การ์ฟีลด์: ต้นตำรับแมวอ้วน จอมขี้เกียจ ที่สอนทุกคนว่า - ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’

การ์ฟีลด์: ต้นตำรับแมวอ้วน จอมขี้เกียจ ที่สอนทุกคนว่า - ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’
“เราเติบโตมาในยุคที่ผู้คนต้องมานั่งรู้สึกผิดที่ตัวเองกินหรือนอนเยอะเกินไป แต่การ์ฟีลด์ไม่เป็นแบบนั้น มันรักการกิน แถมยังโอเคมากกับการนอนเฉย ๆ มันทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองน้อยลง” จิม เดวิส (Jim Davis) นักวาดการ์ตูนผู้ให้กำเนิด การ์ฟีลด์ (Garfield) ตัวการ์ตูนแมวส้มตัวอ้วนผู้แสนโด่งดัง กล่าว ก่อนจะมาถึงยุคที่ใคร ๆ ก็มีเทคโนโลยี มีโซเชียลมีเดียเพื่อเสพข่าวสาร ผู้คนก็มีหนังสือพิมพ์ไว้สำหรับติดตามข่าวในชีวิตประจำวันมาก่อน แต่นอกจากจะใช้อ่านข่าว อ่านบทความ หรือบทรีวิวภาพยนตร์ ในช่วงปี 1970s คอลัมน์การ์ตูนเคยทำให้ชาวอเมริกันหลายคนเฝ้ารอที่จะได้อ่านมุกตลกสั้น ๆ เพื่อความบันเทิงรายวันมาแล้ว แม้จะไม่ใช่การ์ตูนทุกเรื่องที่ทำได้แบบนั้น แต่การ์ตูนสามช่องที่มีตัวละครหลักเป็นแมว มนุษย์ และสุนัขอีกหนึ่งตัวกลับทำได้ นั่นคือความสำเร็จของการ์ฟีลด์ และต้องขอบคุณจิม เดวิส ที่ในที่สุดหนังสือพิมพ์อเมริกาก็มีการ์ตูนสามช่องที่มีแมวเป็นตัวหลักกับเขาเสียที หลังจากที่ใคร ๆ ต่างก็ตกหลุมรักเจ้าหมา สนูปี (Snoopy) จากการ์ตูนเรื่อง Peanuts มาเนิ่นนาน “ผมโตมาในฟาร์มที่นอกจากจะมีวัว ไก่ และม้า เรายังเลี้ยงแมวไว้อีก 25 ตัว” เดวิสเริ่มต้นเล่า ตลอดช่วงชีวิตวัยเด็กของเขาไม่ค่อยมีโอกาสได้ออกไปเล่นกับเพื่อน เพราะมีร่างกายอ่อนแอ วันเวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการวาดรูป และมันก็กลายมาเป็นอาชีพที่เดวิสใฝ่ฝัน “เมื่อก่อนฝีมือผมแย่ แต่เพราะคำพูดของชัค โจนส์ (Chuck Jones) ที่บอกว่า ‘ศิลปินทุกคนต้องเคยมีภาพวาดแย่ ๆ เป็นแสนภาพ เมื่อผ่านแสนภาพนั้นไป ทุกงานของเราจะออกมาดี’ ผมเลยวาดต่อ การ์ฟีลด์: ต้นตำรับแมวอ้วน จอมขี้เกียจ ที่สอนทุกคนว่า - ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’ เดวิสเริ่มต้นสายอาชีพนักวาด ด้วยการทำงานเป็นผู้ช่วยของทอม ไรอัน (Tom Ryan) นักวาดการ์ตูนชื่อดัง เจ้าของผลงาน Tumbleweeds หลังจากฝึกฝีมือด้วยการเป็นผู้ช่วยอยู่หลายปี ในที่สุดเดวิสก็คิดอยากจะมีผลงานของตัวเองบ้าง อาจเพราะเขาเป็นคนรักสัตว์ Gnorm Gnat ผลงานการ์ตูนเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์ในนามของเขา จึงเป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของแมลงวันตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘โนม’ ถึงแม้แก๊กที่เขียนลงไปจะตลกดี แต่ก็น่าเสียดายที่ตัวละครแมลงวันดูเหมือนจะไกลตัวผู้อ่านไปหน่อย กระแสตอบรับของ Gnorm Gnat ที่แม้ตีพิมพ์ไปไม่นาน แต่ก็แผ่วลงเรื่อย ๆ ทำให้คอลัมน์การ์ตูนของ The Pendleton Times หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมืองเพนเดิลตัน รัฐอินเดียนา ตัดสินใจถอดการ์ตูนประจำสัปดาห์เรื่องนี้ออก เดวิสจึงต้องกลับมาออกแบบคาแรคเตอร์ส่งไปใหม่ เพื่อให้อาชีพนักวาดของเขาไม่จบลง เขาย้อนนึกไปถึงชีวิตสมัยเด็กในฟาร์ม และแมวจำนวนมากที่คุณย่าเลี้ยงไว้ เดวิสนึกขึ้นได้ว่า ‘แมว’ คือสัตว์ที่เขามองข้ามไป ผู้คนอาจจะไม่อินกับแมลง แต่คนรักแมวน่ะมีอยู่ทั่วโลก นอกจากเจ้าแมวสุดคลาสสิกที่ขยันไล่จับหนูอย่าง ‘ทอม’ แล้ว ทำไมเขาไม่เคยเห็นใครหยิบแมวมาเป็นตัวหลักในการ์ตูนแก๊กบ้าง  แล้วก็เป็นตอนนั้นเองที่ ‘การ์ฟีลด์’ ถือกำเนิดขึ้น เดวิสออกแบบพื้นเพของการ์ฟีลด์ โดยบอกว่ามันเป็นแมวที่เกิดและโตมาในร้านอาหารอิตาเลียน เพราะได้กินของอร่อยทุกวัน การ์ฟีลด์จึงค่อย ๆ หลงรักลาซานญ่า และเพราะมันมักจะแอบขโมยลาซานญ่าของร้านกินอยู่บ่อย ๆ คุณป้าเลโอนี เจ้าของร้านจึงทนไม่ไหว หล่อนตัดสินใจมอบการ์ฟีลด์ให้ร้านขายสัตว์เลี้ยง เพื่อให้คนใจดีรับมันไปดูแลแทน แต่เพราะการ์ฟีลด์เป็นแมวนิสัยเสียจึงไม่มีใครรับเลี้ยงอยู่นาน ก่อนจะได้พบกับ จอน อาร์บัคเคิล (Jon Arbuckle) ชายหนุ่มใจดีรักสัตว์ เขาตัดสินใจรับมันมา แม้ตัวเองจะมีหมาชื่อ โอดี (Odie) อยู่แล้วก็ตาม การ์ฟีลด์: ต้นตำรับแมวอ้วน จอมขี้เกียจ ที่สอนทุกคนว่า - ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’ เรื่องราวของการ์ฟีลด์และครอบครัวใหม่เริ่มต้นขึ้นในปี 1976 บนหน้าการ์ตูนแก๊กสามช่องของ The Pendleton Times ตอนแรกเดวิสตั้งชื่อการ์ตูนเรื่องนี้ว่า ‘จอน’ ซึ่งมาจากชื่อของจอน อาร์บัคเคิล เจ้านายของการ์ฟีลด์ แต่เพราะอุปนิสัยเจ้าเล่ห์ ขี้แกล้ง และขี้ประชดประชัน การ์ฟีลด์จึงสร้างความขบขัน และเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้อ่านได้มากกว่า ในเดือนกันยายน ปี 1977 เดวิสจึงตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนมาใช้ ‘การ์ฟีลด์’ เป็นชื่อเรื่องแทน เดวิสหวังไว้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้น่าจะตีพิมพ์ต่อไปได้สัก 3 ปี ก่อนที่ผู้คนจะเบื่อ แต่กลายเป็นว่าหลังปล่อยการ์ฟีลด์ไปได้ไม่กี่เดือน Chicago Sun Times หนังสือพิมพ์อีกเล่มที่ตีพิมพ์การ์ฟีลด์ ตัดสินใจถอดการ์ตูนเรื่องนี้ออก กองบรรณาธิการบอกว่า กระแสตอบรับของการ์ฟีลด์ไม่ค่อยดี และพวกเขาก็มีการ์ตูนอีกเรื่องที่คิดว่าจะดึงดูดความสนใจได้มากกว่า แต่เพราะ 3 สัปดาห์ต่อมา สำนักพิมพ์ได้รับจดหมายกว่าพันฉบับ เรียกร้องให้เอาการ์ฟีลด์กลับมา พวกเขาจึงได้รู้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีแฟน ๆ รออ่านอยู่มากแค่ไหน “การ์ฟีลด์มีแฟนคลับอยู่ในทุกช่วงวัย อย่างเด็ก ๆ ก็รักแมวที่ชอบแกล้งสุนัข วัยรุ่นรักเวลาที่การ์ฟีลด์ทำตัวมีอำนาจกว่าเจ้าของ ส่วนคนวัยผม แน่นอนว่าเพราะเขาเกลียดการออกกำลังกายและการไดเอท” เดวิสเล่าว่าช่วงแรกที่มีการตีพิมพ์การ์ฟีลด์ เคยมีคนรอบข้างออกความเห็นว่ามันเป็นแมวอ้วนหน้าตาน่าเกลียด แต่เดวิสบอกว่ามันคือเอกลักษณ์ของแมวตัวนี้ “ถ้าเขาลดน้ำหนัก นั่นหมายถึงจุดจบของการ์ฟีลด์” แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาวิธีการวาดรูปร่างของการ์ฟีลด์จะเปลี่ยนไปบ้าง แต่มันก็ไม่เคยเปลี่ยนเป็นแมวผอม “การ์ฟีลด์ไม่ได้เพอร์เฟกต์ และเขาไม่เคยพยายามที่จะเป็นแบบนั้น เขามีความสุขกับตัวเอง และคนรอบตัวก็มีความสุขไปกับเขาด้วย ที่จริงผมคิดว่า เขาคือ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’ ที่เราทุกคนมีอยู่ในตัว และนั่นก็ทำให้คนอ่านทั่วอเมริการู้สึกผูกพันกับเขา” การ์ฟีลด์: ต้นตำรับแมวอ้วน จอมขี้เกียจ ที่สอนทุกคนว่า - ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’ การ์ฟีลด์มักจะบอกอยู่เสมอว่า Diet หมายถึง “Die with A T” มันขออยู่แบบอ้วน ๆ อย่างนี้ดีกว่า ใครจะมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือมาว่าก็ค่อยแก้แค้น (แบบแสบ ๆ คัน ๆ) กันไป “เราเติบโตมาในยุคที่ผู้คนต้องมานั่งรู้สึกผิดที่ตัวเองกินหรือนอนเยอะเกินไป ทำไมไม่ออกกำลังกายนะ ทำไมเวลาว่างไม่ทำอะไรที่มีประโยชน์ การ์ฟีลด์ไม่เป็นแบบนั้น มันรักการกิน แถมยังโอเคมากกับการนอนเฉย ๆ ผมว่ามันทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองน้อยลง” แม้อุปนิสัยชอบแกล้ง แถมยังขี้ประชดของการ์ฟีลด์ จะทำให้ผู้อ่านมองเจ้าแมวตัวนี้ ว่านิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เพราะทุกครั้งที่ จอน เจ้านายผู้ขี้อาย แถมยังเข้าสังคมไม่เก่งสุด ๆ กลับบ้านมาด้วยความท้อแท้ การ์ฟีลด์ก็มักจะอยู่ข้าง ๆ และเป็นกำลังใจให้เขาเสมอ โอดี หมาที่การ์ฟีลด์ชอบแกล้ง ก็ยังได้รับความรักจากเขาเป็นครั้งคราว เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ถึงแมวตัวนี้จะปากร้าย แต่มันก็ยังใจดี และรักครอบครัวของตัวเองมาก เดวิสบอกว่าคาแรคเตอร์ของการ์ฟีลด์ แท้จริงแล้วมาจากคุณปู่แท้ ๆ ของเขา แม้แต่ชื่อของมันก็ได้มาจาก เจมส์ เอ. การ์ฟีลด์ เดวิส (James A. Garfield Davis) ชื่อจริงของปู่เขาด้วย “ปู่ผมเป็นคนตัวใหญ่ เคร่งขรึม แต่ภายในเขาเหมือนตุ๊กตาหมี” เดวิสเล่า “เขามีดวงตาที่อ่อนโยนแบบคุณมองแล้วรู้สึกได้ เช่นเดียวกับการ์ฟีลด์ ผมอยากให้คนมองว่าเจ้าแมวอารมณ์ร้ายตัวนี้มีจิตใจดี เพราะมันเป็นแบบนั้น” ผ่านไป 40 กว่าปี การ์ฟีลด์ก็ยังครองตำแหน่งแมวนิสัยไม่ดีที่หลายคนหลงรัก ต่อให้รูปร่างหน้าตาจะเปลี่ยนไปบ้าง (ตามแต่ฝีมือของผู้ช่วยนักวาดที่เปลี่ยนไป) แต่เอกลักษณ์อย่างสายตาเบื่อหน่าย พุงอ้วนกลม และนิสัยสุดขี้เกียจก็ยังไม่หายไปไหน มันยังคงสะท้อนภาพลักษณ์ไม่สมบูรณ์แบบในตัวผู้คนต่อไป และนั่นก็อาจเป็นเสน่ห์ ที่ทำให้ทุกคนสบายใจทุกครั้งที่ได้เห็นมัน การ์ฟีลด์: ต้นตำรับแมวอ้วน จอมขี้เกียจ ที่สอนทุกคนว่า - ไม่เห็นเป็นไร ถ้าเราจะไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’   ที่มา https://www.scmp.com/magazines/post-magazine/long-reads/article/2157090/garfield-cartoon-cat-turns-40-how-his-creator https://www.orlandosentinel.com/news/os-xpm-2004-06-11-0406100374-story.html https://www.mentalfloss.com/article/59797/20-things-you-might-not-know-about-garfield https://www.washingtonpost.com/news/comic-riffs/wp/2017/03/01/is-garfield-a-boy-how-a-cartoon-cats-gender-identity-sparked-a-war-on-wikipedia/