กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ: ผู้แลกชีวิตเพื่อกำเนิด "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"

กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ: ผู้แลกชีวิตเพื่อกำเนิด "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว"
สำหรับคุณ “นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษ” คือใคร? แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมมีนักเขียนคนสำคัญในใจแตกต่างกันไป แต่ชื่อหนึ่งที่คงไม่ตกหล่นไปจากโผ คงเป็นชื่อ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) นักเขียนนามอุโฆษผู้เปี่ยมไปด้วยจินตนาการและสไตล์การเล่าเรื่องเป็นเอกลักษณ์ ที่หลายคนคงรู้จักในฐานะเจ้าของผลงาน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) หรือที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1982 ขณะที่อีกหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะภาพแทนความสำเร็จของนักเขียนผู้สร้างสรรค์งานเขียนแนว “สัจนิยมมหัศจรรย์” (Magical Realism) ซึ่งผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกแห่งจินตนาการ ที่อาจเทียบเคียงได้กับสังคมละตินอเมริกาที่บิดเบี้ยวและป่วยไข้… ราวกับถูกสลักโชคชะตาไว้ล่วงหน้าบนแผ่นหนังไม่ต่างจากตัวละครใน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ตลอดชีวิตของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือ “กาโบ” เบื้องหลังงานเขียนอันยิ่งใหญ่ของเขาไม่อาจแยกขาดจากความผันผวนทางการเมือง การต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และรัฐบาลฉ้อฉลที่เปรียบเสมือนโรคประจำถิ่นละตินอเมริกา เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 1927 เป็นลูกชายของ หลุยซา ซันเตียกา มาร์เกซ (Luisa Santiaga Márquez) และ กาเบรียล เอเลียโก การ์เซีย (Gabriel Eligio García) เภสัชกรหนุ่มผู้ละทิ้งบ้านเกิดไปล่าฝันในเมืองใหญ่ แล้วฝากเขาไว้ให้เติบโตในบ้านของยายและตา-นายพันนิโคลัส ริการ์โด มาร์เกซ (Nicolás Ricardo Márquez) นายทหารแห่งพรรคเสรีนิยม ผู้พ่ายแพ้ใน “สงครามพันวัน" สงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนานในโคลอมเบียระหว่างปี 1899-1902 กาโบเติบโตพร้อมกับความทรงจำและเรื่องเล่าที่โอบล้อมบ้านของยายและตาที่ อรากาตากา เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของโคลอมเบีย ที่อยู่ระหว่างภูเขาและทะเลแคริบเบียนอันไพศาล ส่วนหนึ่งของดินแดนละตินอเมริกาที่ลึกลับ ล้าหลัง และเย้ายวน เขาทำความรู้จักตำนานท้องถิ่นเก่าแก่ เรื่องผีสาง และเรื่องราวมหัศจรรย์สารพัดสารพันจากยาย ขณะที่ซึมซับเรื่องราวการต่อสู้ของมวลชน การสังหารหมู่คนงานโรงงานกล้วยอย่างโหดเหี้ยม และวีรกรรมอันองอาจสมัยอยู่ในกองทัพเสรีนิยมจากตา สั่งสมอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดจากเรื่องเล่า-วัตถุดิบชั้นดีที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมของเขาในอนาคตเอาไว้โดยไม่รู้ตัว ก่อนจะย้ายไปอยู่กับพ่อและแม่อีกครั้งหลังตาเสียชีวิต งานเขียนของกาโบในหนังสือพิมพ์ช่วงแรก ๆ อย่าง “ตำนานกะลาสีเรือแตก” (The Story of a Shipwrecked Sailor-1955) ถ่ายทอดเรื่องราวจากประสบการณ์จริงของ หลุยส์ อเลฆานโดร เบลัสโค (Luis Alejandro Velasco) กะลาสีเรือแตกชาวโคลอมเบียที่ห้อยโหนอยู่กลางมหาสมุทรออกมาอย่างเรียบง่าย ทว่าสมจริงอย่างน่าทึ่ง และน่าทึ่งยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมันกลับกลายเป็นเรื่องเล่าเขย่าขวัญรัฐบาลโคลอมเบียโดยที่ไม่มีใครทันได้คาดคิด เพราะปากคำของกะลาสีเรือแตกในเรื่องเล่าของเขาระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เรือลำนั้นต้องประสบหายนะเพราะบรรทุกสินค้าหนีภาษีมาเกินขนาด ตบหน้ารัฐบาลโคลอมเบียที่พยายามปกปิดความจริง ด้วยการบอกประชาชนว่าเรือแตกเพราะพายุและธรรมชาติอันโหดร้าย กาโบจึงกลายเป็น “บุคคลผู้ไม่พึงปรารถนา” ของรัฐบาลโคลอมเบีย เขาใช้ชีวิตในฐานะนักข่าวภาคสนาม รอนแรมไปในประเทศต่าง ๆ ไม่ได้เหยียบแผ่นดินแม่เป็นเวลานานหลายปี งานเขียนอีกชิ้นหนึ่งของกาโบที่แสดงให้เห็นร่องรอยความทรงจำและอิทธิพลของเรื่องเล่าจากตา-ยายในวัยเด็กคือ “ไม่มีใครเขียนจดหมายถึงนายพัน” (No One Writes to The Colonel-1956) เรื่องราวของนายพันนักปฏิวัติผู้พ่ายแพ้ใน “สงครามพันวัน” ผู้ใช้ชีวิตวัยเกษียณกับภรรยา รอคอยเงินบำนาญที่ได้รับคำมั่นสัญญาไว้เมื่อราว 50 กว่าปีก่อน เฝ้าหวังอย่างน่าอดสูว่าจะมีจดหมายแจ้งข่าวเรื่องเงินบำนาญส่งมาถึงเขาบ้าง แน่นอนว่าเรื่องนี้กาโบได้แรงบันดาลใจจากคุณตานักปฏิวัติของเขา ผู้เป็นหนึ่งในอิทธิพลให้เขาตัดสินใจยืนอยู่ฟากฝั่งประชาชนผู้ไม่ยอมถูกใครกดขี่มาโดยตลอด และเส้นทางอาชีพนักข่าวของกาโบ รวมถึงการถือข้างฝ่ายประชาชนนี้เอง ที่ช่วยหล่อหลอมให้งานเขียนของกาโบมีมิติและมุมมองทางการเมืองอันลุ่มลึกยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากเรื่องเล่าของตา-ยายในวัยเด็ก ประสบการณ์ชีวิต และพรสวรรค์การเล่าเรื่องของกาโบแล้ว สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวแคริบเบียนก็เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญในการคลุกเคล้าเรื่องเล่าของเขาให้มีรสพิเศษ ครั้งหนึ่ง มีคนถามกาโบว่าดินแดนชายฝั่งแคริบเบียน อันเป็นสถานที่ที่เขาเติบโตขึ้นมา คือแหล่งกำเนิดเรื่องเล่าแสนมหัศจรรย์พิลึกพิลั่นของเขาใช่หรือไม่ กาโบไม่ได้ปฏิเสธ แต่ตอบกลับไปว่า  “ที่นั่น ทะเลพาดผ่านไปทุกที่ด้วยสีน้ำเงินทุกเฉดเท่าที่จะสามารถจินตนาการถึง มีพายุไซโคลนที่พัดรุนแรงจนบ้านปลิวหายไป หมู่บ้านทั้งโขยงจมหายไปในฝุ่นและอากาศก็ร้อนจนเผาถึงทรวงใน สำหรับคนแคริบเบียนแล้ว ภัยพิบัติและโศกนาฏกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และที่นั่น เรื่องลี้ลับถูกนำมาเล่าต่อกันโดยเหล่าทาส ผสมผสานกับตำนานของพวกอินเดียนแดง ผนวกด้วยจินตนาการแบบสเปนตอนใต้ ผลลัพธ์ของมันคือการมองทุก ๆ สิ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์” กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ: ผู้แลกชีวิตเพื่อกำเนิด "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" ผลพวงแห่งการผสานผสมและก้าวย่างชีวิตของกาโบ นำมาสู่งานเขียนชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา ที่สร้างชื่อเสียงและปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการวรรณกรรม ทำให้คนทั่วโลกจับจ้องดินแดนละตินอเมริกาด้วยความพิศวง ในปี 1966 ระหว่างที่กาโบกำลังเดินทางกับครอบครัว และหวนคำนึงถึงความฝันในวัยเด็กที่อยากจะเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่งจากเรื่องราวของยาย ชั่วขณะความคิดนั้น กาโบตัดสินใจวกรถกลับบ้าน จำนองรถยนต์ ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง เริ่มต้นก้มหน้าก้มตาถ่ายทอดความทรงจำและประสบการณ์อย่างไม่หยุดพักนานถึง 18 เดือน ออกมาเป็นนิยายเรื่องยาวชื่อว่า “Cien años de soledad” หรือที่แปลเป็นชื่อภาษาไทย “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ในช่วงเวลา 18 เดือนอันทรหดนั้น เขาไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรเลย นอกจากกำลังใจที่ดี และการกัดฟันหาเลี้ยงครอบครัวของ เมร์เซเดส เมียรักผู้เป็นหนึ่งในแรงผลักดันความสำเร็จและมิตรสหายที่ยังเชื่อมั่นศรัทธาในตัวเขา  กาโบเคยเล่าถึงประสบการณ์ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า “มันคล้ายกับว่าผมได้อ่านทุกอย่างที่จะมีในหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมจึงกลับเม็กซิโกซิตี แล้วนั่งลงเขียนอยู่ 18 เดือน ตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงบ่ายสามโมงทุกวัน ตอนนั้นผมมีครอบครัวประกอบด้วยภรรยากับลูกชายสองคนที่ยังเป็นเด็กเล็ก ซึ่งผมหาเลี้ยงด้วยการทำงานประชาสัมพันธ์กับปรับแต่งบทภาพยนตร์ แต่ต้องหยุดงานเหล่านี้ทั้งหมดเพื่อเขียนหนังสือ ครอบครัวจึงไม่มีรายได้ ทำให้ผมต้องเอารถไปจำนองและมอบเงินไว้กับเมร์เซเดส และนับจากนั้น เธอก็ต้องรับหน้าที่เช่นเดียวกับพวกผู้หญิงในช่วงสงครามกลางเมืองของโคลอมเบีย คือต้องรับผิดชอบชีวิตของคนในครอบครัวระหว่างที่ผมออกรบ  “เธอได้ประกอบวีรกรรมไว้มากมายครับ เธอจัดการให้ผมมีบุหรี่ กระดาษ และทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้สำหรับงานเขียน เที่ยวยืมเงิน และทำให้ร้านค้ายอมขายของแก่เธอด้วยเงินเชื่อ พอผมเขียนเสร็จก็พบว่าเราเป็นหนี้คนขายเนื้อถึงราว 5,000 เปโซ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมหาศาล ผู้คนในละแวกบ้านลือกันว่าผมกำลังเขียนหนังสือที่สำคัญมากอยู่ พวกพ่อค้าจึงอยากมีส่วนสนับสนุนงานของผม  “มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมพบว่าเมร์เซเดสรับหน้าที่ทั้งหมดตามลำพังไม่ไหวอีกแล้ว ผมจึงหยุดงานเขียนนวนิยาย และทำงานเขียนบทวิทยุชิ้นหนึ่ง แต่ทันทีที่เริ่มทำงานนั้น ผมก็เกิดอาการปวดหัวแบบไมเกรนขนาดหนักจนไม่อาจทนได้ พวกหมอให้ยาสารพัดชนิด แต่อาการกลับไม่ทุเลาเลย ท้ายที่สุดพอผมกลับไปเขียนนวนิยายใหม่ อาการก็หายเป็นปลิดทิ้งไปเอง  “ผมใช้เวลา 18 เดือนจึงเขียนเสร็จ แต่ก็ยังต้องเจอกับปัญหาสารพัด ตอนใกล้จะส่งต้นฉบับ นักพิมพ์ดีดผู้มีต้นฉบับของหลายบทซึ่งไม่มีสำเนา ได้ประสบอุบัติเหตุถูกรถเมล์ชนในเม็กซิโกซิตี ทำให้ต้นฉบับของครึ่งเล่มปลิวกระจายไปทั่วถนนสายนั้น โชคดีที่เธอไม่ถึงกับเสียชีวิต อีกทั้งยังสามารถลุกขึ้นมาเก็บรวบรวมต้นฉบับทั้งหมดได้ดังเดิม ส่วนตอนท้ายสุด เราต้องใช้เงิน 160 เปโซเป็นค่าไปรษณีย์ เพื่อส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์ที่บัวโนสไอเรส ตอนนั้นเมร์เซเดสเหลือเงินอยู่เพียง 80 เปโซ ผมจึงแบ่งส่งต้นฉบับครึ่งหนึ่งไปก่อน แล้วจำนำเครื่องปั่นอาหารกับเครื่องเป่าผมของเมร์เซเดส เพื่อส่งต้นฉบับอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ พอเมร์เซเดสรู้ว่าสมบัติชิ้นสุดท้ายของเราถูกจำนำไปแล้ว เพื่อเป็นค่าส่งไปรษณีย์ เธอก็พูดว่า ‘เอาละ ถึงขั้นนี้ถ้านวนิยายเรื่องนี้ใช้ไม่ได้ เราก็จบเห่กัน’” “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ปรากฏสู่สายตานักอ่านครั้งแรกในปี 1967 ที่บัวโนสไอเรส ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 1970 และกลายเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ในฐานะวรรณกรรมที่เสมือนจุดสุดยอดของกระแส “ละตินอเมริกาบูม” ที่ทำให้โลกจับจ้องละตินอเมริกาด้วยสายตาที่ต่างไปจากเดิม ละตินอเมริกาที่ไม่ใช่ดินแดนแห่งความยากจน ไม่ใช่ประเทศโลกที่สามอีกต่อไป แต่ถูกอธิบายในฐานะดินแดนของคนทรหด ดินแดนของชนชาติที่ไม่ยอมตกเป็นทาสใคร ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือนายทุน ขณะเดียวกันก็เป็นดินแดนที่อบอวลไปด้วยความรัก ความหวัง ความฝัน และโศกนาฏกรรมอันเกิดจากเผด็จการ ไม่ต่างจากชนชาติอื่นในโลกใบนี้ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เปรียบเสมือนประวัติศาสตร์ยาวนานของละตินอเมริกา ที่ถูกย่อส่วนลงมาเป็นเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงอันน่าอัศจรรย์เพียงชั่วระยะร้อยปีในหมู่บ้านมาก็อนโด หมู่บ้านอพยพเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ วางรากและเจริญงอกงาม และ “ครอบครัวบวนเดีย” ตัวแทนของผู้คนที่มีความฝัน ความปรารถนา ซึ่งต้องโดดเดี่ยวจากความผิดหวัง ในฐานะคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบจากความเหลวแหลกของเผด็จการและทุนนิยมที่ถาโถมเข้าใส่ เผชิญหน้าความขัดแย้ง การรบราและช่วงชิงอำนาจ การคืบคลานเข้ามาของทุนนิยม การฉ้อฉลครั้งแล้วครั้งเล่า ทหาร ควันปืน การจลาจล การสังหารหมู่ ความล่มสลายและความเงียบงัน  กาโบถ่ายทอดเรื่องราวที่ว่านี้ด้วยภาษาสเปน ภาษาหลักของแถบละตินอเมริกาอันเปี่ยมเสน่ห์ซับซ้อน ไม่ใช่แค่โครงสร้างไวยากรณ์และรูปประโยคชวนเวียนหัว แต่ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของการผสมคำศัพท์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น มีคำศัพท์ประหลาดที่ตีความได้หลายความหมาย แล้วสอดแทรกเรื่องราวมหัศจรรย์อย่างคนลอยได้ คำทำนายจากแผ่นหนัง และฝนที่ตกลงมาไม่หยุดเป็นเวลาหลายปี เข้าไปในโลกของความจริงอันหดหู่เหล่านั้นได้อย่างแนบเนียน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” จึงเป็นประวัติศาสตร์เหนือจริงทว่าสมจริงอย่างที่ตำราประวัติศาสตร์จริง ๆ เล่มใดก็ไม่สามารถทำได้ และนำความสำเร็จยิ่งใหญ่มาสู่เขา กลายเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลมากกว่า 46 ภาษา ขายไปแล้วกว่า 50 ล้านเล่มทั่วโลก ทั้งยังเป็นแม่แบบความสำเร็จของวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์จนกระทั่งปัจจุบัน เรื่องน่าขำทว่าน่าเศร้าในเวลาเดียวกันท่ามกลางความสำเร็จดังกล่าว คือการที่ความสำเร็จของกาโบนั้นยิ่งใหญ่เสียจนนักเขียนละตินอเมริกาในยุคหลังตกอยู่ใต้เงาของเขา สัจนิยมมหัศจรรย์แทบจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของนักเขียนละตินอเมริกา จนกระทั่งนักเขียนสัญชาติละตินอเมริกาที่เลือกแหวกแนวทางการเขียนออกไปจากสัจนิยมมหัศจรรย์บ้าง กลับถูกวิจารณ์หรือถูกครหาว่า “เหมือนไม่ใช่งานของนักเขียนละตินอเมริกา” อย่างไรก็ดี กาโบเองกลับไม่คิดว่าเรื่องราวในงานเขียนของเขานั้น "มหัศจรรย์" หรือยิ่งใหญ่แต่อย่างใด เขาเคยกล่าวไว้ในสุนทรพจน์ตอบรับรางวัลโนเบลว่า แท้ที่จริงแล้ว ความมหัศจรรย์ในนิยายของเขาไม่ใช่จินตนาการหรือเรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นภาพของโลกและสังคมจริงที่เราต่างอาศัยอยู่ (เหตุการณ์สังหารหมู่คนงานโรงงานกล้วยนับพันที่ถูกทำให้เงียบหายก็เช่นกัน) งานเขียนของเขาจึงเป็นเสมือนคำประกาศจุดยืนทางการเมืองของเขาเอง ที่มุ่งสะท้อนชีวิตและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมละตินอเมริกาด้วยในเวลาเดียวกัน ปี 2020 นี้ นักอ่านชาวไทยจะสามารถสัมผัสเรื่องราวมหัศจรรย์จากปลายปากกาของกาโบได้อย่างใกล้ชิด ผ่าน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ที่เพิ่งมีฉบับแปลจากภาษาสเปนของสำนักพิมพ์บทจร ก่อนจะได้รับชม “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ในรูปแบบซีรีส์ภาษาสเปนจาก Netflix เร็ว ๆ นี้  กาโบได้จากโลกนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2014 หากแต่ชีวิตและลมหายใจของเขายังเสมือนผนึกฝังไว้อยู่ในทุกบรรทัด ทุกตัวอักษรในเรื่องเล่าของเขายังคงรอให้ทุกคนเข้าไปสัมผัส และในทุก ๆ คราวที่เปิดอ่าน สรรพสำเนียงและสุ้มเสียงของเขาจะยังคงดังก้อง มหรสพแห่งความจริงและความมหัศจรรย์จะค่อย ๆ โหมโรง ชี้ชวนให้คนอ่านฉงนสงสัย ประหลาดใจ ร้าวราน และตราตรึงกับความจริง ความลวง ความฝัน และโศกนาฏกรรมที่มนุษย์วนเวียนกระทำต่อกันซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาแล้วกว่าหลายร้อยหลายพันปี   ที่มา https://www.britannica.com/biography/Gabriel-Garcia-Marquez https://en.unesco.org/courier/octobre-1991/interview-gabriel-garcia-marquez https://www.theparisreview.org/interviews/3196/gabriel-garcia-marquez-the-art-of-fiction-no-69-gabriel-garcia-marquez . เรื่อง: ปกรณ์เกียรติ ดีโรจนวานิช