กาคุชูอิน โรงเรียนหลวงญี่ปุ่น: สถานศึกษาที่สงวนไว้สำหรับเหล่าสมาชิกราชวงศ์

กาคุชูอิน โรงเรียนหลวงญี่ปุ่น: สถานศึกษาที่สงวนไว้สำหรับเหล่าสมาชิกราชวงศ์
ย้อนกลับไปยังยุคสมัยที่การปกครองของหลายประเทศยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ละประเทศต่างตั้งสถานศึกษาพิเศษที่อนุญาตให้เด็ก ๆ จากสมาชิกราชวงศ์ หรือลูกหลานขุนนางชั้นสูงเท่านั้นที่จะได้เข้าเรียนในโรงเรียนชั้นนำ ไม่ปะปนกับสามัญชนไร้ยศศักดิ์ ด้วยเหตุผลหลายประการทั้งความปลอดภัย ชนชั้นนำต้องได้รับการศึกษา เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มสร้างโรงเรียนหลวงเพราะประเด็นทางการเมือง กาคุชูอิน (Gakushuin) หรือคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เรียกว่า “กาคุชูโจ” เป็นสถานศึกษาของเหล่าสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานกว่า 170 ปี ตั้งแต่ปี 1847 ในนครหลวงเกียวโต (ณ เวลานั้น) แหล่งข้อมูลหลายแห่งกล่าวตรงกันว่า กาคุชูอินเกิดขึ้นจากความตั้งใจของจักรพรรดินินโกที่ครองราชย์ถึงปี 1846 แต่สิ้นพระชนม์ก่อนลงมือทำ จักรพรรดิโคเมที่ขึ้นครองราชย์ในปี 1847 จึงสานต่อเจตนารมณ์ของพระบิดาด้วยการสั่งให้สร้างโรงเรียนขึ้น จุดประสงค์ของการก่อตั้งกาคุชูอิน เกิดจากจักรพรรดิทรงเล็งเห็นว่าลูกหลานควรได้รับการศึกษา ควบคู่กับความต้องการฟื้นฟูอำนาจการปกครองของจักรพรรดิ เพราะช่วงเวลานั้นอำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่อยู่ในมือของโชกุน หากสมาชิกราชวงศ์ได้รับการศึกษาจะช่วยผลักดันให้ทายาทรุ่นใหม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในสังคมการเมืองมากขึ้น ทำให้หลายทศวรรษเจ้าชายเจ้าหญิงทุกพระองค์จะต้องเข้าเรียนที่กาคุชูอินตั้งเด็ก เปรียบเป็นโรงเรียนหลวงที่ให้ความรู้และบ่มเพาะเยาวชนชนชั้นปกครอง กาคุชูอิน โรงเรียนหลวงญี่ปุ่น: สถานศึกษาที่สงวนไว้สำหรับเหล่าสมาชิกราชวงศ์ หลังเริ่มการเรียนการสอนหลายสิบปี ญี่ปุ่นเกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ เมื่ออำนาจรัฐบาลของโชกุนเอโดะใกล้มาถึงจุดตกต่ำหลังการจากไปของโชกุนโทกุงาวะ อิเอยาสึ กลุ่มการเมืองญี่ปุ่นบางส่วนต้องการให้โชกุนคืนอำนาจการปกครองแก่จักรพรรดิเมจิ เมื่อมีการต่อสู้ กลุ่มซามูไรกับขุนนางเข้ายึดกาคุชูอิน เปลี่ยนสภาพสถานศึกษาให้เป็นแหล่งกบดานชั่วคราว ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ จนกระทั่งฝ่ายจักรพรรดิสามารถขับไล่กลุ่มอำนาจเก่าโชกุนออกจากเกียวโต กาคุชูอินจึงกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง สมเด็จพระจักรพรรดิหลายต่อหลายคนต่างจบการศึกษาจากกาคุชูอินในเมืองเกียวโต จนกระทั่งญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการปฏิรูปเมจิ สิ้นสุดระบอบโชกุน และเริ่มฟื้นฟูอำนาจจักรพรรดิ สมาชิกราชวงศ์ต่างย้ายมาอยู่เมืองหลวงแห่งใหม่อย่าง เอโดะ (ปัจจุบันชื่อโตเกียว) กาคุชูอินก็ย้ายตามมาในปี 1877 มีพิธีเปิดโรงเรียนแห่งใหม่ขึ้นอย่างใหญ่โต แขกในงานล้วนเต็มไปด้วยชนชั้นสูง รวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นที่เป็นประธานเปิดสถานศึกษา แม้จะย้ายสถานที่ กาคุชูอินยังคงสงวนการเรียนการสอนไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ในพระราชโองการด้านการศึกษาซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ‘ราชนิกุลทั้งชายหญิงจะต้องเข้ารับการศึกษาที่กาคุชูอิน’ ตั้งแต่ปี 1884 กาคุชูอินกลายเป็นโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่ต่างรู้จักสถานศึกษาที่สงวนไว้แค่ราชนิกุล ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกาคุชูอินเริ่มสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ยอมให้ลูกหลานของขุนนางหรือคนสำคัญที่ทำงานใกล้ชิดกับสมเด็จพระจักรพรรดิได้เข้าเรียนด้วย โดยเด็ก ๆ จะได้เรียนวิชาการพื้นฐาน กีฬา ศิลปะการต่อสู้แบบญี่ปุ่น และการขี่ม้า [gallery columns="2" size="full" link="none" ids="24530,24529"] หลังจากย้ายเมืองหลวง ปฏิรูประบบใหม่หลายด้าน เปิดประเทศ รับวัฒนธรรมของต่างชาติมากขึ้น ชาวญี่ปุ่นบางส่วนเริ่มเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมสถานศึกษาชื่อดังถึงเปิดสอนให้แค่คนบางกลุ่ม คัดเลือกจากคุณสมบัติที่ทางโรงเรียนมองว่าเหมาะสมเท่านั้น (มีฐานันดรศักดิ์) หากเป็นลูกชาวบ้าน คนชนชั้นกลางไร้บรรดาศักดิ์หรือใกล้ชิดกับการเมือง แต่มีเงินพอส่งเด็ก ๆ เข้าเรียนในกาคุชูอิน พวกเขาจะสามารถส่งลูกหลานไปเรียนร่วมกับสมาชิกราชวงศ์ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติการเข้าเรียนของนักเรียนจนญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1947 สองปีหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในประเทศญี่ปุ่น เกิดการเปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย ชาวตะวันตกและคนญี่ปุ่นหัวก้าวหน้ามองว่าการจำกัดการศึกษาแก่กลุ่มขุนนางกับเชื้อพระวงศ์เป็นสิ่งล้าสมัย เห็นควรว่าระบอบการศึกษาต้องถูกเปลี่ยนแปลง โรงเรียนสำหรับชนชั้นสูง แต่เดิมที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวังหลวง (Imperial Household Agency) ถูกย้ายไปอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่ถูกควบคุมโดยจักรพรรดิ ทำให้กาคุชูอินเริ่มเปิดรับเด็กนักเรียนจากครอบครัวสามัญชน ให้มีโอกาสเรียนร่วมกับเหล่าเจ้าชายเจ้าหญิง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กาคุชูอินในรูปแบบใหม่กลายเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ ที่ให้เด็ก ๆ ร่ำเรียนต่อเนื่องกันตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาแยกชาย-หญิง วิทยาลัยสตรี และมหาวิทยาลัย พอเป็นเอกชนก็สามารถปรับหลักสูตรการศึกษาได้ง่ายขึ้น เริ่มให้ชั้นประถมศึกษามีการเรียนการสอนแบบสหศึกษา ทว่าคนส่วนใหญ่มักมองว่ากาคุชูอินยังคงเต็มไปด้วยแนวคิดอนุรักษนิยมอยู่พอสมควร กาคุชูอิน โรงเรียนหลวงญี่ปุ่น: สถานศึกษาที่สงวนไว้สำหรับเหล่าสมาชิกราชวงศ์ ปัจจุบันเชื้อพระวงศ์รุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนที่กาคุชูอินเสมอไป หากพระองค์ต้องการเรียนในโรงเรียนอื่นดังเช่นเจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ ที่ไม่เคยเรียนที่กาคุชูอินมาก่อน หรือเจ้าหญิงสึงุโกะแห่งทากามาโกะ ตัดสินใจย้ายไปเรียนต่อที่วาเซดะ รวมถึงเจ้าหญิงอายาโกะที่เรียนในมหาวิทยาลัยนานาชาติโจไซ จนพบรักกับหนุ่มสามัญชนจนยอมสละฐานันดรศักดิ์ ส่วนคนทั่วไปที่อยากส่งลูกหลานไปเรียนกาคุชูอินก็สามารถทำได้ด้วยการจ่ายค่าเทอมราคาสูง ตามคอนเซ็ปต์สถานศึกษาสำหรับชนชั้นสูงที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง   ที่มา http://150.249.210.108/ad/kikaku/english/history/ https://www.gwc.gakushuin.ac.jp/english/history.html https://www.gakushuin.ac.jp/ad/kikaku/english/history/vi.html#:~:text=In%20March%201847%2C%20Gakushuin%20was,the%20imperial%20plaque%20%E2%80%9CGakushuin.%E2%80%9D https://www.univ.gakushuin.ac.jp/en/about/introduction/history.html   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์