“เฮลีย์ ดอว์สัน” เด็กหญิงแขนกล ที่ขว้างบอลเจิมสนามมาแล้วทั่วสหรัฐ

“เฮลีย์ ดอว์สัน” เด็กหญิงแขนกล ที่ขว้างบอลเจิมสนามมาแล้วทั่วสหรัฐ
เบสบอล คือกีฬาท็อปทรีในสหรัฐ ได้รับความนิยมมากกว่าซอคเกอร์หรือฟุตบอล โดยมีผู้ชมเฉลี่ย 19 ล้านคนต่อเกม ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่า ประเพณีการเชิญคนดังให้มาขว้างบอลเปิดสนามจะศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ขว้างบอลเปิดสนามครบทั้ง 30 ทีม ในเมเจอร์ลีคเป็นคนแรกของโลก คือเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง “เฮลีย์ ดอว์สัน” (Hailey Dawson) คือชื่อของเด็กคนนั้น แต่เธอหาใช่เด็กผู้หญิงสิบขวบธรรมดา เพราะเธอเป็นเด็กที่มาพร้อมกับแขนกลที่พิมพ์มาจากเครื่องพิมพ์สามมิติ แขนกลนี้มีที่มาจากการที่ ดอว์สัน ป่วยเป็นโรคโปแลนด์ซินโดรม (Poland Syndrome) ความผิดปกติที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็ก 1 ใน 20,000 คน โดยตั้งชื่อตามผู้ค้นพบอาการของโรคนี้ในปี 1841 คือ อัลเฟรด โปแลนด์ ( Alfred Poland) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ ซึ่งโชคร้ายที่เธอเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เธอมีนิ้วมือที่ผิดปกติ โดยมือขวามีนิ้วน้อยกว่าคนปกติสามนิ้ว แต่โชคดีที่วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน ช่วยให้หนูน้อย ดอว์สัน กลับมามีมือที่ใช้งานได้เกือบเทียบเท่ากับเด็กปกติ นั่นทำให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธอรักและหลงไหลมากที่สุดคือ การขว้างลูกเบสบอล ซึ่งจริงๆ แล้วแขนเทียมทั่วไปสามารถให้เธอก้าวไปยืนบนพิชเชอร์เมานด์ ไปไม่ยากเย็น แต่ติดอยู่ปัญหาเดียวคือค่าตัวของแขนเทียมที่สูงกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ หรีอประมาณ 630,000 บาท เลยทีเดียว ไม่นับว่าเธอต้องเปลี่ยนแขนไปเรื่อยๆ ตามขนาดตัวที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ทำให้ “ยง ดอว์สัน” (Yong Dawson) แม่ของเฮลีย์ ต้องหาตัวช่วยใหม่ โดยไปได้ พิมพ์เขียวต้นแบบแขนกลแจกฟรีออนไลน์แบบโอเพ่นซอร์สมาจาก โรโบแฮนด์ (RoboHand) หน่วยงานการกุศลในแอฟริกาใต้ ที่ก่อตั้งโดยช่างไม้ชาวแอฟริกาใต้ที่เสียนิ้วไปกับงานไม้ กับคนเชิดหุ่นกระบอกชาวอเมริกัน ก่อนจะถูกพัฒนาต่อยอดโดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเนวาดาในลาสเวกัส โดยความช่วยเหลือจากอาจารย์สองคน และนักศึกษาอีกกว่า 6 คน ทำให้ได้มือกลต้นแบบที่เหมาะสมกับ ดอว์สัน ขึ้นมา ซึ่งได้จากการนำพิมพ์เขียวของโรโบแฮนด์มาย่อส่วนให้เข้าได้กับขนาดมือของเธอ “เราได้แขนเทียมต้นแบบอันแรกมาตอนวันฮาโลวันปี 2014 ก่อนที่เฮลีย์ จะทำมันพังในอีก 15 นาทีต่อมา เพราะมันดันไปติดกับเสาเหล็กที่โรงเรียน” ยง ดอว์สัน เล่าให้ฟังถึงช่วงแรกที่ได้แขนกลนี่มา ซึ่งจากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เธอเริ่มหัดซ่อมเจ้าแขนกลนี้ด้วยตัวเอง แขนกลประกอบไปด้วยชิ้นส่วนประมาณ 30 ชิ้น ที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติที่หาซื้อมาติดตั้งได้เอง เมื่อดอว์สัน โตขึ้น สามารถใช้โปรแกรมปรับแต่งเพื่อสร้างแขนกลอันใหม่ที่มีขนาดพอดีได้เรื่อยๆ ในราคาประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ หรือแค่ 6,300 บาท โดยแขนกลนี้ทำงานด้วยกลไลที่ข้อมือ และยังมีหน้ากากสีต่างๆ ครอบไว้เพื่อความสวยงามอีกด้วย เรื่องราวของ “เฮลีย์ ดอว์สัน” และความพยายามของทีมงานจากมหาวิทยาลัยเนวาดาในลาสเวกัส สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกันให้มีความหวังในชีวิตในการสู้กับอุปสรรคที่เลือกไม่ได้ ซึ่ง เฮลีย์ ดอว์สัน จากที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ตอนนี้หลังจากได้รับมือเทียมแล้ว เธอได้รับเชิญจากทีมเบสบอลของมหาวิทยาลัยเนวาดาในลาสเวกัส ให้มาขว้างบอลเจิมสนาม ตอนเธออายุเพียง 5 ขวบแล้ว เธอยังได้รับการติดต่อจากหลายทีมเบสบอลในเมเจอร์ลีก ให้เธอมาขว้างบอลเปิดสนามอย่าง บัลติมอร์ โอริโอลส์ (Baltimore Orioles) ทีมที่เธอเป็นแฟนคลับ จนในปี 2018 เธอได้ตระเวนไปทั่วอเมริกาเพื่อขว้างลูกเปิดสนามให้ครบทั้ง 30 สนาม เพื่อสร้างตำนาน “Journey to 30" ให้กับตัวเธอเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ด้อยโอกาสทั่วโลกให้มีความหวัง   ที่มา : https://www.unlv.edu https://www.indiegogo.com https://en.wikipedia.org