จิลล์ ฮิคส์ : ความรัก ความเกลียด ความตาย บทเรียนสุดท้ายที่เปลี่ยนชีวิตเหยื่อจากเหตุระเบิดลอนดอน

จิลล์ ฮิคส์ : ความรัก ความเกลียด ความตาย บทเรียนสุดท้ายที่เปลี่ยนชีวิตเหยื่อจากเหตุระเบิดลอนดอน
เช้าตรู่ของวันที่ 7 กรกฎาคม เมื่อ 15 ปีที่แล้ว จิลล์ ฮิคส์ (Gill Hicks) คงนึกไม่ถึงเลยว่า เธอจะต้องพบเจอกับประสบการณ์สะเทือนขวัญ ขณะเดียวกันก็เป็น 40 นาทีที่มีค่าที่สุดที่เธอได้ตระหนักว่า อะไรคือสิ่งสำคัญกับชีวิตกันแน่ และไม่ว่าจะด้วยปาฏิหาริย์หรืออะไรก็แล้วแต่ หากเธอรอดจากเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพครั้งนี้ไปได้ แม้จะเสียขาทั้ง 2 ข้างไป แต่เธอสัญญาจะใช้ชีวิตให้แตกต่างจากที่เคยเป็นมา มันเป็นเวลาประมาณ 9 โมงเช้าที่ชาวลอนดอนต่างก็เร่งรีบ ฮิคส์บอกว่าวันนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่วันที่เธอไปทำงานสายกว่าปกติ ท่ามกลางผู้คนมากมายที่เดินขวักไขว่ ไม่มีใครสนใจเรื่องราวของใครทั้งนั้น พวกเขาก็แค่บังเอิญขึ้นรถไฟใต้ดินขบวนเดียวกัน อีกเดี๋ยวก็ต้องแยกกันไป แต่ไม่ใช่กับมือระเบิดที่กำลังจ้องมองและรอจังหวะอย่างเงียบเชียบ “ฉันไม่เห็นเขาหรอก จริง ๆ แล้ว ฉันไม่เห็นใครเลย เหมือนปกติที่ไม่มีใครมองใครบนรถไฟ แต่เขาคงเห็นฉัน ฉันเดาว่าเขาคงจ้องมองพวกเราทุกคน ขณะที่มือกำลังสัมผัสปุ่มกดระเบิด” ฮิคส์เริ่มต้นเล่า เธอบอกว่ากว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นเหยื่อจากเหตุระเบิดพลีชีพ ก็เป็นตอนที่เธอฟื้นขึ้นมาที่โรงพยาบาลแล้ว ขณะอยู่ในเหตุการณ์ เธอไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น เธอแค่ได้ยินเสียงบางอย่างดังกึกก้อง จากนั้นก็มีคนกรีดร้อง แล้วทุกอย่างก็มืดดับลงครู่หนึ่ง เธอมีสติกลับมาได้เพราะกลิ่นเหม็นไหม้ มันผสมระหว่างกลิ่นของเหล็กกับเนื้อที่ถูกเผา ฮิคส์กวาดตามองรอบ ๆ แม้ว่าควันจะทำให้มองอะไรไม่ชัดเจนนัก แต่เธอก็เห็นว่ามีร่างไร้วิญญาณนอนเกลื่อนกลาด ฮิคส์กลับมาสำรวจตัวเองและพบว่าขาทั้งสองข้างปกคลุมด้วยเลือด แต่ทำไมมันกลับไม่รู้สึกเจ็บ ที่จริง เธอไม่รู้สึกอะไรเลย มันทั้งมึนเบลอ เงียบเชียบ และเหน็บหนาว  ฮิคส์บอกว่า มันคงเป็นตอนที่เธอกำลังเผชิญหน้ากับความตาย จิลล์ ฮิคส์ : ความรัก ความเกลียด ความตาย บทเรียนสุดท้ายที่เปลี่ยนชีวิตเหยื่อจากเหตุระเบิดลอนดอน เธอนำผ้าพันคอมาพันห้ามเลือดที่ขา บังคับให้ตัวเองหายใจช้า ๆ ก่อนจะใช้เวลาตอนนั้นทบทวนชีวิตที่ผ่านมาอยู่เกือบชั่วโมง เธอเสียดายว่าทำไมตัวเองไม่ใช้ชีวิตให้เต็มที่กว่านี้ ออกไปเห็นโลกให้มากกว่านี้ แอบคิดด้วยว่าบางทีถ้าเธอตัดสินใจออกไปวิ่ง เต้นรำ หรือเรียนโยคะเสียตั้งแต่ตอนที่ยังมีโอกาส เธอคงไม่เสียใจมากขนาดนี้  “ที่ผ่านมา ฉันมีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน ชื่อและตำแหน่งบนนามบัตรมีความหมายมากสำหรับฉัน แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลยในวันนั้นที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นในอุโมงค์รถไฟใต้ดิน” ระหว่างที่สติกำลังพร่าเบลอ ฮิคส์บอกว่าเธอได้ยินเสียง “มันเป็นเสียงผู้หญิงคนหนึ่ง กระซิบว่า ‘ดูขาเธอสิ แบบนี้จะอยู่ต่อไปได้ยังไง เธอใช้ชีวิตแบบนั้นไม่ได้หรอก มากับฉันเถอะ’ มันเป็นเสียงที่ไพเราะมาก ทำเอาฉันเกือบคล้อยตาม หากไม่ติดว่ามีอีกเสียงขัดขึ้นมาเสียก่อน” ฮิคส์บอกว่าเสียงที่สองเป็นเสียงอันเคร่งเครียดของผู้ชาย “เขาตะคอกว่า ‘กล้าดียังไงถึงคิดแบบนี้ ชีวิตเธอยังมีอะไรอีกเยอะแยะต้องทำ’ ฉันรู้สึกเหมือนกำลังโดนดุ แต่ก็เลือกจะเชื่อฟังเขา แล้วฉันก็ได้สติกลับมา” (ภายหลังฮิคส์บอกว่า มันคงเป็นเสียงจากจิตใต้สำนึกของเธอที่กำลังต่อสู้กันเอง) ฮิคส์เริ่มกลับมาได้ยินเสียงรอบตัว เสียงของคนอื่นที่ยังรอด เสียงของคนที่กำลังกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด เธอบอกว่าตอนนั้นมีทั้งคนร้องขอความช่วยเหลือ และคนที่เรียกหาสัญญาณการมีชีวิตจากคนอื่น “ก่อนหน้านั้นเราเป็นเพียงคนที่สัญจรไปมา คนที่ทำตามมารยาทบนรถไฟ ไม่สบตาใคร ไม่คุย ไม่สนทนากัน แต่ในเวลานั้นเราเอื้อมมือเข้าหากัน ตะโกนบอกชื่อตัวเอง เหมือนเวลาเช็คชื่อในชั้นเรียน และรอคนอื่นตอบ” “ฉันชื่อจิลล์ ฉันอยู่ตรงนี้ ยังมีชีวิตอยู่” ฮิคส์เริ่มพูด “ตอนนั้นฉันไม่เคยรู้จักเอลิสัน แต่ฉันกลับคอยฟังเธอตอบ ทุก ๆ 2-3 นาที ฉันไม่เคยรู้จักริชาร์ด แต่มันสำคัญสำหรับฉันที่เขายังมีชีวิตอยู่” ช่วงเวลา 40 กว่านาทีบนรถไฟขบวนนี้ ช่างน่าแปลก ฮิคส์บอกพวกเขาไปแค่ชื่อต้น ไม่มีใครรู้ว่าเธอคือ จิลล์ ฮิคส์ หัวหน้าแผนกของสภาการออกแบบ และนี่คือกระเป๋าใบเก่งของเธอ พวกเขาไม่รู้ว่าบทความของฮิคส์เคยถูกตีพิมพ์ลงในวารสารสถาปัตย์ชื่อดัง ไม่มีใครใส่ใจด้วยซ้ำว่าวันนั้นเธอใส่ชุดสีอะไร แต่แล้วทำไม? ทำไมกันนะ พวกเขาถึงเฝ้ารอประโยคตอบกลับที่แสดงถึงการมีชีวิตของเธอ ช่วงเวลาที่เธอเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างถ่องแท้ที่สุด คือตอนที่เห็นป้ายประจำตัว ที่เจ้าหน้าที่ติดให้กับเธอ ตอนที่กำลังส่งตัวไปโรงพยาบาล มันเขียนว่า "ผู้รอดชีวิต ไม่ทราบชื่อ เพศหญิง" ไม่ใช่ชื่อของจิลล์ ฮิคส์ ไม่ใช่คอลัมนิสต์ชื่อดัง แต่เป็นแค่คำไม่กี่คำที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว ฮิคส์บอกว่ามันทำให้เธอรู้สึกซาบซึ้งใจ ทั้งจากการช่วยเหลือของคนบนรถไฟ และจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่พร้อมทุ่มเททุกอย่างเพื่อช่วยชีวิตของคนไม่ทราบชื่อ “สำหรับพวกเขาแล้ว มันไม่สำคัญเลยว่าฉันจะรวยหรือจน ผิวของฉันจะเป็นสีอะไร ฉันชอบเพศไหน ลงคะแนนเลือกใคร มีการศึกษาที่ดี มีศาสนาหรือเปล่า เพราะมันไม่มีเรื่องไหนสำคัญไปกว่าการที่ฉันเป็นมนุษย์ที่สมควรจะมีชีวิตอยู่แล้ว” ฮิคส์บอกว่า เธอไม่มีความแค้นเคืองอะไรมอบให้มือระเบิดวัย 19 ปี ที่เธอเองก็เพิ่งจะได้เห็นหน้าผ่าน CCTV หลังจากที่รอดชีวิตมาได้ เธอเพียงแค่สงสัยว่า ทำไมวัยรุ่นอายุ 19 ปี ถึงต้องทำเรื่องแบบนี้ด้วย จบชีวิตตัวเองพร้อมกับชีวิตของคนอื่น ๆ คนที่เกลียดชังคนอื่นอย่างไม่มีเหตุผลแบบนี้ อาจไม่ต้องการการให้อภัยจากเธอเลยก็ได้  “ฉันรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เขาไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าหรือทำให้คนที่มีชื่อว่า จิลล์ ฮิคส์ พิการหรอก เขาไม่รู้จักฉัน พอ ๆ กับที่ฉันไม่รู้จักเขาเลย แต่เขาเลือกที่จะตราหน้าว่าฉันผิดและไม่เป็นที่ต้องการ ฉันกลายเป็นศัตรู เป็นคนอื่น เป็น ‘พวกนั้น’ ไม่ใช่ ‘พวกเรา’ ความเกลียดชังมันดลใจให้เขากดระเบิดได้ง่ายขึ้น” จิลล์ ฮิคส์ : ความรัก ความเกลียด ความตาย บทเรียนสุดท้ายที่เปลี่ยนชีวิตเหยื่อจากเหตุระเบิดลอนดอน ในวันนั้น นอกจากเหตุระเบิดบนรถไฟใต้ดินที่ จิลล์ ฮิคส์ โดยสาร จนทำมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 26 ราย และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 340 ราย ยังไม่ใช่จำนวนผู้เสียหายทั้งหมด เพราะในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ยังมีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นบนรถไฟขบวนอื่นอีก 2 รอบ จากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงก็มีรถเมล์สองชั้นอีกคันถูกระเบิดในบริเวณไม่ไกลจากกันมาก เหตุระเบิด 4 รอบในวันเดียว ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 56 ราย และผู้บาดเจ็บจากการก่อการร้ายอีกกว่า 700 คน นับเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร นับตั้งแต่มีการวางระเบิดเที่ยวบินแพนแอมที่ 103 เหนือเมืองล็อกเกอร์บี ในปี 1988 กลับมาที่เรื่องราวของ จิลล์ ฮิคส์ แม้จะต้องใช้ชีวิตด้วยขาเทียมและบนรถเข็นไปตลอดชีวิต แต่ฮิคส์ก็ยังขอบคุณทุก ๆ คน และทุก ๆ อย่าง ที่มอบโอกาสให้เธอได้เริ่มต้นใหม่ เธอเรียกชีวิตหลังจากนั้นว่า ‘ชีวิตที่สอง’ เพราะฮิคส์ตัดสินใจลาออกจาก ‘งาน’ ซึ่งเคยเป็นดั่งทุกสิ่งทุกอย่างของเธอ และก่อตั้งองค์กรเพื่อการกุศลชื่อ Making a Difference (MAD) ในปี 2007  องค์กรของเธอเน้นเคลื่อนไหวต่อต้านในประเด็นความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ เพราะเธอมองว่า ความแตกต่างนั้นเองที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงครั้งใหม่ ฮิคส์จึงตัดสินใจว่า ต่อจากนี้ไปเธอจะขออุทิศชีวิตเพื่อหยุดยั้งมัน “จำเป็นด้วยหรือที่ต้องมีโศกนาฏกรรมหรือหายนะ เพื่อทำให้เรารู้สึกว่าพวกเราผูกพันเป็นมนุษย์เหมือน ๆ กัน แทนที่จะตราหน้าคนที่แตกต่าง และเราไม่รู้จักเขาดีว่าเลวร้าย สู้เราเปลี่ยนมายอมรับกัน และรอวันได้ทำความรู้จักเขาอย่างถ่องแท้ไม่ดีกว่าหรือ ฉันเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยความรัก เพราะสิ่งที่รวมใจเราเข้าด้วยกัน ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่ทำให้เราแตกแยกมากเหลือเกิน”     ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=VJoQj00RZHg https://www.smh.com.au/lifestyle/im-here-im-gill-how-defiance-saved-gill-hicks-survivor-of-the-77-london-bombings-20151029-gklm2j.html https://www.xero.com/blog/2018/09/gill-hicks-survive-xerocon/ https://www.bbc.com/news/world-australia-30891611 https://www.theforgivenessproject.com/stories/gill-hicks/