เฟรด โรเจอร์ส ทำลายอคติด้วยการมองโลกในแง่บวก

เฟรด โรเจอร์ส ทำลายอคติด้วยการมองโลกในแง่บวก
ความแตกต่างทางทัศนคติในสังคมที่เจริญแล้ว หาใช่การไล่ล่าฆ่าฟันหรือขับไสไล่ส่งคนเห็นต่าง แต่คือการรับฟังอย่างมีสติ และเป็นมิตร เหมือนดั่ง เฟรด โรเจอร์ส (Fred Rogers) พิธีกรรายการเด็กผู้เป็นต้นแบบของการมองโลกแย่ ๆ ในแง่บวก เพื่อทำลายอคติด้วยความเอื้ออาทร หากประเทศไทยมีสโมสรผึ้งน้อย เจ้าขุนทอง หรือซูเปอร์จิ๋วเป็นสุดยอดรายการเด็กสมัยก่อน สหรัฐอเมริกาก็มี Mister Rogers' Neighborhood เป็นสุดยอดรายการเด็กที่ออกอากาศยาวนานตั้งแต่ปี 1968-2001 โดยมี เฟรด โรเจอร์ส เป็นทั้งคนคิดคอนเซปต์ ควบคุมการผลิต และเป็นพิธีกร จนรายการนี้ได้รับการยกย่องว่าทรงอิทธิพลต่อคนอเมริกันมากที่สุด  เหตุผลที่เขาเป็นขวัญใจคนอเมริกันก็คือ บุคลิกส่วนตัวที่มีความนอบน้อมถ่อมตน และโอบอ้อมอารีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฉากหรือหลังฉาก ในรายการเขามักจะสอนให้เด็กเข้าใจโลกของความเป็นจริง เสริมสร้างกำลังใจ และการยอมรับในคุณค่าของกันและกัน ผ่านบทเพลงที่เขาเป็นคนแต่งเอง เฟรด โรเจอร์ส ทำลายอคติด้วยการมองโลกในแง่บวก   มีการบันทึกว่า ที่โรเจอร์สเป็นคนแบบนี้ก็เพราะตอนเด็กเขาเป็นเด็กตัวอ้วน และถูกเพื่อน ๆ แกล้งตลอดเวลา ทำให้กลายเป็นเด็กขี้อายและแอบร้องไห้บ่อยมาก โรเจอร์สจึงนำความเศร้านั้นมาระบายผ่านการเล่นดนตรี “ปู่แม็คฟีลี (McFeely) มักจะเล่นฟิดเดิล ผมจำได้ดีถึงเวลาที่เราเล่นด้วยกัน ผมเล่นเปียโน ปู่เล่นฟิดเดิล โดยเฉพาะเพลงโปรดของเขา Play, Gypsy, Dance Gypsy, Play While You May (ร้องเพลง)” โรเจอร์สนึกถึงความหลังให้ฟัง “พวกเขามักเล่าเรื่องสมัยเด็กว่าผมฟังวิทยุแล้วชอบฮัมตาม หลังจากนั้นคุณย่าแม็คฟีลีก็ซื้อเปียโนให้ ผมมักไปนั่งที่เปียโน และเล่นเพลงที่ได้ยินมา ฉะนั้นวิทยุและหนังสือจึงมีความหมายกับผมมาก พวกเขาเคยพาผมไปดูหนังตอน 6 ขวบ หลังจากกลับบ้านมา ผมก็เล่นเพลงจากหนังนั้น ผมมักเล่นตามที่ได้ยิน” ครั้นมีโอกาสทำรายการโทรทัศน์ โรเจอร์สจึงสร้างเอกลักษณ์ของรายการด้วยการแต่งเพลงทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งเพลงเปิดรายการกลายเป็นเพลงที่ติดหูเด็กอเมริกันยุค 70-90’s เป็นอย่างมาก  แนวคิดสำคัญของรายการ Mister Rogers' Neighborhood ตรงตามชื่อ คือการสอนให้เด็กรู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้ำใจกับเพื่อนบ้าน ในรายการเขามักบอกกับเด็ก ๆ เสมอว่า คนเรามีทั้งวันที่เข้มแข็งและอ่อนแอ นั่นเป็นเรื่องธรรมดา วันไหนที่เข้มแข็ง เราก็ช่วยเหลือคนอื่น วันไหนอ่อนแอ เราก็ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย “โลกจะหมุนไปได้เพราะความเอื้ออาทรที่มีให้กัน” ไม่เพียงการให้กำลังใจเด็ก แต่สิ่งหนึ่งที่โรเจอร์สทำผ่านรายการคือการพูดถึงประเด็นหนัก ๆ ให้เด็กเข้าใจ ทั้งเรื่องเพศ การหย่าร้าง หรือแม้กระทั่งความตาย โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างการทำลายอคติของสังคมอเมริกาอย่างการเหยียดสีผิว เมื่อโรเจอร์สเชิญ ฟรองซัวส์ เคลมมอนส์ (Francois Clemmons) นักแสดงผิวสีมารับบทบาทตำรวจในรายการเป็นครั้งแรก และทำงานร่วมกันกว่า 10 ปี โดยเทปที่เรียกเสียงฮือฮาที่สุดคือการชวนเคลมมอนส์มานั่งแช่เท้าในน้ำร่วมกัน ทำลายกรอบการเหยียดผิวในยุคนั้นและแสดงภาพความแตกต่างที่อยู่ร่วมกันได้ เพราะเราทุกคนคือ “มนุษย์” เหมือนกัน “ผมเคยคิดว่าตำรวจคือเพื่อนบ้านที่อันตรายที่สุด การมารับบทนี้ทำให้ผมลังเลใจมาก แต่ก็มีความรู้สึกบางอย่างว่าลองดูสักตั้งวะ” เขากล่าว “ตอนนั้นคนขาวทั่วประเทศรังเกียจคนผิวสีที่ว่ายน้ำสระเดียวกัน คุณเฟรดมองว่ามันเป็นเรื่องน่าขันมาก เราจึงถ่ายฉากนั้นเพื่อส่งเป็นข้อความถึงคนอื่น” เฟรด โรเจอร์ส ทำลายอคติด้วยการมองโลกในแง่บวก   อีกหนึ่งเอกลักษณ์ในรายการคือการใส่เสื้อสเวตเตอร์ไหมพรมทุกอาทิตย์ ซึ่งทั้งหมดถักโดย แนนซี โรเจอร์ส (Nancy Rogers) คุณแม่ของเขาเอง “เธอเริ่มจากการถักสเวตเตอร์สำหรับทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอถักไหมพรมเก่งมากและถักเสื้อทุกตัวให้ผม” ปลายปี 2019 เรื่องราวของ เฟรด โรเจอร์ส กลายเป็นภาพยนตร์ A Beautiful Day in the Neighborhood อิงจากเรื่องจริงของนักข่าวที่ได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์โรเจอร์ส แม้เขาจะเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและหมั่นไส้การมองโลกบวกเป็นอย่างมาก แต่ช่วงเวลาสั้น ๆ ของการพูดคุยกลับสร้างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อชีวิตไปตลอดกาล หนังได้นักแสดงคุณภาพ ทอม แฮงค์ส (Tom Hanks) มารับบท เฟรด โรเจอร์ส ซึ่งเขาปฏิเสธการรับบทนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง "ผมคิดว่าตัวเองคงทำไม่ได้แน่ มันเป็นบทที่ยากเกินไป ผมไม่ได้พูดเกินจริงเลยนะ และถึงแม้บทจะดีมาก แต่มันทำออกมาเป็นหนังได้ยากมาก... ผมได้ดูรายการของเขาตอนอายุ 13-14 และผมทั้งเบื่อและรำคาญ มันไม่เหมาะกับวัยของผมเลย จนกระทั่งผมโตขึ้นและได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำในรายการนั้นมันยิ่งใหญ่มากแค่ไหน เขาสอนให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจโลกได้อย่างไร” เฟรด โรเจอร์ส ทำลายอคติด้วยการมองโลกในแง่บวก   ความพิเศษอย่างหนึ่งคือการถ่ายทำ โจแอนน์ (Joanne) ภรรยาของโรเจอร์สได้มอบเนคไทของเขามาให้ ทอม แฮงค์ส ใส่เพื่อเข้าฉากด้วย ผมถือว่าการเล่นบทนี้เป็นความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง และออกจะทำผมกลัว ๆ อยู่เหมือนกัน”  สำหรับความยิ่งใหญ่ของเฟรด โรเจอร์ส ชาวเมืองรัฐเพนซีลเวเนีย (บ้านเกิดของเขา) มีการตั้งวันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวัน “143 Day” เพื่อรำลึกถึงความโอบอ้อมอารีของเขา โดยจัดกิจกรรมที่ชุมชนต่าง ๆ มาแบ่งปันน้ำใจให้แก่เพื่อนบ้านตามสะดวก ซึ่งตัวเลข 143 มาจากน้ำหนักประจำตัวที่เขาพยายามควบคุมไว้ที่ 143 ปอนด์เสมอ เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็น 143 ? เขาพูดติดตลกว่า คำว่า I มี 1 ตัวอักษร คำว่า LOVE มี 4 ตัวอักษร และคำว่า YOU มี 3 ตัวอักษร นั่นเอง “หน้าที่ของเราในฐานะเพื่อนมนุษย์คือการช่วยเหลือคนอื่นให้เรียนรู้คุณค่าในตัวเอง แม้แต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน แต่เราต้องสนับสนุนให้พวกเขาค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเอง” โรเจอร์สกล่าว “ผมอยากบอกเด็กทุกคนว่าการเริ่มต้นที่จุดเล็ก ๆ จะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งเราต้องอุทิศตัวเองให้กับความฝันเล็ก ๆ นั้นโดยปราศจากความแย่ใด ๆ เลย”   ข้อมูลจาก https://childrensmusic.org/pass-it-on/features/an-interview-with-fred-rogers.aspx https://www.esquire.com/entertainment/tv/a27134/can-you-say-hero-esq1198/ https://www.youtube.com/watch?v=K6O_Ep9bY0U