ซาฮิล ลาวินเจีย: ก่อตั้ง Gumroad สตาร์ทอัพที่ไม่มีประชุมหรือแม้แต่พนักงานประจำ แต่มีมูลค่าหลักร้อยล้านเหรียญ

ซาฮิล ลาวินเจีย: ก่อตั้ง Gumroad สตาร์ทอัพที่ไม่มีประชุมหรือแม้แต่พนักงานประจำ แต่มีมูลค่าหลักร้อยล้านเหรียญ
บริษัทสตาร์ทอัพที่ไม่อยากเป็นยูนิคอร์น ไม่มีประชุม ไม่มีเดดไลน์ ไม่มีแม้แต่พนักงานประจำ ทุกคนทำงานเฉลี่ยอาทิตย์ละ 20 ชั่วโมง แต่บริษัทมีมูลค่าหลักร้อยล้านเหรียญ เทพนิยายแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? นี่คือเรื่องราวของซาฮิล ลาวินเจีย ผู้ก่อตั้ง Gumroad ซาฮิล ลาวินเจีย (Sahil Lavingia) อาจจะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ สักหน่อย เขาเกิดที่อเมริกา ก่อนจะย้ายไปสิงคโปร์ในวัย 4 ขวบ เติบโตที่นั่น และกลับมาอเมริกาอีกครั้งเพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ University of Southern California แต่เรียนไปได้แค่เทอมเดียวเขาก็ดร็อปเอาต์ออกจากมหาวิทยาลัยแบบไม่ได้วางแผนเอาไว้ เพื่อมาทำงานประจำให้กับ Pinterest ในช่วงก่อตั้ง เขาเป็นพนักงานคนที่สองของบริษัท ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่น เขาเกิดมีไอเดียที่อยากขายภาพวาดของเขาที่เป็นงานดิจิทัล แต่สิ่งที่เขาต้องการคือแค่อัปโหลดไฟล์ออนไลน์ ให้โปรแกรมสร้างลิงก์สั้น ๆ ออกมา และสามารถขายของได้ผ่านลิงก์นั้นเลย งานนี้เขาลองทำขึ้นมาเล่น ๆ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ปล่อยออกมาให้โลกเห็นบนเว็บไซต์ Hacker News ในวันจันทร์ เขาเรียกมันว่า ‘Gumroad’ มีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์วันแรกกว่า 52,000 คน ทำให้เขาเชื่อว่านี่จะเป็นตลาดที่ใหญ่ในอนาคตแน่นอน “ผมคิดว่า Gumroad จะกลายเป็นบริษัทพันล้าน พนักงานหลายร้อยคน เข้าตลาดหุ้น และผมจะทำงานที่นี่จนกว่าผมจะตาย ยังไงยังงั้นแหละ” แต่...นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาสร้าง Gumroad ในปี 2011 ลาวินเจียก็ได้ตัดสินใจลาออกจาก Pinterest ทิ้งโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลจากหุ้นบริษัท Pinterest ไว้ด้านหลัง ต่อจากนั้นก็ได้เงินทุนรอบแรก 1 ล้านเหรียญจากนักลงทุนในซิลิคอนแวลลีย์ ก่อนจะขอทุนได้อีก 7 ล้านเหรียญในช่วงเวลาต่อมา ตอนนี้ถึงเวลาขยายบริษัท เขาจ้างพนักงานเพิ่มอีก 20 คน เช่าออฟฟิศอยู่ในย่านหรูอย่าง SoMa (ย่าน South of Market ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของถนนมาร์เก็ตในซานฟรานซิสโกซึ่งเป็นย่านที่ค่าครองชีพสูงแห่งหนึ่ง) และทุ่มเทเวลาทั้งวันทั้งคืนเพื่อจะทำให้ Gumroad เป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ให้ได้ ความฝันของเขาดูใกล้แค่เอื้อมมือ อินเทอร์เน็ตลงข่าวเกี่ยวกับ Gumroad ไม่เว้นแต่ละวัน ชื่อของ ซาฮิล ลาวินเจีย กลายเป็น Talk of the Town เด็กหนุ่มวัย 19 ปี ที่เต็มไปด้วยไฟแห่งความทะเยอทะยานและเงินทุน 8 ล้านเหรียญจากนักลงทุน เขากำลังจะกลายเป็นดาวรุ่งแห่งวงการสตาร์ทอัพคนต่อไป ภาพในหัวต่อจากนี้ที่เราอาจจะมีคือเขาได้ทุนจาก VCs (Venture Capitalist) อัดฉีดเข้ามาอีกและเติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์น (บริษัทที่มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญ) แห่งซิลิคอนแวลลีย์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีที่สร้างความเปลี่ยนแปลง disruption ต่าง ๆ แต่เรื่องทั้งหมดมันไม่ใช่แบบนั้นซะทีเดียว   เมื่อความจริงปะทะกับความฝัน พวกเขาพยายามที่จะดึงเหล่าครีเอเตอร์มาใช้ Gumroad เพื่อขายสินค้าดิจิทัล ทั้งนักดนตรี ผู้สร้างภาพยนตร์ ดีไซเนอร์ นักเขียน หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์ การเติบโตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้กับเหล่าครีเอเตอร์เดือนละเกือบ 2 ล้านเหรียญในปี 2014 ทุกอย่างภายนอกดูเป็นไปได้ด้วยดีอยู่ แต่พอมาในปี 2015 การเติบโตเริ่มชะลอตัว จะว่าแบบนั้นก็ไม่เชิง ต้องเรียกว่าเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนอย่างที่เหล่านักลงทุนคาดหวัง ประจวบเหมาะกับเงินสดที่เริ่มหมดลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้หา VCs ที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะตัวเลขการเติบโตช้าเกินกว่าจะขอทุน Series B ที่ 15 ล้านเหรียญได้ (การขอทุนของสตาร์ทอัพนั้นมีเป็น Series ไปเรื่อยๆ ตามขนาดและเป้าหมายของธุรกิจในตอนนั้น เริ่มตั้งแต่ Pre-seed, Pre-series A, Series A, Series B...ไปเรื่อยๆ) พวกเขาต้องการตัวเลขการเติบโตประมาณ 20% ในทุก ๆ เดือนเพื่อดึงดูด VCs ไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหน ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อให้คนเข้ามาใช้งานเยอะขึ้น แต่ตัวเลขก็ไม่ได้ตามที่ต้องการ ตอนนั้นมีนักลงทุนบอกลาวินเจียว่าให้เลิกทำเถอะ ลองอย่างอื่นไหม ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาไปทำยูนิคอร์นตัวใหม่ ถ้าไอเดียดีก็น่าจะมีเงินลงทุนมาอยู่ เขาบอกว่าส่วนหนึ่งเขาก็คล้อยตามความคิดตรงนี้เช่นกัน แต่ลาวินเจียก็ไม่ได้ลงมือทำ เพราะเขาไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเองเท่านั้น ถ้าปิดบริษัท คนที่เสียหายจริง ๆ ไม่ใช่เขา แต่เป็นคนที่พึ่งพารายได้จากระบบของเขาอยู่ในทุก ๆ วันต่างหาก “เราช่วยทำให้เหล่าครีเอเตอร์นั้นมีรายได้อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ประมาณเดือนละ 2.5 ล้านเหรียญ เป็นส่วนแบ่งที่เข้ากระเป๋าของพวกเขา เพื่อยังชีพ จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าที่อยู่อาศัย สำหรับหนี้การศึกษาและเงินที่สะสมไว้ให้ลูกในอนาคต และมันก็ยังเติบโตอยู่ เราจะปิดก๊อกน้ำตรงนี้จริง ๆ หรือ?” นี่คือความกังวลของลาวินเจีย ลาวินเจียจำเป็นต้องปลดพนักงานออกจนบริษัทเหลือแค่ 5 คน พยายามถู ๆ ไถ ๆ ไปเรื่อย ๆ เขาละอายใจกับเรื่องนี้มาก รู้สึกว่าตัวเองกำลังล้มเหลว เขาไม่ได้บอกแม่ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องปลดพนักงานของบริษัทออกเกือบหมด แม่ของเขารู้จากการอ่านข่าวออนไลน์ ยังไม่จบแค่นั้น สุดท้ายพนักงานที่เหลือก็ออกไปหาโอกาสใหม่ ทิ้ง Gumroad และลาวินเจียไว้ข้างหลัง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างบอกไม่ถูก เพราะ 5 ปีหลังจากที่เริ่มต้น ตอนนี้ Gumroad เหลือเขาเป็นพนักงานคนเดียวของบริษัทแล้ว   กลับมาอีกครั้ง ในสถานการณ์ที่ดูมืดมนนี้กลับมีแสงสว่างที่ปลายทางซ่อนตัวอยู่ หลังจากที่เหลือตัวคนเดียว เขาก็ย้ายไปอยู่รัฐยูทาห์เพื่อเรียนวาดรูปและเขียนนวนิยายไซไฟ มันเป็นงานอดิเรกที่เขาอยากทดลองทำและรู้สึกสนุกกับมัน แม้ว่าจะยังคงรู้สึกแย่อยู่แทบทุกวันก็ตาม ในช่วงเวลาว่าง เขาก็จะตอบเมลลูกค้าที่ใช้ Gumroad และแก้บักส์ในโปรแกรมเพื่อให้ Gumroad ยังคงสามารถใช้งานได้เรื่อย ๆ จำนวนครีเอเตอร์ก็ค่อย ๆ โตขึ้น ลูกค้าก็มากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้กลายเป็นว่า Gumroad เริ่มกลับมาเป็นบริษัทที่มีกำไรขึ้นมา เพราะรายจ่ายของบริษัทลดลงอย่างมาก แต่รายได้ของบริษัทกลับเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แบบคงเส้นคงวา นั่นหมายความว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องไปขอทุนกับนักลงทุนอีกต่อไป เขาไม่จำเป็นที่จะต้องรีบขยายเพื่อเอาใจ VCs ต่าง ๆ ไม่ต้องรู้สึกกดดัน อยากให้มันโตแบบออร์แกนิกก็ทำได้ เติบโตอย่างอิสระในแบบที่มันควรจะเป็น และนั่นคือสิ่งที่เขาตัดสินใจทำในเวลาต่อมา “ตอนนี้มันอาจจะดูเหมือนว่าผมอยู่ในตำแหน่งที่น่าอิจฉา บริษัททำกำไรได้ดี เติบโตดี ไม่ต้องดูแลมากเท่าไร มีลูกค้าที่น่ารัก แต่เป็นช่วงเวลาหลายต่อหลายปีที่ผมจมจ่อมกับความคิดว่าตัวเองล้มเหลว ช่วงที่แย่ที่สุดผมต้องปลดพนักงานออกถึง 75% ซึ่งในกลุ่มนั้นคือเพื่อนสนิทหลายคนของผมด้วย ผมล้มเหลวอย่างมาก มันใช้เวลาหลายปีกว่าจะรู้ตัวว่าผมเองถูกชักนำโดยสิ่งต่าง ๆ ด้านนอก ผมไม่รู้สึกละอายใจกับเส้นทางที่นำผมมาสู่จุดนี้แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ผมรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า ตั้งแต่ก้าวแรกมันเป็นการเดินทางของผม ไม่ใช่ของคนอื่น” ตัวเลขในปี 2015 ก่อนที่จะมีการปลดพนักงาน รายได้อยู่ที่ราว ๆ 89,000 เหรียญต่อเดือน กำไร 17,000 เหรียญ รายจ่าย 364,000 เหรียญ สรุปขาดทุนเดือนละ 351,000 เหรียญ หนึ่งปีต่อมาในปี 2016 ตัวเลขที่น่าสนใจคือพวกเขามีรายได้ราวๆ 176,000 เหรียญต่อเดือน กำไร 42,000 เหรียญต่อเดือน รายจ่าย 32,000 เหรียญ และสรุปเป็นกำไรราว ๆ 10,000 เหรียญ ลาวินเจียกล่าวว่า “มันเจ็บนะ แต่อย่างน้อยคือครีเอเตอร์ยังได้เงินอยู่ และมันก็หมายถึงว่าตอนนี้อนาคตอยู่ในกำมือของเราแล้ว” ตลอดช่วงเวลาที่ลาวินเจียอยู่กับ Gumroad มีทั้งขึ้นและลง เขาบอกว่าหลายเดือนที่เขาต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมง แต่ภายหลังที่เปลี่ยนแปลงบริษัทครั้งใหญ่ ในบางเดือนที่สัปดาห์หนึ่งเขาอาจจะทำงานแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ตลอดช่วงเวลาเดียวกันบางช่วงปีเขามีทีมเซลส์ที่ออกไปวิ่งหาลูกค้า แต่หลัง ๆ มาก็ไม่มีเลยเพราะไม่มีเงินจ้าง แต่สิ่งที่เขาเรียนรู้จากตัวเลขการเติบโตของ Gumroad ก็คือ “ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะยอดเยี่ยมขนาดไหน หรือคุณจะปล่อยฟีเจอร์ได้เร็วมากแค่ไหน การเติบโตของคุณส่วนใหญ่ตลาดจะเป็นคนตัดสิน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น Gumroad ยังเติบโตในอัตราเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกันทุกเดือน เพราะฉะนั้นนี่คืออัตราความเร็วที่ตลาดตัดสินว่าเราควรเติบโตเท่านี้ “นานหลายปีที่มาตรวัดความสำเร็จของผมคือการสร้างบริษัทยูนิคอร์น ตอนนี้ผมรู้แล้วว่ามันเป็นเป้าหมายที่แย่มาก” เพราะฉะนั้นแทนที่เขาจะพยายามสร้างภาพว่าตัวเองเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สร้างบริษัทยูนิคอร์นมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านเหรียญ เขาปรับมุมมองใหม่และโฟกัสไปยังสิ่งที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือเหล่าครีเอเตอร์ทั้งหลายที่อยู่ในแพลตฟอร์มตอนนี้ ทำยังไงถึงจะพัฒนา Gumroad ให้ดีขึ้น สร้างประสบการณ์การใช้งานอันยอดเยี่ยม เพราะครีเอเตอร์เหล่านี้แหละที่ทำให้ Gumroad ยังมีชีวิตรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมันก็กลายมาเป็นมิชชันของลาวินเจียในการทำ Gumroad นั่นก็คือ “ทำให้ครีเอเตอร์มีรายได้มากขึ้น” สั้น ๆ ง่าย ๆ แค่นั้น   ไม่มีประชุม ไม่มีเดดไลน์ ไม่มีแม้แต่พนักงานประจำ ตอนนี้ถ้ามีคนถามลาวินเจียว่า Gumroad มีพนักงานกี่คน เขาจะตอบว่า “ประมาณ 10 กว่าคน” ซึ่งเหตุผลที่เขาใช้คำว่า ‘ประมาณ’ ก็เพราะว่านั่นคือจำนวนชั่วโมงคร่าว ๆ ที่พนักงานพาร์ทไทม์กว่า 25 ชีวิตทำงานรวมกัน แล้วไปเทียบเวลาทำงานกับพนักงานประจำทั่วไป พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าที่ Gumroad นั้นไม่มีพนักงานประจำ แม้แต่ซีอีโออย่างลาวินเจียก็ไม่ใช่พนักงานประจำ ทุกคนทำงานออนไลน์ ไม่มีประชุม ไม่มีเดดไลน์ ลาวินเจียได้ทวีตไว้เมื่อวันที่ 2/06/2021 ใจความว่า “โดยเฉลี่ยแล้วคนทำงานแต่ละคนที่ Gumroad ทำงานสัปดาห์ละ 22 ชั่วโมง และรายได้ประมาณ 115,000 เหรียญต่อปี” ชวนมากดเครื่องคิดเลขเล่นกันสักหน่อย ซึ่งถ้าเปลี่ยนรายได้เป็นเงินไทยก็ราว ๆ 3,700,000 บาทต่อปี ทำงานสัปดาห์ละ 22 ชั่วโมง เท่ากับ 1,144 ชั่วโมงต่อปี ตกชั่วโมงละ 3,234 บาท ไม่เลวเลยนะ Gumroad ใช้แอปพลิเคชันชื่อว่า Notion เพื่อจัดสรรงานระหว่างพนักงานในบริษัท เหมือนเป็น To-do List ขึ้นมา ใครอยากทำงานชิ้นไหนก็หยิบจากคิวขึ้นไปทำ อันไหนที่คิดว่าสนุกและท้าทาย ฟีเจอร์พร้อมเมื่อไหร่ก็ปล่อย ไม่มีกำหนดการ แทนที่จะมีประชุม พวกเขาสื่อสารกันผ่านคอมเมนต์และคำตอบจะมาภายใน 24 ชั่วโมง (ไม่ใช่ทันที) ให้รอไปก่อน ไม่มีการมา sync กัน แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานแบบนี้คือการสื่อสารที่ชัดเจน การเขียนให้ละเอียด เพื่อให้คนอื่นเข้าใจ ไม่มีการมาตั้ง OKRs เป้าหมายประจำไตรมาส ประจำปี เป้าหมายเดียวที่มีคือ ทำให้ครีเอเตอร์มีรายได้มากที่สุด เข้าใจง่าย วัดผลได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมระบบนี้ถึงทำงานได้เป็นอย่างดี เมื่อเป้าหมายเดียวของ Gumroad คือการสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ ยิ่งได้เงินเยอะ ครีเอเตอร์ก็มีความสุขมากขึ้น ทำมากขึ้น บอกต่อคนอื่นให้มาใช้มากขึ้น เมื่อโปรแกรมเมอร์เลือกงานที่ตัวเองอยากทำ ยิ่งทำให้พวกเขาสร้างผลงานที่ดีกว่าเพราะมันสนุก ซึ่งตอนนี้คนที่เคยเป็นครีเอเตอร์ใน Gumroad บางคนก็กลายมาเป็นพนักงานของบริษัทเพราะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Gumroad และอยากทำให้ที่นี่มันดีขึ้นไปอีก ผลลัพธ์ก็คือปีล่าสุดครีเอเตอร์บน Gumroad สร้างรายได้มากถึง 175 ล้านเหรียญ และรายได้ของบริษัททั้งปีอยู่ที่ 11 ล้านเหรียญ เติบโตกว่า 85% จากปีก่อน และข้อมูลจากเว็บไซต์ crunchbase บอกว่ามูลค่าของบริษัทอยู่ที่ราว ๆ 100-500 ล้านเหรียญ แน่นอนว่าในข้อดีก็ต้องมีข้อเสียด้วย การทำงานแบบออนไลน์ทั้งหมดแบบนี้หมายถึงว่าจะไม่มีสังคมเพื่อนฝูงเหมือนบริษัททั่วไป ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง รับผิดชอบงานที่ทำแค่นั้น รายได้ก็เป็นรายชั่วโมง ต้องลงบันทึกเองว่าเข้าออกเมื่อไหร่ บางคนบันทึกละเอียดหลัก 15 นาทีก็มี อีกเรื่องคือไม่มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงานมากนัก เมื่อไม่มีโครงสร้างของบริษัททั่วไป ไม่มีทีม ไม่มีหัวหน้า ก็ยากที่จะขึ้นไประดับบริหารได้ เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ใช่งานที่เหมาะกับทุกคน แต่มันก็เป็นโมเดลที่น่าสนใจไม่น้อยเลย   ล้มเหลว? ประสบความสำเร็จ? เวลาเราพูดว่าคนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ เราคิดถึงอะไรเป็นอย่างแรก? แน่นอน ‘ความร่ำรวย’ เข้ามาในหัวเป็นสิ่งแรก ๆ แต่เรื่องราวของลาวินเจียนั้นเป็นบทเรียนสอนคำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ได้เป็นอย่างดี เพราะคำคำนี้ที่จริงแล้วมันมีความหมายแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ฟังและผู้พูดเป็นใคร ถ้าเรานับว่าลาวินเจียไม่สามารถทำให้ Gumroad เป็นยูนิคอร์นได้คือความล้มเหลว มันก็คงเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ถ้าเรานับว่าเขาต้องการสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ที่อยู่ในระบบมากที่สุดล่ะ? เขาก็ไม่ใช่คนที่ล้มเหลวอีกต่อไป เขาทำสำเร็จดีซะด้วยซ้ำ มันอาจจะไม่ใช่ทางที่เขาคาดหวังในตอนแรก แต่เป็นทางที่เกิดขึ้นและมีคุณค่าในตัวของมันเอง ความสำเร็จในมุมนี้อาจจะเป็นเพียงการทำให้ชีวิตของคนที่รายล้อมเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้เดินตามความฝันและมีรายได้จากการทำสิ่งเหล่านั้นด้วย ลาวินเจียเขียนไว้ในบันทึกของเขาบนเว็บไซต์ว่า “ผมมองตัวเองว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ในตอนนี้ ไม่ใช่อย่างที่คาดหวังเป๊ะ ๆ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่มีความหมาย” ล้มเหลวในมุมหนึ่ง ก็อาจจะเป็นความสำเร็จในอีกมุมหนึ่งได้เหมือนกัน   อ้างอิง: No Meetings, No Deadlines, No Full-Time Employees Sahil Lavingia - Baremetrics Notion - The all-in-one workspace for your notes, tasks, wikis, and databases. 3-Person Startup Gumroad Raises $7 Million Series a From Kleiner Perkins Gumroad Gets $1.1 Million From Chris Sacca, Max Levchin And Others To Turn Any Link Into A Payment System - TechCrunch https://techcrunch.com/2015/11/05/layoffs-hit-gumroad-as-the-payments-startup-restructures/ Reflecting on My Failure to Build a Billion-Dollar Company https://twitter.com/shl/status/1400115444434935817 Gumroad - Funding, Financials, Valuation & Investors เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี ภาพ: Brian Ach/Getty Images for TechCrunch