ฟรีเซอร์: ทั้งจักรวาลเขาคือตัวร้าย แต่สำหรับพนักงานในองค์กร เขาคือสุดยอดบอส

ฟรีเซอร์: ทั้งจักรวาลเขาคือตัวร้าย แต่สำหรับพนักงานในองค์กร เขาคือสุดยอดบอส

ฟรีเซอร์ ทั้งจักรวาล ดราก้อน บอล (Dragon Ball) เขาคือตัวร้าย แต่สำหรับพนักงานในองค์กร เขาคือสุดยอดบอส

ที่ญี่ปุ่นนั้นนอกจากการโหวตตัวเอกของการ์ตูนแล้ว ก็ยังมีการโหวตตัวร้ายยอดนิยมอีกด้วย สำหรับเรื่อง Dragon Ball ก็มีตัวร้ายหลายตัวที่ติดอันดับในการโหวตของสำนักโพลต่าง ๆ มากมาย เช่น เบจิต้า, ฟรีเซอร์, หรือเซล แต่ที่น่าสนใจคือ มีนักอ่านจำนวนมาก กลับมองฟรีเซอร์อย่างชื่นชม และไปในทิศทางเดียวกัน คือเป็น “สุดยอดบอสในอุดมคติ” และมีหลายสำนักที่แนวโน้มสำรวจออกมาใกล้เคียงกัน เช่น Middle-Edge, Anime! Anime!, หรือ Nico-Nico News (ลิงก์อ้างอิงอยู่ท้ายบทความ) วิเคราะห์เรื่อง Dragon Ball ที่ผ่าน ๆ มาของ The People ก็เอาแต่วิเคราะห์คาแรกเตอร์ของกลุ่มตัวละครเอกมาตลอด วันนี้มาพูดถึงตัวร้ายตลอดกาลอย่างฟรีเซอร์กันบ้าง ฟรีเซอร์นี่แหละ ถอดแบบมาจากยากูซ่าญี่ปุ่นขนานแท้ พวกที่เถื่อน, โหด, ตัวใหญ่ ๆ มักจะเป็นแค่ลูกน้อง แต่เจ้าพ่อตัวจริงจะมีบุคลิกแบบฟรีเซอร์ คือ ตัวเล็ก นิ่ง ๆ สุขุม เลือดเย็นมาก แต่ว่าสุภาพเรียบร้อย มีบุคลิกแบบคนทำงานมืออาชีพ ญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1980s เป็นช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกและมีผลกระทบต่อสังคมญี่ปุ่นเป็นวงกว้าง คือพอฟองสบู่แตก มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่สามารถใช้หนี้ที่กู้มาผ่อนอสังหาริมทรัพย์ได้ ทำให้ถูก “ยึด” เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเรื่อง Dragon Ball คือ โทะริยะมะ อะกิระ ในวัยเด็กมีชีวิตที่ยากจนข้นแค้น เคยต้องอดข้าวทีละหลาย ๆ วันและหนีจากความจริงโดยการวาดการ์ตูนไปเรื่อย ๆ เพื่อประทังความหิว (จึงสะท้อนออกมาในงานเขียนที่ตลกเสียดสี หัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้) ด้วยความทรงจำวัยเด็กอันเลวร้ายที่มีต่อนักธุรกิจ อะกิระจึงเกลียดนักธุรกิจที่ทำนาบนหลังคนประเภทนักการเงินแนวอสังหาริมทรัพย์ยิ่งกว่าอาชีพใดทั้งหมด (เช่น ปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาขึ้นดอย, ปล่อยดอกเบี้ยกู้แพงหูฉี่, แล้วหาทางยึดกลับไปเพื่อปล่อยเจ้าอื่นต่อ ฯลฯ) ดังนั้นตัวละครที่ชั่วร้ายที่สุดในจักรวาล (ณ ตอนนั้น ที่อะกิระต้องการวาดให้ Dragon Ball อวสานไปหลังจบศึกฟรีเซอร์ ก่อนที่จะดังระเบิดจนต้องขยายไปภาคต่อ ๆ มา) จึงต้องเป็นพวกชั่วร้ายที่ประกอบอาชีพยึดบ้านช่องคนอื่น ยึดอสังหาริมทรัพย์ของชาวบ้าน แล้วเอาไปหมุนเป็นเงิน แบบที่ฟรีเซอร์ทำคือฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, ยึดดาว, ยึดพืชผลและทรัพยากรบนดาวดวงนั้น แล้วเอาไปขายให้เผ่าพันธุ์อื่นที่มีเงินมาซื้อ อะกิระแสดงความเห็นของตัวเองที่มีต่ออาชีพ Property Management ของญี่ปุ่นในยุคนั้นว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ชั่วร้ายที่สุดในจักรวาลนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม นักอ่านชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็เห็นพ้องต้องกันว่า ฟรีเซอร์เป็นผู้นำที่ดี ไม่นับว่านิสัยชั่วร้าย แต่พูดถึงในแง่ของภาวะผู้นำองค์กร ฟรีเซอร์เป็นหัวหน้าที่น่าร่วมงานด้วยมาก ๆ เริ่มตั้งแต่ข้อแรก ฟรีเซอร์มีความสามารถมากจริง คือไม่ใช่เป็นแค่หัวหน้าที่เอาแต่นั่งในห้องแอร์โดยไม่รู้สภาวะหน้างานจริง แล้วดีแต่ใช้ลูกน้องไปทำแทน ฟรีเซอร์มีพลังที่จะทำงานแทนลูกน้องทั้งกองทัพได้เลย แต่เลือกที่จะไม่ลงมือเอง เพราะเข้าใจระบบองค์กร และไม่ลงรายละเอียด (มีดาวบริวารตั้งหลายร้อยดวง ฟรีเซอร์จึงเลือกจ้างคนทำงานแทนตัวเอง) เวลาที่ลูกน้องจัดการอะไรเองไม่ได้แล้วจริง ๆ จึงจะสั่งมือขวา-ซ้าย (โดโดเรีย และ ซาร์บอน) หรือ สั่งหน่วยรบกีนิวไปลุย จนปัญหาใหญ่มากจริง ๆ ฟรีเซอร์ถึงจะออกโรงเองสักครั้ง จากคำกล่าวของฟรีเซอร์ มีคนเคยเห็นแค่ร่าง 1 และร่าง 2 เท่านั้น ในจักรวาลนี้ยังไม่เคยมีใครทำให้ฟรีเซอร์ต้องเอาจริงถึงขั้นใช้ร่าง 3 และ 4 มาก่อน ฟรีเซอร์: ทั้งจักรวาลเขาคือตัวร้าย แต่สำหรับพนักงานในองค์กร เขาคือสุดยอดบอส ฟรีเซอร์ยังประเมินความสามารถลูกน้องอย่างเป็นกลางมาก โดยการใช้ “ตัวเลขที่วัดผลได้” มีการแจกจ่ายเครื่องวัดพลังให้พนักงานทุกคนในกองทัพได้ใช้ เพื่อวัดพลังทั้งของศัตรูและของพวกตัวเองอย่างเป็นกลาง สามารถรู้ได้ทันทีว่าพนักงานระดับไหนมีความสามารถเท่าไหร่แล้ว และฟรีเซอร์ยังประกาศออกสื่อเป็นปกติว่าในร่างแรกของตัวเองมีพลังเฉลี่ยคือ 530,000 นับว่าเป็นผู้นำองค์กรที่ประเมินผลงานลูกน้องอย่างไร้อคติเพราะใช้ระบบตัวเลขล้วน ๆ ยังมีสวัสดิการอีกหลายรูปแบบ เช่น ยานพาหนะ, อาวุธทันสมัยสำหรับพนักงานที่ยังไม่ค่อยเก่ง, มีชุดยูนิฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสูง ขนาดตอนเบจิต้ากลายเป็นลิงยักษ์ ชุดก็ยังไม่พัง นอกจากนี้ยังมีเครื่องปฐมพยาบาลสุดไฮเทคสำหรับรักษาลูกน้องที่บาดเจ็บ เรียกว่าสวัสดิการดีมากจัดเต็มสุด ๆ ฟรีเซอร์ยังเป็นคนสุภาพมาก พูดด้วยภาษาสุภาพของญี่ปุ่นที่ลงท้ายด้วย -เดะซุ หรือ -มะซุ ตลอดเวลา เรียกลูกน้องลงท้ายด้วยคำว่า -ซัง ทุกคำ ให้เกียรติลูกน้องเสมอ ไม่เคยจิกหัวเรียกใช้ ทำงานด้วยความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพที่แท้จริง เวลาลูกน้องทำพลาด ก็มีการให้โอกาสแก้ตัวได้ด้วย แถมยังระบุสาเหตุที่ลูกน้องทำผิดพลาดได้อีกต่างหาก เช่น ตอนซาร์บอนเอาชนะเบจิต้าจนบาดเจ็บตกทะเลสาบไป แล้วซาร์บอนรักสวยรักงามไม่กล้าดำน้ำลงไปเช็คว่าเบจิต้าตายแล้วหรือยัง ฟรีเซอร์ระบุสาเหตุที่ซาร์บอนทำงานพลาดได้ทันที ว่าเพราะซาร์บอนกลัวเปียกจึงไม่ยอมดำน้ำ ทำให้ทำงานพลาด และให้โอกาสซาร์บอนได้ทำงานแก้ตัวอีกครั้งด้วย พร้อมกับคาดโทษว่าถ้าทำพลาดเรื่องเดิม ๆ ครั้งต่อไปโทษถึงตายนะจ๊ะ อีกข้อของความใจกว้าง ฟรีเซอร์เปิดกว้างสำหรับคนมีความสามารถโดยไม่เลือกเผ่าพันธุ์สัญชาติ ขนาดโกคูเองก็ยังโดนรีครูทให้เข้าทีมฟรีเซอร์ ถ้าอ้างอิงจากที่กัปตัวกีนิวบอก ทั้ง 5 คนในหน่วยรบกีนิวรวมทั้งฟรีเซอร์ด้วย คือสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์ จึงมีพลังสูงผิดธรรมชาติ กระบวนการทางชีวภาพตามธรรมชาติจะไม่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งขนาดนี้ได้ ฟรีเซอร์เปิดกว้างที่จะจ้างคนเก่ง ๆ เข้าทีมโดยไม่เลือกเผ่าพันธุ์จริง ๆ ประการสุดท้าย ฟรีเซอร์มีการมองการณ์ไกลมากว่ามีบางเผ่าพันธุ์ที่จะลุกฮือขึ้นเป็นคู่แข่งทางธุรกิจได้ จึงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไว้ล่วงหน้าหลายทศวรรษ เพื่อให้กิจการของตัวเองสามารถผูกขาดธุรกิจทำนาบนหลังคนระดับจักรวาลได้แต่เพียงผู้เดียวตลอดไป แล้วยังไม่ต้องทำแผน Succession Plan เพื่อหาผู้สืบทอดตำแหน่งด้วย เพราะฟรีเซอร์เล่นรวมรวม Dragon Ball เพื่อให้ตัวเองเป็น CEO & President ตลอดกาลไปเลย แก้ปัญหาเรื่องหา Successor ให้องค์กรแต่เนิ่น ๆ อีกต่างหาก แม้ว่าฟรีเซอร์ร่าง 2, 3, 4 จะเปลี่ยนบุคลิกไปบ้าง (ร่าง 2 ป่าเถื่อนแบบยากูซ่า, ร่าง 3 เยือกเย็นแต่อัปลักษณ์, ร่าง 4 กลับมาเป็นมืออาชีพแต่ไม่ได้ใช้ภาษาสุภาพ -เดะซุ หรือ -มะซุ เหมือนร่างแรก) แต่ความเป็นนักธุรกิจมืออาชีพและภาวะผู้นำองค์กรของฟรีเซอร์ก็เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ และน่านำไปคิดต่อ เพราะการเสพสื่อบันเทิงให้สนุก ไม่ควรหยุดแค่ความบันเทิง แต่ควรคิดต่อไปแม้ว่าผู้แต่งเรื่องอาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะถ้าผู้เสพสื่อไม่คิดต่อ ไม่ต่อยอดการจินตนาการ ก็อาจจะพลาดโอกาสดื่มด่ำกับคุณค่าใหม่ ๆ ของสื่อบันเทิงนั้นไปอย่างน่าเสียดาย อ้างอิง https://middle-edge.jp/articles/I0000329 https://animeanime.jp/article/2016/05/05/28379.html https://news.nicovideo.jp/watch/nw1560569