อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช นายทหารผู้วางรากฐานการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนพิการในสังคมอเมริกัน

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช นายทหารผู้วางรากฐานการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนพิการในสังคมอเมริกัน

นายทหารผู้วางรากฐานการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนพิการในสังคมอเมริกัน

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช นายทหารผู้วางรากฐานการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อคนพิการในสังคมอเมริกัน ผู้ทำให้เกิดกฎหมายที่ได้รับการขนานนามว่า “ประกาศอิสรภาพของคนพิการอเมริกันในศตวรรษที่ 20” เมื่อพูดถึงประธานาธิบดีคนที่ 41 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อว่า จอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์คเกอร์ บุช (George H. W. Bush) หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออกว่ากำลังกล่าวถึงใคร แต่หากเรียกว่า “ประธานาธิบดีบุชผู้พ่อ” คนไทยอาจคุ้นชินมากกว่า เพราะลูกชายของเขา จอร์จ วอล์คเกอร์ บุช (George W. Bush) คือประธานาธิบดีคนที่ 43 ของสหรัฐอเมริกา นั่นเอง และเมื่อจะพูดถึงประสบการณ์ในการทำงานของบุชนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ผ่านการทำหน้าที่ต่างๆ มาอย่างโชกโชน ตั้งแต่ นายทหารนาวิกโยธิน นักบิน เอกอัครราชทูต ผู้อำนวยการหน่วยซีไอเอ (CIA) ตลอดจนการเข้ามาสู่เวทีการเมือง ด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสภาคองเกรสจากมลรัฐเท็กซัส จนกระทั่งเขาได้เข้ามาสวมบทบาทรองประธานาธิบดี ในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลาต่อมา  ในช่วงการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันผู้นี้ อาจมีภาพลักษณ์และผลงานผ่านนโยบายเกี่ยวกับด้านการปราบปรามและการทำศึกสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามปราบยาเสพติดบ้าง สงครามในปานามาบ้าง หรือที่กล่าวขวัญกันอย่างมากคือสงครามอิรักบ้าง แต่หลายท่านอาจไม่ค่อยทราบว่า บุชเองเป็นผู้ผลักดันและนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง ที่นำไปสู่การยกระดับสังคมอเมริกันให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น กล่าวให้ชัดเจนคือ ข้อเท็จจริงของการที่คนพิการถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการปฏิเสธการจ้างงานในสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยมากและเป็นปัญหาเรื้อรังมาโดยตลอด จนมาในปี 1973 อดีตประธานาธิบดีเรแกนได้ลงนามประกาศใช้กฎหมายอย่าง Rehabilitation Act หรือ Rehab Act ที่พยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐเลือกปฏิบัติ และต้องช่วยเหลือหรือพิจารณาเป็นการพิเศษในการจ้างงานคนพิการในโครงการต่างๆ ในส่วนที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ฯลฯ จนกระทั่ง 17 ปีต่อมา ในปี 1990 ภายใต้การบริหารประเทศของบุช เขาได้ลงนามกฎหมาย American with Disabilities Act หรือที่คนอเมริกันเรียกสั้นๆ ว่า ADA หลังจากที่ลงนามแล้ว เขาได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ในวันนี้ ผมเองได้ลงนามในกฎหมายที่สำคัญยิ่งอย่าง American with Disabilities Act นับจากนี้ไป ชาย หญิง และเด็กที่พิการ จะสามารถผ่านประตูต่างๆ ที่ถูกปิดไว้ สู่ยุคใหม่แห่งความเท่าเทียม อิสระ และเสรีภาพ” ภายหลังจากกฎหมายฉบับนี้ได้ประกาศใช้แล้ว กฎหมายฉบับดังกล่าวก็ได้รับการยกย่องจากชาวอเมริกันและนักวิชาการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับคนพิการ เพราะเป็นการปฏิรูประบบการคุ้มครองสิทธิคนพิการในสังคมอเมริกันอย่างกว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น ผ่านการรับรองว่าสิทธิของคนพิการจะไม่ถูกล่วงละเมิดผ่านการเลือกปฏิบัติทั้งในการจ้างงาน ที่อยู่อาศัย การให้บริการสาธารณะด้านต่างๆ การคมนาคม ความเป็นอยู่ทางด้านต่างๆ ของรัฐ ฯลฯ ด้วยระบบการคุ้มครองข้างต้น จึงนำไปสู่การขนานนามกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น “ประกาศอิสรภาพของคนพิการอเมริกันในศตวรรษที่ 20” อันส่งผลให้นโยบายต่างๆ ของรัฐต้องอยู่บนหลักความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติตามอำเภอใจเพียงเพราะเขาเป็นคนพิกลพิการไม่ได้ นี่คือผลงานของอดีตประธานาธิบดีคนที่ 41 ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประธานาธิบดี “บุชผู้พ่อ” ซึ่งใครหลายๆ คนอาจไม่ค่อยทราบกันมากนัก ขอไว้อาลัยต่อการจากไปอย่างสงบของ Mr. (Former) President   เรื่อง: ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย