เจ้าพระยาอภัยราชา อดีตหมอกฎหมายตกอับ ผู้มีบทบาทสำคัญช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

เจ้าพระยาอภัยราชา อดีตหมอกฎหมายตกอับ ผู้มีบทบาทสำคัญช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

เจ้าพระยาอภัยราชา อดีตหมอกฎหมายตกอับ ผู้มีบทบาทสำคัญช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

“ในการที่จะหาคนเสมอชั้นเจ้าพระยาอภัยราชาเห็นจะหายากนัก เพราะต้องเป็นคนอายุมากสักหน่อย เคยทำการรับผิดชอบในน่าที่ใหญ่ปรากฏในประเทศยุโรปให้เป็นที่เชื่อถือมั่นคงแล้วว่าจะไม่นำเราไปสู่ที่ผิด และมีความจงใจในการซึ่งเขาจะทำให้แก่เราเช่นเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งตรงต่อการงานของตัว คนเช่นนี้จะหาให้สมัครมาทำการเมืองเรา ซึ่งเป็นเวลาอยู่ในที่คับขัน ฤามีแต่ความเสื่อมในเบื้องน่าในราชการอันเกี่ยวแก่ต่างประเทศจึงมาช่วยให้การภายในดีขึ้นเพียงไร ก็เหมือนอย่างช่วยทำขนมให้กากินไม่เป็นประโยชน์อันใดในทางชื่อเสียง แลส่วนผลประโยชน์นั้นเล่า ถ้าเขาเป็นคนมีคุณวุฒิเห็นปานนั้นเขาก็คงจะหาที่ตั้งตัวเขาได้ในประเทศยุโรป ถึงจะได้ประโยชน์น้อยกว่ามาเมืองเราสักครึ่งเสี้ยวก็ยังดีกว่ามาอยู่ดงพระยาไฟ การเป็นเช่นนี้จึงไม่มีความหวังว่าจะหาได้” ข้อความข้างต้นคัดมาจากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีไปถึงมหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงชื่นชมในความดีงามของเจ้าพระยาอภัยราชา หรือ โรลัง ยัคมินส์ (Gustave Rolin-Jaequemyns) มากเพียงใด โรลัง ยัคมินส์ เป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง และเคยเป็นถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยของเบลเยียมมาก่อน เขาเกิดที่เมืองกางค์ (Ghent) ของเบลเยียมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 1835 เป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้อง 17 คน เขาเลือกที่จะเดินตามรอยพ่อเป็นนักกฎหมายโดยเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกางค์  ความสามารถทางวิชาการที่โดดเด่นทำให้เขาได้รับข้อเสนอให้เป็นอาจารย์จากทางมหาวิทยาลัย แต่เขาปฏิเสธเนื่องจากเกรงว่าพ่อของเขาจะไม่ชอบใจ อย่างไรก็ดี ความสนใจในด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ทำให้เขามีผลงานวิชาการและได้มีโอกาสไปบรรยายตามสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศช่วยให้เขามีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่สำคัญนอกสายกฎหมาย เขาพร้อมด้วยเพื่อนนักกฎหมายชาวดัตช์ โทเบียส อัสเซอร์ (Tobias Asser) และนักกฎหมายอังกฤษ จอห์น เวสต์เลก (John Westlake) ได้ร่วมกันตั้ง Revue de Droit International et de Législation Comparée วารสารงานศึกษาว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งนับเป็นวารสารฉบับแรกของโลกที่อุทิศเนื้อหาให้กับสาขาวิชานี้ โดยโรลัง ยัคมินส์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปี 1878 และอีกสมัยระหว่างปี 1886 ถึง 1892 และเขายังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้ง Institut de Droit International องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศแห่งแรกซึ่งยังคงทำงานอยู่ถึงปัจจุบัน และมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่ โรลัง ยัคมินส์ก็ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของสถาบันเป็นคนแรก และตำแหน่งประธานระหว่างปี 1879 ถึง 1885 ก่อนรับตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์เป็นคนแรกในปี 1892 ในด้านการเมือง โรลัง ยัคมินส์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเสรีนิยมในปี 1878 และได้ดำรงตำแหน่งเป็นถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยระหว่างปี 1878 ถึง 1884 หลังพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง โรลัง ยัคมินส์จึงกลับมาทำงานวิชาการอีกครั้ง จุดเปลี่ยนที่ทำให้โรลัง ยัคมินส์ต้องเดินทางไปหางานทำในต่างประเทศเนื่องมาจากเขามีภาระหนี้สินจากการไปค้ำประกันให้กับน้องชายซึ่งไปลงทุนผิดพลาดถึงขั้นล้มละลาย “โรลัง ยัคมินส์ เป็นผู้ชำนาญกฎหมายนานาประเทศและได้เคยเป็นเสนาบดีในประเทศเบลเยียมด้วย แต่เวลานั้นมองสิเออโรลัง ยัคมินส์ ต้องเอาทรัพย์สมบัติของตนจำหน่ายใช้หนี้แทนน้องชายจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว จะอยู่ในประเทศเบลเยียมต่อไปก็ไม่มีกำลังจะรักษาศักดิ์ได้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนที่พระองค์จะได้พบกับโรลัง ยัคมินส์ในอียิปต์ระหว่างที่พระองค์ทรงตามหาชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลสยาม ตอนนั้น โรลัง ยัคมินส์เดินทางไปยังอียิปต์ด้วยหวังจะได้รับตำแหน่งอัยการสูงสุดของอียิปต์แต่การยังติดขัดไม่ถึงขั้นตกลงกันแน่นอน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีโอกาสได้เจรจาและเสนอตำแหน่งหน้าที่ในกรุงเทพฯ ด้วยค่าจ้างปีละ 3,000 ปอนด์ ซึ่งโรลัง ยัคมินส์ตอบรับ ทำให้อุปราชอับบาส ฮิลมี (Abbas Hilmy) เจ้าผู้ครองอียิปต์มีหนังสือไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ บอกว่าทางอียิปต์ต้องการตัวของโรลัง ยัคมินส์ไว้ทำงานอย่างแท้จริง แต่ทางโรลัง ยัคมินส์บอกว่า เขามีสัญญากับทางกรุงเทพฯ แล้วจึงมาทำงานให้อียิปต์ไม่ได้ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้โรลัง ยัคมินส์พ้นจากข้อสัญญาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีโทรเลขตอบกลับไปว่า “...ฉันมีความเสียดายมากที่รัฐบาลของฉันไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงข้อสัญญาซึ่งทำไว้กับ มองสิเออร์ โรลัง ยัคมินส์ ได้ เพราะรัฐบาลของฉันก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าอยู่เหมือนกันที่จะมอบให้เขาได้รับตำแหน่งสำคัญอันหนึ่งในเมืองนี้ ซึ่งเป็นเมืองซึ่งอยู่ไกลจากยุโรปมากนัก และเป็นการยากลำบากกว่าเมืองของท่านในการที่จะหาคนสำคัญอันมีชื่อเสียงเช่นเมอร์สิเออร์ โรลัง ยัคมินส์ นี้ ท่านคงเห็นด้วยกับฉันว่า เมื่อคิดตามประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งหมดแล้ว ก็ควรจะยอมให้การที่ได้ตกลงกันแล้วมาจนถึงบัดนี้นั้นคงอยู่ตามปกติทุกข้อ” ด้วยเหตุนี้ โรลัง ยัคมินส์จึงได้เข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ โดยได้ให้คำปฏิญาณตนก่อนรับตำแหน่งเอาไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะอุทิศความสามารถ ความรู้ ความชำนาญ ความคิดเห็นแก่รัฐบาลไทย และพิจารณาตัดสินเรื่องราวต่างๆ อย่างสุดความสามารถเหมือนดังที่ข้าพเจ้าได้ทำให้แก่รัฐบาลของประเทศเบลเยียม ข้าพเจ้าจะซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อองค์ประมุขของชาติไทยเหมือนดังที่ข้าพเจ้าปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์แห่งเบลเยียม ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ข้าพเจ้าจะอุทิศเวลาทำงานเพื่อความสำเร็จของรัฐบาลไทย” โรลัง ยัคมินส์เดินทางมาถึงเมืองไทยเมื่อเดือนกันยายน 1892 รับตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไปซึ่งเดิมมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปฏิรูประบบกฎหมายของไทยให้ทันสมัย แต่งานใหญ่งานแรกของเขาหลังรับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งปีก็คือการเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในฐานะอัครราชทูตไทย ผู้มีอำนาจเต็มประจำกระทรวงการต่างประเทศ ภูมิหลังของโรลัง ยัคมินส์ในฐานะชาวเบลเยียมรัฐขนาดเล็กที่อยู่ท่ามกลางรัฐมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์และอังกฤษ ทำให้เขาเข้าใจบทบาทของ “รัฐกันชน” เป็นอย่างดี  เขาเชื่อว่ารัฐเล็กที่มีกำลังทหารด้อยกว่าสามารถเอาตัวรอดได้หากสามารถโน้มน้าวให้รัฐใหญ่ข้างเคียงเห็นถึงประโยชน์ของรัฐกันชนที่จะช่วยให้รัฐใหญ่ๆ ลดการเผชิญหน้าอย่างไม่จำเป็นลงได้ และ “กฎหมายระหว่างประเทศ” ที่เขาเชี่ยวชาญก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยการันตีการลดการเผชิญหน้าทางทหารและช่วยรักษาสถานภาพของรัฐเล็กๆ เอาไว้ได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สยามในขณะนั้นต้องเผชิญเป็นอย่างยิ่ง ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำ ฝรั่งเศสพยายามอ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดโดยอ้างว่าพื้นที่แถบนี้อยู่ใต้อำนาจของเวียดนามซึ่งตกเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส ขณะที่สยามก็ถือว่าตนเป็นเจ้าประเทศราชของรัฐในดินแดนดังกล่าวนำไปสู่การเผชิญหน้าหลายครั้ง จนกระทั่งกรอสกุแรง (Grosgurin) เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีของฝ่ายสยาม กลายเป็นหนึ่งในข้ออ้างสำคัญให้ฝรั่งเศสยกระดับการข่มขู่สยามด้วยการส่งเรือรบสองลำเข้ามาถึงปากน้ำ และในวันที่ 20 กรกฎาคม 1893 ฝรั่งเศสยื่นเงื่อนไขสุดท้ายให้สยามยอมรับสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของเวียดนามโดนทันทีและถอนกำลังออกจากดินแดนพิพาทภายในหนึ่งเดือน พร้อมจ่ายค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับฝรั่งเศส ฝ่ายสยามไม่ยอมตอบรับเงื่อนไขของฝรั่งเศสในทันที ฝรั่งเศสจึงทำการปิดปากน้ำ ซึ่งทางโรลัง ยัคมินส์พยายามโน้มน้าวให้สยามยืดระยะเวลาการตอบรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสออกไปให้นานที่สุด ด้วยเชื่อว่าอังกฤษจะไม่อยู่เฉยหากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดปากอ่าวของฝรั่งเศส แต่รัฐบาลสยามจะแสดงเจตนายอมปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยไม่มีข้อโต้แย้งในวันที่ 29 กรกฎาคม ด้วยห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเกรงว่าการยืดระยะเวลาออกไปเหตุจะบานปลายจนฝรั่งเศสตัดสินใจใช้กำลังรุกรานแบบเต็มรูปแบบ อีกทั้งฝ่ายอังกฤษเองก็แนะนำให้สยามปฏิบัติตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศส แต่เพียงหนึ่งวันหลังจากประกาศยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ฝรั่งเศสกลับเพิ่มข้อเรียกร้องยิ่งขึ้นให้สยามถอนกำลังอออกจากเสียมเรียบและพระตะบอง และยังยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการลงนามในสนธิสัญญาเพื่อยุติวิกฤตการณ์ครั้งนั้นในวันที่ 3 ตุลาคม ปีเดียวกัน แม้เหตุการณ์วิกฤตครั้งใหญ่จะผ่านพ้นไปได้ แต่สยามตระหนักได้ถึงภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจและความจำเป็นที่จะต้องมีหลักประกันเพื่อความอยู่รอดไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพ (เต็มรูปแบบ) เหมือนเช่นเพื่อนบ้าน และโรลัง ยัคมินส์ ก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยล็อบบีชาติต่างๆ ในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษให้รักษาสถาพภาพของสยามในฐานะรัฐกันชนระหว่างสองเจ้าอาณานิคม โรลัง ยัคมินส์แนะนำให้สยามต้านแรงกดดันของฝ่ายฝรั่งเศสในขณะที่เขาพยายามหาแรงสนับสนุนจากต่างชาติ และยังแนะนำให้สยามส่งกำลังไปยังน่านเพื่อต่อต้านการรุกล้ำอาณาเขตของฝ่ายฝรั่งเศสโดยให้เหตุผลว่าหากเกิดกรณีพิพาทในบริเวณดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องยากที่อังกฤษซึ่งครอบครองรัฐฉานอยู่จะไม่รับรู้ ด้วยประสบการณ์และความรู้ความสามารถด้านกฎหมายระหว่างประเทศ โรลัง ยัคมินส์ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่าฝรั่งเศสจะไม่กระทำการใดรุกล้ำเกินสิทธิและเงื่อนไขภายใต้สนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต้องตรงกัน และผลงานอีกชิ้นสำคัญของเขาก็คือแผนการปฏิรูปกิจการบ้านเมืองและระบบกฎหมายในปี 1894 เพื่อจัดการกับปัญหาสิทธิภาพนอกอาณาเขต อันทำให้กฎหมายสยามไม่อาจใช้กับบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับของชาติมหาอำนาจ ซึ่งโรลัง ยัคมินส์กล่าวว่าพฤติการณ์เช่นนั้นนำไปสู่การโฆษณาชวนเชื่อของชาติมหาอำนาจว่า “เปนการจำเปนที่จะให้ฝรั่งเศสฤๅอังกฤษมาบำรุงป้องกันเมืองนี้ แลเพื่อที่จะขยายความให้ประชาชนพลเมืองนี้ทราบเซงแซ่กันไปในความคิดที่ว่าคนพลเมืองนี้มีประโยชน์ที่จะเปนคนอยู่ในป้องกันต่างประเทศ มีเปนคนในบังคับฝรั่งเศส เปนต้นนั้นว่าดีกว่าเปนคนอยู่ในบังคับฝ่ายสยาม การอันนี้ก็เหนได้ชัดเจนว่าเปนภัยอันร้ายแรงสำคัญยิ่งนัก จะกระทำให้ถึงเปนการสูญสิ้นควาเปนอิศรภาพของพระบาทสมเดจพระเจ้าแผ่นดิน แลสิ้นความเปนเอกราชของพระราชอาณาจักรนี้ด้วย” โรลัง ยัคมินส์ และสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศพยายามทำทุกวิถีทางที่จะกำจัดความพยายามของฝรั่งเศสที่พยายามสร้างรัฐซ้อนรัฐขึ้นมาด้วยการขยายขนาดประชากรในบังคับของตนให้หมายรวมถึงคนที่เข้ารีต หรือเกิดในดินแดนในบังคับของตน (อินโดจีน) แต่มาอาศัยอยู่ในสยาม ซึ่งหลายกรณีเป็นการอ้างโดยไม่เป็นความจริง ความสำเร็จของเขาประการสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือการเจรจากับมหาอำนาจใหม่ในเอเชียอย่างญี่ปุ่น จนได้สนธิสัญญาในปี 1898 ซึ่งญี่ปุ่นยอมรับที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทั้งหมดยกเว้นนักการทูต เมื่อสยามทำการปฏิรูประบบกฎหมายจนแล้วเสร็จ นับเป็นครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจยอมรับว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของศาลกงสุลในสยามเป็นสิทธิเพียงชั่วคราวเท่านั้น ปูทางไปสู่การเจรจากับชาติอื่นๆ เพื่อให้ยอมรับในหลักการเดียวกัน ผลงานที่มากมายของโรลัง ยัคมินส์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ สถาปนาให้เขาเป็น “เจ้าพระยาอภัยราชาฯ” ในปี 1896 ซึ่งนับเป็นชาวตะวันตกรายที่สองเท่านั้นที่ได้รับเกียรตินี้ต่อจากเจ้าพระยาวิชัยเยนทร (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เจ้าพระยาอภัยราชาเข้ามารับราชการในสยามในวัยที่มากแล้วด้วยความชราภาพและสภาพอากาศที่ร้อนของสยามทำให้เขาล้มป่วยจึงจำเป็นต้องลาออกจากราชการในปี 1899 ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสียดายเป็นอย่างมากและแม้เขาจะออกจากราชการไปแล้ว พระองค์ก็ยังทรงให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการและรับเงินเดือนเต็มอัตราต่อไปเป็นเวลา 2 ปี แต่หลังจากที่เขาเดินทางกลับยุโรปไปได้ประมาณสองปี เขาก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคประจำตัวและความชราภาพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงทราบข่าวจึงมีพระราชโทรเลขไปถึงท่านผู้หญิงอภัยราชาภรรยาของเขาว่า “ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความเสียใจอย่างมากในการถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าพระยาอภัยราชาผู้เป็นสหายรัก และที่ปรึกษาอันเราไว้วางใจมากที่สุด “เราขอแสดงความเศร้าโศกและเห็นใจท่านผู้หญิง ขอให้ได้รับการแสดงความเสียใจจากเราด้วย”   ที่มา: นิทานโบราณคดี https://bit.ly/2R6q6Vs เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (คุสตาฟ โรลิน ยัคมินส์) http://digital.nlt.go.th/digital/items/show/1594 Journal of Siam Society, Vol 82 https://bit.ly/2TqnnD2 https://bit.ly/2SC4Ljg