในทรงจำของผู้คนที่หลงรักดนตรีแจ๊ส และการเต้นอันเปี่ยมไปด้วยความสุขสดใส หลังสงครามจบลง แฟรงกีกลับมาก่อตั้งคณะเต้นของตัวเองในชื่อ Congaroos แต่ไม่นานวงที่เขาก่อตั้งขึ้นได้สลายตัวอีกครั้ง แฟรงกีจึงผันตัวไปทำงานประจำเป็นบุรุษไปรษณีย์ และค่อย ๆ ห่างหายไปจากวงการเต้นรำ “ตอนนั้นผมแต่งงานกับผู้หญิงแสนดีคนหนึ่งที่เต้นเป็น แต่ไม่ได้อยากเป็นนักเต้น เธอเป็นนางพยาบาลและเรามีลูกด้วยกัน เธอจึงบอกว่า แฟรงกี คุณออกไปเต้นตลอดเวลาเลยนะ” ผมจึงหยุดเต้น หางานทำ (บุรุษไปรษณีย์) และดูแลครอบครัว” ปี 1980 นักเต้นชาวสวีเดนกลุ่มหนึ่งออกตามหาเขา ด้วยความหวังจะรักษาให้การเต้น Lindy Hop ยังคงโชติช่วงในทุกยุคสมัย พวกเขาพยายามเข้าพบและพูดคุยให้แฟรงกีคืนบัลลังก์นักเต้น พร้อมขอความอนุเคราะห์ให้เขาช่วยสอนคนรุ่นใหม่ [caption id="attachment_11610" align="alignnone" width="1024"] แฟรงกี แมนนิง สัญลักษณ์แห่งความสุขของนักเต้น Lindy Hop NEW YORK swing dance[/caption]   หัวใจของแฟรงกีในวัยชรายังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยจังหวะ Lindy Hop เขาตัดสินใจออกเดินทางสอนคนรุ่นใหม่ตามประเทศต่าง ๆ จนกระทั่งการเต้น Lindy Hop กลับมาเป็นเทรนด์ในอเมริกา สวีเดน ไปยุโรป ปัจจุบันการเต้น Lindy Hop ได้เผยแพร่ไปยัง สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี และประเทศไทย เกิดเป็นคลับของคนรักการเต้นLindy Hop ที่อบอุ่น และแข็งแรง อย่างกลุ่ม Bangkok Swing ของบ้านเรา ที่จุดประกายการเต้นแนวนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น “ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นดาวเด่นอะไร ผมก็แค่นักเต้น และผมเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นเต้น แค่นั้นแหละ” แม้ว่า แฟรงกี แมนนิง จะลาโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี 2009 ในวัย 94 ปี ทว่าเสน่ห์การเต้น Lindy Hop ยังคงอบอวล และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย เขาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความสุขของนักเต้น และเป็นเปลวไฟที่จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกค้นพบความสุขผ่านการเต้น Lindy Hop จนลุกฮือเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งแทบทุกมุมโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่การเต้น Lindy Hop หนึ่งในสไตล์การเต้น Swing ได้รับการพูดถึงว่าสามารถขจัดความเหงา และเพิ่มความสดใสของผู้เต้นได้ เพราะการเต้นประเภทนี้จะต้องเปิดใจพาคู่เต้นล่องลอยไปกับเสียงดนตรี   เรื่องโดย: Kotchakorn M. ภาพโดย: Ralph Gabriner   ข้อมูลจาก http://frankiemanning.com/bio.php http://www.girlinthejitterbugdress.com/interview-lindy-legend-frankie-manning/