เกรกอรี อาเบล: จากเด็กแจกใบปลิวสู่ทายาทอาณาจักรการลงทุนของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

เกรกอรี อาเบล: จากเด็กแจกใบปลิวสู่ทายาทอาณาจักรการลงทุนของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

เกรกอรี อาเบล: จากเด็กแจกใบปลิวสู่ทายาทอาณาจักรการลงทุนของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’

เกรกอรี อาเบล: จากเด็กแจกใบปลิวสู่ทายาทอาณาจักรการลงทุนของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ “กรรมการบริษัทเห็นพ้องต้องกันว่า หากมีอะไรเกิดขึ้นกับผมคืนนี้ เกรก (อาเบล) จะมารับหน้าที่แทนผมในเช้าวันรุ่งขึ้น” วอร์เรน บัฟเฟตต์ ในวัยย่าง 91 ปี กล่าวกับสำนักข่าว CNBC เพื่อยืนยันว่า กลุ่มบริษัทในเครือเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ (Berkshire Hathaway) ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 640,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีทายาทสืบทอดอำนาจทางธุรกิจแล้ว  การเปิดตัวทายาทครั้งนี้สร้างความฮือฮาให้กับโลกการลงทุน เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เบิร์กเชียร์ซึ่งบัฟเฟตต์สร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 พยายามปกปิดเรื่องนี้มาตลอด แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2021 ความลับได้เผยออกมาครั้งแรกจากปากของ ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธาน วัย 97 ปี “เกรกจะเป็นผู้รักษาวัฒนธรรมองค์กรให้อยู่ต่อไป” มังเกอร์หลุดปากพูดประโยคนี้ออกมาระหว่างตอบคำถามผู้ถือหุ้นจนกลายเป็นข่าวใหญ่ และทำให้ บัฟเฟตต์ ประธานบริษัทต้องออกมาสร้างความชัดเจนในอีก 2 วันถัดมา ทันทีที่ยอดนักลงทุนเจ้าของฉายา ‘ผู้หยั่งรู้แห่งโอมาฮา’ (Oracle of Omaha) เปิดตัวผู้สืบทอดอำนาจ สปอตไลท์ก็หันไปจับผู้ที่ถูกเลือกมาพร้อมกับคำถามว่า เกรก หรือชื่อเต็ม เกรกอรี อาเบล (Gregory Abel) เป็นใคร และมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ที่จะมารับไม้ต่อจากปรมาจารย์การลงทุนที่ชื่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ลูกเซลส์แมนชาวแคนาดา เกรกอรี อี. อาเบล (Gregory E. Abel) เกิดวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1962 ที่เมืองเอดมันตัน ประเทศแคนาดา เขามีบิดาทำอาชีพเซลส์แมน และเติบโตมาในย่านชนชั้นแรงงาน เกรกในวัยเด็กคลั่งไคล้กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งมาก เนื่องจากมีลุงเป็นนักกีฬาอาชีพที่เล่นให้กับทีมดีทรอยต์ เรดวิงส์ ในสหรัฐอเมริกา โดยหลังเลิกเรียน เกรกมักไปรวมตัวกับเพื่อนในละแวกบ้านเพื่อเล่นกีฬาชนิดนี้อย่างจริงจัง “เราเล่นฮอกกี้กันเกือบทุกวันทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว และเล่นอยู่นอกบ้านจนกว่าจะถูกตามให้ไปกินอาหารเย็น” ระหว่างโตเป็นวัยรุ่น ไม่ต่างอะไรจากบัฟเฟตต์ที่เคยเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์มาก่อน เกรกเริ่มเรียนรู้ชีวิตการทำงานด้วยการรับแจกใบปลิวโฆษณา และเติมน้ำยาในถังดับเพลิงให้กับบริษัทที่พ่อเขาทำงานอยู่ ก่อนจะเรียนต่อปริญญาตรีในสาขาพาณิชยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา และสำเร็จการศึกษาออกมาในปี 1984 แม้จะจบมาทางพาณิชย์ แต่งานประจำแรกของเขาคือการฝึกเป็นนักบัญชีที่บริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ก่อนจะย้ายมาอยู่กับ CalEnergy บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น MidAmerican Energy  เขาให้เหตุผลที่หันมาสนใจงานบัญชีว่า เกิดขึ้นหลังจากตนเองตระหนักได้ว่า “การเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างรายรับ และงบกระแสเงินสด” มีความสำคัญยิ่งยวดมากเพียงใด ร่วมงานบัฟเฟตต์ เกรกร่วมงานกับ MidAmerican Energy ก่อนที่เบิร์กเชียร์ฯ ของบัฟเฟตต์จะเข้าเทคโอเวอร์ในปี 1999 จากนั้นในปี 2008 เกรกได้รับการแต่งตั้งให้เป็นซีอีโอของบริษัทพลังงานดังกล่าว และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Berkshire Hathaway Energy (BHE) บัฟเฟตต์รับรู้ชื่อเสียงความสามารถของเกรกครั้งแรกตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990s เมื่อ CalEnergy ย้ายเกรกไปทำงานในสหราชอาณาจักรเพื่อหาทางเทคโอเวอร์โรงไฟฟ้าของอังกฤษ เขาทำผลงานเป็นที่ถูกอกถูกใจวอลเตอร์ สก็อตต์ จูเนียร์ ผู้ถือหุ้น CalEnergy ซึ่งเป็นเพื่อนในวัยเด็กของบัฟเฟตต์ และเป็นกรรมการบริษัทเบิร์กเชียร์ฯ “เกรกเป็นคนประเภทที่เมื่อใดก็ตามที่ผมขอให้เขาทำอะไร เขาเต็มใจที่จะออกไปทำให้เสมอ” สก็อตต์ให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์จูน ในปี 2011 วอลล์สตรีทเจอร์นัล ขนานนามให้เกรกเป็น ‘ดีลเมกเกอร์ผู้ชาญฉลาด’ (an astute dealmaker) ขณะที่บัฟเฟตต์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2013 ว่า “ผมมีเวลาให้เกรกเสมอตอนเขาโทรฯ มา เพราะเขามักทำให้ผมได้ไอเดียดี ๆ และมีทั้งวิธีคิดและวิธีทำธุรกิจที่แปลกใหม่จริง ๆ” ปัจจุบันนอกจากเกรกจะเป็นทั้งประธานและซีอีโอของ BHE ซึ่งดูแลธุรกิจพลังงานทั้งหมดของเบิร์กเชียร์ฯ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10% ของบริษัทแล้ว เขายังนั่งเก้าอี้รองประธานเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ และรับหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดซึ่งไม่ใช่ธุรกิจประกัน ส่วนธุรกิจประกันทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ อาจิต เจน (Ajit Jain) รองประธานเชื้อสายอินเดีย ซึ่งบัฟเฟตต์กำหนดไว้ให้เป็นทายาทลำดับที่ 2 รองจากเกรก ทั้งเกรก และอาจิต ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองประธานเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ พร้อมกันในปี 2018 และทั้งคู่ถูกวางตัวให้ขึ้นมาสืบทอดอำนาจร่วมกันคล้ายคู่ของบัฟเฟตต์กับมังเกอร์ ส่วนเหตุผลที่เกรกได้เป็นทายาทเบอร์หนึ่งส่วนหนึ่งมาจากอายุที่น้อยกว่าอาจิตถึง 11 ปี “เขาทั้งคู่เป็นคนน่าทึ่ง แต่ข้อแตกต่างก็คือบางคนมีโอกาสทำงานยาว ๆ ไปอีกถึง 20 ปี” บัฟเฟตต์กล่าว สืบสานวัฒนธรรมองค์กร บัฟเฟตต์และมังเกอร์ ซึ่งอายุเกิน 90 ปีแล้วทั้งคู่ยืนยันว่า ทายาทที่เลือกมาจะรักษาวัฒนธรรมองค์กรของเบิร์กเชียร์ฯ ให้ดำรงอยู่ต่อไป โดยเกรกจะคอยดูแลด้านการบริหารจัดการ ส่วนอาจิตจะมาทำงานดูแลภาคการเงินของบริษัท สำหรับวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญของเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ คือการกระจายอำนาจ โดยซีอีโอของบริษัทในเครือ ซึ่งมีธุรกิจตั้งแต่เชนร้านฟาสต์ฟู้ด Dairy Queen ไปถึงบริษัทประกันรถยนต์ Geigo ทั้งหมดล้วนมีอิสระในการบริหารองค์กรของตนเอง ส่วนหน้าที่ของบัฟเฟตต์ คือการเป็นที่ปรึกษาคอยตอบคำถามและช่วยหาเงินทุนให้เป็นหลัก ด้วยการกระจายอำนาจดังกล่าวทำให้เบิร์กเชียร์ฯ แม้จะเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย แต่สำนักงานใหญ่ในเมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของบัฟเฟตต์ในสหรัฐฯ มีพนักงานทำงานอยู่ที่นั่นทั้งหมดแค่ประมาณ 25 คนเท่านั้น อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่บัฟเฟตต์ให้ความสำคัญคือความซื่อสัตย์และทุ่มเทให้กับองค์กร โดยก่อนหน้านี้ เดวิด เจ. โซกล (David J. Sokol) หัวหน้าเก่าของเกรกที่ MidAmerican ก็เป็นอีกคนที่เคยถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นทายาทของบัฟเฟตต์ แต่สุดท้ายโซกลต้องลาออกไปในปี 2011 หลังจากเขาละเมิดนโยบายบริษัทด้วยการซื้อหุ้นบริษัทเคมีแห่งหนึ่งไม่นานก่อนจะแนะนำให้เบิร์กเชียร์ฯ ซื้อหุ้นบริษัทดังกล่าวตาม บัฟเฟตต์เคยกล่าวไว้ว่า ผู้สืบทอดอำนาจเขาควรเป็นคนที่รวยมากอยู่แล้ว และไม่สนใจที่จะมีเงินมากกว่าที่ตัวเองและครอบครัวต้องการอีกเป็นสิบ ๆ เท่า เกรกมีฐานเงินเดือนในปี 2019 และ 2020 อยู่ที่ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมโบนัสอีก 3 ล้านเหรียญในแต่ละปี นอกจากนี้ เขายังมีหุ้นอยู่ใน BHE คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัวก้อนใหญ่ที่สุด ส่วนฐานเงินเดือนของบัฟเฟตต์และมังเกอร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 100,000 เหรียญต่อปีเท่านั้น สำหรับความทุ่มเทให้กับองค์กรของเกรก นอกจากจะได้รับการยืนยันจากสก็อตต์แล้ว เกรกซึ่งทำงานกับเบิร์กเชียร์ฯ มานานกว่า 20 ปี ยังเคยบอกไว้ว่า “เขายังคงต้องการทำงาน ต้องการถกแขนเสื้อขึ้นและร่วมสร้างบริษัทให้ประสบความสำเร็จด้วยความกระตือรือร้น “ในโรงเรียน ในเกมกีฬา และในหน้าที่ทางธุรกิจ ผมได้เรียนรู้มาว่า หากเราลงมือทำเต็มที่และมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี โอกาสเกิดความสำเร็จก็จะมีมากยิ่งขึ้น” สำหรับปฏิกิริยาจากนักลงทุนหลังการเปิดตัวทายาททางธุรกิจของบัฟเฟตต์ครั้งนี้ส่วนใหญ่รู้สึกพอใจกับผู้ที่ถูกเลือกมา และเชื่อว่า เกรกและอาจิต คือคู่ที่เหมาะสมในการรับไม้ต่อจากคู่ของบัฟเฟตต์และมังเกอร์ “ทั้งคู่ล้วนมีเบิร์กเชียร์ฯ อยู่ในสายเลือด พวกเขารักบริษัท และรู้งานของตัวเองเป็นอย่างดีราวกับหลังมือของตัวเอง” บัฟเฟตต์กล่าวถึงผู้สืบทอดอำนาจด้วยความมั่นใจ จากนี้ไปทุกความเคลื่อนไหวของ เกรกอรี อาเบล คงเป็นที่จับตาของนักลงทุนทั่วโลก แต่ไม่ว่าลูกชายเซลส์แมนจากแคนาดาผู้ต่อสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นทายาทธุรกิจหลายแสนล้านของบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮทาเวย์ผู้นี้จะเผชิญแรงกดดันมากน้อยเพียงใด  ดูเหมือนผู้ที่ยกภูเขาลูกใหญ่ออกจากอก และคลายความกังวลเกี่ยวกับอนาคตไปได้อีกเปลาะหนึ่งก็คือนักลงทุนระดับตำนานที่ใกล้อำลาวงการอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ข้อมูลอ้างอิง: https://www.cnbc.com/2021/05/03/who-is-greg-abel-warren-buffetts-successor-at-berkshire-hathaway.html https://www.wsj.com/articles/berkshire-chooses-greg-abel-as-warren-buffetts-successor-in-ceo-role-11620054866 https://www.nytimes.com/2021/05/03/business/warren-buffett-successor-gregory-abel.html https://www.ft.com/content/bee2a000-75f0-48d6-8027-d2c29c50f1c9 https://ca.news.yahoo.com/edmonton-born-greg-abel-picked-144107852.html https://www.forbes.com/sites/hanktucker/2021/05/03/just-how-rich-is-warren-buffett-successor-greg-abel/?sh=4b2ee3775aeb เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล ภาพ: Yahoo Finance