เกรต้า ธุนเบิร์ก: คุณได้ยินฉันไหม… ในวันที่ไม่มีใครเล็กเกินจะเปลี่ยนแปลงโลก

เกรต้า ธุนเบิร์ก: คุณได้ยินฉันไหม… ในวันที่ไม่มีใครเล็กเกินจะเปลี่ยนแปลงโลก
“How dare you! (คุณกล้าดียังไง!)” คือหนึ่งในถ้อยคำที่หลาย ๆ คนอาจจดจำได้ในวันที่ 23 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุมงาน UN Climate Summit 2019 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมาจากสาวน้อยผมเปียชาวสวีเดนวัย 16 ปีอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่มาพร้อมน้ำเสียงหนักแน่นและทรงพลังในสุนทรพจน์ว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) กับการช่วงชิงความฝันของคนรุ่นใหม่ สะเทือนไปถึงใจคนฟังทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้นำประเทศที่นั่งฟังเธออยู่ในห้องนั้น เสียงของเด็กหญิงในวันนั้นสร้างคำวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมากมาย ทั้งคนที่ชื่นชมปรบมือ และคนที่โต้แย้งจากภาพลักษณ์ที่ดูเกรี้ยวกราดของเธอ จนแพร่หลายไปทั่วอินเทอร์เน็ต แม้ว่าชื่อของเกรต้า ธุนเบิร์ก จะได้ยินกันมาพักใหญ่แล้ว แต่ช่วงเวลานั้น นับเป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มรู้จักชื่อของเธออย่างเป็นวงกว้าง ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่หยุดเรียนเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาสวีเดนปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับข้อตกลงปารีส เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงถึง 2 องศาเซลเซียสอย่างจริงจังเสียที แต่ชีวิตจริงของเธอเป็นยังไง และที่มาความกล้าในการส่งเสียงมาจากไหน ? หลายคนอาจยังไม่รู้นัก… ประเด็นเหล่านี้ถูกเล่าในหนังสือ “เกรต้า ธุนเบิร์ก คุณได้ยินฉันไหม” ผลงานรวบรวมสุนทรพจน์จากการชุมนุมเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลกกว่า 15 ครั้งและบันทึกความทรงจำของครอบครัวผ่านมุมมองของ มาเลน่า แอร์นแมน (Malena Ernman) คุณแม่ ผู้มีอาชีพเป็นนักร้องโอเปราชื่อดังและครอบครัว ที่ชวนเราไปสำรวจอีกด้านที่สื่อไม่ได้พูดถึงสาวน้อยมหัศจรรย์คนนี้ ย้อนกลับไปในวัย 11 ปี ภาพของเด็กส่วนใหญ่ที่เรานึกถึงคงเป็นการวิ่งเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียน และกลับบ้านอย่างมีความสุข แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวของเกรต้า เพราะสิ่งที่เธอต้องเผชิญคือ คำวินิจฉัย ความผิดปกติทางการกิน การถูกกลั่นแกล้ง และการแยกตัวจากสังคม ที่มาจากอาการแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome) หนึ่งในความผิดปกติทางประสาทของโรคออทิสติก, โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive Compulsive Disorder) และภาวะไม่พูดในบางสถานการณ์ (Selective Mutism) โดยเริ่มแรกจากอาการร้องไห้ตลอดเวลา หยุดพูด หยุดหัวเราะ และหยุดกิน วิธีแก้ปัญหาของพ่อแม่คือการจดบันทึกสิ่งที่เธอกินในแต่ละมื้อและเวลาที่ใช้ เช่น กล้วย 1/3 ผลกับเวลา 53 นาที รวมถึงการเข้าออกแผนกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ในช่วงเวลาที่การวินิจฉัยทางการแพทย์โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชของเด็กผู้หญิงในสวีเดนยังไม่มีประสิทธิภาพนัก และไม่ใช่แค่เกรต้าที่เจอช่วงเวลายากลำบาก แต่ทั้งบีเอต้า น้องสาวของเกรต้า และคุณแม่อย่างมาเลน่า ต่างก็มีภาวะสมาธิสั้นและโรคทางประสาทอื่น ๆ ทำให้การจัดการพยุงครอบครัวเป็นไปในแบบทุลักทุเล เมื่อสังคมยังไม่เข้าใจความแตกต่างดังเช่นปัจจุบัน การถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนก็เริ่มต้นขึ้น ทั้งโดนผลักในสนาม ล็อกตัวกับพื้น ขับออกจากกลุ่ม จนทำให้เธอรู้สึกเสมอว่า “หนูไม่อยากมีเพื่อนคนไหนทั้งนั้น เพื่อนคือเด็ก และเด็กทุกคนใจร้าย” ในขณะเดียวกับที่ความสามารถในการจดจ่อเริ่มกลายมาเป็นจุดแข็งและพรสวรรค์ในการจำข้อมูลเป็นภาพถ่าย ซึ่งเป็นผลมาจากออทิสติกที่ทำให้เธอสนใจแค่เฉพาะบางเรื่อง ภาพยนตร์เกี่ยวกับจำนวนขยะในทะเลถูกฉายในชั้นเรียนวันหนึ่ง ทำให้เด็ก ๆ สะเทือนใจและเกรต้าร้องไห้ให้กับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย แต่เมื่อถึงเวลาทานข้าวเที่ยง เพื่อน ๆ ต่างลืมเรื่องราวในหนัง ต่างจากเกรต้าที่ร้องไห้ อยากกลับบ้าน เพราะไม่อยากกินเนื้อสัตว์ที่ตายในแฮมเบอร์เกอร์ และกลายมาเป็นความสนใจจริงจังกับปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งรัฐสภาสวีเดน 3 สัปดาห์ เกรต้าใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงทุกวันเริ่มตั้งแต่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2018 นั่งหน้ารัฐสภา หยุดเรียนประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางคำกำชับด้วยความเป็นห่วงและอยากให้ล้มเลิกจากพ่อว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลูกก็ต้องจัดการด้วยตัวเอง” พร้อมใบปลิวข้อเท็จจริงที่อ้างอิงเรื่องสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืนแจกผู้คนที่เดินผ่านไปมา และการชี้แจงว่าปัญหาของวิกฤตนี้คือ การที่วิกฤตไม่ถูกปฏิบัติและแก้ไขให้สมกับการเป็นวิกฤต รวมถึงนักการเมือง ผู้มีอำนาจ และคนทั่วไปที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายและชีวิตประจำวันเพื่อแก้ไขวิกฤต เสียงตอบรับจากการหยุดเรียนประท้วงดูจะได้ผล วัดจากสำนักข่าวหนังสือพิมพ์จำนวนมากที่ตีพิมพ์ ผู้คนที่มาร่วมชุมนุมกับเธอ ทั้งคุณครู เด็กนักเรียน และนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ จนเกิดเป็นการประท้วงนับร้อยแห่งทั่วสวีเดน ในเยอรมัน ฟินแลนด์ และอีกหลายประเทศ ภายใต้เป้าหมายเดียวกับคือการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศจากรัฐสภา เกรต้า ธุนเบิร์ก: คุณได้ยินฉันไหม… ในวันที่ไม่มีใครเล็กเกินจะเปลี่ยนแปลงโลก ทว่าเสียงวิจารณ์โต้กลับก็ตามมาติด ๆ เกรต้าถูกกล่าวหาว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง บริษัทโฆษณา นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้าย หรืออิทธิพลใหญ่ภายใต้ทฤษฎีสมคบคิดหลายแบบ เพราะความสงสัยต่อการเป็นเด็กอายุ 15 ทั้งที่แนวทางที่เธอกำหนดขึ้นชัดเจนคือ ห้ามมีผู้สนับสนุน และโลโก้พรรคการเมือง ลามไปถึงความเป็นห่วงของผู้ใหญ่ที่บอกให้เธอกลับไปเรียนซะ และการโจมตีด้วยการล้อเลียนบนโซเชียลมีเดียจากสมาชิกรัฐสภาหรือนักการเมืองมากมาย ร้ายไปถึงการขู่ฆ่าสำหรับครอบครัว “การหยุดเรียนประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศจะต้องเป็นเรื่องเกินเข้าใจสำหรับใครก็ตามที่ไม่เข้าใจว่าสถานการณ์มันร้ายแรงแค่ไหน และเพราะแทบไม่มีใครเข้าใจนี่แหละ หนูถึงจะต้องถูกเกลียดอย่างหนักเลย” เพราะราคาของการมีคนรับฟังคือความเกลียดชัง “ถ้าไม่ได้รู้ลึกรอบด้านเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ก็ไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่หนูทำได้เลย และหนูรู้ว่าไม่มีใครรู้เรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศจริง ๆ หรอก การหยุดเรียนประท้วงไม่ได้เลือกฝักฝ่ายและยินดีต้อนรับทุกคน” เกรต้ากล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า การให้ความสนใจของสื่อทั่วโลกดูจะเป็นความสำเร็จที่ดีหากนับจากวันแรกที่เธอประท้วง แต่สำหรับเกรต้า เธอตัดสินใจหยุดประท้วงทุกวันศุกร์หน้ารัฐสภาต่อ พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนสู้เพื่อการเรียกร้องกับวิกฤตนี้อย่างมุ่งมั่น จนเกิดเป็นเว็บไซต์และการเคลื่อนไหวนานาชาติที่เรียกว่า Fridays For Future เพราะความสนใจของสื่อไม่ได้หมายถึงการหยุดการปล่อยก๊าซหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย ควบไปถึงความเกลียดชังที่ทำให้คนหลายคนลืมสนใจข้อเท็จจริงของวิกฤตที่มีอยู่ และนั่นเป็นสาเหตุที่เธอยังคงประท้วงทุกวันศุกร์มาจนถึงปัจจุบัน ความเป็นจริงคือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศมีอยู่จริง ทั้งตัวเลขงบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) ที่กำหนดว่าเราจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ได้อีกเพียง 420 กิโลตัน (อ้างอิงจากวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2018) เพื่อจะมีโอกาส 67% ที่จะรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงถึงเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเปลี่ยนได้จากการ ‘หยุด’ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่การ ‘ลด’ อย่างที่ถูกกล่าวอ้างโดยนักการเมืองและองค์กรต่าง ๆ และการผัดผ่อนปัญหาให้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ (เชื่อว่า) จะเข้ามาแก้ปัญหาในอนาคต ทั้งที่ความเป็นจริง เทคโนโลยีเหล่านั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ‘ทันเวลา’ อย่างแน่นอน สาเหตุของปัญหาที่ถูกระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้มีหลากหลาย ตั้งแต่การไม่นำเสนอของสื่อในหน้าหลัก ด้วยแนวคิดครอบที่ว่า หากนำเสนอวิกฤตแบบไม่มีความหวังจะทำให้คนหันหลังให้ปัญหาไปสนใจประเด็นอื่น, การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและบริษัทที่ “เศรษฐกิจมาก่อนนิเวศวิทยา” ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจมาพร้อมกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นมหาศาล มากกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาทีหลัง และพฤติกรรมการเพิกเฉยหมู่จากผู้คน เพราะไม่อยากเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตเดิมที่ต้องสละความสบายและหยุดสร้างก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นคำถามคือ วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายนี้เป็นความผิดของใคร เรารู้มากน้อยแค่ไหนเกี่ยวกับเรื่องนี้ และใครควรรับผิดชอบกันแน่ สุนทรพจน์ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2019 ณ สภาเศรษฐกิจโลก ของเกรต้ากล่าวว่า “บางคนบอกว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศคือสิ่งที่ทุกคนล้วนมีส่วนสร้างขึ้น แต่นั่นก็แค่คำโกหกสะดวกปากอีกคำ เพราะถ้าทุกคนผิด เช่นนั้นก็ไม่ต้องโทษใครเลย” นั่นไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนไม่ผิด แต่หมายถึงทุกคนต้องรับผิดชอบในระดับที่ไม่เท่ากัน เพราะการเปลี่ยนวิธีบริโภคโดยเริ่มที่ตนเอง เช่น งดทานเนื้อสัตว์และงดขึ้นเครื่องบิน ก็ไม่อาจเทียบเท่าการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนของโรงงานอุตสาหกรรมได้ เป็นบทสรุปให้นักการเมืองและผู้มีอิทธิพลหันมาฟังเสียงของข้อเท็จจริงจากนักวิทยาศาสตร์ ลงมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่เคยพูดไว้ หยุดการเพิกเฉยเมื่อราคาของการไม่แก้ไขปัญหาแสดงให้เห็นในข่าวคนตายจากภาวะโลกร้อน สภาพภูมิกาศสุดขั้ว ความแปรปรวนทางชีวมณฑล และการสูญพันธุ์ที่ไม่อาจซ่อมแซมหรือทดแทน “เมื่อฉันพูดว่าอยากให้คุณแตกตื่น ฉันหมายความว่าเราต้องจัดการวิกฤตนี้ให้สมกับที่มันเป็นวิกฤต เวลาที่ไฟไหม้บ้านคุณ คุณคงไม่นั่งลงคุยว่าจะสร้างใหม่ให้ดียังไงเมื่อดับไฟได้แล้ว คุณจะวิ่งออกไปข้างนอกเพื่อดูให้แน่ใจว่าทุกคนออกไปหมดแล้วขณะโทร. แจ้งหน่วยดับเพลิง เรื่องนี้ต้องการความแตกตื่นระดับเดียวกัน” หากการเรียกร้องของเกรต้าเป็นเพียงตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ส่งเสียงให้ผู้ใหญ่รับฟังเพื่อรักษาอนาคตของทุกคน เสียงของเธอก็ดังพอจะส่งต่อแรงบันดาลใจที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวกู้วิกฤตของนักเคลื่อนไหวหลายประเทศ เพื่ออนาคตที่ผู้ใหญ่ปัจจุบันอาจมองไม่ไกลเกินปีค.ศ. 2050 แต่เป็นอนาคตที่หนุ่มสาวรุ่นต่อไปต้องเดินหน้าต่อไปอีกเกินครึ่งชีวิต อนาคตที่การแก้ไขวิกฤตมีตัวเลือกแค่ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” โดยการแก้ปัญหาอาจขอเพียงแค่การเริ่มฟังเสียงเล็ก ๆ และลงมือทำทันที ดังเช่นเกรต้า สาวน้อยมากพลังที่จะยังต่อสู้และเคลื่อนไหวหน้ารัฐสภาสู่เวทีต่อ ๆ ไป “บางคนเลือกจะไม่ฟังเรา ซึ่งไม่เป็นไร ถึงยังไงเราก็แค่เด็ก คุณไม่ต้องฟังเรา แต่คุณต้องฟังวิทยาศาสตร์ที่พูดเป็นเสียงเดียว ฟังนักวิทยาศาสตร์ และเราขอแค่นั้น โปรดร่วมมือกันโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์” สุดท้ายแล้ว “ฉันหวังว่าไมโครโฟนของฉันยังเปิดอยู่ หวังว่าคุณทุกคนจะได้ยิน” เธอกล่าว – สุนทรพจน์ ณ อาคารรัฐสภาอังกฤษ เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2019 . ที่มา: หนังสือ “เกรต้า ธุนเบิร์ก คุณได้ยินฉันไหม” เขียนโดยเกรต้า ธุนเบิร์ก, มาเลน่า แอร์นแมน, สแวนเต้ ธุนเบิร์ก และบีเอต้า แอร์นแมน, สำนักพิมพ์: AMARIN HOW-TO เรื่อง: สิทธรัตน์ วนธรรมพงศ์