Lady Justice: เทพีแห่งความยุติธรรมผู้สวมใส่ผ้าคาดตา

Lady Justice: เทพีแห่งความยุติธรรมผู้สวมใส่ผ้าคาดตา
ณ กลางจัตุรัสเล็ก ๆ ในเขตเมืองเก่าของกรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประติมากรรมน้ำพุที่ปลายยอดสุดมีรูปปั้นหญิงสาวเหยียบอยู่บนรูปปั้นชายสี่คน หญิงสาวสวมใส่อาภรณ์สีฟ้าและเกราะสีทอง มือขวาถือดาบที่ยกตั้งขึ้นในลักษณะที่พร้อมจะฟาดฟันศัตรู ส่วนที่มือซ้ายถือตาชั่งที่ดูเกือบจะไม่สมดุล ผู้ให้กำเนิดรูปปั้นนี้มีนามว่า ‘ฮานส์ เกียง’ (Hans Gieng) ประติมากรชาวเยอรมันเชื้อชาติสวาเบียน-สวิส  เขาปั้นประติมากรรมชิ้นนี้ในราวปี 1542 - 1546 และขนานนามมันว่า ‘เกเรชทิกไคท์สบรูเนน’ (Gerechtigkeitsbrunnen) หรือ ‘น้ำพุแห่งความยุติธรรม’ และหญิงสาวบนยอดน้ำพุนั้นก็คือ ‘เทพียุติธรรม’ (Lady Justice) ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลาธิษฐานอันเลื่องชื่อของงานศิลปะในโลกตะวันตก เพียงแต่ว่าความพิเศษของเทพียุติธรรมของเกียงก็คือ นางเป็นเทพียุติธรรมองค์แรกที่ถูกคาดผ้าปิดตา และหลังจากนั้น ‘ผ้าปิดตา’ ของเกียงก็กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเทพียุติธรรมจวบจนปัจจุบัน  ตั้งแต่รูปปั้นของนางหน้าศาลสถิตยุติธรรม บนหน้าจั่วขององค์กรทางกฎหมาย บนสัญลักษณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม บนโลโก้ของสถาบันการศึกษาด้านกฎหมาย แม้แต่การปรากฏตัวของเทพียุติธรรม ณ งานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ซึ่งจัดโดยคณะราษฎรหลังการปฏิวัติสยาม หรือแม้แต่รูปปั้นเทพียุติธรรมกลางฉากห้องโถงใหญ่ในซีรีส์เกาหลีเรื่อง LAW School: ชีวิตนักเรียนกฎหมาย   ประวัติศาสตร์ของความยุติธรรม ยุติธรรมนั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีคือ ‘ยุตฺติ’ (การกระทำ/การใช้/ความเหมาะสม/ความถูกต้อง/จบ) และ ‘ธมฺม’ (บุญ/คุณธรรม/กฎ/ความจริง) ความยุติธรรมจึงมีนัยถึงการกระทำที่ดีที่เหมาะสม หรือ ‘จบลงอย่างดี’ สำหรับภาษาอังกฤษ justice มีรากศัพท์จากภาษาละติน ‘จุสทุส’ (IVSTVS) มีความหมายถึง ‘ความสมน้ำสมเนื้อโดยเป็นไปตามกฎหมาย’ ทั้งนี้ยังมีนัยว่าเป็นความสามารถที่เทพเจ้าใช้ตัดสินมนุษย์ ต่อมาคำนี้ถูกใช้ในภาษาอังกฤษตระกูลแองโกล-นอร์มันและภาษาฝรั่งเศสโบราณ จนเริ่มใช้กันทั่วไปในยุโรปราว ๆ ค.ศ. 1066 ต่อมาความหมายของ justice ค่อย ๆ ถูกนิยามเพิ่มขึ้นเป็น ‘การบริหารกฎหมาย/การบริหารความเท่าเทียม/การใช้อำนาจซ่อมเสริมให้เกิดความถูกต้อง/การให้รางวัลและลงโทษอย่างเหมาะแก่เหตุ’ อย่างไรก็ตาม คำว่า justice นี้ก็ไม่ได้รับความนิยมนัก จนกระทั่งศตวรรษที่ 15 โดยปรากฏการณ์ทางสังคมที่กระตุ้นให้ justice ถูกใช้อย่างแพร่หลายก็คือความหวาดกลัวแม่มดที่เติบโตขึ้นในราวกลางศตวรรษที่ 14 จนนำมาสู่การล่าแม่มดในแถบยุโรปและอเมริกาในต้นศตวรรษที่ 15 จนถึงศตวรรษที่ 17 การล่าแม่มดคือการมอบความยุติธรรมให้แก่ผู้คน ซึ่งเหยื่อของการคืนความยุติธรรมในครั้งนั้นมีถึงราว ๆ 100,000 คน หลังจากศตวรรษที่ 17 คำว่า justice ถูกใช้เป็นเหตุผลในการประกาศสงคราม ส่วนในปัจจุบัน justice ถูกใช้ในแง่มุมทางกฎหมายหรืออำนาจรัฐเป็นหลัก และในทางตรงกันข้าม ในทางสังคมนั้นคำว่า injustice (อยุติธรรม) กลับถูกใช้มากขึ้นในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากอำนาจครอบงำต่าง ๆ ในสังคม   จากมาอัท เธมิส ดิคี ถึงจัสติเชีย: บุคลาธิษฐานแห่งความยุติธรรม ในความเชื่อแบบพหุเทวนิยมนั้น เทพเจ้าสามารถมีเพศสภาพเป็นได้ทั้งชาย หญิง หลายเพศ กระทั่งไม่มีเพศ แต่โดยมากนั้นเทพเจ้าจะเป็นชาย หรือไม่ก็เป็นหญิง มีการอธิบายว่า เทพเจ้านั้นก็คือตัวแทนที่เป็นบุคลาธิษฐานของอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ และในขณะที่เทพเจ้าเพศชายมักเป็นตัวแทนของสงคราม ความรุนแรง ความแข็งแกร่ง อำนาจ วาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในลักษณะความขัดแย้ง เทพเจ้าเพศหญิงมักเป็นตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหว อ่อนหวาน นุ่มนวล รวมไปถึงอารมณ์ที่คาดเดาได้ยาก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กระทั่งอารมณ์ชั่วร้าย ซึ่งเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั่วไป ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมนุษย์นั้นมักมองว่าหน้าที่ทางสังคมของเพศชายนั้นคือภายนอกบ้าน ในขณะที่เพศหญิงนั้นมีหน้าที่อยู่ภายในบ้าน ความยุติธรรมนั้นมีเพศหญิงและเทพีที่เป็นบุคลาธิษฐานของความยุติธรรมองค์แรกคือมาอัท (Ma’at) ซึ่งถูกพูดถึงในสมัยอาณาจักรเก่าของอียิปต์เมื่อราว 2,300 ปีก่อนคริสตกาล มาอัทเป็นเทพีแห่งความยุติธรรม/ความจริง/ความสมน้ำสมเนื้อ มีรูปหลักเป็นหญิงที่ถือดาบในมือหนึ่ง (แต่ในรูปลักษณ์ยุคหลัง ๆ ดาบนั้นหายไป กลายเป็นปีกขนาดใหญ่แทน) และมีขนนกกระจอกเทศปักอยู่บนเศียร ชาวอียิปต์เชื่อว่ามาอัทคือตุลาการที่ช่วยเหลือเทพโอซิริสในการตัดสินการเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณด้วยการชั่งน้ำหนักดูว่าหัวใจของผู้ตายเบากว่าหรือมากกว่าน้ำหนักของขนนก หากเบากว่าวิญญาณก็จะถูกส่งไปสวรรค์ แต่หากหัวใจหนักกว่าขนนก วิญญาณนั้นก็ต้องตกสู่ขุมนรก  ขนนกกระจอกเทศของมาอัทนั้นคือสัญลักษณ์ของ ‘ความจริง/ความยุติธรรม/และความกลมเกลียว’ นอกจากนี้หน้าที่ของมาอัทยังเป็นผู้ให้คำแนะนำในการปกครองแก่โอซิริสด้วย มาอัทจึงมักถูกใช้เป็นตัวแทนขององค์ฟาโรห์เมื่อทรงต้องตัดสินคดีความ เพื่อสะท้อนว่าฟาโรห์นั้นเป็นผู้เป็นร่างทรงของกฎหมายที่มีความถูกต้องและเป็นธรรม ในสมัยหลังบทบาทของมาอัทได้ถูกแทนที่ด้วยเทพีไอซิส เทพียุติธรรมองค์ที่สองคือ เธมิส (Themis) ซึ่งเป็นไททันตามเทพปกรณัมกรีก เธมิสในภาษากรีกโบราณแปลว่า ‘สิ่งที่วางไว้เป็นฐาน’ หรือ ‘กฎหมาย’ เธมิสเป็นบุคลาธิษฐานของความสุขสงบ/กฎหมาย/จารีตประเพณีของเทพเจ้า หรือนิยามรวม ๆ ได้ว่า ‘ความยุติธรรมของเทพเจ้า’ (dikaiosune) ซึ่งจะตรงข้ามกับความสงบ/กฎหมาย/จารีตประเพณีของมนุษย์ซึ่งเป็น ‘ความยุติธรรมของมนุษย์’ (dike) เธมิสยังมีความสามารถในการเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า ทำให้สถานะของเธมิสนั้นยังเป็นเทพพยากรณ์ ความสามารถนี้ทำให้เธมิสเป็น ‘ผู้วางเกณฑ์พื้นฐานไว้’ หรือ ‘ผู้ให้คำปรึกษาที่ดี’ แก่ผู้ปกครองให้สามารถเลือกทำในสิ่งที่เหมาะควรได้เป็นอย่างดี  สำหรับชาวกรีกโบราณ เธมิสจึงเป็นเทพีที่สรรสร้างสังคมแก่มนุษย์ ซึ่งในโลกทัศน์ของชาวกรีก ช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาลนั้นเป็นโลกไร้ระเบียบอันเป็นผลจากไฟสงคราม เพราะการที่เธมิสเป็นสนมของซุส เทพเจ้าซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานของนักปกครอง เธมิสจึงเปรียบได้กับผู้ให้คำปรึกษาที่ดีแก่นักปกครองที่อยากจะปกครองด้วยกฎเกณฑ์ที่ดี เพื่อให้สังคมสุขสงบและยุติธรรม เธมิสมีธิดากับซุสหลายองค์ แต่ธิดาที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมนั้นคือ ยูโนเมีย (Eunomia) เทพีแห่งกฎที่ดี ไอรีนี (Eirene) เทพีแห่งสันติ และที่สำคัญที่สุดคือว่า ดิคี (Dike) ซึ่งแม้เป็นธิดาของเทพ แต่ดิคีนั้นเป็นมนุษย์ ดิคีเป็นบุคลาธิษฐานของความยุติธรรมเช่นกัน เพียงแต่ว่าดีคีนั้นเป็นความยุติธรรมของมนุษย์ และดิคีนั้นถือตาชั่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียม นอกจากนี้ดิคียังเป็นบุคลาธิษฐานร่วมกับ แอสเทรอา (Astraea) ซึ่งเป็นเทพีแห่งความบริสุทธิ์ และบางครั้งก็มีการเรียกรวมกันว่า ดิคีแอสเทรอา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสัญลักษณ์กลุ่มดาวในจักรราศีกันย์ (Virgo) เทพปกรณัมที่ให้ธิดาของซุสเทพแห่งผู้ปกครองกับเธมิสเทพีแห่งความยุติธรรมของเทพเจ้าเป็นเทพีแห่งกฎที่ดี สันติ และความยุติธรรมของมนุษย์นั้น อาจตีความได้ว่าสำหรับพวกกรีกแล้วนั้น เมื่อผู้ปกครองมีผู้แนะนำให้มีคุณธรรม จริยธรรม จนผู้ปกครองกลายเป็นผู้ปกครองที่ยุติธรรมได้แล้วนั้น สิ่งที่ผู้ใต้ปกครองจะได้รับก็คือ กฎหมายที่ดี สันติสุข และสังคมที่มีความยุติธรรม เมื่อเข้าสู่ยุคโรมัน เทพียุติธรรมมีนามว่าจัสติเชีย (IVSTITIA) รูปลักษณ์ของเทพีจัสติเชียนั้นเป็นหญิงสาวสวมใส่โทกาซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงและนักปรัชญา ที่มือขวาของนางถือตาชั่งแบบดิคี ซึ่งในบางทีในตราชั่งจะปรากฏเหรียญทองอยู่สองสามเหรียญ ในขณะที่มือขวานั้น นางถือดาบแบบมาอัท และนางยังมีความสามารถในการให้คำแนะนำและการล่วงรู้อนาคตแบบเธมิส ในบางครั้งรูปลักษณ์ของจัสติเชียก็ถือคบไฟหรือกองไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของความจริงในมือข้างหนึ่ง และอีกข้างหนึ่งถือฟาสเซส์ (fasces คือ มัดท่อนไม้ที่มีใบขวานเสียบอยู่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิแห่งโรม ฟาสเซส์คือสัญลักษณ์ที่ในเวลาต่อมาคือสัญลักษณ์ของฟาสซิสม์) แต่รูปลักษณ์จัสติเชียในแบบหลังนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนัก จัสติเชียถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิออกุสตุส (27 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 14) โดยพระองค์ทรงหยิบยืมบุคลาธิษฐานเทพีถือตราชั่งมาจากเทพีดิคี เป็นเพราะหลังจากที่พระองค์ได้รับโล่แห่งคุณธรรม (Clipeus virtutis) ซึ่งสภาซีเนทถวายพระองค์ในฐานะการเป็นจักรพรรดิผู้ปกป้องความยุติธรรมแก่จักรวรรดิโรมัน แต่ในเหล่าเทพเจ้าของโรมันนั้น ยังไม่มีเทพหรือเทพีองค์ใดเป็นบุคลาธิษฐานของความยุติธรรมเลย หรือก็คือจัสติเชียถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่คุณธรรมของจักรพรรดิออกุสตุสนั่นเอง อย่างไรก็ดี จัสติเชียจะมีอำนาจสมบูรณ์เมื่อมาพร้อมกับเทพีพรูเดนเชีย (PRVDENTIA) ซึ่งเป็นเทพีแห่งเหตุผลและความรอบคอบ ดังนั้นอาจแปลความได้ว่า สำหรับผู้ปกครองนั้น ความยุติธรรมจะไม่สามารถทำงานอย่างเต็มที่และจริงแท้ได้เลยหากขาดเหตุผลและความรอบคอบ   ผ้าคาดตาของเทพียุติธรรม อาจจะด้วยความสามารถของเธมิสที่เป็นผู้เห็นความจริงในอนาคตจนเป็นผู้รู้ในการกระทำที่เหมาะสม ผู้ให้คำปรึกษาที่ดี จัสติเชียหรือเทพียุติธรรมจึงไม่ได้คาดตามาแต่ต้น เพราะตาเทพียุติธรรมนั้นถูกใช้เพื่อมองความจริงเพื่อจะสามารถให้คำแนะนำที่ดีและเหมาะควรแก่มนุษย์โดยเฉพาะแก่ผู้ปกครอง เทพียุติธรรมจึงต้องไม่คาดตา นอกจากนี้เทพียุติธรรมยังไม่ถือดาบด้วย เพราะด้วยความฉลาดหลักแหลมอันเกิดจากการเข้าถึงความเป็นจริงก่อนที่ความจริงนั้นจะเกิดขึ้น เทพียุติธรรมจึงสามารถเลือกหนทางที่ดีในการจัดการความขัดแย้ง เทพียุติธรรมนอกจากจะไม่ต้องใช้อำนาจบีบบังคับผู้ใด เทพียุติธรรมยังฉลาดพอที่จะเลือกการประนีประนอมก่อนการเผชิญหน้าอีกด้วย สิ่งเดียวที่เทพียุติธรรมถือมาตลอดแต่แรกนั้นคือตราชั่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียม แต่รูปลักษณ์ของเทพียุติธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากจัสติเชียในงานศิลปะนั้นจะถือดาบในมือขวา และถือตาชั่งในมือซ้าย ตาชั่งนั้นถือเป็นรูปลักษณ์ของความยุติธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ตาชั่งคือสัญลักษณ์ของการที่เทพเจ้าสามารถ ‘ประเมิน’ มนุษย์ว่ามีความเหมาะสมหรือดีงามมากน้อยเพียงใดด้วย ‘มาตรฐานพื้นฐาน’ อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนนกแห่งความจริงหรือเหรียญทองคำ แต่สำหรับดาบนั้นไม่มีการบันทึกไว้อย่างแน่ชัดว่าศิลปกรรมและประติมากรรมเทพียุติธรรมนั้นถือดาบตั้งแต่เมื่อใด เพราะแม้แต่ดาบของมาอัทที่จัสติเชียสืบทอดมา แต่เดิมก็ดูจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่ากับขนนกและตาชั่ง สิ่งที่กล่าวได้ก็เพียงว่าดาบของเทพียุติธรรมนั้นเป็นสัญลักษณ์ของผู้ปกครอง และที่สำคัญดาบนั้นคือสัญลักษณ์ของความยุติธรรมอันมีที่มาจากกำลังอำนาจของผู้ปกครองที่ ‘ผู้ชนะได้ทุกสิ่ง’ (winner takes it all) จากการกวัดแกว่งดาบ แต่สัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นใหม่กับภาพลักษณ์ของเทพียุติธรรมนั้นคือผ้าคาดตา และอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ผู้ที่ให้กำเนิดสัญลักษณ์นี้คือประติมากรชื่อ ฮานส์ เกียง เขาใส่ผ้าคาดตาให้กับเทพียุติธรรมเพื่อเน้นย้ำว่าความยุติธรรมนั้นต้องไม่เลือกข้าง เพราะแม้ความยุติธรรมนั้นจะเป็นเทพี แต่ผู้ใช้อำนาจความยุติธรรมนั้นโดยเฉพาะผู้ปกครองและตุลาการก็เป็นมนุษย์ ต่อให้ความยุติธรรมเป็นคุณธรรมของเทพเจ้า แต่เมื่อผู้ใช้ความยุติธรรมตัดสินผู้อื่นยังเป็นมนุษย์ และไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะมีอำนาจราวเทพเจ้า หรือนึกไปเองว่าตนเองเป็นเทพเจ้าก็ตาม หากมนุษย์ผู้ใช้ความยุติธรรมเป็นเครื่องมือนั้นมีจิตใจโอนเอียงอันเกิดจากการมองเห็นความจริงและบิดพลิ้วความจริงนั้นเพื่อเข้าข้างตนเองไปเสียแล้ว ตาชั่งก็คงเอียง และดาบนั้นก็อาจฟาดฟันผู้บริสุทธิ์ได้ ความยุติธรรมที่แท้จริงจึงต้องปิดตา และอำนาจของความยุติธรรมที่แท้จริงจะต้องอยู่เหนืออิทธิพลใด ๆ ทั้งหมด ซึ่งเกียงเปรียบเปรยด้วยการปั้นให้เทพียุติธรรมยืนตระหง่านอยู่เหนือชายสี่คน อันได้แก่ จักรพรรดิ สุลต่าน และเจ้าเมือง ผู้ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลทางโลก และชายคนสุดท้ายคือพระสันตะปาปา ผู้เป็นผู้มีอิทธิพลทางธรรม ซึ่งแนวคิดที่อำนาจและอิทธิพลของผู้ปกครองที่ยังเป็นมนุษย์แต่พยายามใช้ข้ออ้างต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ในทางการเมือง และทำตัวราวกับเป็นเทพเจ้านี้ถือเป็นแนวคิดปฏิรูปและต่อต้านระบอบศักดินาที่กำลังเติบโตกันในหมู่ปัญญาชน และศิลปินทั้งในแถบเมืองเบิร์นและเมืองอื่น ๆ ในยุโรปช่วงทศวรรษ 1530 - 1560 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือได้ว่าเข้าสู่ช่วงปลายของยุคศักดินาในยุโรป ในขณะเดียวกันสภาวะสังคมแบบชนชั้นกลางและเมืองของพ่อค้า ชนชั้นกลาง และช่างฝีมือก็กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด   เทพียุติธรรมผู้สวมใส่ผ้าคาดตา...ต้องใจไม่บอด ผ้าคาดตาของเกียงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่โด่งดัง และถูกนำไปใช้โดยศิลปินและประติมากรในยุคหลัง และในเวลาต่อมา ผ้าคาดตาดังกล่าวกลายเป็นตัวแทนของหลักการสาธารณรัฐนิยม (republicanism) และเสรีนิยม (liberalism) ที่เชื่อว่า ‘มนุษย์ทุกคนนั้นเสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมาย’ (equality before the law) ที่ซึ่งความยุติธรรมต้องไม่สยบยอมต่ออำนาจ วาสนา ยศถาบรรดาศักดิ์ เพราะมนุษย์แม้มีชาติกำเนิดที่แตกต่าง แต่ความแตกต่างนั้นย่อมไม่ใช่เหตุผลที่มนุษย์จะถูกปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียม แต่แม้เทพียุติธรรมจะคาดตาไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านางจะมองไม่เห็นหรือตามืดบอด การที่นางคือตุลาการผู้ธำรงความยุติธรรมของปวงชนนั้น การธำรงความยุติธรรมก็ไม่ใช่เพียงแค่การใส่ไว้หรือถอดเอาผ้าคาดตาออกเสียจากนาง เพราะแม้นางจะไม่คาดตาไว้ แต่หากเนื้อแท้นางเป็นตุลาการที่ใจบอด ความยุติธรรมก็คงไม่บังเกิดขึ้นได้ ตุลาการที่ใจบอดนั้นจะไม่รู้สึกว่าตนยืนหยัดอยู่เหนืออิทธิพลทางการเมืองเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ตุลาการที่ใจบอดจะเลือกที่จะมองไม่เห็นตาชั่งที่กำลังเอียงกระเท่เร่ ตุลาการที่ใจบอดจะเลือกฟาดฟันประชาชน หากนางเป็นตุลาการใจบอดเสียแล้ว ต่อให้นางลืมตาที่นางใช้มองเห็นความเป็นจริงในภายภาคหน้า และต่อให้นางลืมตาที่นางใช้ประเมินการกระทำที่เหมาะสมและยุติธรรม แต่นางก็คงเลือกที่จะมองเห็นความเป็นจริงอย่างบิดเบี้ยวเพื่อผลประโยชน์ของตัวนางเอง และเทพียุติธรรมนางนั้นก็จะแปรเปลี่ยนจากตุลาการผู้น่าเคารพบูชา กลับกลายไปเป็นตัวตลกที่เป็นเครื่องมือของศักดินาในการกดขี่ประชาชนไปเสียในที่สุด   ที่มาภาพ Wikimedia Commons user TheBernFiles. - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1343192   เอกสารอ้างอิง เพ็ญสุภา สุขคตะ. (2562). Lady of Justice ปิดตาไม่เลือกข้าง ตาชั่งอย่าให้เอียง. Retrieved. https://www.matichonweekly.com/column/article_205738 ทองย้อย แสงสินชัย. (2017). ยุติธรรม อ่านว่า ยุด-ติ-ทำ ประกอบด้วย ยุติ + ธรรม. Retrieved. http://dhamma.serichon.us// ศิลปวัฒนธรรม. (2560). ภาพเก่าเล่าตำนาน: เทพียุติธรรม Lady Justice ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481. Retrieved. https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_11240 Korseries. (2021). รู้จัก Lady Justice สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม ประติมากรรมประจำซีรีส์ Law School. Retrieved. https://www.korseries.com/lady-justice-in-law-school/ Baugh, A. C. and Cable, T. (2013). A History of the English Language. Routledge. de Vaus, D. and McAllister, I. (1987). Gender Differences in Religion: A Test of the Structural Location Theory. American Sociological Review. 52 (4): 472-481. doi:10.2307/2095292 Retrieved. https://www.jstor.org/stable/2095292?origin=crossref Edwards, B.T. (2018). Symbolism of Lady Justice. Retrieved. https://www.theclassroom.com/symbolism-of-lady-justice-12080961.html Gates, K. (n.d.). The evolution of the word Justice. Retrieved. https://issuu.com/chowanuniversity/docs/2021brownladymag/s/12043428 GPSMYCITY Inc. (n.d.). Gerechtigkeitsbrunnen (Fountain of Justice), Bern (must see). Retrieved. https://www.gpsmycity.com/attractions/gerechtigkeitsbrunnen-(fountain-of-justice)-29786.html Hamedi, A. (2014). The Concept of Justice In Greek Philosophy (Plato and Aristotle). Mediterranean Journal of Social Sciences5(27), 1163-1167. Retrieved. https://www.mcser.org/journal/index.php/mjss/article/view/5193 Hart, G. (1990). Egyptian myths. University of Texas Press. Retrieved. https://archive.org/details/egyptianmyths00hart/page/46/mode/2up Isidora. (2014). Isis-Ma’at, Lady of Truth. Retrieved. https://isiopolis.com/2014/04/06/isis-maat-lady-of-truth/ Powell, A. (1995). The Greek World. Routledge. Wolotira, A. (2021). Themis, goddess of justice. Retrieved. https://guides.lib.uw.edu/law/themis