ความตายของ ‘จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd)’ ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติทั่วโลก

ความตายของ ‘จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd)’ ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติทั่วโลก
“ผมหายใจไม่ออก (I can't breathe.) ”   เสียงของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ก่อนสิ้นลมหายใจดังก้องอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลก หลังเหตุการณ์ความรุนแรงและโหดร้ายของของตำรวจอเมริกันที่ทำเกินกว่าเหตุจนจอร์จ ฟลอยด์เสียชีวิตในเวลาต่อมา ปลุกกระแสต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและ Black Lives Matter กลับมาอีกครั้ง   เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมาเมื่อจอร์จ ฟลอยด์เดินเข้าไปในร้าน Cup Foods ซึ่ง Mike Abumayyaleh เจ้าของร้านกล่าวว่าฟลอยด์เป็นลูกค้าประจำที่แสนเป็นมิตรและไม่เคยสร้างปัญหาใด ๆ แต่วันเกิดเหตุเขาไม่ได้อยู่ที่ร้าน และมีพนักงานอีกคนอยู่แทน    วันนั้นฟลอยด์เดินเข้าไปซื้อบุหรี่หนึ่งซอง ยื่นธนบัตร 20 ดอลลาร์ที่เคาน์เตอร์ แต่แล้วพนักงานก็โทรไปที่ 911 เพื่อรายงานกับตำรวจว่าเงินที่ฟลอยด์ให้มานั้นเป็นธนบัตรปลอม    เมื่อตำรวจมาถึง พวกเขาไล่ตามรถฟลอยด์ ก่อนจะจับตัวไว้แล้วใส่กุญแจมือ เจ้าหน้าที่พยายามให้ฟลอยด์ขึ้นรถตำรวจแต่เกิดการขัดขืน    ฟลอยด์ล้มลงกับพื้น ขณะที่เขานอนคว่ำหน้าอยู่นั้น นายตำรวจที่ชื่อว่า เดเร็ค เชาวิน (Derek Chauvin) ได้กดเข่าซ้ายลงไประหว่างศีรษะและลำคอของฟลอยด์ โดยกดค้างไว้อย่างนั้นนานหลายนาที   ในภาพที่บันทึกจากกล้องบอดี้แคม (bodycam) ของตำรวจ ฟลอยด์พูดคำว่า ‘หายใจไม่ออก’ มากกว่า 20 ครั้ง อ้อนวอนถึงแม่และร้องขอตำรวจว่า “ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรด” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า    เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 8 นาที เชาวินปลดเข่าออกจากคอของเขา   จอร์จ ฟลอยด์ เงียบ นิ่ง ไม่ไหวติงหรือตอบสนองสิ่งใด หลังจากนั้นเขาถูกนำตัวส่งไปยังศูนย์การแพทย์เฮนเนพินเคาน์ตี (the Hennepin County Medical Center) และพบว่าเสียชีวิตในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา   "วิธีที่เขาตายมันไร้เหตุผลสิ้นดี เขาทั้งวิงวอนและร้องขอชีวิต เมื่อคุณพยายามอย่างหนักที่จะศรัทธาในระบบที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคุณ เมื่อคุณแสวงหาความยุติธรรมด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คุณก็ไม่ได้มันมา" คริสโตเฟอร์ แฮร์ริส (Christopher Harris) เพื่อนสนิทของฟลอยด์กล่าวถึงโศกนาฏกรรมในครั้งนี้   นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของความโหดร้ายที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว เพราะก่อนหน้า เคยมีเหตุการณ์ที่ชาวแอฟริกันอเมริกันหลายคนถูกกระทำเกินกว่าเหตุ แต่ผู้ก่อเหตุกลับไม่ได้รับโทษอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นอาห์มูด อาร์เบอรี (Ahmaud Arbery) ที่ถูกยิงขณะวิ่งออกกำลังกายเพราะถูกกล่าวหาว่าคล้ายกับผู้ต้องสงสัยคดีลักทรัพย์ และบรีออนนา เทย์เลอร์ (Breonna Taylor) ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบยิงทั้งหมด 8 ครั้งและเสียชีวิตในแฟลต    หรือหากย้อนกลับไปนานกว่านั้น คือกรณีเทรย์วอน มาร์ติน (Trayvon Martin) เด็กชายแอฟริกันอเมริกันอายุ 17 ปี ถูกยิงในร้านสะดวกซื้อขณะกระทบกระทั่งกับชายอเมริกันในร้าน แต่กว่าชายคนนั้นจะถูกจับตัวไปดำเนินคดี คนอเมริกันกว่า 1.3 ล้านคนต้องร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ตำรวจจับเขา และตั้งข้อหา ฆาตกรรมโดยไม่เจตนา ซึ่งเป็นที่มาของกระแส Black Lives Matter เพื่อทวงความยุติธรรมให้กับเทรย์วอน มาร์ติน   บาดแผลที่สะสมมาเป็นเวลานาน บวกรวมกับคลิปวีดิโอของจอร์จ ฟลอยด์ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกรับรู้เรื่องนี้ และปลุกเร้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   26 พฤษภาคม ตำรวจทั้ง 4 นายถูกไล่ออกและถูกดำเนินคดีข้อหาฆาตรกรรม ขณะที่ก่อนหน้านี้คดีลักษณะดังกล่าวมักจะถูกเพิกเฉย    สหรัฐอเมริกาเริ่มมีการออกกฎหมายสั่งห้ามตำรวจล็อกคอผู้ต้องสงสัย    ผู้ประท้วงนับร้อยเริ่มออกมายังถนนในมินนีแอโพลิส ทำลายรถและสถานีตำรวจ ก่อนการประท้วงจะเริ่มลุกลามไปกว่า 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา และขยับขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างในเมืองบริสตอล (Bristol) ประเทศอังกฤษ ผู้ประท้วงโยนรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) ทิ้งที่ท่าเรือ เพราะเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน  คือพ่อค้าทาสในศตวรรษที่ 17 ยุคที่ชาวแอฟริกันนับล้านถูกขายเพื่อใช้แรงงาน ส่วนในสหรัฐอเมริกา รูปปั้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสก็ถูกโค่นลงเช่นเดียวกัน เพราะโคลัมบัสเป็นผู้บุกเบิกดินแดนที่บุกรุกชนพื้นเมืองดั้งเดิมและนำไปสู่การใช้แรงงานทาส   ส่วนในโลกออนไลน์ แฮชแท็ก #blacklivesmatter ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ รวมทั้งเหล่าศิลปิน คนดังและนักกีฬาได้ออกมาเป็นกำลังใจและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฟลอยด์      รายการโทรทัศน์หลายช่องที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติและมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ถูกระงับการฉาย    หลายแบรนด์ดังระดับโลกออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ Black Lives Matter    และที่สำคัญ ผู้คนทั่วไปออกมาพูดถึงการเหยียดและการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่พวกเขาต้องเผชิญ ทั้งเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ และความไม่เท่าเทียมท้านอื่น ๆ เช่น เพศ ศาสนา ความเชื่อ รูปลักษณ์ภายนอก ฯลฯ เผยให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นปัญหาสากลที่สร้างความปวดร้าวให้ผู้คนทั่วโลกมาเป็นเวลานาน    ความตายของจอร์จ ฟลอยด์จึงนับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่สอนให้เรามองเพื่อนมนุษย์ท่ามกลางความหลากหลายอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น รวมทั้งสะท้อนให้เห็นความโหดร้ายและบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติที่โลกไม่ควรลืม   เรื่อง ธัญญารัตน์  โคตรวันทา   ที่มา