Friends : ครบรอบ 27 ปี ซีรีส์เพื่อนรักที่ (ไม่ได้) รักคนดูทุกคน

Friends : ครบรอบ 27 ปี ซีรีส์เพื่อนรักที่ (ไม่ได้) รักคนดูทุกคน
ในปี 2021 นี้ ‘Friends’ ซีรีส์ซิตคอมเพื่อคนรักเพื่อนกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 27 นับจากวันแรกที่ออกฉายทางโทรทัศน์ ช่อง NBC ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1994 ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน อุตสาหกรรมบันเทิงจะก้าวหน้าไปเพียงใด ซีรีส์เรื่อง Friends กลับยังเป็นที่พูดถึง และสามารถครองใจคนดูได้ราวกับกลุ่มเพื่อนทั้ง 6 ยังมีชีวิตเป็นอมตะอยู่ในใจผู้ชม แต่นอกเหนือจากเสียงหัวเราะและรอยยิ้มอันเบิกบาน หากย้อนมองในอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นได้ถึงทัศนคติอันบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยนั้น ซึ่งบางอย่างไม่ได้ถูกชะล้างตามกาลเวลา แต่กลับหยั่งรากลึกจนถึงทุกวันนี้ กล่าวคือ หากเนื้อหาบางส่วนของ Friends ถูกนำมาผลิตซ้ำในปัจจุบัน ก็คงหนีไม่พ้นการถูกวิจารณ์จากโลกออนไลน์เป็นแน่ แต่อะไรกันที่เป็นสาเหตุให้ Friends ยังคงครองความนิยม และมีคนชื่นชอบอยู่มากขนาดนี้? Friends : ครบรอบ 27 ปี ซีรีส์เพื่อนรักที่ (ไม่ได้) รักคนดูทุกคน แก๊งเพื่อนซี้ที่กลับมาพร้อมความเชื่อเก่า เมื่อ 3 สาวและ 3 หนุ่มอย่าง ‘เรเชล กรีน’ (Rachel Green) ‘โมนิกา เกลเลอร์’ (Monica Geller) ‘ฟีบี้ บุฟเฟย์’ (Phoebe Buffay) ‘รอสส์ เกลเลอร์’ (Ross Geller) ‘แชนด์เลอร์ บิง’ (Chandler Bing) และ ‘โจอี้ ทริบบีอานี’ (Joey Tribbiani) แห่งซีรีส์ Friends กลับมาเฉิดฉายให้หายคิดถึงอีกครั้งผ่าน Netflix ผู้ชมชาวมิลเลนเนียล (1991-1996) บางส่วนที่เพิ่งเคยดู Friends เป็นครั้งแรกกลับต้องตกใจ เพราะเรื่องราวและมุกตลกหลายจุดมีเนื้อหาเหยียดเพศหญิงและกลุ่ม LGBTQIA+ ยังไม่นับชุดความคิดที่ ‘ล้าหลัง’ อีกหลายประการ ยกตัวอย่างตอนที่รอสส์ ชายผู้ยึดติดกับหลักเหตุและผล กำลังสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด็กที่เป็นผู้ชาย เขาบอกกับเรเชลว่า “มันเป็นเรื่องประหลาดมาก เหมือนกับการที่ผู้หญิงอยากจะเป็นราชา” หรือในตอนที่แชนด์เลอร์ ตัวกวนประจำกลุ่ม รวมถึงเพื่อนของเขามักจะเรียกพ่อของแชนด์เลอร์ที่แปลงเพศแล้วว่า He/Him ทั้งที่จริงควรเรียกว่า She/Her นอกจากนี้พวกเขายังเรียกเธอด้วยชื่อเก่าก่อนแปลงเพศด้วย เมื่อได้ยินประโยคเหล่านี้ในปัจจุบัน เราก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า แล้วทำไมผู้หญิงจะเป็นราชาไม่ได้? หรือทำไมเพศที่เป็นตัวตนของเราถึงไม่ได้รับการยอมรับ? แม้จะเป็นเพียงการสนทนาสั้น ๆ แต่อิทธิพลของคำเหล่านี้กลับสร้างบาดแผลให้แก่คนฟังเป็นอย่างมาก ในอีกแง่หนึ่ง Friends จึงกลายเป็นสื่อที่ส่งเสริมความไม่เท่าเทียมในสังคมมาอย่างเนิ่นนาน นอกจากนี้ ในเรื่องของ ‘มาตรฐานความงาม’ (Beauty Standards) ตัวละครอย่างโมนิกา เจ้าของห้องพักที่เพื่อน ๆ มักมารวมตัวกันยังเคยมีรูปร่างอวบ ซึ่งเธอถูกมองในแง่ลบและถูกล้อเลียนในลักษณะ body shaming ตั้งแต่เด็กจนโต ครั้งหนึ่งที่โมนิกามีโอกาสกลับมาเจอเพื่อนสมัยมัธยมฯ ที่เธอเคยแอบชอบ โมนิกาบอกกับเรเชลถึงเหตุผลที่เธออยากไปเดตกับเขาว่า “เด็กอ้วนที่อยู่ในตัวฉันอยากไปมาก ๆ ฉันต้องทำสิ่งนี้เพื่อเธอนะ ฉันไม่เคยยอมให้เธอกินข้าวเลย” ประโยคที่แสนเศร้านี้ถูกพูดออกมาอย่างติดตลก พร้อมด้วย ‘เสียงหัวเราะ’ ของคนดู คำพูดเหล่านี้แหลมคมราวกับมีดที่กรีดหัวใจของผู้หญิงอย่างอยุติธรรม ความคิดที่ว่าการอดอาหารคือสิ่งเดียวที่จะทำให้เด็กสาว ‘กลายเป็นที่ต้องการ’ นั้นผิดมหันต์ ประโยคสั้น ๆ ของโมนิกากำลังส่งสารไปยังเด็กสาวทั่วโลกว่า ‘เธอต้องผอม’ ‘เธอต้องสวย’ และ ‘เธอยังดีไม่พอ’ ทั้งที่การเติบโตมาในสังคมที่ให้คุณค่ากับผู้หญิงหุ่นผอมเพรียว ส่งผลให้หญิงสาวจำนวนมากต้องพบเจอปัญหาการกิน และแรงกดดันจากการรักษาหุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorders) รวมไปถึงการจบชีวิตของตัวเองเลยทีเดียว แต่นั่นก็เพราะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และความหลากหลายทางเพศในยุคนั้นยังไม่เป็นที่พูดถึง หรือให้ความสำคัญมากเท่าปัจจุบัน บทของ Friends จึงกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สะท้อนความจริง และความคิดอันไม่น่าภิรมย์ของผู้คนในช่วงเวลานั้น ขณะเดียวกัน ย้อนกลับมาในปัจจุบัน การได้เห็นชาวมิลเลนเนียล และคนดูกลุ่มเดิมจากยุค 90s เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวกลับเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะมันสะท้อนว่า โลกก้าวหน้าขึ้นแล้ว แต่อีกทางหนึ่ง ‘ทั้งที่ผิดก็ยังรัก...ไม่เข้าใจ’ คงเป็นประโยคที่อธิบายความรู้สึกที่มีต่อ Friends ได้ดีที่สุด เพราะถึงแม้ Friends จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบเรื่องเนื้อหา แต่การที่ Netflix ยอมจ่าย Warner Bros. เป็นเงินเกือบ 80 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,500 ล้านบาท เพื่อให้ Friends ได้ฉายต่อในปี 2019 ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า Friends ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มมิลเลนเนียลและผู้ชมทั่วไปอยู่ เรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกที่ย้อนแย้งและยากจะอธิบาย เพราะถึง Friends จะท้าทายความเชื่อเรื่องความเท่าเทียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเรื่องราวและตัวละครทั้งหมดถูกเขียนขึ้นมาอย่างแหลมคมในแง่ของการสร้างความอบอุ่น ความสบายใจ และแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพอันเป็นนิรันดร์ที่ถึงแม้แต่ละคนจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แบบที่หลายคนนิยามว่า ‘ไม่ขาด’ ก็ ‘เกิน’ แต่มันกลับ ‘พอดี’ อย่างน่าประหลาด Friends : ครบรอบ 27 ปี ซีรีส์เพื่อนรักที่ (ไม่ได้) รักคนดูทุกคน ความพอดีของกลุ่มเพื่อนที่ไม่ดีพอ ลักษณะของตัวละครทั้งหมดมี ‘ความแตกต่าง’ กันอย่างสุดขั้วตามสังคมแวดล้อมและประสบการณ์ที่ขัดเกลาพวกเขามา แต่ด้วยตัวบทต้องการเล่นกับ ‘ความเป็นแกะดำ’ การยอมรับข้อดี-ข้อเสียของเพื่อนในกลุ่มจึงเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ใจ นำไปสู่ผลลัพธ์ว่า ‘แกะสีอะไรก็เป็นเพื่อนกันได้’ นี่แหละ ‘เสน่ห์อมตะของ Friends’ ตัวละครแรกของเรื่องคือ เรเชล กรีน ลูกคุณหนูที่เติบโตมาภายใต้การประคบประหงมจากครอบครัวฐานะดี ถึงขั้นที่เธอทำงานอะไรไม่เป็นเลย แต่จู่ ๆ เรเชลก็ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตอย่างกะทันหัน ทิ้งทุกอย่างและวิ่งหนีออกจากงานแต่งงานทั้งที่ยังใส่ชุดเจ้าสาว เพื่อมาหาโมนิกา เกลเลอร์ เพื่อนสนิทสมัยมัธยมฯ ที่ขาดการติดต่อกันไปหลายปี และการพบกันครั้งนี้เอง เรเชลจึงได้รู้จัก ‘โลกแห่งความจริง’ ที่ถึงแม้จะโหดร้าย แต่ก็มีหวังให้เดินต่อ เพราะเธอได้พบ ‘มิตรภาพของแท้’ นอกกรอบของครอบครัวนั่นเอง Friends : ครบรอบ 27 ปี ซีรีส์เพื่อนรักที่ (ไม่ได้) รักคนดูทุกคน ส่วนโมนิกาที่เรเชลหนีมาหา เธอเป็นสาวโสดแห่งเมืองนิวยอร์กที่ทำงานเป็นเชฟอยู่ที่ร้าน ‘Iridium’ เธอมีนิสัยชอบควบคุมคนอื่นและเป็นคนเจ้าระเบียบ นั่นทำให้เธอมักเครียด และมีปัญหาทะเลาะกับคนอื่น ๆ เป็นประจำ เช่น หากใครปรับเปลี่ยนที่วางโทรศัพท์ของเธอแม้แต่เซนติเมตรเดียว เธอก็จะเห็นได้ทันทีและรีบปรับตำแหน่งคืน แต่ด้วยความใส่ใจและความละเอียดนี้เองทำให้อะพาร์ตเมนต์อันกว้างใหญ่ของเธอมีแต่ความสะอาด ทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่น และน่าเข้ามาพักผ่อน กลุ่มเพื่อนจึงมักจะแวะเวียนมาหาทุกวัน เมื่อโมนิกาได้เจอเรเชล เธอจึงได้เสนอให้เรเชลย้ายเข้ามาเป็นรูมเมทของเธอด้วย สำหรับเพื่อนซี้คนที่ 3 โมนิกามีพี่ชายชื่อ รอสส์ เกลเลอร์ เขาเป็นนักบรรพชีวินวิทยา (ศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์) ที่เส้นทางความรักมีแต่อุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการแอบหลงรักเรเชลตั้งแต่สมัยมัธยมฯ แต่ไม่กล้าขอเธอไปเดต หรือการที่ภรรยาซึ่งมีลูกชายด้วยกัน 1 คนขอแยกทางกับเขา เพราะเธอเพิ่งรู้ตัวว่าเป็นเลสเบี้ยน เรียกได้ว่ารอสส์เป็นผู้ชายที่ตกอับมาหลายปีทั้งจากความโชคร้ายและความไม่กล้าของตัวเอง สมาชิกคนที่ 4 คือ แชนด์เลอร์ บิง เพื่อนสนิทของรอสส์จากมหาวิทยาลัย เขาอาศัยอยู่ห้องตรงข้ามกับโมนิกา แชนด์เลอร์เป็นชายที่มีนิสัยชอบประชดประชัน และมักใช้มุกตลกเข้าสู้กับปัญหาที่พบเจอ หลายคนอาจมองว่าเขาเป็นคนสนุกสนานร่าเริง แต่แท้จริงแล้ว เขากำลังกลบเกลื่อนความรู้สึกที่แท้จริงต่างหาก สิ่งนี้เป็นกลไกการป้องกันทางจิต (Coping Mechanism) ที่เกิดขึ้นเมื่อแชนด์เลอร์ได้รับบาดแผลทางจิตใจ เขารับรู้ว่าพ่อของตัวเองหย่ากับแม่เพราะเป็นเกย์ และพ่อของเขายังทำงานเป็น ‘Drag Performer’ หรือนักแสดงชายที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงอยู่ที่ลาสเวกัส แต่ด้วยความที่อาชีพนี้และความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับในสมัยนั้น แชนด์เลอร์ในวัยเด็กจึงรู้สึกเจ็บปวดและอับอายกับสิ่งนี้มาก เพื่อนคนต่อไปคือ โจอี้ ทริบบีอานี รูมเมทของแชนด์เลอร์ เขาเป็นนักแสดงหนุ่มพราวเสน่ห์ที่ขายความซื่อและความสดใส แต่ด้วยความซื่อนี้เองทำให้โจอี้มีปัญหาอยู่ 2 อย่าง คือการเข้าไปพัวพันกับผู้หญิง และความไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ส่วนเพื่อนซี้คนสุดท้ายมีนามว่า ฟีบี้ บุฟเฟย์ อดีตรูมเมทของโมนิกา เธอมีชีวิตวัยเด็กที่ถูกฉาบด้วยความโศกเศร้าตั้งแต่ตอนที่แม่ฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นฟีปี้จึงกลายเป็นคนไร้บ้าน ส่งผลให้การแสดงออกทางความรู้สึกและคำพูดของเธอดูจะ ‘แปลก’ ในสายตาคนรอบข้าง ประกอบกับการที่ฟีบี้กินมังสวิรัติ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นที่นิยม รวมไปถึงมีความเชื่อในโลกวิญญาณ ทำให้เธอถูกมองว่าเป็น ‘ฮิปปี้’ (Hippie - กลุ่มคนที่รักอิสระ ไม่ยึดติดกับวัฒนธรรม) Friends : ครบรอบ 27 ปี ซีรีส์เพื่อนรักที่ (ไม่ได้) รักคนดูทุกคน แต่แทนที่คาแรคเตอร์สุดขั้วของทั้ง 6 คนจะสร้างความร้าวฉานในความสัมพันธ์ เรเชลที่ทำอะไรไม่เป็นกลับพยายามเอาตัวรอดโดยไม่พึ่งพาเพื่อนจนเกินไป โมนิกาที่เป็นคนเจ้าระเบียบกลับต้อนรับเพื่อน ๆ ที่ชอบทำอะไรวุ่นวายเสมอ รอสส์ที่ไม่มีความกล้ากลับกล้าขึ้นเรื่อย ๆ แชนด์เลอร์ที่มักจะทำทุกอย่างให้ตลกเริ่มเรียนรู้ที่จะยอมรับและเติบโต ในขณะที่โจอี้ก็ยังคงพยายามไล่ตามความฝัน และฟีบี้ก็ไม่ได้เป็นคนแปลกอีกต่อไป นั่นก็เพราะพวกเขามี ‘เพื่อน’ ที่ยอมรับกันและกันอย่างไร้เงื่อนไข ‘ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นแกะดำ’ คือสิ่งที่วัยรุ่นในทุกยุคต้องเคยเจอ การปกปิดสิ่งที่คิดว่าจะทำให้โดนล้อ และการดิ้นรนกับการยอมรับตัวตนที่แท้จริง คืออุปสรรคที่เหล่ามนุษย์ Friends ต้องเจอตลอดทั้ง 10 ซีซัน แต่สิ่งสุดท้ายที่ซีรีส์มอบให้วัยรุ่นทั้ง 6 และคนดูกลับเป็นความรู้สึกปลอบประโลมว่าทุกอย่างจะดีขึ้น และไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน คุณก็มีค่ามากพอที่จะได้รับความรักอย่างเปี่ยมล้น เช่นเดียวกับที่เพื่อนทั้ง 6 ต่างสนับสนุนกันและกัน จนความเป็นแกะดำหายไป เหลือเอาไว้แต่ความลงตัว การกลับมาของซีรีส์ Friends ได้สอนเราว่า ไม่จำเป็นต้องปล่อยอดีตอันน่าเกลียดไป แต่จงโอบรับมัน และพามันไปในอนาคตกับคุณด้วย เพราะไม่ว่าอย่างไร มันก็คือตัวคุณอยู่ดี ส่วนในวันนี้ Friends ยุค 90s ที่คุ้นเคยก็ยังไม่หายไปไหน แต่ด้วยบริบททางสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น Friends คนเดิมจะช่วยให้คนดูมองเห็นความบิดเบี้ยวทางความคิด และนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่พร้อมเป็น ‘มิตร’ กับทุกคนอย่างแท้จริง
“I’ll be there for you… เราจะอยู่เคียงข้างคุณเสมอ”
เรื่อง: สรันยา อาภรณ์สุวรรณ (The People Junior) อ้างอิง https://www.independent.ie/entertainment/television/why-is-friends-still-so-popular-38528431.html https://www.youtube.com/watch?v=PMdzdThalMs&ab_channel=Storytellershttps://www.thenationalnews.com/arts-culture/television/why-tv-show-friends-is-extremely-popular-among-generation-z-1.822915 https://www.vogue.com/article/friends-fat-monica-reunion-special ที่มาภาพ https://www.netflix.com/title/70153404