เอช. ลาวิตี สเตาต์ จากช่างก่อสร้างสู่ผู้สร้างรากฐานของบริติชเวอร์จิน

เอช. ลาวิตี สเตาต์ จากช่างก่อสร้างสู่ผู้สร้างรากฐานของบริติชเวอร์จิน
ประวัติศาสตร์ของบริติชเวอร์จินส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับการค้าทาสของบรรดาเจ้าอาณานิคมตะวันตก โดยหลังตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ การทำไร่โดยอาศัยแรงงานทาสคือหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจที่นี่ และทำให้จำนวนประชากรทาสจากแอฟริกาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงศตวรรษที่ 18 ศตวรรษต่อมาบริติชเวอร์จินยังเป็นดินแดนด้อยพัฒนาที่ผจญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งโรคระบาดและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาความรุนแรงในระบอบทาส ซึ่งนำไปสู่การก่อจลาจลหลายต่อหลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของหมู่เกาะแห่งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัจจุบันบริติชไอส์แลนด์ได้พลิกโฉมไปจากประวัติศาสตร์ก่อนหน้าแบบคนละเรื่อง การทำไร่อ้อยไม่ใช่หัวใจหลักของเศรษฐกิจของดินแดนแห่งนี้อีกต่อไป แต่เป็นการท่องเที่ยว และสิ่งที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากที่สุดนั่นก็คือ การบริการทางด้านการเงินให้กับนักลงทุนต่างชาติ  และผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการของบริติชเวอร์จินก็คือ เอช. ลาวิตี สเตาต์ (H. Lavity Stoutt) ผู้ครองตำแหน่งบริหารสูงสุด (Chief Minister) ของบริติชเวอร์จินอย่างยาวนานหลายสมัย ตั้งแต่ปี 1967 ถึง 1995 สเตาต์เกิดในปี 1929 เป็นนักเรียนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้เรียนต่อในโรงเรียนมัธยมต้นของบริติชเวอร์จิน ซึ่งตอนนั้นรับนักเรียนจากชั้นประถมเพียงปีละ 25 คนเท่านั้น แต่เขาเลิกเรียนกลางคันแล้วหันไปฝึกเป็นช่างสร้างบ้านต่อเรือเป็นเวลาสิบกว่าปี จนได้เริ่มต้นทำธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก  แม้เขาเองจะไม่ได้เรียนในระบบ แต่เขาก็เห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อเขามีอำนาจจึงเร่งผลักดันการพัฒนาคุณภาพและขอบเขตทางการศึกษาออกไป เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ในหลากหลายด้านมารองรับการพัฒนา ด้วยความตั้งใจที่จะให้ชาวเกาะท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการในกิจการภาครัฐทุกระดับ และวิสัยทัศน์ของเขาก็ช่วยให้ชาวเกาะท้องถิ่นมีอำนาจครอบงำรัฐบาล เป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ในภาคธุรกิจ  "เพื่อให้คุณได้เห็นภาพตอนที่คุณสเตาต์เริ่มบริหารประเทศนี้ ย้อนกลับไปในปี 1960 ด้วยเศรษฐกิจพื้นฐานเพื่อการยังชีพเหมือนกับชาวแคริบเบียนส่วนใหญ่ที่มีโอกาสได้สัมผัสน้ำประปาเพียงน้อยนิด ไฟฟ้าก็มีอย่างจำกัด ตอนเด็ก ๆ ฉันต้องซื้อน้ำมันก๊าซจากคุณเรมี สมิธ มาใส่ตะเกียง โทรศัพท์ก็มีไม่กี่เครื่อง ถนนหนทางก็ไม่ได้เชื่อมโยง โรงเรียนชั้นมัธยมต้นก็รับเด็กได้น้อยกว่า 100 คน ตามฉันทันมั้ยคะ?" ลอร์นา สมิธ (Lorna Smith) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของบริติชเวอร์จิน ภรรยาของ นายกรัฐมนตรีออร์ลันโด สมิธ (Orlando Smith) กล่าวในงานรำลึกครบรอบ 20 ปีการจากไปของสเตาต์ "เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วมาถึงปี 1995 ปีที่คุณสเตาต์จากไป ด้วยอายุเพียง 68 ปี BVI (บริติชเวอร์จินไอส์แลนด์) ได้มาอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจโลกที่หนึ่ง เป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุด เพรียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ฉันขอสรุปผลงานของคุณสเตาต์ด้วยการเปรียบเทียบข้อเท็จจริงสองประการ ตอนที่เขาสาบานตนรับตำแหน่งครั้งแรก เขาต้องขี่ซอนนีม้าประจำตัวของเขามา แต่พอถึงช่วงทศวรรษ 1980 เขาเลือกที่จะเดินทางมาด้วยรถคาดิลแลก"  ในด้านธุรกิจการเงิน สมิธกล่าวถึงสเตาต์เอาไว้ว่า "เขาให้การต้อนรับนักลงทุนและสร้างความมั่นใจว่าระบบจะเอื้ออำนวยให้พวกเขาได้เติบโตและรุ่งเรือง ด้วยมีคุณสเตาต์นำทาง BVI ได้กลายเป็นแหล่งไหลเวียนเงินทุนของโลกซึ่งเป็นฐานะที่เราหวังว่าจะรักษาเอาไว้ได้ตลอดไป "มุมมองแง่ลบ (ต่อผู้อพยพ) ในช่วงหลังอย่างเช่น 'ผู้รุกรานบุกเข้ามาแล้ว' คงทำให้คุณสเตาต์ในหลุมศพอยู่นิ่งไม่ได้ คำพูดอย่างนี้ไม่มีทางออกมาจากปากเขาหรอก คุณจะเห็นได้ว่าเขาเข้าใจดีถึงความสำคัญของการลงทุน ไม่ว่าจะจาก BVI เอง หรือจากภายนอก เพื่อให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า" สมิธกล่าวเสริม อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าสเตาต์เองได้สถานการณ์แวดล้อมเกื้อหนุนหลายครั้ง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 บริติชเวอร์จินได้รับอานิสงส์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนกับสหรัฐฯ นายทุนจำนวนมากจึงแห่กันมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อประหยัดภาษี ก่อนที่สหรัฐฯ จะตัดสินใจยกเลิกอนุสัญญาดังกล่าวในปี 1981 ทำให้บริติชเวอร์จินภายใต้การนำของซีริล รอมนีย์ (Cyril Romney) อดีตผู้นำฝ่ายค้านซึ่งได้ขึ้นมาผู้ครองตำแหน่งต่อจากสเตาต์ในปี 1983 ออกกฎหมาย International Business Companies Act เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติกลับมาอีกครั้ง โดยกำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายฉบับนี้ประกอบธุรกิจในต่างแดนเท่านั้น ห้ามประกอบธุรกิจกับคนในท้องถิ่น แลกกับการที่บริษัทจะได้รับการยกเว้นจากภาษีทุกอย่างของบริติชเวอร์จิน  เสียดายที่รอมนีย์ไม่ได้อยู่ครองตำแหน่งเพื่อเห็นความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้ เพราะกระแสตอบรับจากนักลงทุนต่างชาติเป็นไปอย่างช้า ๆ และเขาก็มาพลาดท่าในการเลือกตั้งกลางเทอมให้กับสเตาต์ จนต้องกลับไปนั่งเป็นผู้นำฝ่ายค้าน พอสเตาต์กลับมาเป็นผู้นำอีกรอบในปี 1986 ก็โชคดีอีกเมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจบุกปานามาในปี 1990 ซึ่งตอนนั้นปานามาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแหล่งจดทะเบียนบริษัทนอกประเทศ นายทุนจึงย้ายฐานมาจดทะเบียนในบริติชเวอร์จินกันยกใหญ่ ภาพความสำเร็จของหมู่เกาะแห่งนี้จึงมาเด่นชัดในยุคที่สเตาต์ครองตำแหน่งเสียเป็นส่วนมาก แต่ในปัจจุบันบริติชเวอร์จินกำลังเจอกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่จากเฮอร์ริเคนเออร์มาตามด้วยเฮอร์ริเคนมาเรียในระยะเวลาห่างกันเพียงไม่กี่สัปดาห์เมื่อปี 2017 สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 4 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ การฟื้นฟูที่เป็นไปอย่างล่าช้าส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักเกือบร้อยละ 40 ของระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับรายได้หลักอีกทางคือด้านธุรกิจการเงิน ก็กำลังถูกไล่บี้อย่างหนักจากหลายประเทศที่ต้องเสียรายได้มหาศาล จากการที่บริติชเวอร์จินดึงนักลงทุนไปจดทะเบียนในประเทศโดยไม่ต้องเสียภาษีและยังช่วยเก็บข้อมูลทางธุรกิจเป็นความลับส่งเสริมให้เกิดการหลีกเลี่ยง และหลบหนีภาษี รวมไปถึงการฟอกเงิน  อังกฤษเจ้าอาณานิคมเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจึงบีบให้บริติชเวอร์จินทำธุรกิจอย่างโปร่งใส เปิดเผยชื่อผู้บริหารและผู้รับผลประโยชน์ในบริษัทที่จดทะเบียนต่อสาธารณะ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนทางศาลมาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากพวกเขายอมทำตามย่อมลดความน่าดึงดูดในการลงทุนเมื่อเทียบกับเขตปกครองอื่น ๆ ที่ยังแสวงหานักลงทุนสายดาร์ก และกระทบต่อสถานะผู้นำในด้านแหล่งธุรกรรมทางการเงินที่สร้างสมมาตั้งแต่ยุคของสเตาต์ได้