ไฮฮัว ลาฟิยา: จัดซื้อรถฉุกเฉินเพื่อคลอดบุตร โปรเจกต์เซฟคนท้องของสาวไนจีเรีย

ไฮฮัว ลาฟิยา: จัดซื้อรถฉุกเฉินเพื่อคลอดบุตร โปรเจกต์เซฟคนท้องของสาวไนจีเรีย
เพราะเธอต้องทนทุกข์ทรมานจากการเห็นเพื่อนที่กำลังตั้งครรภ์จากโลกไปทีละคน พร้อมกับเด็กที่ยังไม่ได้ลืมตาดูโลก ‘ฮาลิมา’ (Halima) หญิงสาวชาวไนจีเรีย จากหมู่บ้านบาร์โด (Bardo) จึงคิดค้นโปรเจกต์สุดวิเศษอย่าง ‘ไฮฮัว ลาฟิยา’ (Haihuwa Lafiya) หรือ Safe Motherhood โปรเจกต์จัดซื้อรถฉุกเฉิน เพื่อพามารดาที่ตั้งครรภ์เดินทางไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลอย่างปลอดภัย เสียคนรักเพราะไม่มีรถไปโรงพยาบาล ท่ามกลางแม่น้ำสายเล็ก และพื้นที่เพาะปลูกอันแสนห่างไกล นั่นคือที่ตั้งของหมู่บ้านบาร์โด ทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย สถานที่ที่สูญเสียหญิงสาวที่กำลังตั้งครรภ์ไปกว่า 18 คน ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เพราะโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปไกลถึง 30 กิโลเมตร และสามีของพวกเธอก็ไม่สามารถหารถรับส่งได้ทันเวลา ฮัสสานะ (Hassana) คือหนึ่งในหญิงสาวที่สูญเสียลูกในท้องไป เธอเล่าว่า ถุงน้ำคร่ำของเธอแตกตั้งแต่เวลา 5 ทุ่มของคืนหนึ่ง และต้องทนเจ็บปวดอยู่อย่างนั้น เพราะสามีไม่สามารถหารถ หรือแม้กระทั่งจักรยานยนต์พาเธอไปโรงพยาบาลได้ กว่าจะไปถึงโรงพยาบาลก็ข้ามไปถึงเช้าวันรุ่งขึ้นแล้ว และลูกของเธอก็ต้องเสียชีวิตด้วยความทรมาน เมื่อการสูญเสียแม่และเด็กในหมู่บ้านไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ฮาลิมาจึงคิดโปรเจกต์เพื่อจัดหารถยนต์ฉุกเฉินประจำหมู่บ้านขึ้น โดยเริ่มจากการเปิดประชุมสตรี และขอแบ่งปันเงินบางส่วนจากเบี้ยเลี้ยงที่ได้จากรัฐบาล เพื่อจัดซื้อรถยนต์สำหรับการเดินทางไปโรงพยาบาล การรวมเงินในครั้งนี้ใช้เวลาหลายเดือน แต่พวกเธอก็สามารถหาเงินมาได้มากถึง 3,000 ดอลลาร์ หรือราว 93,000 บาท และส่งตัวแทนหมู่บ้านออกไปซื้อรถได้ในที่สุด ในวันที่รถยนต์คันสีดำ 5 ประตูถูกขับเข้ามาในหมู่บ้าน ทุกคนต่างร่วมกันเฉลิมฉลอง เพราะพวกเขาไม่ต้องพาคนท้องซ้อนจักรยานยนต์ไปตามทางลูกรังที่แสนอันตรายอีกแล้ว โดยพวกเขาตั้งชื่อรถยนต์คันนี้ว่า ไฮฮัว ลาฟิยา หรือ Safe Motherhood เพื่อแสดงถึงการส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของแม่และเด็ก “พวกเรามีประสบการณ์จากการสูญเสียมามากพอแล้ว มันยากมากที่จะคลอดลูกอย่างปลอดภัย เพราะผู้หญิงในหมู่บ้านไม่สามารถเข้าถึงรถพยาบาลฉุกเฉินได้” ฮาลิมาอธิบาย แต่ปัจจุบันรถยนต์ฉุกเฉินคันใหม่ก็ได้เข้ามาทำความปรารถนาของหญิงสาวในหมู่บ้านให้เป็นจริงแล้ว โปรเจกต์รถฉุกเฉินเซฟคนท้อง ฮัสสานะตั้งครรภ์อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เธอไม่ต้องกลัวจะสูญเสียลูกในท้องอีกต่อไป เพราะสามีของเธอได้โทรฯ หา ‘ยูนุสา โมฮัมเหม็ด’ (Yunusa Mohammed) คนขับรถฉุกเฉิน ซึ่งเขาจะแจกเบอร์โทรฯของตัวเองให้ทุกคนในหมู่บ้าน โดยสามารถโทรฯ หาเขาได้ตลอดเวลาไม่ต่างจากเบอร์โทรฯ ฉุกเฉินทั่วไป แล้วเขาจะมารับไปโรงพยาบาลทันที นั่นทำให้การคลอดลูกของฮัสสานะในครั้งนี้เป็นไปอย่างปลอดภัยและทันเวลา “ผมจะขับรถอย่างระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนถึงคนที่อยู่ในรถ บอกได้เลยว่าผมทำงานนี้อย่างภาคภูมิใจ เพราะผมดีใจที่ได้ช่วยเหลือคน และผมก็มองมันเป็นหน้าที่”  ยูนุสาขับรถฉุกเฉินไปโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือหญิงสาวโดยเฉลี่ย 30 คนต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คนในหมู่บ้านตกลงกันว่าจะจ่ายค่าเดินทางครั้งละ 3 ดอลลาร์ เพื่อเป็นค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุงรถ ส่วนยูนุสาก็จะได้สินน้ำใจจากครอบครัวที่ใช้บริการรถฉุกเฉินเช่นเดียวกัน หรือในกรณีของ ‘อะซีมา’ (Azeema Hussaini) คุณแม่ลูกสามได้เล่าให้ฟังถึงการคลอดลูกคนที่สองว่า สามีของเธอต้องไปทำงานนอกหมู่บ้าน หากไม่มีรถฉุกเฉิน ทั้งคู่คงยังต้องนั่งกังวลว่าจะเดินทางไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลได้อย่างไร แต่โชคดีที่สามีของอะซีมาได้ติดต่อกับฮาลิมาและยูนุสาไว้ล่วงหน้า เมื่อเธอเจ็บท้องคลอดขณะที่สามีไม่อยู่ ทั้งสองคนก็จะปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับรถยนต์และพาเธอไปผ่าคลอดได้ทันเวลา การช่วยชีวิตทุกคนในหมู่บ้านคือความภูมิใจของฮาลิมา แต่เธอก็ยังรู้สึกไม่เป็นธรรม เมื่อคนในหมู่บ้านต้องจ่ายค่าเดินทางเหล่านี้ด้วยตนเอง เพราะแท้จริงแล้วมันควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดหามาให้ พร้อมกับสถานพยาบาลที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐในเรื่องดังกล่าว ทำให้ความสลดจากการสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะพื้นที่ของหมู่บ้านบาร์โดเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาระดับชาติของประเทศไนจีเรีย เพราะมีหญิงสาวกว่า 50,000 คนต้องเสียชีวิตลงทุกปี จากภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดบุตร ขยายผลเพื่อคุณภาพชีวิตสตรี จากสถิติของ Maternal Figures ทำให้เห็นว่ามีผู้หญิงไนจีเรียทั้งเด็กและผู้ใหญ่ตั้งครรภ์โดยเฉลี่ย 9.2 ล้านคนต่อปี แต่เพราะภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตร ทำให้มีหญิงสาวต้องสังเวยชีวิตมากมาย เมื่อรัฐบาลกลางได้รับรู้เรื่องราวของโปรเจกต์เซฟคนท้องของหมู่บ้านบาร์โด พวกเขาตัดสินใจขยายผลของโปรเจกต์นี้ เพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป แต่แทนที่จะลงทุนซื้อรถยนต์ฉุกเฉินให้แต่ละหมู่บ้าน รัฐบาลกลับเลือกที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มีรถยนต์อยู่แล้ว เพื่อพาหญิงสาวที่ตั้งครรภ์ไปโรงพยาบาล ฮาลิมารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลเริ่มตระหนักถึงปัญหาและลงมือช่วยเหลือหญิงสาวในประเทศ แต่หมู่บ้านบาร์โดยืนยันจะไม่เปลี่ยนโมเดลการให้ความช่วยเหลือเป็นในแบบที่รัฐต้องการ เพราะการมีคนขับรถอยู่ในหมู่บ้านและเป็นคนที่รู้จักกัน ทำให้พวกเธอสามารถจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่า “เรารู้ว่าโมเดลของเราไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ผู้หญิงในบาร์โดทุกคนคือทีมเดียวกัน พวกเราจึงพยายามช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาที่มันเกิดขึ้นกับพวกเราให้ดีที่สุด” อ่านเรื่องราวของ ไฮฮัว ลาฟิยา: จัดซื้อรถฉุกเฉินเพื่อคลอดบุตร โปรเจกต์เซฟคนท้องของสาวไนจีเรีย ในรูปแบบเว็บไซต์ได้ที่ _______ ที่มา: https://www.bbc.com/news/av/stories-55712686 https://maternalfigures.com/rec55aEM6qCuW7EP4 https://thestreetjournal.org/2020/10/nigeria-taking-ownership-women-in-jigawa-community-fund-emergency-transportation-for-pregnant-women/ ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/av/stories-55712686 เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี