ฮาคาน ซูเคอร์ ราชาผู้สูญเสียอิสรภาพ จากความเห็นต่างทางการเมือง

ฮาคาน ซูเคอร์ ราชาผู้สูญเสียอิสรภาพ จากความเห็นต่างทางการเมือง
"ผมไม่เหลืออะไรอีกแล้ว แอร์โดอันยึดมันไปหมด ทั้งอิสรภาพ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิที่จะมีงานทำ" ฮาคาน ซูเคอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติตุรกี กล่าวพาดพิงถึง เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี ผู้ที่ทำให้วันนี้เขาต้องลี้ภัยมาใช้ชีวิตในสหรัฐฯ (Welt ซูเคอร์ คือนักฟุตบอลตุรกีที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่เล่นให้กับกาลาตาซาราย ยักษ์เหลือง-แดง (ช่วงปี 1992-2000 และ 2003-2008) เมื่อเขาพาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดไป 8 สมัย บอลถ้วย Turkish Cup 5 สมัย และฟุตบอลถ้วยยุโรป UEFA Cup อีก 1 สมัย ตลอดอาชีพฟุตบอลในระดับสโมสรเขาทำประตูได้ถึง 260 ประตู ในทีมชาติชุดใหญ่ เขาติดทีม 112 นัด ทำไป 51 ประตู ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดถึงปัจจุบัน (2020) ทำให้เขาได้รับฉายาว่า “Gol Kralı” หรือราชันย์แห่งการทำประตู การเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จทำให้เขามีโอกาสได้ใกล้ชิดกับชนชั้นนำ ในวันที่เขาแต่งงานกับภรรยาคนแรก เขาได้ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ว่าอิสตันบูล มาเป็นหนึ่งในสักขีพยานพร้อมกับ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ครูสอนศาสนาอิสลามที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  แอร์โดอันกับกูเลนครั้งนั้นยังมีประโยชน์ร่วมกัน ขบวนการทางศาสนาของกูเลนมีผู้ติดตามนับล้านทั่วโลก แทรกซึมเข้าไปอยู่ในแวดวงการเมือง กลไกรัฐบาล ระบบตุลาการ สื่อมวลชน และภาคธุรกิจของตุรกี จึงนับพันธมิตรสำคัญที่จะช่วยให้ แอร์โดอันก้าวขึ้นสู่อำนาจได้  ทั้งนี้ กูเลนแม้จะเป็นครูสอนศาสนาอิสลามแต่ก็ไม่ใช่พวกรากฐานนิยมสายแข็ง มีความเปิดกว้างทางวัฒนธรรมและนิยมตะวันตกมากกว่าสำนักคิดอิสลามในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของเขาก็ทำให้มีปัญหากับรัฐบาลตุรกีเป็นระยะ ในปี 1999 กูเลนต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐฯ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าพยายามจะล้มรัฐบาลเพื่อตั้งรัฐศาสนา เมื่อแอร์โดอันขึ้นสู่อำนาจ (ในฐานะนายกรัฐมนตรีในปี 2003 ก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2014) ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มเกิดความขัดแย้งจากนโยบายที่ไม่ถูกใจกัน กูเลนพยายามแทรกแซงการใช้อำนาจของแอร์โดอันเป็นระยะ มีการใช้อิทธิพลในภาครัฐบาลจัดการกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ขบวนการศาสนาของเขา รวมถึงเจ้าหน้าที่และอดีตเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่เคยเล่นงานขบวนการของเขาในช่วงทศวรรษ 90s  ในปี 2013 ความตึงเครียดของสองกลุ่มอำนาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีความพยายามที่จะเล่นงานแอร์โดอันและเครือข่ายด้วยข้อหาทุจริต ทำให้แอร์โดอันมองว่าเครือข่ายของกูเลนพยายามท้าทายอำนาจของเขา  จุดแตกหักมาถึงในปี 2016 เมื่อเกิดความพยายามทำการรัฐประหารรัฐบาลของแอร์โดอันโดยทหารกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่ารัฐบาลของแอร์โดอันละทิ้งจุดยืนของการเป็นรัฐโลกวิสัย และระบอบประชาธิปไตย การปะทะทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 250 ราย ตามมาด้วยการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของแอร์โดอันครั้งใหญ่มีผู้ติดคุกจากกรณีดังกล่าวกว่า 60,000 คน และแอร์โดอันก็กล่าวหาว่า ขบวนการของกูเลนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์คราวนี้ (The New York Times) แล้วอดีตสักขีพยานความรักของซูเคอร์ก็หันมาเล่นงานเขาด้วย เนื่องจากซูเคอร์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับขบวนการของกูเลน เขาถูกออกหมายจับขณะอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนพ่อเขาต้องติดคุกนานเกือบปี ทรัพย์สินทั้งหลายของเขาในตุรกี ทั้งบ้าน ธุรกิจ และบัญชีธนาคารถูกสั่งอายัด (The New York Times ก่อนที่ซูเคอร์จะถูกเล่นงาน เมื่อยุติเส้นทางอาชีพฟุตบอล เขาหันไปเล่นการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค Justice and Development ของแอร์โดอัน และชนะเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้ในปี 2011 แต่ซูเคอร์เลือกข้างผิด ในปี 2013 เมื่อแอร์โดอันเอาคืนฝ่ายกูเลนด้วยการสั่งเล่นงานเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการของกูเลน ซูเคอร์ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่า เขาเลือกกูเลนไม่ใช่แอร์โดอัน หลังจากนั้น ซูเคอร์จะทำมาหากินอะไรก็เป็นอันต้องติดขัดตรงนั้นตรงนี้อยู่เรื่อย ในปี 2015 เขาเลยย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ในขณะที่สถานการณ์ในบ้านเกิดกำลังคับขันมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็เลยลงทุนร่วมทำร้านขายกาแฟแล้วพาครอบครัวย้ายมาอยู่ด้วยกัน ด้วยความหวังว่า ลูก ๆ ของเขาจะเติบโตในสังคมที่เปิดกว้างและเป็นอิสระมากกว่า ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก็เกิดการกบฏของทหารกลุ่มหนึ่ง แอร์โดอันโจมตีว่า กูเลนและขบวนการอยู่เบื้องหลังการก่อการของทหารกลุ่มนี้ แต่กูเลนปฏิเสธ ยืนยันไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เขาและขบวนการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยมาโดยตลอด และสนับสนุนรัฐบาลแอร์โดอันในเบื้องต้นที่พยายามปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อแอร์โดอันพยายามรวบอำนาจพวกเขาจึงต้องเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังทหาร "ปรัชญาของผมคือ พหุสังคมอิสลามที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมเพื่ออุทิศชีวิตรับใช้มนุษยชาติไม่ว่าจะมีความเชื่อใด ตรงกันข้ามกับการใช้กำลังก่อจลาจล กว่า 40 ปี สมาชิกขบวนการที่ผมมีส่วนสร้างสรรค์ในชื่อ Hizmet หรือ 'การรับใช้' ในภาษาตุรกี ต่างรณรงค์และยึดมั่นในรูปแบบรัฐบาลที่ความชอบธรรมมาจากเจตจำนงของประชาชน และเคารพในสิทธิของพลเมืองทุกคนไม่ว่าจะมีความเชื่อทางศาสนารูปแบบใด มีความเชื่อการเมืองแบบไหน หรือมีชาติพันธุ์ใด เจ้าของกิจการและอาสาสมัครที่ได้รับแรงบันดาลใจจากค่านิยมของ Hizmet ได้ร่วมลงทุนในกิจการการศึกษาสมัยใหม่และหน่วยบริการชุมชนประเทศต่าง ๆ มากกว่า 150 ประเทศ" กูเลนกล่าว (The New York Times ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลเชิงวัฒนธรรม ซูเคอร์กลายเป็นศัตรูคนสำคัญของรัฐบาล แม้ว่าขณะเกิดการรัฐประหารเขาจะไม่ได้อยู่ในตุรกี และเขาจะประณามการก่อรัฐประหาร แต่รัฐบาลแอร์โดอันก็ออกหมายจับเขาในฐานะ “สมาชิกองค์กรก่อการร้ายเฟตุลเลาะห์” และเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับองค์กรแห่งนี้ (Anadolu Agency อย่าไงรก็ดี ซูเคอร์อ้างว่า เพื่อนของเขาในตุรกีมาบอกกับเขาว่า เขาจะได้ทุกอย่างกลับมา สามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้ แถมอาจได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหากยอมสวามิภักดิ์ต่อแอร์โดอัน แต่เขาทำอย่างนั้นไม่ได้ "มีคนอีกเป็นแสนที่ต้องใช้ชีวิตในสภาพแบบนี้ ผมคงไม่อาจเห็นแก่ตัว ปกป้องแต่สิทธิของตัวเอง รักษาแต่ผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด ทำอย่างนั้นเท่ากับไม่เคารพตัวเอง" ซูเคอร์กล่าว ถึงปัจจุบัน (2020) หลังจากการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times สถานการณ์ของซูเคอร์แย่ลงอย่างหนัก เมื่อร้านของเขาถูกก่อกวนจากคนแปลกหน้าจนไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ทำให้เขาต้องไปขับ Uber และขายหนังสือแทน "ไม่เห็นมีใครจะอธิบายได้เลยว่า ผมมีบทบาทอะไรในการก่อกบฏ ผมไม่เคยทำอะไรผิดกฎหมาย ผมไม่ใช่ผู้ทรยศ ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย" ซูเคอร์กล่าว (BBC)