เกรก เอปสตีน: คนไร้ศาสนาฝ่าธรรมเนียม ‘ฮาร์วาร์ด’ ประธานอนุศาสนาจารย์คนแรกในรอบเกือบ 400 ปีที่ไม่มีศาสนา

เกรก เอปสตีน: คนไร้ศาสนาฝ่าธรรมเนียม ‘ฮาร์วาร์ด’ ประธานอนุศาสนาจารย์คนแรกในรอบเกือบ 400 ปีที่ไม่มีศาสนา
การเติบโตของกลุ่มคนไม่มีศาสนากำลังมาแรงและได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่เว้นในรั้วมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่างฮาร์วาร์ด (Harvard) ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติยาวนานและผูกพันกับศาสนามาเป็นเวลาหลายร้อยปี ฮาร์วาร์ดก่อตั้งใน ค.ศ.1636 เริ่มจากการเป็นโรงเรียนของผู้นำศาสนาชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ โดยชื่อมหาวิทยาลัยตั้งตาม จอห์น ฮาร์วาร์ด ศิษยภิบาล (pastor) ผู้ก่อตั้ง ส่วนคำขวัญประจำสถาบันก็ระบุชัดว่า ‘สัจธรรมเพื่อพระคริสต์และคริสตจักร’ (Truth for Christ and the Church) ปัจจุบันแม้ฮาร์วาร์ดจะเปิดกว้างสำหรับศาสนาอื่น มีอนุศาสนาจารย์ (chaplain) คอยให้คำปรึกษาด้านจิตวิญญาณกับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 ชมรม ครอบคลุมทุกศาสนา นิกาย และความเชื่อหลักที่มีในโลก แต่ชมรมที่กำลังมาแรงกลับเป็นชมรมคนไร้ศาสนา หรือที่เรียกว่า มนุษยนิยม (Humanism) เกรก เอปสตีน คือ อนุศาสนาจารย์ของชมรมมนุษยนิยม ซึ่งให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากกว่าหลักศาสนา เขาคือผู้เขียนหนังสือขายดีชื่อ ‘Good Without God’ ผู้เชื่อว่า ทุกคนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องมีศาสนา หรือนับถือพระเจ้า แม้แนวคิดของเขาจะไม่สอดคล้องกับศาสนา แต่เกรกก็ได้รับความไว้วางใจจากชมรมศาสนาในฮาร์วาร์ด โหวตด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ให้ทำหน้าที่ประธานอนุศาสนาจารย์คนใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2021 นับเป็นผู้นำจิตวิญญาณที่ไม่มีศาสนาคนแรกในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ปรากฏการณ์นี้ได้รับความสนใจจากสื่อใหญ่ทั่วโลก เพราะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสถาบันที่ถือเป็นชุมชนคนรุ่นใหม่ระดับหัวกะทิของโลก นอกจากนี้ยังอาจชี้ให้เห็นเทรนด์ของโลกอนาคต ทั้งในเชิงวิชาการและปรากฏการณ์ทางสังคม   ฮาร์วาร์ดกับหน้าที่อนุศาสนาจารย์ “มันมีการเติบโตรวดเร็วของกลุ่มผู้บอกว่าไม่นับถือศาสนา แต่ยังต้องการพูดคุยและอยากได้การสนับสนุนจริงจังเกี่ยวกับการหาความหมายของการเป็นคนดี และมีชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม” เกรกกล่าวถึงแนวโน้มคนรุ่นใหม่ที่ยังให้ความสำคัญกับการตามหาความหมายในชีวิต แต่ไม่อยากยึดติดกับศาสนา และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่เขาคอยให้คำปรึกษาที่ฮาร์วาร์ด เกรก เอปสตีน (Greg Epstein) เริ่มงานที่ฮาร์วาร์ดตั้งแต่ปี 2004 ในตำแหน่งผู้ช่วยของโธมัส เฟอร์ริก หัวหน้าอนุศาสนาจารย์ผู้ก่อตั้งชมรมมนุษยนิยมที่นี่ หลังจากนั้น 1 ปี เกรกได้ขึ้นเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารย์แทนเฟอร์ริก และปี 2008 เขายังได้รับตำแหน่งเดียวกันที่ MIT มหาวิทยาลัยระดับไอวี้ลีกอีกแห่งซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันในนครบอสตัน สหรัฐอเมริกา หน้าที่หลักของอนุศาสนาจารย์ คือ การเป็นครูแนะแนวทางจิตใจให้กับนักศึกษาและบุคลากรในแคมปัส ขณะเดียวกันก็เป็นผู้นำจัดกิจกรรม หรือพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละชมรม ไม่ว่าจะเป็นพิธีมิสซาของศูนย์นักศึกษาคาทอลิก หรือพิธีเลี้ยงอาหารค่ำวันสะบาโต (Shabbat) ของชาวยิว ส่วนประธานอนุศาสนาจารย์มีหน้าที่ช่วยประสานงานระหว่างกลุ่มศาสนาและชมรมจิตวิญญาณต่าง ๆ โดยขึ้นตรงต่อสำนักอธิการบดีของมหาวิทยาลัย   มนุษยนิยมที่มาแทนศาสนา “เราไม่ได้มองหาคำตอบจากพระเจ้า เพราะพวกเราคือคำตอบของกันและกัน” เกรก เอปสตีน กล่าวถึงหน้าที่ของเขาในฐานะอนุศาสนาจารย์ผู้เผยแพร่แนวคิดมนุษยนิยมในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีรากเหง้ามาจากความเชื่อทางศาสนาอย่างฮาร์วาร์ด งานของเกรกนอกจากการจัดกิจกรรมเสวนาในมหาวิทยาลัย เขายังมักไปพบปะพูดคุยกับนักศึกษาที่มีปัญหาส่วนตัว คอยชี้แนะให้คำปรึกษาเรื่องที่ทำให้นักศึกษาไม่สบายใจ ทั้งที่มาจากการฝึกงานช่วงฤดูร้อน ปัญหาครอบครัว ตลอดจนแรงกดดันในโลกโซเชียลมีเดีย และผลกระทบจากโควิด-19 “ตอนเกิดโรคระบาด ฉันบอกเขาว่า ‘เกรก คุณพอมีเวลาพูดเรื่องความหมายของชีวิตให้ฟังหน่อยมั้ย’ เขาทำให้ฉันรู้ว่า มันเป็นไปได้ที่จะเจอชุมชนนอกบริบทของศาสนาแบบเก่า คุณสามารถได้คุณค่าเพิ่มจากสิ่งที่ศาสนาเคยมอบให้มาหลายร้อยปี มันอยู่ตรงนั้นในยามที่สิ่งต่าง ๆ ดูสับสนวุ่นวาย” อเดลล์ โกลเดนเบิร์ก นักศึกษาเชื้อสายยิวนิกายฮาซิดิก จากนิวยอร์ก กล่าวถึงเหตุผลที่เธอทิ้งธรรมเนียมปฏิบัติอันเคร่งครัดทางศาสนาของครอบครัว หันมาเข้าร่วมชมรมมนุษยนิยมของเกรก ซึ่งไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า และไม่นับถือศาสนาใด เกรก ยอมรับว่า มุมมองความคิดของเขาได้รับอิทธิพลมาจากย่านที่พักอาศัยในวัยเด็ก เขาเกิดใน ค.ศ.1977 ในครอบครัวชาวยิวที่นครนิวยอร์ก เติบโตมาในย่านฟลัชชิ่ง เขตควีนส์ ของนิวยอร์ก ซึ่งทศวรรษ 1980s ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนามากที่สุดย่านหนึ่งของโลก “ผมค้นพบมาตั้งแต่ต้นว่า การเป็นมนุษย์ที่ดีไม่ได้มีแค่ทางเดียว มันไม่ได้มีทางที่ถูกต้องแค่ทางเดียวให้เชื่อหรือไม่เชื่อ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน”   เขียนหนังสือคนดีไม่มีศาสนา เกรกเรียนจบปริญญาตรีสาขาศาสนาและจีนศึกษา และปริญญาโทยิวศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิทยาเขตแอน อาร์เบอร์ นอกจากนี้เขายังได้ปริญญาโทอีกใบในสาขาเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขามีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทมส์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2009 มีชื่อว่า ‘Good Without God: What a Billion Nonreligious People Do Believe’ (ความดีไม่มีพระเจ้า: สิ่งที่คนไร้ศาสนาพันล้านคนเชื่อ) หนังสือดังกล่าวเสนอมุมมองเชิงปรองดองของนักมนุษยนิยมที่มีต่อศาสนา พร้อมตอบโต้ผลงานของกลุ่มนักเขียนสายปะทะที่เรียกว่า ‘new atheists’ อย่างริชาร์ด ดอว์กินส์ และคริสโตเฟอร์ ฮิตเชนส์ ผู้มองศาสนาเป็นศัตรู และไม่ส่งเสริมให้ประนีประนอมหรืออดทนอดกลั้น “ผู้มีหัวใจรักความยุติธรรมและมีความอดทนอดกลั้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีศาสนา พวกเขาจะไม่สงสัยเลยว่า เราสามารถเป็นคนดีได้โดยไม่นับถือเทพเจ้าหรือไม่ “คำตอบคือได้ ไม่ต้องถามอะไรต่อ เพราะคนหลายล้านคนทุกวันนี้ก็เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามคำถามว่า ทำไมเราถึงเป็นคนดีได้โดยไม่นับถือเทพเจ้าน่าจะดูเกี่ยวข้องและน่าสนใจกว่า และคำถามว่า เราจะเป็นคนดีโดยไม่นับถือเทพเจ้าได้อย่างไรก็สำคัญไม่แพ้กัน สิ่งเหล่านั้นคือคำถามในหนังสือเล่มนี้ - เป็นการถามและตอบคำถามสำคัญนี้ด้วยแนวคิดมนุษยนิยม”  เกรก เอปสตีน บรรยายไว้ในบทนำของหนังสือขายดีของตนเอง   กระแสคนไร้ศาสนาในฮาร์วาร์ด “วิธีที่เกรกพูดถึงมนุษยนิยมมันทรงพลังจนทำให้ฉันเกิดศรัทธาขึ้นมาเอง มันคือการสร้างศรัทธา แม้จะไม่ใช่ศรัทธาในพระเจ้า แต่เป็นศรัทธาต่อมนุษยชาติ ต่อชุมชน ต่อตนเอง และสิ่งที่ฉันสามารถเป็น หรือสามารถอุทิศให้ส่วนรวม” แมรี เอลเลน กีส นักศึกษาปริญญาโทเล่าประสบการณ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมมนุษยนิยมที่ฮาร์วาร์ด  สาธุคุณแคทลีน รีด อนุศาสนาจารย์จากชมรมชาวคริสต์นิกายลูเธอแรน ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดที่เสนอชื่อเกรกขึ้นเป็นผู้นำอนุศาสนาจารย์เปิดเผยว่า เกรกคือชื่อแรกที่คณะกรรมการของเธอเห็นชอบให้มารับตำแหน่งนี้ “เรากำลังนำเสนอให้มหาวิทยาลัยทราบวิสัยทัศน์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนโลก เมื่อวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลายหันมาโฟกัสเรื่องการจะทำอย่างไรให้เป็นมนุษย์ที่ดี และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน” สาธุคุณรีดกล่าว การฝ่าธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมายาวนานของฮาร์วาร์ด เลือกเกรก เอปสตีน เป็นประธานอนุศาสนาจารย์ที่ไม่นับถือศาสนาใดคนแรกของมหาวิทยาลัย สะท้อนได้ดีถึงความเชื่อและศรัทธาที่เปลี่ยนไปของคนในสถาบัน ผลสำรวจของฮาร์วาร์ดในปี 2019 พบว่า มีนักศึกษาเกือบ 17% ระบุว่าตนเองไม่มีศาสนา ทั้งผู้ที่ไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง (atheist) หรือไม่สนว่ามีจริงหรือไม่ (agnostic) ตัวเลขนี้คิดเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับประชากรวัย 18 ปีทั่วไปในสหรัฐฯ แม้สหรัฐฯ จัดเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีคนนับถือศาสนามากที่สุด ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ (โปรเตสแตนต์ 43%, คาทอลิก 20%) แต่ผลสำรวจของแกลลัพ ในเดือนมีนาคม 2021 พบว่า ชาวอเมริกัน 21% บอกว่าตนเองไม่นับถือศาสนา เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2000 และส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่วัยมิลเลนเนียลที่เกิดระหว่างปี 1981 - 1996    เหตุผลที่คนหมดศรัทธา เทรนด์ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฮาร์วาร์ด หรือสหรัฐฯ เท่านั้น ศูนย์วิจัยพิวเคยเผยผลสำรวจในปี 2018 ระบุว่า ทั่วโลกมีคนไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีจำนวนมากถึง 1,100 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน (700 ล้าน) ญี่ปุ่น (72 ล้าน) และสหรัฐฯ (51 ล้าน) ประเทศไทยแม้จะไม่มีการสำรวจเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยในปี 2018 ว่า คนไทย 93.5% นับถือพุทธ อันดับสอง คือ อิสลาม 5.4% ตามมาด้วยคริสต์ 1.1% ส่วนศาสนาอื่นรวมถึงคนไม่มีศาสนามีจำนวนรวมกันไม่ถึง 0.1% แต่นักศาสนวิทยาเชื่อว่า หากสำรวจอย่างละเอียดมีความเป็นไปได้ที่จำนวนคนไทยไม่มีศาสนาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้เทรนด์โลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในศาสนา นอกจากจะมาจากข่าวอื้อฉาวของคนในแวดวงศาสนาที่ปรากฏรายวัน ยังมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและครอบครัวที่ไม่ได้มีวัดหรือโบสถ์เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป นอกจากนี้ความเสื่อมจากสถาบันที่ยึดโยงกับศาสนา รวมถึงการอ้างศาสนาเพื่อสร้างความขัดแย้งและความรุนแรงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ “นี่คือหลักไมล์ของการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่า ผู้คนที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันรุนแรงในเรื่องสำคัญ ยังสามารถร่วมมือกันอย่างจริงจัง มีความรักและเคารพซึ่งกันและกันอย่างจริงใจ และก้าวข้ามความขัดแย้งเหล่านั้นได้” เกรก เอปสตีน กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่ทำให้เขากลายเป็นผู้นำจิตวิญญาณไร้ศาสนาคนแรกในรอบเกือบ 400 ปีของฮาร์วาร์ด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า นอกจากฮาร์วาร์ด จะไม่ยึดติดกับโบราณประเพณี และมีการปรับตัวอยู่เสมอ ความเชื่อและทัศนคติเน้นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์แบบมนุษยนิยมที่เกรกยึดถือ ยังเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับในฐานะแนวทางใหม่ของชีวิต ในขณะที่ศาสนา อาจไม่ใช่คำตอบของชีวิตอีกต่อไป   ภาพ: Harvardwood   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.bostonglobe.com/2021/08/27/metro/harvards-new-head-chaplain-is-an-atheist-unanimously-elected-by-his-peers/ https://www.nytimes.com/2021/08/26/us/harvard-chaplain-greg-epstein.html https://chaplains.harvard.edu/people/greg-epstein https://www.independent.co.uk/news/world/americas/harvard-chaplain-atheist-greg-epstein-b1909926.html http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/News/2561/N21-09-61-1.aspx